หัวล้านชนกัน (2) / จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี

ญาดา อารัมภีร

 

หัวล้านชนกัน (2)

 

‘หัวล้านชนกัน’ หาได้ชนเพื่อความสนุกสนานของสาธารณชนเท่านั้น ชนพนันเอาบ้านเมืองกันก็มี บทเสภาเรื่อง “ศรีทนนไชยเชียงเมี่ยง” (สันนิษฐานว่าแต่งในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์) เล่าถึงกษัตริย์ครองเมืองธานีที่มั่งคั่งร่ำรวย มากมายด้วยทหารไพร่พลผู้คน ซื้อง่ายขายคล่อง เศรษฐกิจรุ่งเรือง บ้านเมืองสงบสุข ปราศจากข้าศึกศัตรูใดๆ

“มีเรือเสาสำเภาเหล่านาวา เรือลูกค้ามาจอดทอดเรียงราย

ราษฎรเป็นสุขทุกตัวคน ไม่ยากจนตั้งห้างวางของขาย

แสนสำราญมั่งคั่งทั้งหญิงชาย สุขสบายทั่วนครไม่ร้อนรน

ปรปักษ์ข้าศึกไม่นึกร้าย ชนทั้งหลายเกรงพระเดชแสยงขน

ขอเป็นข้าขอบขัณฑ์พรั่นทุกคน บุปผาหิรญกาญจนามาคำนับ”

หนึ่งในปัจจัยเสริมสร้างความมั่นคงของบ้านเมืองคือ ‘ชายหัวล้านผู้แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี’ ชนชนะมาทุกสารทิศ

“ศีรษะล้านเลื่อมขันเป็นมันระยับ เที่ยวชนสู้มานับกว่าหมื่นพัน

ท้าชนใครไม่มีผู้โต้ทาน มะพร้าวตาลชนต้นก่นสะบั้น”

นี่คือหัวล้านที่ชนดะไร้ผู้เทียมทาน ทั้งหัวแข็ง แรงดีดุดันเทียบเท่าช้างตกมัน ท้าพนันเอาบ้านเมืองมาได้มากหลาย

“ศีรษะแข็งแรงคล้ายช้างน้ำมัน เที่ยวพนันทุกเมืองเลื่องฦๅชา

ชนมีชัยได้มาขึ้นบุรี ยิ่งกว่าสี่สิบเมืองมากนักหนา

ทุกนครคลอนหัวกลัวระอา ออกปากว่าหัวแข็งเรี่ยวแรงครัน”

 

เพราะมีคนหัวล้านคู่บ้านคู่เมือง กษัตริย์เมืองธานีจึงคิดจะใช้ ‘ตัวช่วยนี้’ ไปรวบเมืองทวาลีมาไว้ในกำมือ เนื่องจากได้ข่าว

“เล่าฦๅชาว่ามั่งคั่ง เป็นเอกราชทั่วทั้งบุรีศรี

มิได้ขึ้นเมืองใดในปัถพี มั่งมีศฤงคารโอฬารนัก

จำจะเอาหัวล้านไปพนัน แข่งขันสู้เล่นให้เห็นประจักษ์

ถ้าแพ้เราได้บุรีจะดีนัก เป็นศรีศักดิ์ลือเลื่องกระเดื่องยศ”

ทรงให้จัดเตรียมทุกสิ่งสำหรับการเดินทางทางเรือ ประกอบด้วยพาหนะ ข้าวของเครื่องใช้ เงินตรา และผ้าล้ำค่านานาชนิด อาทิ ‘บรรณาการส่านโหมดตาด โตกถาดแพรผ้าหักทองขวาง’ ไปพร้อมกับชายหัวล้านผู้แข็งแกร่ง

“แต่งสำเภาเภตราสักห้าร้อย เครื่องใช้สอยเงินตราและผ้าผ่อน

ของบรรณาการอย่างต่างนคร บรรทุกตอนนาวาสารพัน

จงให้คนศีรษะแข็งตกแต่งกาย ลงในท้ายบาหลีขมีขมัน” (= ห้องเล็กท้ายเรือ)

มีข้อกำหนดกติกา ‘หัวล้านชนกัน’ ระหว่างเมืองธานีและเมืองทวาลีไว้ชัดเจนในพระราชสาส์นว่า

“แต่งราชสารแจ้งการจะขอพนัน ชนกันถ้าชนะจะเอาเมือง

ถ้าศีรษะล้านบุรีธานีราช พลั้งพลาดพ่ายแพ้ในบาทเบื้อง

จะถวายสินพนันมิให้เคือง อีกทั้งเมืองถวายขึ้นทวาลี” (อักขรวิธีตามต้นฉบับ)

ฝ่ายชนะจะได้ครอบครองเมืองของฝ่ายแพ้

 

การเดินเรือสำเภาจากเมืองธานี กว่าจะถึงเมืองทวาลีที่หมายกินเวลาไม่น้อย

“มาได้สองเดือนโดยประมาณ ก็ถึงด่านปากน้ำบุรีศรี”

หลังจากผ่านขั้นตอนการต้อนรับของเมืองทวาลีแล้ว คณะทูตเมืองธานีก็ได้เข้าเฝ้าพระเจ้าทวาละ

“เชิญพานทองรองราชสารา ถวายพระปิ่นขัตติยาเจ้าธานี”

เมื่อทราบข้อความในพระราชสาส์นแล้ว พระเจ้าทวาละก็ทรงกำหนดวันต่อสู้

“จึ่งดำรัสผัดว่าอีกเจ็ดวัน จะเลือกสรรคนดูในราชฐาน

ที่จะพนันชนคนหัวล้าน พอจัดการเตรียมพนันขันชู้ชน”

แม้กษัตริย์แห่งทวาลีจะรู้สึกแปลกระคนขบขันที่เมืองธานีมาท้าทาย “จะขอพนันคนแลกพารา ชนคนจนเกศาว่าชอบกล” ก็มิได้ทรงขัดข้อง สั่งให้ไปรวบรวมคนหัวล้านมาคัดเลือกผู้เหมาะสมที่สุด

“แนะอำมาตย์ใหญ่น้อยจงเที่ยวหา ศีรษะล้านเอามาทุกถนน

มาประชุมหน้าพระลานเลือกคู่ชน เที่ยวหาค้นตีฆ้องร้องป่าวไป”

หาตัวคนหัวล้านนั้นไม่ยาก แต่หายากคือคนใจกล้าท้าชน

“ฝ่ายว่าพวกผมไร้ได้ฟังหมาย ต่างต่างมามากมายขมีขมัน

ประชุมพร้อมที่ศาลามากกว่าพัน ต่างคนพรั่นหนีตัวกลัวระอา

ออกปากว่ากลัวนักพูดยักเยื้อง กลัวขัดเคืองจอมราชนาถนาถา

จึ่งวิงวอนต่อท่านมหาเสนา บ้างก็ให้เงินตราขอบนบาน”

บรรดาคนหัวล้านเมืองทวาลีต่างหาสารพัดวิธีหลีกเลี่ยง อำมาตย์ผู้รับผิดชอบจึงกราบทูลพระเจ้าทวาละตามความเป็นจริง

“ว่าศีรษะล้านกลัวระอาไม่กล้าชน จอมจุมพลจงทราบใต้บาทา”

 

เมื่อคนใจถึงพึ่งได้ไม่มี ความที่กลัวจะเสียเมือง ‘จึงให้หาเชียงเมี่ยงมาเฝ้าพลัน’

“รับสั่งเล่าเรื่องจะชนคนผมน้อย อำมาตย์หากว่าร้อยแต่เลือกสรร

ไม่มีใครรับสู้คู่พนัน มีแต่พรั่นออกตัวกลัวทุกคน

เอ็งจะรับอาสาได้ฤๅไม่ กูร้อนใจเกรงจะอายขายหน้าป่น

แขกเมืองจะดูหมิ่นว่าอับจน เอ็งเป็นคนมีปัญญาปรีชาไว”

เชียงเมี่ยงทูลทันทีว่าอย่าทรงกังวล

“แต่เพียงนี้ไม่สู้ยากลำบากใจ หม่อมฉันมิให้ขุ่นข้องละอองธุลี

แม้นแขกเมืองมีกำลังเจ็ดช้างสาร จะหักหาญด้วยปัญญาไม่ล่าหนี”

เชียงเมี่ยงจะทำได้แน่ หรือแค่ราคาคุย ฉบับหน้ารู้ •