ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 - 11 สิงหาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | สุจิตต์ วงษ์เทศ |
เผยแพร่ |
สุจิตต์ วงษ์เทศ
อำนาจของเสียง
ในเมืองกับหมู่บ้าน
วัฒนธรรมสังคมเมืองใหญ่กับวัฒนธรรมสังคมหมู่บ้านปะทะกันเรื่อยมาตั้งแต่กรุงเทพฯ ขยายตัวทั้งทางสูงและทางราบอย่างมีผังตามยถากรรมหลายสิบปีมาแล้ว ขณะนี้การปะทะกันยังไม่จบ แต่จะพบเมื่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งความอดทนลดลง
สังคมเมืองขนาดใหญ่ในสากล มีวัฒนธรรมสมัยใหม่เพื่อตอบสนองวิถีสังคมเมืองขนาดใหญ่
กรุงเทพฯ มีวัฒนธรรมสมัยใหม่ในบางส่วน แต่อีกหลายส่วนของกรุงเทพฯ ยังอยู่ในวิถีชุมชนหมู่บ้าน โดยเฉพาะกิจกรรมชุมชนที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตที่ต้องมี “เสียง” ซึ่งแบ่งกว้างๆ ได้ว่าก่อนมีเครื่องเสียง กับหลังมีเครื่องเสียง
“เครื่องเสียง” เป็นเทคโนโลยีจากตะวันตก หมายถึงเครื่องขยายเสียงเพื่อให้เสียงดังกว่าปกติ ประกอบด้วย (1.) เครื่องกำเนิดไฟฟ้า หรือ “เครื่องปั่นไฟ” (2.) ไมโครโฟน และ (3.) ลำโพง
ก่อนมีเครื่องเสียง
พิธีกรรมของชุมชนต้องมีเครื่องประโคม (ปัจจุบันเรียกเครื่องดนตรี) เพื่อความศักดิ์สิทธิ์สื่อสารกับอำนาจเหนือธรรมชาติ ขณะเดียวกันก็ส่งสัญญาณบอกกล่าวชุมชนที่อยู่ห่างไกลออกไปให้มาร่วมพิธีกรรม มี 2 ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วงดั้งเดิมเริ่มแรก และช่วงเป็นบ้านเป็นเมือง
ช่วงดั้งเดิมเริ่มแรก เมื่อหลายพันปีมาแล้วชุมชนใหญ่ไม่มาก จึงมีเครื่องประโคมเก่าแก่ในพิธีกรรมของชุมชน คือ ฆ้อง, กลอง, ปี่ เป็นสำคัญที่สุด
[ฆ้อง ทำจากโลหะผสมเรียกสำริด พบเริ่มแรกราว 2,500 ปีมาแล้ว มีเสียงดังกังวานไปไกลอย่างมหัศจรรย์ นับเป็นสิ่งใหม่ที่ “เฮี้ยน” แสดงอำนาจยิ่งใหญ่ กลอง ใช้ตีจังหวะตามทำนองปี่ที่เป่า ปี่ ใช้เป่าทำนองนำเพลงสั้นๆ แต่กลับไปกลับมาจนกว่าจะพอใจ]
ช่วงเป็นบ้านเป็นเมือง เมื่อ 1,500 ปีมาแล้ว สืบเนื่องเครื่องประโคมดั้งเดิมแต่ดังไม่พอ จึงต้องสร้างสรรค์เครื่องประโคมเพิ่มเข้ามา ได้แก่ ระนาด รวมเป็น ระนาด, ฆ้อง, กลอง, ปี่ ปัจจุบันเรียกวงปี่พาทย์
[ระนาด ทำจากไม้ เช่น ลูกระนาดทำจากไม้ไผ่บง (ไผ่ตง) ใช้สองมือตีลูกระนาดด้วยไม้ตีโดยเฉพาะทำให้มีเสียงดัง ฆ้อง มี 2 อย่าง คือ ฆ้องโหม่ง ใช้แขวนตีใบเดียว ส่วนฆ้องวงมีขนาดเล็ก แต่มีฆ้องหลายใบตามระดับเสียงผูกติดร้านฆ้องรูปครึ่งวงกลม แล้วคนนั่งตีกลางร้านฆ้อง]
เสียงระนาดกับเสียงฆ้องก้องกังวานไกลตามลักษณะเสียงในที่โล่ง
หลังมีเครื่องเสียง
มี 2 ช่วงเวลา ได้แก่ ช่วงเริ่มต้น และช่วงหลังจากนั้นจนปัจจุบัน
ช่วงเริ่มต้น เครื่องเสียงประกอบด้วย (1.) ไมโครโฟน (2.) ลำโพง และ (3.) เครื่องปั่นไฟ (เครื่องกำเนิดไฟฟ้า) เพราะหมู่บ้านยังไม่มีไฟฟ้า กว่าจะมีก็อีกนานมากๆ
เครื่องเสียงช่วงเริ่มต้นไม่ซับซ้อน มีอุปกรณ์ไม่มาก เสียงดังตามต้องการได้ยินถึงชุมชนห่างออกไปไกลมาก
วงปี่พาทย์ ยังเป็นเครื่องประโคมหลักตามประเพณี อาจมีอย่างอื่นเพิ่มเข้ามา เช่น กลองยาว เป็นต้น
ช่วงหลังจากนั้นจนปัจจุบัน แสดงอำนาจด้วยการให้ความสำคัญลำโพงมีจำนวนมากขึ้นเพื่อขยายเสียงดังมากขึ้นและอาจแข่งขันของใครดังมากกว่ากัน
วงปี่พาทย์เป็นเครื่องประโคมตามประเพณี ที่เคยให้เสียงศักดิ์สิทธิ์และไพเราะเข้าหูน่าฟัง แต่คนในโลกไม่เหมือนเดิม เสียงของวงปี่พาทย์ไม่เข้าหูเหมือนคนรุ่นก่อนๆ การประโคมโดยเฉพาะเมื่อต้องแห่แหนเคลื่อนที่เปลี่ยนไปใช้เครื่องฝรั่งดังสนั่น เช่น แตรวง และกลองชุด ในที่สุดเอาขึ้นรถขนาดต่างๆ เรียก “รถแห่” มีหลากหลายรูปแบบดังสนั่นลั่นหมู่บ้าน แล้วไกลออกไปถึงทุ่งนาป่าเขาลำเนาไพร
เสียงดังจาก “รถแห่” แสดงอำนาจของเจ้าภาพที่จัดขบวนแห่ เมื่อนานไปจึงสร้างสรรค์ขันแข่งกันมากขึ้นเพื่อส่งเสียงดังสูงสุด
กรุงเทพฯ มีเสียง
กรุงเทพฯ เติบโตขึ้นจากชุมชนหมู่บ้านเหมือนพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทย
เมื่อผู้คนจากชุมชนหมู่บ้านทั่วประเทศไทยโยกย้ายไปอยู่กรุงเทพฯ ด้วยเหตุผลต่างๆ กัน จากนั้นก็เกิดชุมชนหมู่บ้านเพิ่มเติมทั่วกรุงเทพฯ จนหนาแน่น จึงมีกิจกรรมชุมชนที่ต้องการเสียงดังแสดงอำนาจตามประเพณีชุมชนหมู่บ้านสืบเนื่องมา
หลัง พ.ศ.2540 กรุงเทพฯ เติบโตก้าวกระโดด ความเป็นเมืองขยายตัวเบียดเสียดยัดเยียดทุกทิศทางทั้งทางสูงและทางราบ มีคนหลากหลายอยู่อาศัยทั้งอาคารสูงและบ้านเป็นหลังมีรั้วทางราบ รวมทั้งห้องแถวตึกแถวนับไม่ถ้วน ปะปนชุมชนแออัดที่มีสืบเนื่องมาแต่เดิม
วัฒนธรรมสมัยใหม่ของสังคมเมืองใหญ่ต้องการความเงียบของปัจเจกบุคคลปะทะวัฒนธรรมชุมชนหมู่บ้านตามวิถีดั้งเดิมที่ต้องการเสียงดังร่วมกันเพื่ออำนาจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
แต่ที่ไม่เข้าใจก็คือพระสงฆ์ทำวัตรเช้า-เย็น ตลอดจนเทศน์มหาชาติ ทำไมต้องขยายเสียงผ่านลำโพงดังออกนอกวัดปะทะเสียงของภายนอกที่วุ่นวายอยู่แล้ว
พระสงฆ์มักอ้างว่าเผยแผ่ธรรมะซึ่งฟังไม่ขึ้น เพราะสังคมเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ ต้องการความเงียบสงบ ซึ่งเหมาะแก่การเจริญธรรมะของปัจเจกบุคคล •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022