ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 - 11 สิงหาคม 2565 |
---|---|
เผยแพร่ |
บทความพิเศษ
มีเกียรติ แซ่จิว
เสียง
ความเบาหวิวเหลือทนของชีวิต
และเสียงป่น ‘ปี้’ ของการเมือง
เบื้องต้นมาตรฐานงานทุกชิ้นที่ผ่านการคัดกรองและเข้ารอบเวทีมติชนอวอร์ด โดยส่วนตัวผู้เขียนบทความมองเห็นการประเมินคุณค่าจากคณะกรรมการอย่างชัดเจน
ในลำดับถัดมาผู้เขียนจึงเห็นคุณค่าในตัวผลงานแต่ละชิ้นที่ผ่านเข้ารอบ
ทีนี้ก็ขึ้นอยู่ที่ตัว ‘ผู้รับสาร’ เองว่าจะสกัดและเลือกมองเหลี่ยมมุมใดในการอ่าน จะใช้ทัศนคติเชิงบวกหรือลบในการมองโลกที่ปรากฏในเรื่องสั้นนั้นๆ
อย่างในเรื่อง ‘เสียง’ เรื่องสั้นลำดับที่ 5 ที่ผ่านเข้ารอบมติชนอวอร์ดของ ‘วัชรินทร์ จันทร์ชนะ’ ว่าด้วยเรื่องครูหนุ่มบรรจุใหม่ที่มาเช่าห้องพักแห่งหนึ่งที่มีอยู่ด้วยกันสี่ห้อง
ซึ่งบังเอิญว่า ‘ห้องปริศนา’ ที่อยู่ติดกัน ตอนดึกๆ มักจะ ‘ทำการบ้านในมุ้ง’ ส่งเสียงดังสนั่นหวั่นไหว และเสียงนั้นมักทะลุผ่านผนังห้องมาให้ได้ยินเสมอ
‘…เป็นเสียงที่มนุษย์ถูกกระทำ หรือยอมให้ถูกกระทำก็ไม่มั่นใจนัก บางช่วงเสียงผู้ชายฟังกักขฬะราวสัตว์ป่า เสียงผู้หญิงดังๆ หยุดๆ ราวสิบนาที’
เรื่องสั้นเรื่องนี้หากมองผิวเผิน ก็เหมือนเราเข้าไปรับรู้กิจวัตรของ ‘ผม’ ที่มาประจำอยู่ในโรงเรียนประถมแห่งหนึ่งที่มีครูประจำอยู่ไม่ถึงสิบคนและมีผมเป็นผู้ชายเพียงคนเดียว มีงานอบรมเยอะยิ่งกว่างานสอน บางครั้งมีไปอบรมในตัวจังหวัด แทบไม่ได้เจอนักเรียน กลับถึงห้องพักก็ล้าเต็มที บางวันหลับลึกตื่นเอาเที่ยงคืนแล้วค่อยลุกไปอาบน้ำ
ความกระชุ่มกระชวยเดียวในชีวิตคือสาววัยยี่สิบต้นๆ ที่อยู่ถัดจากห้องปริศนา เธอทำงานในร้านสะดวกซื้อ และผมมักแวะเวียนเข้าออกอยู่เป็นประจำ เพียงเพื่อได้เห็นหน้าแล้วกลับเข้าห้องอย่างมีความสุข
แต่หากมองให้ลึกไปกว่านั้น ตัวละครผมที่มักมีกิจวัตรวนซ้ำอยู่ไม่กี่อย่าง ไปทำงานแล้วกลับเข้าห้อง ก่อนกลับแวะร้านสะดวกซื้อ ไม่ก็แวะร้านกาแฟที่ปั๊มน้ำมัน นอนไม่หลับก็เล่นโทรศัพท์ มักเข้าไปอ่าน ‘ไอน์สไตน์2’ ที่ชอบเขียนเรื่องการเมือง ความไม่เป็นธรรมในสังคม อ่านความคิดเห็นต่างๆ หลังจากนั้นก็นอน
แต่ ‘ผม’ ก็มักได้ยินเสียงจากห้องข้างๆ ที่อยู่ติดกัน ซึ่งตั้งแต่มาอยู่ก็ไม่เคยเห็นหน้าค่าตาชายหญิงคู่นี้ ได้ยินแต่เสียงฝ่ายชายที่ชอบวิพากษ์วิจารณ์การเมืองอย่างถึงพริกถึงขิงและ ‘ทำการบ้าน’ อย่างดุเด็ดเผ็ดร้อนไปพร้อมกัน
ผมที่แทบไม่ยุ่งเกี่ยวเรื่องการเมือง ไม่ว่าครูที่โรงเรียนจะคุยกันเรื่องมีตำรวจมาพบ ผอ.เรื่องศิษย์เก่า ก็ยังเดินหนี แต่เสียงดังกล่าวก็ยังเล็ดลอดมาให้ได้ยินได้ฟัง
และที่สำคัญเจ้าของเสียงนั้นคือใคร
โดยใจความหลักของเรื่องสั้นนี้ นอกจากว่าด้วยเรื่อง “เสียง” ที่มิได้สื่อสารในที่แจ้งแล้ว ห้องปิดลึกลับราวกับไม่มีผู้อาศัยอยู่ แต่ตกดึกก็อึกทึกครึกโครมกันอย่างคลุ้มคลั่ง โดยเฉพาะฝ่ายชายที่ปลดปล่อยความกระเหี้ยนเสพสมกับฝ่ายหญิงที่ไม่มีปากมีเสียงใด ได้แต่รองรับอารมณ์ดิบเถื่อน หยาบกระด้าง รวมไปถึงเรื่องการเมืองที่น่าอับอาย
“ใครๆ เขาก็…กัน” เสียงผู้ชายฟังดูมีอายุ
“ชายกับหญิง ชายกับชาย หญิงกับหญิง ครูกับนักเรียน พระกับสีกา พระกับเณร แม่ง! ฝ่ายค้านกับฝ่ายรัฐบาลยังแอบ…กัน” เสียงดังกระแทกเป็นจังหวะ
“จะอดตายกันอยู่แล้ว ซื้ออาวุธจะไปรบกับใคร มันไม่ต้องรบให้เปลืองกระสุนหรอก มันเช่าเอาไม่ดีกว่าเหรอ”
“เช่า 99 ปี …กันได้หลายชั่วโคตร”
“มึงว่ากูพูดแต่เรื่อง…แล้วบนแผ่นดินนี้ จะให้กูพูดเรื่องอะไร ยุบสภา เลือกตั้ง นั่น! ยิ่งไม่พ้นเรื่อง…คราวก่อนบัตรเลือกตั้งมัน…กันในหีบ ออกลูกออกหลานเกินมาไม่รู้เท่าไหร่”
อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือ ‘บ้านเช่าห้องแถวชั้นเดียวสร้างใหม่สี่ห้อง’ ที่ผมกล่าวถึงในตอนต้นว่ามาเช่าเป็นคนสุดท้าย ‘แต่กลับรู้สึกโชคดีที่ได้ห้องซ้ายสุด ไม่ต้องมีผนังติดกับเพื่อนบ้านทั้งสองด้าน’ นั้น นับเป็นองค์ประกอบหลักอย่างหนึ่งที่มีผลต่อการสร้างบรรยากาศของเรื่องโดยตรง ซึ่งในเวลาต่อมาทำให้ผมเกิดความลังเลสงสัยว่า จะเป็นความโชคดีหรือโชคชะตาพามาให้พบเจอ ‘เสียง’ นี้กันแน่
ซึ่งเมื่อมองจากสภาพแวดล้อมทั้งหมด การบรรยายสถานที่ที่ตัวละครเข้ามาอาศัยอยู่ตั้งแต่ต้น จึงพ้องต้องกันอย่างไม่ต้องสงสัยว่า ‘เสียงที่พูดกำลังล้อเสียงที่เงียบอยู่’ ไปโดยปริยาย
ดังจะเห็นว่า คนหนึ่งกำลังพูดเสียงดัง แต่อีกคนหนึ่งกำลังเงียบฟัง โดยมีผนังเป็นฉากกั้นห้อง
และโดยนัยสำคัญมันบอกบุคลิกนิสัยของผมอยู่ในทีว่า ในความอึดอัดคับข้องในชีวิตประจำวันเดิมๆ ได้แต่แอบส่องเฟซบุ๊กไอน์สไตน์2 อ่านเสียงที่ตะโกนความไม่เป็นธรรมในสังคม ‘ไล่อ่านคอมเมนต์ และส่องดูคนที่เข้ามาคอมเมนต์ กดไลก์ กดหัวใจ’ แต่ทว่าผมกลับไม่มีปากมีเสียงหรือแสดงความคิดเห็นใดออกมา
ปกปิดตัวอยู่ในห้อง ปกปิดจุดยืนหลบหน้าบนพื้นที่ออนไลน์ และเหมือนไม่แน่ชัดว่ามีตัวตนอยู่ในสังคม
อาจจะเป็นความฝันที่อยากให้เป็นความจริง
การแสดงออกของผมน่าจะเรียกได้ว่าไขว้ไปมาระหว่าง ‘ความจริงกับความฝัน’ และหากจำแนกแยกออกมาให้เห็นชัดมากไปกว่านั้น ในความหมายระดับตื้น สรุปความอย่างย่นย่อ ว่าด้วยกิจวัตรประจำวันของครูบรรจุใหม่ที่ยังขับจักรยานยนต์คันเก่าสมัยเรียนอยู่มอปลายไปปฏิบัติหน้าที่ครูในโรงเรียนรัฐบาลแห่งหนึ่ง แอบชอบหญิงร้านสะดวกซื้อ กลับบ้านมาไถโทรศัพท์เล่น พอง่วงก็หลับนอน
แต่หากมองในความหมายลึกมากไปกว่านั้น ส่วนที่สอดแทรกในเนื้อเรื่องเข้ามาอาจจะเป็นแค่ความฝัน เสียงห้องข้างๆ ที่ได้ยินนั้น ก็อาจจะเป็นเสียงจากภายใน จากความเหงา โดดเดี่ยว ไร้คู่ที่อยากมีคู่นอนสักคน และอยากตะโกนเรื่องการเมืองที่อัดอั้นอยู่ภายในออกมาเสียงดัง โดยไม่ต้องปกปิดและคอยสอดส่องอ่านความคิดเห็นของคนอื่น ทำตัวไม่มีจุดยืนและใช้ชีวิตครูตามหน้าที่และทำตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาไปวันๆ
ซึ่งในตอนท้ายที่หญิงร้านสะดวกซื้อเคาะประตูแล้วนำเงินมาทอนให้ จากนั้นผมก็ชวนเข้าห้องและได้พูดคุยกันเรื่องหนังสือ ก่อนจะได้ยินเสียงห้องข้างๆ ทำอะไรกันนั้น ก็ยิ่งแน่นอนว่าเปรียบดังความฝันที่ผมอยากลองได้สัมผัสความรู้สึกทำนองเดียวกันนี้อย่างห้องข้างๆ ดูบ้าง
ส่วนในความเป็นจริงนั้น คงจะแค่รับเงินทอนแล้วฝ่ายหญิงก็เดินกลับไปสู่ห้องของตัวเอง
แต่ทั้งนี้ ผู้เขียนบทความเพียงแต่อ่านและตีความในทัศนะส่วนตนเพียงเท่านั้น อาจจะมิใช่ความเห็นที่ถูกต้องทั้งหมดหรือผิดทั้งหมดก็เป็นได้ ผู้เขียนเพียงแต่อยากขยายความให้เห็นว่าการอ่านเรื่องสั้นเรื่องหนึ่งนั้น เราสามารถมองได้หลายมุมมอง
อยู่ที่ผู้รับสารอย่างเราๆ จะมองกว้าง ลึก หนา บาง ในระดับใด ก็เท่านั้นเอง
ชายหญิงห้องข้างๆ ที่ไม่เคยปรากฏตัวออกมาให้เห็น แต่ดึกๆ กลับได้ยินเสียงตะโกนเรื่องการเมืองของฝ่ายชายและเสียงกระเส่าของฝ่ายหญิง ในตอนเช้าประตูห้องปิดสนิท ราวกับไม่เคยมีร่องรอยของคนอาศัยอยู่ในห้องมาก่อน
ตรงนี้จึงชี้ชวนให้ตีความได้หลายเหลี่ยมมุม และอาจมองตามอย่างผู้เขียนกล่าวไปแล้วได้ว่า อาจจะเป็นเสียงที่ดังสะท้อนก้องอยู่ภายในของตัวละครที่เผยให้เห็นอีกด้านของตัวตนหนึ่งผ่านกระแสเสียงที่ดังมาจากห้องข้างๆ
ระดับเสียงในความเป็นจริงของ ‘ผม’ ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาจึงเบาหวิว เงียบกริบ ผงกหัวรับคำสั่งแล้วปฏิบัติตามหน้าที่ แม้แต่กระทั่งหญิงร้านสะดวกซื้อ เสียงก็ยังบางเบาอึงอลอยู่ในลำคอ ไม่กล้าพูดแสดงความรู้สึกให้อีกฝ่ายได้รู้ความในใจ จึงไม่ผิดที่ระดับเสียงในความฝันจะแผดร้องตะโกนออกมาเสียงดัง กลายเป็นอีกคนที่อยู่ห้องข้างๆ แต่แท้ที่จริงกลับเป็นความรู้สึกนึกคิดของตัวเองกับหญิงสักคน (ร้านสะดวกซื้อ) ที่กำลังเสพสมกันอย่างบ้าคลั่ง
เซ็กซ์ในห้องปริศนาที่เราได้ยินตลอดทั้งเรื่อง จึงอาจเปรียบได้กับ ‘หนทางออก’ หรือ ‘กระบอกเสียงของการปลดปล่อย’ เปลื้องเปลือยอารมณ์ปรารถนาเบื้องลึก ความสุขสมเพียงประการเดียวที่เราสามารถควบคุมได้ เพื่อใช้เป็นทางหลีกเร้นหนีจากโลกภายนอกที่ไม่อาจควบคุม ดังเสียงที่เราได้ยินในตอนท้ายอย่างอ่อนโยนและไม่คลุมเครือว่า
“บอกแล้วที่รัก เราหาความสุขอย่างอื่นไม่ได้หรอก”
ซึ่งนั่นน่าจะเป็นเสียงที่เบาที่สุดแล้ว ถ้าเทียบกับเสียงตะโกนเรื่องการเมือง
และพูดก็พูดเถอะ สิ่งที่นักเขียนแสดงออกมานั้น จะโดยตั้งใจหรือไม่ก็ตาม แต่ 4-5 เรื่องที่ผ่านเข้ารอบมาทำให้เห็นประจักษ์แล้วว่า มนุษย์ที่ถูกลิดรอนสิทธิเสรีภาพนั้น เป็นความเบาหวิวเหลือทนของชีวิตโดยแท้
และโดยไม่ต้องเน้นย้ำเรื่องการเมือง นักเขียนแทบทุกคนบันทึกประวัติศาสตร์แห่งยุคสมัยเอาไว้พร้อมเพรียงกันโดยไม่ได้นัดหมายผ่านเรื่องเล่าของตนอย่างมีนัยสำคัญ
ประหนึ่งว่าทุกคนต่างก็ถูกการเมืองกระทำชำเราป่น ‘ปี้’ มาแทบไม่ต่างกัน!