เอสซีจีซี : ก่อนเข้าตลาดหุ้น (3) / วิรัตน์ แสงทองคำ

วิรัตน์ แสงทองคำviratts.wordpress.com

วิรัตน์ แสงทองคำ

https://viratts.com

 

เอสซีจีซี : ก่อนเข้าตลาดหุ้น (3)

 

เอสซีจีซี มีบทบาทท้าทาย ในฐานะธุรกิจระดับภูมิภาคที่แข็งขัน

ภาพสำคัญธุรกิจเอสซีจีซีปัจจุบันซึ่งนำเสนออย่างตั้งใจ (แบบแสดงรายการข้อมูลและร่างหนังสือชี้ชวน ยื่นต่อสํานักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ หรือ ก.ล.ต. 27เมษายน2565) “…เป็นผู้ผลิตเม็ดพลาสติก (PE, PP และ PVC) ที่ใหญ่ที่สุดในอาเซียน ด้วยส่วนแบ่งกำลังการผลิตติดตั้ง (nameplate capacity) ตามสัดส่วนการถือหุ้นที่ร้อยละ 19 ของกำลังการผลิตทั้งหมดในอาเซียน”

ทั้งนี้ เชื่อมโยงกับข้อมูลอีกบางตอน กล่าวถึงสายธุรกิจที่สาม ที่เรียกว่า “สายธุรกิจอื่นๆ” หนึ่งในนั้นคือ “ธุรกิจโอเลฟินส์ (olefins) ในต่างประเทศ”

“…มีแผนการขยายธุรกิจด้วยการก่อสร้างคอมเพล็กซ์ปิโตรเคมี (Petrochemical Complex) แห่งใหม่ในประเทศเวียดนาม ผ่าน LSP ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของบริษัท และในประเทศอินโดนีเซียผ่านทาง CAP ซึ่งเป็นบริษัทร่วม…”

แม้ว่าขณะนี้น้ำหนักทีมีผลต่อผลประกอบการยังไม่มากนัก แต่เชื่อว่าในไม่ช้าจะเพิ่มมากขึ้นๆ

 

อันที่จริงโดยภาพรวม เอสซีจีให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ธุรกิจภูมิภาค มาราว 3 ทศวรรษที่แล้ว ในยุคชุมพล ณ ลำเลียง (ผู้จัดการใหญ่ 2536-2548) โดยเฉพาะธุรกิจเคมีภัณฑ์ (หรือเอสซีจีซี ปัจจุบัน) โดยเริ่มต้นโครงการเคมีภัณฑ์ครบวงจรขนาดใหญ่ครั้งแรกในระเทศอินโดนิเชีย ที่เรียกว่า Tuban project มาตั้งแต่ปี 2540 ถือว่าอยู่เป็นจังหวะไม่เหมาะ เผชิญภาวะขัดจังหวะด้วยวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่

ในที่สุดโครงการใหญ่ได้เดินหน้า สู่ภาพที่ใหญ่ยิ่งขึ้นในยุค กานต์ ตระกูลฮุน (ผู้จัดการใหญ่ 2548-2558) ผู้มีประสบการณ์เชี่ยวกรำในช่วงก้าวกระโดดกับธุรกิจเคมีภัณฑ์ จากผู้มีบทบาทฐานะเป็นผู้บุกเบิกคนหนึ่งในการสร้างฐานการผลิตในขั้นต้นน้ำ (Upstream) ในยุคเปิดเสรีในจังหวะที่สำคัญมากๆ กับบริษัทระยองโอเลฟินส์ (2539) จากนั้นถือเป็นผู้บุกเบิกอย่างแท้จริง สำหรับ Tuban project ในช่วงปี 2540 ด้วย

Tuban project มีปัญหาต่อเนื่องมากมาย โดยเฉพาะเนื่องมาจากวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจที่มาถึงในช่วงเวลาเริ่มต้นโครงการพอดี มีปัญหาคาราคาซังต่อไปหลายปี

จุดเปลี่ยนสำคัญเกิดขึ้นในปี 2554 เมื่อ เอสซีจีซี เข้าไปซื้อหุ้น 30% ของ Chandra Asri Petrochemicals (CAP) ธุรกิจเคมีภัณฑ์ครบวงจรที่ใหญ่ที่สุด อยู่ที่เมือง Banten เกาะชวา ในอินโดนีเซีย

CAP เป็น Complex เริ่มต้นโครงการปี2535 ในช่วงปี 2549 Temasek Holding กิจการลงทุนของรัฐบาลสิงคโปร์เข้าถือหุ้นโดยอ้อมราว 30% หลังจากการปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่ ช่วงคาบเกี่ยววิกฤตการณ์ เอสซีจีซี ได้พลิกแผน ถือว่าการลงทุนใน CAP เป็นโครงการในระดับภูมิภาคที่ใหญ่มากในเวลานั้น ทั้งส่งคนของตนเองเข้าไปร่วมบริหาร มีบทบาทสำคัญในด้านปฏิบัติการ (Operation) และการผลิต (Production)

นอกจากนี้ ยังมีส่วนชักนำธนาคารไทยมีส่วนร่วม เริ่มด้วยธนาคารกรุงเทพ และธนาคารไทยพาณิชย์ร่วมกันให้บริการสินเชื่อกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐ (2555) และต่อมาอีกระยะ (2559) ธนาคารกสิกรไทยก็มีส่วนร่วมสนับสนุนสินเชื่อเพื่อการดำเนินการอีกราว 110 ล้านเหรียญสหรัฐ

จึงไม่น่าแปลกใจที่ธนาคารทั้งสาม มีบทบาทกรณีเอสซีจีซีเข้าตลาดหุ้นไทย

รายงานที่เกี่ยวข้องล่าสุด (อ้างแล้ว) เอสซีจีซี ถือหุ้นใน CAP ในสัดส่วน 30.57% รวมทั้งมีแผนการใหม่ๆ

“…กิจการคอมเพล็กซ์ปิโตรเคมี (Petrochemical Complex) แบบครบวงจรในประเทศอินโดนีเซีย โดยมีกำลังการผลิตติดตั้ง (nameplate capacity) รวมอยู่ที่ 1.39 ล้านตันต่อปีสำหรับผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ (olefins) ต้นน้ำ และ 1.32 ล้านตันต่อปีสำหรับผลิตภัณฑ์พอลิโอเลฟินส์ (polyolefins) ปลายน้ำ อีกทั้ง CAP กำลังวางแผนขยายคอมเพล็กซ์ปิโตรเคมี (Petrochemical Complex) (‘โครงการ CAP 2’) ในพื้นที่ติดกับคอมเพล็กซ์ปิโตรเคมี (Petrochemical Complex) ปัจจุบันของ CAP โดยคาดการณ์ว่าโครงการ CAP 2 จะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในประมาณปี 2569”

 

แผนการในภูมิภาคของเอสซีจีซีใหญ่ขึ้น ท้าทายขั้นอีก ถือเป็นอีกโครงการใหญ่ที่สำคัญอย่างมาก มาจนถึงปัจจุบัน เป็นโครงการเริ่มต้นใหม่ด้วยตนเอง (Green field) เรียกว่า “ธุรกิจปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกในประเทศเวียดนาม” – Long Son Petrochemical Complex (LSP) เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2549

LSP แต่แรกเรียกว่า Southern Petrochemical Complex ตั้งอยู่ใน Long Son commune ของจังหวัด Ba Ria-Vung Tau ห่างจาก Ho Chi Minh City ประมาณ 100 กิโลเมตร โดยมีการเปลี่ยนนักลงทุนหลายครั้ง จาก PetroVietnam สู่กิจการร่วมทุนระหว่างเอสซีจี กับหน่วยงานรัฐบาลเวียดนามและนักลงทุนท้องถิ่น จนมาอยู่ในมือ เอสซีจีซี ในที่สุดในปี 2561 ในยุค รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส (ผู้จัดการใหญ่ 2559-2565) เมื่อ เอสซีจีซี ซื้อหุ้นในสัดส่วน 29% จาก Petro Vietnam

เมื่อต้นปี 2563 ช่วงต้นๆ วิกฤตการณ์ COVID-19 เอสซีจีซีอัดฉีดครั้งใหญ่ เพิ่มเงินลงทุนใน LSP อีก 1,386 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้มูลค่ารวมถึง 5,100 ล้านเหรียญสหรัฐแล้ว เพื่อให้โครงการเดินหน้าเต็มกำลัง ซึ่งดำเนินมาล่าช้ากว่ากำหนด

“…กำลังก่อสร้างคอมเพล็กซ์ปิโตรเคมี (Petrochemical Complex) ครบวงจรในประเทศเวียดนามผ่าน LSP และคาดว่าจะมีกำลังการผลิตติดตั้ง (nameplate capacity) รวมอยู่ที่ 1.35 ล้านตันต่อปีสำหรับผลิตภัณฑ์โอเลฟินส์ (olefins) ต้นน้ำ และ 1.4 ล้านตันต่อปีสำหรับผลิตภัณฑ์พอลิโอเลฟินส์ (polyolefins) ปลายน้ำ โดยคาดการณ์ว่า LSP จะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ได้ในช่วงต้นปี 2566 และ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564 LSP ดำเนินการก่อสร้างแล้วเสร็จคิดเป็นร้อยละ 91.0”

แบบรายงานข้างต้นกล่าวไว้อย่างสอดคล้องกัน

 

กรณี เอสซีจีซี เข้าตลาดหุ้น จะซ้ำรอยกรณี เอสซีจีพี หรือไม่ อย่างไร น่าติดตาม ด้วยสถานการณ์ไม่ค่อยจะเอื้อนัก ในทำนองเดียวกัน เอสซีจีพี ท่ามกลางวิกฤตการณ์ COVID-19 เคยรีรอในกระบวนการเข้าตลาดหุ้น โดยใช้เวลาเกือบหนึ่งปีทีเดียว

ดังนั้น ถ้อยแถลงล่าสุดของ เอสซีจี (หัวข้อ “เอสซีจี แถลงผลประกอบการไตรมาส 2 และครึ่งแรกของปี 2565…” 27 กรกฎาคม 2565 – https://scgnewschannel.com/) จึงน่าสนใจ

นักลงทุนและสื่อส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับประเด็นหนึ่ง เกี่ยวกับผลประกอบการเอสซีจีสำหรับไตรมาส 2 ปี 2565 พุ่งเป้าไปที่มีกำไรลดลงถึง 42% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน

“เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบของธุรกิจเคมิคอลส์ ปรับตัวสูงขึ้นตามราคาน้ำมันในตลาดโลก รวมถึงส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมของธุรกิจเคมิคอลส์ลดลง” ถ้อยแถลง นำโดยรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ผู้จัดการใหญ่เอสซีจีคนปัจจุบันซึ่งจะพ้นวาระในสิ้นปีนี้ ให้เหตุผลไว้ สะท้อนนัยยะความสำคัญของธุรกิจเคมีภัณฑ์ และเชื่อว่าจะส่งผลสะเทือนถึงบางมิติว่าด้วยมุมมองทางธุรกิจต่อเอสซีจีซีด้วย

ที่จริงแล้วในถ้อยแถลงข้างต้น เชื่อว่า เอสซีจีตั้งใจนำเสนอประเด็นที่แตกต่าง “…เร่ง 5 กลยุทธ์ ฝ่ามรสุมวิกฤตซ้อนวิกฤต เงินเฟ้อ-ราคาพลังงานพุ่ง-โลกรวน” ตามหัวข้อว่าไว้ หนึ่งในนั้นคือ “คุมเข้มการลงทุนตามกลยุทธ์อย่างรอบคอบ ทบทวนการลงทุน ชะลอโครงการใหม่ที่ไม่เร่งด่วน หรือใช้ระยะเวลายาวนานกว่าจะได้ผลตอบแทน มุ่งโครงการที่ได้ผลตอบแทนเร็ว และสอดคล้องกับกลยุทธ์การเติบโตของธุรกิจ”

ทั้งนี้ เป็นที่แน่ชัดว่า แผนการและยุทธศาสตร์สำคัญเอสซีจีซีนั้น คงเดินหน้าต่อไป โดยเฉพาะการลงทุนในเวียดนาม “โครงการปิโตรเคมีครบวงจร Long Son Petrochemicals Company Limited (LSP) ที่เวียดนาม มีความคืบหน้าตามแผนร้อยละ 96 พร้อมดำเนินการเชิงพาณิชย์ในครึ่งปีแรกข้องปี 2566” (ส่วนหนึ่งของถ้อยแถลง)

ในจังหวะเวลาจากนี้ เชื่อว่าน่าตื่นเต้นไม่น้อย เมื่อเอสซีจีซีเข้าสู่กระบวนสำคัญจนเข้าตลาดหุ้นในที่สุด ในช่วงใกล้เคียงกัน เอสซีจีจะได้ต้อนรับผู้จัดการใหญ่คนใหม่ ซึ่งมีภูมิหลังและประสบการณ์สำคัญกับเอสซีจีซี

หมายเหตุ : โปรดพิจารณาคำย่ออย่างแยกแยะ เพื่อมิให้สับสน

เอสซีจี (SCG) หมายถึง เครือซิเมนต์ไทย เป็นบริษัทแม่ ส่วน เอสซีจีซี (SCGC) หมายถึง เอสซีจีเคมิคอลส์ เป็นบริษัทย่อยของเอสซีจีอีกที •