ลำดวนผกา : เมื่อไทย-เขมรถึงเกณฑ์พิฆาต/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

ลำดวนผกา

: เมื่อไทย-เขมรถึงเกณฑ์พิฆาต

 

พระเจ้า ให้ตายเถอะ พอเกิดเหตุ เมื่อดอกลำดวน (ไทย) แลรำดวน (เขมร) กลายเป็นประเด็นสนั่นโซเชียลดราม่าในต้นแบบความเป็นมาระหว่างไทย-เขมร แลฉันเองก็เพิ่งรู้บัดเดี๋ยวนี้ว่า “รำดวน” คือดอกไม้ประจำชาติของกัมพูชาไปแล้ว?

มันต้องมีอะไรที่พลาดไปสักอย่าง? เพราะฉันจำได้ไม่ลืมว่า “ดอกจำปีหรือจัมเป่ย” สุดแต่จะออกเสียงตามสำเนียงเขมรนั้น ตะหากที่เป็นดอกไม้ประจำชาติกัมพูชา เรื่องก็มีอยู่ว่าเมื่อนานมาแล้ว ฉันได้เล่นเกมเสี่ยงทายกับคุรุพราหมณ์ท่านหนึ่งซึ่งมาแสวงบุญในพนมเปญ มันคงจะนานมากเลยล่ะถ้าเป็นเหตุการณ์เช่นนี้แต่นั่นก็ไม่เกินปี 2543

ขณะนั้นกัมพูชายังมี “จำปี” (หรือจัมเป่ย) เป็นดอกไม้ประจำชาติหาใช่รำดวนไม่

อีกจำปีเขมรนั้น หาใช่ตระกูลเดียวกับเจ้าดอก “จำปี” ที่เป็นสัญลักษณ์การบินไทย! หากจำปีที่ว่านี้ คือผกา “จำปา” ที่เป็นสัญลักษณ์ของลาวตระกูลเดียวกับดอกลั่นทมของไทยที่เปลี่ยนชื่อเป็น “ลีลาวดี” ไปแล้ว

นี่แค่เท้าความรำลึกเหมือนบุพเพสันนิวาส “ลาว-เขมร-ไทย”พิกล ล่าสุด คือผกา “รำดวน” เขมรที่ดวลกับ “ลำดวน” ไทย ฟาดกันสนั่นในโซเชียล เมื่อไปค้นดูใหม่ก็พบว่า กัมพูชาเพิ่งจดทะเบียนรำดวนเป็นไม้ดอกประจำชาติเมื่อ พ.ศ.2548 มานี้เอง

เท่ากับว่าที่ผ่านมาใช้ผกาจำปี/จัมเป่ยดังที่ฉันเคยจำได้ และเป็นเหมือนสัญลักษณ์ของดอกไม้ในยุคกลางที่พบตามภาพสลักนูนต่ำปราสาทหินนครวัด-นครธม เป็นส่วนตนที่ถ่องแท้ของเขมร

แต่ในส่วนลาวเอง จำปาก็เป็นอัตลักษณ์เนิ่นนานมาเช่นกัน ดังจะย้อนไปสมัยฝรั่งเศสอินโดจีน มาร์เกอริต ดูราส์ นักเขียนดังก็เคยหยิบบางท่อนของเพลงนี้ไปใส่ในหนังสั้น ที่เท่ากับประกาศว่าดอกจำปาเป็นบุปผาเมืองลาวตามท่อนตอนหนึ่งของเนื้อเพลง

“โอ้ ดวงจำปา บุปผาเมืองลาว งามดั่งดวงดาว ชาวลาวปลื้มใจ เมื่ออยู่ภายใน ดินแดนล้านซ้าง…”

ดังนี้ “จำปี-แขมร์” จะอยู่บนหิ้งอัตลักษณ์เดียวกันกับดอกจำปาลาวได้อย่างไร?

ดังนั้น การเฟ้นหาอัตลักษณ์ใหม่ในไม้ดอกของตนจึงตามมาและไปจบลงที่ “ดอกรำดวน” ที่กัมพูชาอ้างว่าพบมากที่ปราสาทบันเตียสรัย แต่นั่นก็เพียงแค่การนิยามเพราะในแง่งามแล้วนี่เป็นเรื่องของการตลาดและคนทั่วโลกก็ต่างรู้จักปราสาททรายสีชมพูในศิลปะที่อ่อนช้อยยุคชัยวรรมันที่ 5 (พ.ศ.1510)

แต่ไม่ล่ะ สำหรับฉัน มันมีข้อพิสูจน์ว่า รำดวนเขมรพบมากในเขตนครธม ระหว่างปราสาทนาคพันกับปราสาทพระขรรค์ ที่นั่นในทุกๆ ฤดูหนาวของเดือนธันวาคม ตามระหว่างทางมรรคาปราสาทหลังดังกล่าว เราจะได้กลิ่นหอมจรุงฟุ้งกระจายของไม้ดอกพันธุ์นี้ไปทั่วบริเวณ

สาธยายว่า การที่จำปาลาวไปอยู่ภาพสลักนูนต่ำ โดยเฉพาะนางอัปสรา ทว่า การที่กัมพูชาให้ความสำคัญต่อรำดวนก็เป็นเรื่องที่พิลาสต่อชาติอุษาคเนย์เช่นกัน เมื่อพบว่าในเขตอีสานใต้ของไทยนั้น มีดอกลำดวนไม้พันธุ์เดียวกันกระจายไปทั่วไม่ต่างจากปราสาทขอมยุคกลาง

แต่ไม่ใช่เพียง 17 ปีเท่านั้นดอกที่ผการำดวน (រំដួល) ได้ถูกยกให้เป็นดอกไม้ประจำชาติตามค่านิยมกัมพูชายุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นที่ทราบกันว่า เป็นระบอบสร้างชาติที่ยึดโยงไว้กับลัทธิชาตินิยม

และด้วยเหตุนั้น จึงไม่แปลกเลย พอทันทีที่มีปิดหนัง “บุพเพสันนิวาส 2” ของไทยเผยแพร่ในออนไลน์ว่าด้วยดอกลำดวน พลันโลกทั้งใบก็เสียกระบวน เมื่อชาวเน็ตแขมร์ต่างแวะเวียนมา และเปิดฉากโจมตี

“ถึงคนไทย จากใจคนเขมรกัมพูชา ขอขอบคุณในการส่งเสริมดอกไม้ประจำชาติของเราให้โลกรู้ แต่ครั้งหน้าอย่าลืมให้เครดิตเจ้าของด้วย!”

เพล้ง พลัน เท่านั้นเอง ความวินาสสันตะโรทางวัฒนธรรมก็บังเกิดอย่างจับต้องไม่ได้ มันยังลามไหลไปทั่วราวกับไฟลามทุ่ง ถ้าเผากันได้คงเผากันไปแล้ว

อนึ่ง ต้องกล่าวว่า การต่อสู้ทาง “วัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” ระหว่างไทยกับเขมรนี้ นับวันจะยิ่งพัลวันยิ่ง เมื่อโลกโซเชียลที่เข้าถึงได้ง่าย แต่ยากจะ “หลอมรวม” ได้

โดยเฉพาะประเด็นความเป็น “เจ้าแห่งวัฒนธรรม” ที่จับต้องไม่ได้นั่น ซึ่งประเดิมเริ่มมาตั้งแต่องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) ประกาศรับรองว่าด้วยคุณค่าของที่มาและต้นฉบับนั้นๆ ตั้งแต่โขน-โขล, รามเกียรติ์-เรียมเกร์ และอื่นๆ ซึ่งกลายเป็นวิวาทะแห่งสงครามภูมิภาคระหว่างไทย-เขมร ซึ่งหลังๆ มานี้ยูเนสโก้ก็เริ่มเอือมระอาในความคลั่งอำนาจวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้นั่น

กระทั่ง มันได้ย้ายเวทีไปสู่พลเมืองชาวเน็ต/Netizen ซึ่งยิ่งฟาดกันหนักมากไปอีกในทุกๆ มิติ

 

มันทำให้ฉันนึกถึงวาทะหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นฝรั่งนายหนึ่ง ตอนที่ฉันขอติดตามไปสำรวจแม่น้ำโขง

“ยูต้องทิ้งลัทธิชาตินิยม! เพราะไม่งั้น ยูจะต้องกลับไปติดกับดักเดิมๆ ที่เกิดขึ้นกับบ้านเมืองจนถึงยุคเขมรแดง” นั่นคือวาทะที่แกเทศนาเพื่อนชาวเขมร และมันทำให้เราโมโห!

“กับดักชาตินิยม!” โอ “หรือนี่คือ วรรคทอง!” แม้ตลอดเกือบ 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แม้ตอนนั้นฉันรู้สึกขุ่นเคืองใจแทนชาวกัมพูชาในแง่การถูกบูลลี่ ทว่า ตอนนี้ฉันกลับนึกขอบคุณนักวิจัยฝรั่งผู้นั้นที่เป็นเงาสะท้อนในความจริงอีกด้านซึ่งฝังอยู่ในคตินิยมของชาวเขมร

กรณี “ลำดวน” จึงไม่ใช่วิวาทะแรกๆ แห่งสงครามเนติเซ็น/Netizenไทย-เขมร อาทิ สยามเป็นพวกขี้ขโมย, คนพวกนี้ดีแต่ขโมยวัฒนธรรมของเราอยู่ร่ำไป บลาๆๆ นี่คือชุดวาทกรรมที่ฝังอยู่ในมุมมองชาวเขมรปัจจุบัน พวกเขาต่างร่ำรำพันถึงความยิ่งใหญ่ใน “วัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้” ราวกับเป็นภารกิจแห่งความเป็นชนชาติเขมร

ซึ่งความจริงแล้ว ไม่มีใครเลยที่ขโมยวัฒนธรรมในถิ่นฐานของตนเองที่ครั้งหนึ่งเคยมีวิถีร่วมกัน ก็เพราะเช่นนั้นไม่ใช่เหรอ? มาร์เกอริต ดูราส์ จึงเอาเพลงดอกจำปาไปใส่ในหนังสั้นของตน แม้ภาพยนตร์นั้นจะไม่มีความเกี่ยวข้องกับลาวเลยก็ตาม

เช่นเดียวกับเมืองกำโปดที่ตนเคยอาศัย โดยแม้ครานั้นเธอจะถวิลหาว่าเป็นอันนัมแห่งโคชินจีนหรือที่เราเข้าใจว่าเวียดนามใต้ก็ตาม

มันคืออะไรกัน ของวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้นั่น? ซึ่งหลายครั้งอดีตที่ผ่านมาไม่ว่าจะเป็นราชสำนักเขมรหรือไทยหรือฝรั่งเศสก็ตาม พวกเขาเลือกที่จะเพิกเฉยหรือปล่อยให้เป็นความจงใจในการลืม ซึ่งทั้งหมดนี้ก็มาจากมิติของลัทธิชาตินิยม

ไม่ว่าจะเป็นกรณีคณะครูละครและดนตรีไทยเดิมที่ถูกส่งไปอาศัยกับเจ้านายเขมรจนก่อเป็นคณะละครหลวงที่เรียกกันว่า “พระราชตร็อบ” (ละครพระราชทาน) จนกลายเป็นนาฏศิลป์เขมรที่มีชื่อเสียง ทั้งยังเกี่ยวกับเครื่องทรงการแต่งกาย ดนตรี ท่ารำ/กบัจโบราณที่ผ่านกาลเวลากว่าศัตวรรษครึ่ง

สมเด็จพระเรียมนโรดม บุปผาเทวีพระพี่นาง (2486-2562) ผู้รื้อฟื้นศิลปะแขนงนี้ยุคหลัง ก็เพิ่งทรงยอมรับว่า รับเอารากเหง้านี้มาจากสยามและเขมรเองนั้น “คมปรึง” ประยุกต์และผูกโยงกับศิลปะสมัยกลางยุคเมืองพระนคร จนกลายเป็นฉบับนาฏลักษณ์ฉบับกัมพูชาที่ถูกยอมรับอย่างกว้างขวาง

กระทั่งบางครั้งศิลปะดนที่ร่วมกันกลับกลายเป็นสยามต่างหากที่พยายามลอกเลียน โดยเฉพาะส่วน “วัฒธรรมอันพ้องกันแต่จับต้องไม่ได้” ที่เป็นเหมือนของแสลง ไทยที่ผู้คนไม่ประสบเคราะห์กรรมทางสงคราม จึงมักหยิบฉวยโอกาสนั้นในทุกมิติ ในการแอบอ้างความชอบธรรมให้ตัวเอง

และนั่นคือ โมเดลที่กัมปูเจียตามหามันตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็น “เรียมเกร์-รามเกียรติ์” “โขล-โขน” และอื่นๆ อันตามมา ไม่ว่าจะเป็น “กบัจคุนแขมร์” ที่อ้างดื้อๆ ว่าอยู่ใน “มวยไทย” เทริด ชุดเครื่องทรง ชฎา ท่วงท่าของนางงามหรือตัวแทนแห่งความภาคภูมิใจ

ทุกอย่างได้กลายเป็นลัทธิบูชาชาตินิยมและซ่อนอยู่ในคตินิยมอันลึกเร้นที่กลายเป็นพลังงานแห่งกระบวนทัศน์ ในทันทีทันใดที่มันผลักออกไปสู่ฝ่ายหนึ่ง กระทั่ง การมาถึง “รำดวน” ในวันที่ชวนกันดราม่า และไม่มีใคยอมพลัดตกลงไปในวิถีแห่งการต่อสู้นี้

ไม่ว่าการดำรงอยู่นี้ จะดำเนินต่อไปหรือสิ้นสลาย…สำหรับชาวอุษาคเนย์แห่งประเทศเพื่อนบ้าน

โปรดจงอย่าได้พิกลพิการ! เพราะเราจะทะเลาะไปอีกนาน!