‘มะนาวเทศ’ ผลไม้ ยา และไม้ประดับ

จากการศึกษาในช่วงที่โควิด-19 แพร่กระจายไปทั่วโลกก็พบว่าสมุนไพรในวงศ์ส้มเกือบทุกชนิด มีคุณสมบัติในการต้านและฟื้นฟูร่างกายจากการติดเชื้อโควิด-19

ทำให้คนจำนวนมากตื่นตัวเรียนรู้และหันมาสนใจพืชในวงศ์ส้ม เพื่อนำมาพัฒนาให้เป็นอาหารและสมุนไพรในการดูแลพึ่งตนเอง

เชิญชวนมาทำความรู้จักสมุนไพรในวงศ์ส้มอีกชนิดหนึ่ง คือ มะนาวเทศ

อ่านชื่อก็รู้ได้ทันทีเป็นไม้นอกหรือไม้เทศที่มีการนำเข้ามาปลูกในเมืองไทย แต่มีถิ่นกำเนิดไม่ไกลจากบ้านเรามากนัก

ในรายงานทางวิชาการบอกว่า มะนาวเทศมีถิ่นกำเนิดไว้ 2 ทาง ได้แก่

1) ในฐานข้อมูลของสวนพฤกษศาสตร์หลวง เมืองคิว (Royal Botanic Kew Garden) กล่าวไว้ว่า มะนาวเทศมีถิ่นกำเนิดในหมู่เกาะอันดามัน บังกลาเทศ บอร์เนียว กัมพูชา หมู่เกาะชวา คาบสมุทรมลายา เมียนมา นิวกินี หมู่เกาะนิโคบา หมู่เกาะโซโลมอน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม

2) ส่วนฐานข้อมูลของพืชเมืองร้อน (Useful Tropical Plants) ได้กล่าวไว้ว่า ถิ่นกำเนิดของมะนาวเทศน่าจะอยู่ที่แถบเอเชียตะวันออกไปจนถึงเกาะชวา

หรืออาจเป็นไปได้ว่า มีถิ่นกำเนิดตั้งแต่จีนไปจนถึงฟิลิปปินส์

 

ในเอกสารที่เผยแพร่บางแห่งบอกว่า มะนาวเทศมีการนำมาปลูกไว้ตามบ้านเรือนไทยเป็นเวลานานมากแล้ว ซึ่งเข้าใจกันว่ามีการนำพันธุ์มาจากประเทศจีนและญี่ปุ่นแล้วเริ่มปลูกในกรุงเทพฯ จากนั้นก็แพร่พันธุ์ไปตามธรรมชาติ

ปัจจุบันยังไม่สามารถรู้จำนวนว่ามีอยู่มากน้อยเพียงใด

มะนาวเทศมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Triphasia trifolia (Burm.f.) P.Wilson มีชื่อสามัญว่า Myrtle lime, Lime berry เป็นไม้พุ่มสูง 1-3 เมตร ไม่ผลัดใบ ลำต้นตั้งตรง กิ่งก้านมีหนาม เปลือกนอกสีเทามีรูระบายอากาศทั่วไป เปลือกในสีขาว

ใบเป็นใบประกอบแบบนิ้วมือ มีใบย่อย 3 ใบเรียงสลับ ใบคู่เล็กรูปหัวใจ แต่ปลายใบหยักเว้า ใบเดี่ยวมีรูปแบบเดียวกันแต่มีขนาดใหญ่กว่า ทั้งใบคู่และใบเดี่ยวสอบเข้า ขอบใบหยักมนๆ มีต่อมน้ำมันทั่วไป มีกลิ่นหอม หลังใบเกลี้ยงเป็นมันเขียวเข้ม ท้องใบเกลี้ยงสีจางกว่า

ดอกเป็นดอกเดี่ยวขนาดเล็ก สีขาว มีกลิ่นหอมเหมือนมะนาว ดอกยาว 1 เซนติเมตร สามารถออกดอกและผลได้ตลอดทั้งปี ขยายพันธุ์ด้วยการเพาะกล้าจากเมล็ด ปักชำหรือการตอนกิ่ง

ผลกินได้ทั้งที่เป็นผลดิบและนำไปทำให้สุก แต่ผลดิบมีรสขม เป็นเมือกและฝาด แต่มีกลิ่นหอม

จึงนิยมนำไปดองหรือทำเป็นแยมหรือทำเป็นผลไม้กวนได้รสชาติดี

ในต่างประเทศตามหมู่เกาะต่างๆ มีการใช้ประโยชน์ เช่น การสืบค้นในตำรับยาของอายุรเวทของอินเดียมีการใช้

ใบ รักษาอาการท้องเสีย แก้อาการโคลิก (colic) หรืออาการที่เด็กทารกในช่วงอายุ 3 เดือนแรกมีอาการร้องไห้และร้องเป็นเวลานาน รักษาโรคผิวหนัง

ผล ใช้แก้ไอ แก้เจ็บคอ ลดเสมหะ

ใบ ใช้ในการทำเครื่องหอมสำหรับอาบน้ำหรือผสมกับเกลือใช้ทำสปา ใบสดนำมาขยี้กับผมช่วยรักษารังแค คนพื้นเมืองในอินโดนีเซียใช้ใบตำพอแหลกพอกที่ท้องเพื่อลดอาการจุกเสียดในเด็กเล็กเนื่องจากอาการโคลิกและใช้พอกรักษาโรคผิวหนัง

คนพื้นเมืองในประเทศกายอานา (Guyana) ใช้ผลแก่ต้มกับน้ำตาลกินรักษาอาการไอและขับเสมหะ และคนพื้นเมืองในประเทศซามัว (Samoa) โดยเฉพาะเด็กๆ จะใช้ผลแก่ของมะนาวเทศมาตกแต่งสีเล็บ ให้มีสีแดงสวยงาม

นอกจากนี้ ในฐานข้อมูลของการใช้สมุนไพรในประเทศฟิลิปปินส์ สืบค้นจาก http://www.stuartxchange.org/StoryBehindThePlants มีรายงานการใช้มะนาวเทศเป็นยาดังนี้

ใบ ใช้เป็นยารักษาโคลิก (colic) บิดมีตัวและโรคผิวหนัง

ผล ใช้เป็นยารักษาอาการไอและลดอาการเจ็บคอ โดยการเตรียมยา ดังนี้ ให้เอาผลมะนาวเทศมาปอกเปลือกออกให้ได้ 1 ถ้วย แล้วแช่น้ำปูนขาวไว้ 1 คืน เทน้ำทิ้ง แล้วนำมาต้มกับน้ำ 1 ถ้วยผสมกับน้ำตาลครึ่งถ้วย เมื่อเดือดให้รินน้ำทิ้ง และทำซ้ำอีก 1 รอบ (เข้าใจว่าเป็นวิธีการขจัดความขมและเมือกออกไป) แล้วต้มครั้งที่ 3 ใช้น้ำ 1 ถ้วยผสมกับน้ำตาลครึ่งถ้วยเหมือนเดิม นำส่วนของน้ำหรือที่เรียกว่าไซรัป (syrup) นี้มาใช้เป็นตัวยา หรือนำส่วนของเนื้อที่กวนแล้วมีลักษณะเหมือนทอฟฟี่ (candied) ใช้เป็นยาแก้ไอหรือแก้เจ็บคอ

ในการศึกษาวิจัยหลายผลงานที่แสดงให้เห็นว่า สารฟินอลลิกในมะนาวเทศใช้ต้านไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคเริม (HSV) และเอดส์ (HIV) และมีงานวิจัยเชิงลึกที่พบว่าน้ำมันหอมระเหยจากใบมีสรรพคุณในการเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่มีคุณภาพสูงมากพอๆ กับกรดแอสคอร์บิก (ascorbic acid)

สารสกัดจากใบและลำต้นมีคุณสมบัติในการต้านแบคทีเรียหลายชนิดด้วย

มะนาวเทศ เป็นไม้ชนิดหนึ่งที่นิยมปลูกป็นไม้ดัด บอนไซ และบางที่ใช้เป็นต้นตอเพื่อนำเอาไม้วงศ์ส้มอื่นๆ มาเสียบได้ เป็นเนื้อไม้มีความแข็งมากจึงนำไปใช้ทำอุปกรณ์ต่างๆ

ชนพื้นเมืองตามหมู่เกาะต่างๆ นิยมนำมาเผาถ่านใช้เป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือน

ผลอ่อนนำมาใช้ทำกาวที่มีคุณภาพดีเช่นกัน

แต่ใครที่คิดปลูกควรรู้ไว้ว่ากิ่งก้านมีหนามค่อนข้างมาก อย่าปลูกใกล้บ้าน เด็กๆ จะไปเกี่ยวชนอันตราย ให้ปลูกเป็นรั้วได้ดี

ในบางประเทศรายงานว่ามะนาวเทศเป็นพืชต่างถิ่นรุกรานจนต้องใช้งบประมาณกำจัดหรือควบคุมดูแล

แต่ในไทยเมื่อเราเรียนรู้จากความรู้ดั้งเดิม ที่มีการใช้ประโยชน์ด้านสมุนไพรโดยเฉพาะเกี่ยวกับทางเดินหายใจ ก็จะช่วยควบคุมหรือเห็นประโยชน์ขึ้น

ยิ่งโควิด-19 ยังอยู่กับเราอีกนาน พืชวงศ์ส้มเป็นพืชช่วยดูแลการพึ่งตนเองด้านสุขภาพของเราได้อย่างดี •