ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 5 - 11 สิงหาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ |
เผยแพร่ |
เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์
ร่วมภูมิแผ่นดินลาว
เสาร์-อาทิตย์ 23-24 ก.ค.ที่ผ่านมาไปร่วมงานเปิดนิทรรศการงานจิตรกรรมไทย-ลาวในโครงการของกมล ทัศนาญชลี ศิลปินแห่งชาติและต่างชาติโดยเฉพาะไทย-อเมริกา งานนี้จัดที่สถาบันวิจิตรศิลป์แห่งชาติ นครเวียงจันท์
มีศิลปินจากไทยและลาวมาร่วมแสดงทั้งงานจิตรกรรมและปฏิมากรรมในวันเปิดงานอย่างมีชีวิตชีวายิ่งโดยเฉพาะเยาวชนนักศึกษาจากสถาบันดังกล่าว รวมทั้งการบรรยายพิเศษจาก ดร.กมล ทัศาญชลี ศิลปินสองแผ่นดิน
ไม่ได้ไปลาวมาหลายปี มาลาววันนี้แม้ชั่ววันเดียวก็เห็นความเปลี่ยนแปลงของลาวโดยเฉพาะถนนหนทางกว้างขวาง สะอาดตาเหมือนเมืองใหญ่ๆ ทั่วไปที่มีทั้งเก่า-ใหม่อยู่ด้วยกันอย่างไม่ขัดตาแต่อย่างใด
ตรงนี้เป็นเสน่ห์ของเมืองที่เจริญรุดหน้าแต่ยังคงความเป็นตัวของตัวไว้ได้
เช่นอาการใหม่ๆ เป็นแถวเป็นแนว แต่ยังมีอาคารเก่าตึกเก่าลานกว้างในร่มไม้ให้สัมผัสได้ถึงชีวิตชีวาในบรรยากาศเดิมๆ อยู่
รวมทั้งอักษรและภาษาคุ้นหูคุ้นตา คลับคล้ายคลับคลาเหมือนจะอ่านได้ด้วยใกล้เคียงอักษรไทยแทบจะเป็นตัวเดียวกันนั่นเลย ซึ่งมีทั้งใช่และไม่ใช่
ลาวเป็นประเทศเพื่อนบ้านไทย ประเทศเดียวที่เราไม่ต้องใช้ล่ามแปลภาษาด้วย “ปากเว้าเข้าใจ” สำเนียงลาวก็คือสำเนียงอีสานเรานี่เอง
กล่าวได้เลยว่าเรามีตระกูลภาษามาจากรากเดียวกัน ยืนยันได้จากคำลาวหลวงพระบาง เมืองหลวงเก่าก่อนเวียงจันท์ที่ใช้เสียงสระใอ (ไม้ม้วน) ที่มีเสียง “ม้วน” ขึ้นนาสิกจริงๆ เช่น เชียงใหม่ ออกเสียงเป็น เชียง “หม่า-อื่อ” ผู้ใหญ่เป็นผู้หญ้า-อื่อ และให้เป็น “ห้า-อื้อ” ที่ชาวเหนือเราตัดเสียงเหลือเป็น “หื้อ” ที่แปลว่า “ให้” กันอยู่นี้
ออกเสียงแบบนี้มีเฉพาะหลวงพระบาง พระบางที่เวียงจันท์ ก็ไม่ออกเสียงอย่างนี้
เหตุเพราะหลวงพระบางนั้นเดิมชาวเมืองอพยพมาจากเมืองเดียนเบียนฟู (เวียดนาม ซึ่งมีชายแดนติดกับลาวตอนเหนือ ซึ่งเป็นบริเวณแถบต้นน้ำอู่ล่องลงมาลงน้ำโขงที่หลวงพระบางพอดี
เดิมเมืองหลวงพระบางเรียกชื่อเมืองชะวา ซึ่งคุณสุจิตต์ วงษ์เทศ สันนิษฐานว่า ชะรอยชื่อ “ชะวา” น่าจะเพี้ยนมาจากคำว่า “เจ้าฟ้า” ด้วยชาวเดียนเบียนฟูเป็นต้นตระกูลภาษาไทยจากอาณาจักรน่านเจ้าเผ่าไทยพูดไทยด้วยภาษาไทยโบราณ ต้นกำเนิดคำไทยหลายคำเช่น “แถน” ซึ่งหมายถึงฟ้าดังคำ “พญาแถน” แถนมาจากคำ “เทียน” ภาษาจีนแปลว่า ฟ้าในเวียดนามก็คือ “เดียน” ชื่อเมืองเดียนเบียนฟูนี่เอง
เควไม่เขียนแผ่นดินเวียดนามที่เดียนเบียนฟูพบผู้หญิงไว้ผมทรงสูงอย่างชาวไทยทรงคำถามเขาว่าเรียกผมทรงนี้ว่าอะไร เธอตอบว่า “มั่นเกล้า”
นี่แหละไทยแท้เลย “มั่นเกล้า” ก็คือมุ่นมวยผม
พบหญิงอีกคนเธอชื่อ “เสือง” ซึ่งมีอยู่ในศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงว่า “แม่กูชื่อนางเสือง” ถามเธอว่าเสืองแปลว่าอะไร เธอตอบว่า
“เสือง แปลว่า น้ำค้าง”
นี่เป็นคำไทยที่เราไม่เคยรู้ความหมายได้ยินแต่ชื่อในศิลาจารึกเท่านั้น ไม่รู้เลยว่าความหมายของคำนี้จะงดงามยิ่งนัก
สำเนียงหลวงพระบางก็เป็นสำเนียงเหน่อสายเดียวกับอุตรดิตถ์ สุโขทัย มาจนอยุธยา สุพรรณ เมืองกาญจน์ กระทั่งราชบุรี เพชรบุรี แม้นครชัยศรี นครปฐมนี่ก็เหน่อชัดนัก
นี้คือเส้นทางสำเนียงภาษาที่เดินทางจากเดียนเบียนฟูมาหลวงพระบางมาไทยถึงทุกวันนี้
เพราะฉะนั้น ตระกูลภาษาไทย-ลาวจึงมาจากต้นเค้าเหง้ารากเดียวกันโดยแท้
โดยเฉพาะสระใดไม้ม้วน (ขึ้นนาสิก)
ภาษาจึงเป็นอารยธรรมที่สะท้อนถึงความเป็นเผ่าพันธุ์เดียวกันอันข้ามพันขอบเขตของความเป็นประเทศที่กำหนดด้วยเจตแดนดังเป็นอยู่นี้
ลาววันนี้คือกระจกส่องไทยด้วย “ภูมิภาษา” เป็นสำคัญยิ่งเห็นอักษรลาวฟังภาษาลาวก็ยิ่งรักคนลาวและเสน่ห์ของความเป็นลาว ที่ยังคงรากเหง้าเค้าเงื่อนของตระกูลภาษาไว้ได้
ทำให้เราได้เห็นความเป็นไทยในรากร่วมนี้ด้วย
ศิลปะและวัฒนธรรมจึงเป็นทั้งรากฐานพื้นฐานและภูมิฐานอันมนุษยชาติธำรงร่วมกันอยู่ในโลกใบเดียวกันนี้
สำคัญอีกเรื่องคือขอเสนอให้ประเทศในกลุ่มอาเซียนทั้งสิบประเทศคือมาเลย์ ลาว เวียดนาม กัมพูชา พม่า ไทย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย สิงคโปร์ บรูไน ได้มีโครงการ “ภูมิสัมพันธ์ศิลปวัฒนธรรม” โดยเฉพาะในกลุ่มสิบประเทศนี้ด้วยการส่งคณะศิลปินหลากสาขาของแต่ละประเทศเดินทางเข้าไปทุกประเทศเพื่อสัมผัสพื้นถิ่นพื้นที่แล้วสร้างสรรค์งานศิลปะโดยผลิตเป็นองค์รวมนำมาถ่ายทอดยังประเทศตนเพื่อให้แต่ละประเทศได้รู้จักประเทศเพื่อนกลุ่มอาเซียน ได้สัมผัสกับวิถีชีวิตของแต่ละพื้นถิ่นพื้นที่ผ่านงานศิลปะสร้างสรรค์ของศิลปินประเทศตน
เราไปพบไปเข้าใจแล้วมาเล่าให้พวกเราฟังกันด้วยภาษาและความรู้สึกของเรากันเองแบบนี้ต้องดีกว่าให้คนอื่นหรือแม้แต่ทางการมาบอกให้เราฟังเป็นแน่
นิทรรศการงานศิลปะที่สถาบันจิตรกรรมแห่งชาติของกมล ทัศนาญชลี เป็นอีกรูปแบบหนึ่งในลักษณะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างเพื่อนนานาชาติด้วยกัน ซึ่งเป็นความสัมพันธ์เชิงสร้างสรรค์อันพึงมีอยู่ด้วย
ประสบการณ์ที่เคยร่วมงานกับกลุ่มศิลปินดังเคยทำมาคือโครงการ “เขียนแผ่นดิน” ที่รวมงานสร้างสรรค์ด้านกวีนิพนธ์ จิตรกรรมงานประพันธ์เชิงสารคดี และวิดิทัศน์ ซึ่งได้ไปมาแล้วมีมาเลย์ ลาว เวียดนาม กัมพูชา พม่า และไทย ทุกจังหวัดทั่วประเทศ
นำเสนอทางโทรทัศน์มาระยะหนึ่งแล้ว
ถ้าทุกประเทศช่วยกันทำอย่างนี้ ไทยเราก็จะเป็นที่รู้จักของประชาชนในทุกประเทศ ด้วยมุมมองของศิลปินจากประเทศเขาเองทั้งสิบประเทศนั้นๆ ทั้งโดยนัยกลับกันด้วย
นี่แหละคือการร่วมรู้พื้นภูมิร่วมภูมิแผ่นดิน
วังเวียง
ขุนเขาโขดคร่ำเป็นหนามหน่อ
ฟ้าต่อฟ้าตั้งกำบังผา
เมฆเคล้าเงาครึ้มลงทึมทา
เทือกทิวพลิ้วฟ้าละอองพ่อง
ล้อมนาล้อมไร่ล้อมไม้มิ่ง
เป็นหับเป็นหิ้งเป็นหอห้อง
เนือยเนือยเลื้อยลำเป็นว้ำซอง
ไหลล่องเลี้ยงค้าวแผ่นดินดอน
ที่คนยังคงอยู่ยงมั่น
เป็นมิ่งเป็นขวัญแต่กาลก่อน
ปรุงแปลงแหล่งหล้าเป็นนาคร
ประนังพรแผ่นดินถิ่นภูไพร
จำเรียงเวียงวังเป็นวังเวียง
จำเรียงเสียงน้ำฉ่ำธารใส
จำลองรูปอันจำเริญใจ
จำหลักรักไว้ในวังเวียงฯ •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022