คุยกับทูต : เดวิด เดลี อียู สานสัมพันธ์ไทย อย่างสร้างสรรค์ สมดุล เป็นรูปธรรม (3)

รายงานพิเศษ

ชนัดดา ชินะโยธิน

[email protected]

คุยกับทูต : เดวิด เดลี

อียู สานสัมพันธ์ไทย

อย่างสร้างสรรค์ สมดุล เป็นรูปธรรม (3)

 

อาเซียนและสหภาพยุโรปมีความสัมพันธ์ในระดับกลุ่มระหว่างกันมาเป็นเวลานานโดยสหภาพยุโรปเป็นคู่เจรจา (dialogue partner) อย่างไม่เป็นทางการของอาเซียนตั้งแต่ปี 1972 และได้พัฒนาเป็นคู่เจรจาอย่างเป็นทางการในปี 1977

ความสัมพันธ์อาเซียน-สหภาพยุโรป จากการชี้แจงโดยนายเดวิด เดลี (H.E. Mr. David Daly) เอกอัครราชทูตแห่งสหภาพยุโรป (อียู) ประจำประเทศไทย ระบุว่า

“ปีนี้เป็นปีที่ 45 ของความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและอาเซียน ซึ่งเป็นการริเริ่มความร่วมมือระดับภูมิภาคที่ก้าวหน้าที่สุดในโลก และได้รับการยกระดับเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์เมื่อเดือนธันวาคม ปี 2020 มีการวางรากฐานไว้มากมายในช่วงที่ประเทศไทยเป็นผู้ประสานงานอาเซียนด้านความสัมพันธ์กับสหภาพยุโรป (2016-2019) ทั้งสองฝ่ายเชื่อมโยงกันโดยผ่านการค้า การลงทุน การแบ่งปันความท้าทายและคุณค่าร่วมกัน”

นายเดวิด เดลี (H.E. Mr. David Daly) เอกอัครราชทูตแห่งสหภาพยุโรป (อียู) ประจำประเทศไทย / เครดิตภาพ “สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย”

“ในด้านการค้า สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 3 ของอาเซียน คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 10.6% ของการค้าในอาเซียน ในขณะเดียวกัน อาเซียนโดยรวมก็เป็นคู่ค้านอกยุโรป รายใหญ่อันดับ 3 ของสหภาพยุโรป และสหภาพยุโรปเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญที่สุดของอาเซียนในความร่วมมือด้านการพัฒนา”

“ทั้งนี้ ในความสัมพันธ์ระหว่างสหภาพยุโรปและอาเซียน มีประเด็นสำคัญหลายประเด็นรวมทั้งเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งประเทศไทยมีบทบาทนำในอาเซียน สหภาพยุโรปได้แสดงความชื่นชมบทบาทนำของไทยในเอกสารอาเซียน-สหภาพยุโรปหลายฉบับ ตั้งแต่การบินพลเรือนไปจนถึงสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา สิทธิแรงงาน และการย้ายถิ่นฐานของแรงงาน”

นายเดวิด เดลี (H.E. Mr. David Daly) เอกอัครราชทูตแห่งสหภาพยุโรป (อียู) ประจำประเทศไทย / เครดิตภาพ “สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย”

Soft Power ของสหภาพยุโรป

และการค้า (Trade) กับประเทศไทย

“ความสามัคคีท่ามกลางความหลากหลาย (United in diversity) เป็นคำขวัญของสหภาพยุโรปที่สะท้อนถึงความหลากหลายของวัฒนธรรมที่แตกต่างกันในยุโรป ผู้คนได้เห็นพลัง Soft Power (หรืออำนาจละมุน) ของสหภาพยุโรปอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ผู้คนนับล้านทั่วโลก รวมถึงคนไทยหลายแสนคนในแต่ละปี เดินทางไปยุโรปเพื่อการเยี่ยมชม ทำงาน และศึกษาเล่าเรียน ผู้คนนับล้านดูฟุตบอลยุโรป กินอาหารยุโรป ดื่มเครื่องดื่มยุโรป ขับรถยุโรป สวมใส่แฟชั่นยุโรป และเรียนรู้ภาษายุโรป นั่นคือ ปฏิบัติการ Soft Power ของสหภาพยุโรป”

“ได้มีความพยายามที่จะรวมยุโรปมาก่อนโดยการใช้กำลัง (force) สหภาพยุโรปดำเนินการด้วยการสร้างระบบตามกฎเกณฑ์ที่ประเทศสมาชิกสมัครใจ เพื่อประโยชน์ที่ยิ่งใหญ่กว่า เป็น Soft Power ในการดำเนินการและการปฏิบัติตามระบบตามกฎเกณฑ์ โดยไม่ผ่านการบีบบังคับ เป็นกฎเกณฑ์กลางของสหภาพยุโรป ซึ่งสหภาพยุโรปส่งเสริมคุณค่านี้ไปทั่วโลก แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ระบบตามกฎเกณฑ์นี้อยู่ภายใต้การคุกคามจากการรุกรานของรัสเซียในยูเครน”

Soft power มาจากรากคำศัพท์ที่คิดค้นโดยนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ ศาสตราจารย์ Joseph S. Nye, Jr. แห่ง Harvard University หมายถึงการใช้อำนาจที่ทำให้ผู้อื่น ทำสิ่งที่ผู้ใช้อำนาจนั้นปรารถนาได้ โดยที่ไม่ต้องใช้กำลังบังคับ ไม่ใช่ด้วยการจ่ายเงิน ไม่ใช่ด้วยการบังคับด้วยปืน แต่ต้องทำให้เขานิยมชมชอบ และทำในสิ่งที่ต้องการได้อย่างสมัครใจ

เราอาจจะเข้าใจบทบาทของ Soft Power ในประเทศหนึ่งว่าเกี่ยวโยงกับเรื่องของวัฒนธรรม วิถีชีวิต ไลฟ์สไตล์ อาหาร การท่องเที่ยว หรือมุ่งเน้นไปที่อุตสาหกรรมบันเทิงเป็นหลัก เช่น กรณีอุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้

อย่างไรก็ตาม วิธีวัดดัชนี Soft Power มีรายละเอียดที่ลงลึกไปถึงมิติด้านเศรษฐกิจ ด้านธุรกิจ การบริหารงานของรัฐบาล ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และปีนี้ เพิ่มประเด็นประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาการระบาดของโควิด-19 ด้วย

Global Soft Power Index 2022 ซึ่งจัดทำโดย Brand Finance บริษัทจัดการกลยุทธ์เกี่ยวกับ Brand Positioning ได้จัดอันดับประเทศที่มี Soft Power ทรงพลังที่สุดในโลกทุกปี มีหลายประเทศที่มีอันดับเปลี่ยนแปลงอย่างก้าวกระโดด

หรือบางประเทศที่เคยเป็นผู้นำด้าน Soft Power อยู่ยาวนาน แต่เสียแชมป์ไปหลายปีอย่างสหรัฐอเมริกา ในปีนี้ก็ได้ผงาดกลับขึ้นมาเป็นอันดับ 1

สำหรับในเอเชีย ประเทศ Soft Power อันดับต้นคือ จีน ตามมาด้วยญี่ปุ่น

ส่วนประเทศไทย นอกจากไม่ได้ก้าวกระโดด แต่อันดับยังหล่นลงมาจาก 33 ในปี 2021 มาปีนี้ปรับลงมาที่อันดับ 35

ในรายงานดัชนี Soft Power โลก เขียนระบุไว้เลยว่า ประเทศที่ขึ้นอันดับสูงๆ ในดัชนี Soft Power ทั้งอเมริกา สหราชอาณาจักร เยอรมนี และจีน ล้วนมีส่วนสำคัญในการทำให้โลกพ้นวิกฤตสุขภาพด้วย “การพัฒนาวัคซีน” นั่นเอง

หรือกรณีของรัสเซียที่คะแนน Soft Power ตกลง เพราะการรุกรานยูเครน ที่ส่งผลต่อทัศนคติของผู้คนต่อประเทศรัสเซียในทางลบ

“ด้านการค้าระหว่างสหภาพยุโรปและไทยเมื่อปี 2020 มีมูลค่า 29.1 พันล้านยูโร (ประมาณ 1.09 ล้านล้านบาท) ทำให้สหภาพยุโรปเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับสี่ของประเทศไทย เป็นตลาดส่งออกที่ใหญ่เป็นอันดับสี่ของประเทศไทย ส่วนการส่งออกจากไทยไปยังสหภาพยุโรปมีมูลค่ารวมประมาณ 17.7 พันล้านยูโร (ประมาณ 665 พันล้านบาท)”

“สหภาพยุโรปเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่อันดับสามของประเทศไทยเมื่อปี 2020 มีมูลค่าประมาณ 11.4 พันล้านยูโร (ประมาณ 429 พันล้านบาท)”

“เพื่อที่จะส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าและการลงทุนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น สหภาพยุโรปและประเทศไทยได้เปิดการเจรจาข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) ตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 2013 โดยทั้งสองฝ่ายต้องการข้อตกลงที่ครอบคลุมในหัวข้อต่างๆ เช่น ภาษีการค้าและมาตรการอื่นนอกเหนือจากภาษีการค้า การบริการ การลงทุน การจัดซื้อสาธารณะ ทรัพย์สินทางปัญญา การปฏิรูปกฎระเบียบและข้อบังคับในการดำเนินธุรกิจ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่การเจรจาได้ถูกระงับ เพราะเกิดรัฐประหารในประเทศไทยเมื่อเดือนเมษายน ปี 2014”

“หลังจากที่สภาการต่างประเทศของสหภาพยุโรปได้ลงมติให้รื้อฟื้นความสัมพันธ์กับประเทศไทยเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม ปี 2019 ทั้งสองฝ่ายจึงได้ดำเนินการเพื่อเตรียมความพร้อมที่จะเริ่มการเจรจาใหม่ บนพื้นฐานของความเข้าใจร่วมกันว่า FTA ฉบับใหม่จะมีเป้าหมายที่สูงส่งและครอบคลุม”

ทูตอียูกับคู่สมรส นางไอดิน / เครดิตภาพ “สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย”

สหภาพยุโรป

กับการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ

และสิทธิสตรีในประเทศไทย

“เราให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับการดำเนินการที่มุ่งเสริมสร้างความเท่าเทียมทางเพศและการเสริมอำนาจของผู้หญิง การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศอย่างต่อเนื่องเป็นเรื่องที่สำคัญสำหรับเรา มีสองตัวอย่างคือ หลักการเสริมสร้างศักยภาพสตรี และการสนับสนุน UN Spotlight Initiative”

“หลักการเสริมสร้างศักยภาพสตรี (Women’s Empowerment Principles -WEPs) ที่ได้รับทุนสนับสนุนจากสหภาพยุโรป เป็นชุดของหลักการที่เสนอแนวทางสำหรับธุรกิจ อันเกี่ยวกับวิธีส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศและการเสริมอำนาจของผู้หญิงในที่ทำงาน ตลาด และชุมชน เมื่อปีที่แล้ว เราสนับสนุนรางวัล UN Women 2021 Thailand Women’s Empowerment Principles Awards ซึ่งยกย่องความคิดริเริ่มและเชิดชูแนวปฏิบัติที่ดีในการส่งเสริมความเสมอภาคทางเพศ และศักยภาพสตรีในภาคธุรกิจ งานนี้ถือเป็นครั้งแรกที่งานประกาศรางวัลเป็นงานระดับชาติ และจัดขึ้นในประเทศไทย”

“สนับสนุน UN Spotlight Initiative โดยมีส่วนหนึ่งคือโครงการปลอดภัยและยุติธรรม ที่ช่วยทำให้สิทธิและโอกาสของแรงงานข้ามชาติหญิงในภูมิภาคอาเซียนเป็นจริง เป้าหมายเพื่อขจัดความรุนแรงทุกรูปแบบต่อสตรีและเด็กหญิง ในประเทศไทย โครงการนี้ทำงานร่วมกับภาคประชาสังคมในพื้นที่แม่สอด เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ เพื่อเสริมสร้างระบบการประสานงานโดยการพัฒนาขั้นตอนการปฏิบัติงานมาตรฐานท้องถิ่น ด้วยเหตุผลดังกล่าว การสนับสนุนของเราได้ช่วยฝึกอบรมนักสังคมสงเคราะห์ในท้องถิ่นซึ่งในทางกลับกันก็ช่วยหยุดการค้ามนุษย์และความรุนแรงตามเพศในชุมชนของพวกเขา”

ทูตอียูเสริมว่า

“ความเท่าเทียมกันทางเพศเป็นสิ่งสำคัญมาก สหภาพยุโรปให้ความสำคัญสูงมากกับการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศ และศักยภาพสตรีโดยปรากฏเชื่อมโยงในทุกนโยบายที่เกี่ยวข้องของเรา”

วันมรดกยุโรป (European Heritage Days)

ความสำคัญของวันมรดกยุโรป

(European Heritage Days)

ประเทศในทวีปยุโรปนั้นต่างมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาที่ยาวนาน รวมไปถึงวัฒนธรรมที่สืบทอดต่อเนื่องและพัฒนามาหลายชั่วอายุคน เป็นเหตุที่ทำให้ประเทศในยุโรปมีเทศกาลเฉลิมฉลองเกิดขึ้นมากมายตลอดทั้งปี ไม่ว่าจะเป็นเทศกาลแต่โบราณหรือจะเป็นเทศกาลที่เพิ่งถือกำเนิดขึ้นไม่นาน

ในทุกๆ ปี วันมรดกยุโรปจะนำเสนอความรุ่มรวยและความหลากหลายทางสถาปัตยกรรมของอาคารสถานที่สำคัญต่างๆ แก่บุคคลทั่วไป ซึ่งจะเปิดให้เข้าชมเฉพาะโอกาสนี้เท่านั้น

วันมรดกยุโรปเกิดขึ้นตามแบบ “Journée portes ouvertes dans les monuments historiques” หรือวันเปิดอนุสรณ์สถานทางประวัติศาสตร์ ซึ่งจัดขึ้นครั้งแรกเมื่อปี 1984 โดยกระทรวงวัฒนธรรมของฝรั่งเศส ต่อมา หลายประเทศในยุโรปได้นำรูปแบบการจัดงานดังกล่าวไปใช้

จนกระทั่งปี 1991 สภายุโรปได้สถาปนา “Journées européennes du patrimoine” หรือวันมรดกยุโรป อย่างเป็นทางการ ปัจจุบันมีประเทศที่เข้าร่วมกิจกรรมเปิดสถานที่สำคัญเนื่องในวันดังกล่าวมากกว่า 50 ประเทศ

ท่านทูตเดวิด เดลี ให้ความเห็นว่า

“ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมยุโรปได้รับการสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ ทำให้ผู้คนทั่วโลกได้คุ้นเคยกับ Soft Power ของยุโรป ไม่ว่าจะมาจากดนตรีคลาสสิก ฟุตบอล ศิลปะ สถาปัตยกรรม และสำหรับประเทศไทย มรดกยุโรปมีอยู่รายรอบมากมาย โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ คุณสามารถชื่นชมอาคารนี้ที่นี่ อาคารนั้นที่นั่น พร้อมกับได้เรียนรู้ว่า สิ่งก่อสร้างเหล่านั้นได้ถูกรังสรรค์ให้โดดเด่นและแตกต่างจากที่ในรั้วในวังเคยมีโดยชาวยุโรปชาติใด ด้วยเหตุนี้ เราจึงควรมาร่วมกันเฉลิมฉลอง และช่วยกันเผยแพร่มรดกยุโรปให้เป็นที่รู้จักกันอย่างลึกซึ้ง กว้างขวางมากยิ่งขึ้น” •