ศิลปินแห่งรัฐ/นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

นิธิ เอียวศรีวงศ์

 

ศิลปินแห่งรัฐ

 

เราจะเข้าใจกรณีคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี ถูกคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติขับออกจากฐานะศิลปินแห่งชาติอย่างไร?

นักกฎหมายอาจเข้าใจอย่างหนึ่ง ศิลปินแห่งชาติด้วยกันก็คงเข้าใจอีกอย่าง (พร้อมทั้งรับบทเรียนไปด้วย) แต่ผมในฐานะนักเรียนประวัติศาสตร์เข้าใจว่า กรณีนี้เป็นส่วนหนึ่งของความพยายามอย่างเต็มที่และอุกอาจของฝ่าย “อำนาจที่ดำรงอยู่” (The Power That Is) ในอันที่จะหยุดความเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยไว้มิให้ขยับได้เลย

จึงเป็นเรื่องเดียวกับการละเมิดสิทธิประกันตัวของผู้ประท้วงทางการเมือง การใช้ คฝ.ขัดขวางการชุมนุมด้วยความรุนแรง การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไม่เลิก การใช้กฎหมายมาตราที่เกี่ยวกับความมั่นคงแห่งรัฐอย่างพร่ำเพรื่อไร้เหตุผล ฯลฯ และเพื่อจะเข้าใจตามที่กล่าวนี้ได้ ผมขออนุญาตใช้เนื้อที่ข้างล่างนี้อธิบายเกี่ยวกับผู้ตัดสินศิลปะในสังคมประเภทต่างๆ และนัยยะทางการเมืองขององค์ตัดสินที่แตกต่างกัน

ในยุคสมัยที่ประชากรยังมีชีวิตในเศรษฐกิจยังชีพ ศิลปินเต็มเวลาคือผู้ไม่ผลิตอาหารเลย จึงอยู่รอดไม่ได้จนกว่าจะมีผู้อุปถัมภ์ ผู้อุปถัมภ์รายใหญ่ของศิลปินประเภทนี้คือวังกับวัด เพราะเป็นเพียงสองแหล่งที่มีโภคทรัพย์และกำลังเพียงพอจะ “เลี้ยง” ศิลปินได้

นอกจากความสามารถทางเศรษฐกิจแล้ว ทั้งสองแหล่งยังเป็น “อำนาจ” ซึ่งต้องการความงามมาเคลือบส่วนที่น่าเกลียดของตน ให้ประกายความชอบธรรมออกมาได้แรงกล้าขึ้น ศิลปินได้ชีวิตที่สุขสบายกว่าคนทั่วไป ผู้อุปถัมภ์ได้บริการที่ตนพอใจ

ด้วยเหตุดังนั้น ศิลปินในทุกสังคมโบราณ จึงมักเป็นกวีราชสำนัก, จิตรกร, สถาปนิก, ประติมากร หรือช่างแขนงอื่นๆ ในกรมกองราชการ

ผมควรกล่าวไว้ด้วยว่า ชุมชนยังชีพของชาวบ้านก็อาจผลิตศิลปินขึ้นได้เช่นกัน แต่เขาไม่อาจตัดขาดจากอาชีพผลิตอาหารเพื่อเลี้ยงครอบครัวได้ จึงมีเวลาเฉพาะฤดูว่างนาปีละไม่กี่เดือน ที่อาจทำงานศิลปะของตน บางครั้งด้วยค่าตอบแทนจำนวนน้อยเท่าที่ผู้ซื้อในเศรษฐกิจยังชีพพอจ่ายให้ได้ และแน่นอน ศิลปินพื้นบ้านเหล่านี้ย่อมไม่มีเวลาในการพัฒนาการสร้างสรรค์ของตนไปได้มากนัก ต้องยึดเกาะกับขนบทางศิลปะไว้ค่อนข้างมาก แม้กระนั้นก็มีงานศิลปะชั้นยอดถูกผลิตออกจากศิลปินพื้นบ้านจำนวนไม่น้อย ซ้ำยังเป็นศิลปะที่ท้าทายอำนาจอย่างแหลมคมแต่มีชั้นเชิงอยู่บ่อยๆ เพราะศิลปินประเภทนี้ย่อมมีเสรีภาพมากกว่าศิลปินภายใต้อุปถัมภ์

เมื่อเปรียบเทียบกับศิลปินพื้นบ้าน ศิลปินภายใต้อุปถัมภ์ขาดเงื่อนไขสำคัญสุดในการสร้างสรรค์งานศิลปะ นั่นคือคือเสรีภาพ เพราะงานของพวกเขาถูกผลิตขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการเมืองของเจ้าของโภคทรัพย์ ได้แก่ วังและวัด เขาจะผลิตอะไรที่ขัดขวางหรือทำลายประโยชน์ทางการเมืองของผู้อุปถัมภ์ ก็เท่ากับเขาผลิตงานที่ทำลายความอยู่ดีมีสุขของเขาเอง

แม้กระนั้น ก็ใช่ว่าจะไม่มีศิลปินใต้อุปถัมภ์กบฏเสียเลย ไม่ว่าในประวัติศาสตร์ไทยหรือประวัติศาสตร์โลก ผู้อ่านคงนึกถึงชื่อของศรีปราชญ์ กวีราชสำนักคนใดก็ตามที่สามารถเขียนโคลงว่า “อย่าว่าเราเจ้าข้า อยู่ฟ้าเดียวกัน” ขึ้นมาได้ ไม่ควรถูกเนรเทศไปนครศรีธรรมราช แต่ควรถูกส่งไปไซบีเรียมากกว่า บังเอิญกษัตริย์อยุธยาไม่ได้เป็นเจ้าของไซบีเรีย ไกลสุดที่จะยังไม่หลุดจากพระราชอำนาจคือนครศรีธรรมราช

(บทนี้ของโคลงอาจแต่งขึ้นในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ โดยฝีมือคนที่ไม่ใช่กวีราชสำนักแท้-เช่น พระยาตรัง-แต่ใครก็ตามที่แต่งบทนี้ขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะเป็นคนสมัยไหน เป็นกวีราชสำนักเต็มตัวหรือไม่ ก็น่าอัศจรรย์จนไม่รู้จะวางท่านไว้ที่ไหนในประเทศไทย นอกจากไซบีเรียนั่นแหละครับ)

กวีพื้นบ้านก็ใช่จะมีเสรีภาพร้อยเปอร์เซ็นต์เต็ม แต่เนื่องจากท่านมีชีวิตอยู่ในสังคมที่คนเท่าเทียมกัน ทำงานศิลปะที่บังเอิญไปละเมิดหลักการอะไรของใคร อย่างมากก็โดนเขาด่า หรือเลวกว่านั้นคือทำร้ายร่างกาย ไม่มีวันถูกเนรเทศหรือปลดจากการอุปถัมภ์จนสิ้นไร้ไม้ตอก

 

แต่สภาพแวดล้อมของการสร้างงานศิลปะก็เปลี่ยนไป เมื่อเกิดผู้อุปถัมภ์ศิลปะรายใหม่ที่ไม่ใช่วัง และไม่ใช่วัด ซ้ำเป็นผู้อุปถัมภ์ที่ถือโภคทรัพย์โดยรวมจำนวนมากกว่า นั่นคือตลาด ซึ่งขยายตัวขึ้นเสียจนกระทั่งคนส่วนใหญ่ในแต่ละสังคม ใช้เวลาและกำลังเกือบทั้งหมดไปในการผลิตเพื่อแลกเปลี่ยนกันในตลาด แม้แต่การผลิตอาหาร ก็เปลี่ยนไปสู่การผลิตเพื่อให้ได้ผลผลิตจำนวนมากเกินกำลังการบริโภคของผู้ผลิต แต่มุ่งหมายจะนำไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าอื่นๆ ในตลาด

ตลาดงานศิลปะจึงขยายตัวใหญ่ขึ้นตามไปด้วย บ้านเรือนต้องการภาพเขียนติดฝาผนัง, มีที่ว่างสำหรับวางประติมากรรมหลายขนาดและชนิด, ต้องการการออกแบบที่ทำให้เจ้าของรู้สึกพอใจ, งานศิลปะกระจายอยู่ทั่วไป ทั้งในที่สาธารณะและส่วนตัว ไม่กระจุกอยู่แต่ในวังและวัดอย่างที่เคยเป็นมา

ศิลปินสามารถเลี้ยงชีพด้วยงานศิลปะได้ โดยไม่ต้องพึ่งพาอำนาจอุปถัมภ์ของใคร เพราะมีตลาดเป็นผู้คอยรับซื้องานเหล่านั้นไปใช้ หรือกล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือตลาดเข้ามาทำหน้าที่อุปถัมภ์ศิลปะแทนวังและวัด

และในฐานะผู้อุปถัมภ์ศิลปะ ตลาดบำรุงส่งเสริมศิลปะได้ดีกว่าวังและวัดอย่างเทียบกันไม่ได้ ด้วยเหตุผลที่ตลาดมีข้อดีกว่าดังนี้

 

ตลาดใช้วิจารณญาณเดียวในการเลือกส่งเสริมงานศิลปะ คือฝีมือหรือคุณภาพทางศิลปะ ตลาดอาจประกอบด้วยคนที่ไม่ได้รับการฝึกฝนการประเมินค่างานศิลปะมาดีนัก แต่ตลาดประกอบด้วยคนจำนวนมาก อย่างน้อยก็พอประกันได้ว่าต้องมี “คนตาถึง” อยู่ในนั้นบ้าง แม้ต้องยอมรับว่า ตลาดล้มเหลวบ่อยเหมือนกัน โดยไม่ยอม “ซื้อ” ศิลปะชั้นยอดเพราะยังมองไม่เห็นคุณค่าทางศิลปะซึ่งอาจก้าวหน้าไปไกลเกินตลาด

แต่ตลาดมีกำลังอีกชนิดที่วังและวัดไม่มี นั่นคืองานศิลปะชั้นสุดยอดอาจไม่ได้สูญหายไปในตลาด เพียงแต่มี “ราคา” ตกต่ำ จนอาจตกอยู่ในมือของคนที่ไม่รู้ค่า ตราบเท่าที่เขาไม่ทำลายมันทิ้ง สักวันมันจะโผล่กลับมาสู่ตลาดใหม่ด้วยความตื่นตะลึงของผู้คน “ราคา” อาจสูงลิ่วจนพิพิธภัณฑ์ศิลปะหลายแห่งแย่งกันประมูล แม้ว่าตัวศิลปินอาจจากโลกไปท่ามกลางความยากจนข้นแค้น แต่งานของเขายังอยู่

ตลาดมีแนวโน้มรับสิ่งใหม่ได้เร็วกว่าวังและวัดซึ่งมักมีแนวโน้มอนุรักษนิยม (ซึ่งแน่นอนย่อมให้ความปลอดภัยแก่วังและวัดมากกว่าความเปลี่ยนแปลง) ตลาดจึงช่วยให้ศิลปะเดินหน้าได้มากกว่าองค์อุปถัมภ์ผู้เปี่ยมอำนาจ

ศิลปินในตลาดจึงเข้าถึง “เสรีภาพ” ได้มากและง่ายกว่าศิลปินภายใต้อุปถัมภ์ และเพราะเสรีภาพนี้แหละที่ทำให้ศิลปะของตลาดก้าวตามความเปลี่ยนแปลงของสังคมมาได้ตลอดจนถึงทุกวันนี้ (ขอย้ำอีกครั้ง อาจจะอย่างทุลักทุเลในบางกรณี เพราะผมไม่ปฏิเสธว่า ตลาดก็มีความล้าหลังบางอย่างที่ทำให้ล้มเหลวในบางครั้ง)

อย่างไรก็ตาม ตลาดมักพยายามจะปรับปรุงความสามารถของตนในการวินิจฉัยคุณค่าของงานศิลปะ เช่น มีหนังสือวิจารณ์งานศิลปะขายในตลาดเป็นปรกติ ตลาดไทยมีความพยายามอย่างนี้ไม่สู้มากนัก แม้มีผู้พยายามทำวารสารวิจารณ์งานวรรณกรรมให้ขายได้เป็นเวลานานๆ (และคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี ก็เป็นหนึ่งในนั้น) แต่ก็ไม่เคยประสบความสำเร็จเลย คือเมื่อขาดผู้อุปถัมภ์รายใหญ่แล้ว ก็มักต้องล้มเลิกไปในเวลาไม่นาน แสดงว่าตลาดให้การอุปถัมภ์น้อยเกินไป

 

หนึ่งในศิลปินของตลาดยุคแรกๆ ที่ผมขอยกเป็นตัวอย่างคือวิลเลียม เช็กสเปียร์ เขาคือคนที่ได้โอกาสเขียนบทละครในยุคสมัยที่มีโรงละครที่เก็บเงินผู้เข้าชม (ไม่ใช่โรงละครฉลองคริสต์มาสในโบสถ์ หรือโรงละครตามพระที่นั่งโน่นนี่ในวัง) ซ้ำผู้คนก็ยังมีเงินพอจะควักจ่ายค่าเข้าชมจนได้ผู้ชมจำนวนมาก

ร่วมยุคสมัยของเขาสืบมาจนปัจจุบัน ราชสำนักอังกฤษจะตั้งกวีราชสำนัก (poets laureate) ไว้หนึ่งคนเสมอ ทำหน้าที่แต่งโคลงกลอนประณามพจน์กษัตริย์-ราชินีในวันเฉลิมและวันสำคัญอื่นๆ แล้วจะเอาเวลาที่เหลือไปแต่งอย่างอื่นก็เชิญ เช็กสเปียร์ไม่เคยเป็นกวีราชสำนักเลยตลอดชีวิต

แต่กวีราชสำนักมีฝีมือระดับไหน เว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยออกซ์ฟอร์ดอันหนึ่ง ตั้งคำถามว่า บาทและบทของกวีนิพนธ์ที่คนอังกฤษจำได้จนขึ้นใจ (อย่างที่คนไทยจดจำงานของสุนทรภู่) เป็นผลงานของกวีราชสำนักบ้างหรือไม่ คำตอบก็คือมีบ้างจำนวนน้อยมาก เช่น งานบางชิ้นของ Wordsworth และ Tennyson ไม่นับเพลงคริสต์มาสบางเพลง นอกจากนั้น ล้วนไม่ใช่ทั้งสิ้น

พูดอีกอย่างหนึ่งคือเป็นฝีมือของกวีตลาด ในขณะที่งานของกวีราชสำนักถูกลืมไปหมดแล้ว

 

ตลาดไทยพัฒนาไปไม่มากนักในการอุปถัมภ์ศิลปะ-พัฒนาไม่มากทั้งจำนวนของทุนที่จะลงไปในการอุปถัมภ์ และไม่มากนักในด้านสมรรถภาพการวินิจฉัยงานศิลปะ-รัฐจึงเข้ามาทำหน้าที่แทน (ผมขอย้ำว่า “รัฐ” นะครับ ไม่ใช่ “ชาติ” แม้ว่าตำแหน่งแห่งเกียรติยศที่มอบให้คือ “ศิลปินแห่งชาติ” แต่ที่จริงแล้ว ส่วนใหญ่ที่ไม่ใช่ศิลปินพื้นบ้านล้วนเป็นศิลปินแห่งรัฐทั้งนั้น ไม่ใช่แห่งชาติ… ถ้าเรายังเชื่อว่า “รัฐ” กับ “ชาติ” นั้นไม่ใช่สิ่งเดียวกัน) ด้วยเหตุบังเอิญใดผมไม่ทราบได้ คุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี ได้รับแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งนี้ด้วย

คุณสุชาติจึงเป็นศิลปินจำนวนน้อยในตำแหน่งนี้ที่เป็นศิลปินของตลาด ไม่ได้เป็นที่ชื่นชอบเป็นพิเศษของรัฐไทยมาก่อน ไม่ว่าคุณสุชาติจะมีเจตนาอย่างไร แต่ตลอดชีวิตของเธอ ผลิตแต่งานที่มุ่งจะวางขายในตลาด และในตลาดเล็กๆ ของนักอ่านไทย งานเหล่านั้นได้รับการต้อนรับอย่างกว้างขวางทีเดียว

หากไม่นับศิลปินพื้นบ้านแล้ว ส่วนใหญ่ของศิลปินในตำแหน่งนี้ ล้วนเป็นศิลปินภายใต้อุปถัมภ์ของวัดและวังทั้งสิ้น อันที่จริงผมไม่ทราบเลยว่า มีการอุปถัมภ์เกิดขึ้นหรือไม่และดำเนินไปอย่างไร แต่เมื่อดูจากผลงานของท่านเหล่านั้น ก็ทำให้ค่อนข้างแน่ใจว่าพวกเขาน่าจะถูกจัดให้เป็นศิลปินภายใต้การอุปถัมภ์

“กวี” บางท่านรับจ้างเขียนบทอาศิรวาทแก่ธนาคารหรือธุรกิจขนาดใหญ่ในวาระสำคัญของเจ้านายตลอดปี งานของจิตรกรจำนวนมากวนเวียนอยู่กับสิ่งที่อ้างว่าเป็น “พุทธธรรม” หรือความสงบในเขตพุทธาราม-สังฆารามต่างๆ อันเป็นอุดมคติ ทั้งๆ ที่รูปลักษณ์อันเด่นชัดที่สุดของวัดไทยในปัจจุบันคือ “ตุ้งแช่” ซ้ำแต่ละวัดยังแข่งกัน “ตุ้งแช่” อีกด้วย หาได้มีอะไรเหมือนในภาพเขียนของศิลปินภายใต้อุปถัมภ์เหล่านั้นเลย หากไม่ใช่ภาพวาดของวัดหรือ “พุทธธรรม” ก็จะเป็นพระบรมฉายาลักษณ์ โดยเฉพาะในรัชกาลที่แล้ว ซึ่งเป็นที่คุ้นตาของประชาชนทั่วไปอยู่แล้ว แต่ศิลปินสามารถสร้างให้พระอิริยาบถมีความหมายในเชิงสรรเสริญยกย่อง รวมทั้งแสงสีและองค์ประกอบที่สื่อความหมายไปถึงการนับถือบูชาอย่างสูง

และด้วยเหตุดังนั้น ในขณะที่ศิลปินภายใต้อุปถัมภ์ไม่สนใจจะมีหรือใช้เสรีภาพ ศิลปินตลาดอย่างคุณสุชาติ สวัสดิ์ศรี กลับใช้เสรีภาพซึ่งมีอยู่ในสังคมไทยโดยขาดหลักประกันอันมั่นคงนั้นอย่างเต็มที่ เพื่อแสดงให้เห็นความไม่ชอบธรรมขององค์กรรัฐหลากหลายชนิด ที่ดำเนินไปภายใต้การยึดอำนาจของกองทัพอย่างสืบเนื่อง

เกือบจะเป็นเพียงเสียงเดียวของเหล่า “ศิลปินแห่งชาติ” ในยามวิกฤตอันหนักหน่วงที่สุดของ “ชาติ”

นั่นคือเหตุผลที่รัฐไม่อาจปล่อยให้คุณสุชาติส่งเสียง “เสรี” ของตนต่อไป แต่วิธีที่รัฐใช้ในการ “ดับ” เสียงของคุณสุชาตินั้นน่าสนใจมาก เพราะมันสะท้อนให้เห็นว่า รัฐยังคิดจะจัดการควบคุมศิลปินเหมือนสมัยโบราณนับตั้งแต่อยุธยามาจนถึงต้นรัตนโกสินทร์ นั่นคือถอนการอุปถัมภ์ศิลปินเสีย ถ้าเนรเทศได้ก็อาจส่งไปอยู่นครศรีธรรมราช ถ้าไม่ถึงเนรเทศ ก็ถอดจากตำแหน่งเพื่อตัดขาดจากเบี้ยหวัดรายปีหรือบำเหน็จอื่นๆ

แต่สิ่งที่ “อำนาจอันดำรงอยู่” ของรัฐไทยไม่เข้าใจเลยก็คือ โลกได้เปลี่ยนไปแล้ว การถอดจากตำแหน่งไม่ทำให้เสียงคุณสุชาติดับลงไป ก็เสียงของเธอดังมาตั้งแต่ยังไม่ได้ตำแหน่งนี้ด้วยซ้ำ การถอดคุณสุชาติจึงไม่เกิดประโยชน์อะไรแก่ระบอบอันเฟะฟอนเสียแล้วนี้ นอกจากทำให้ผู้คนเห็นถึงความเฟะฟอนนั้นได้ถนัดขึ้นเท่านั้น