จรัญ มะลูลีม : การชนกันของสองยักษ์ใหญ่ในตะวันออกกลาง ซาอุดีอาระเบีย อิหร่าน (2)

จรัญ มะลูลีม

ความสัมพันธ์อิหร่าน ซาอุดีอาระเบีย

ทั้งอิหร่านและซาอุดีอาระเบียต่างก็ประกาศตัวเองว่าเป็นรัฐอิสลามที่ถูกต้อง

ทั้งสองประเทศปกครองประชาชนของตนเองบนพื้นฐานของกฏหมายอิสลาม (Shari”ah law) อันเป็นกฎหมายที่มาจากคัมภีร์อัลกุรอานและแนวทางของศาสดามุฮัมมัด ศาสดาท่านสุดท้ายของอิสลามที่ได้นำเอาคำสอนจากคัมภีร์อัลกุรอานมาเผยแผ่ให้กับประชาคมมุสลิมตั้งแต่ศตวรรษที่ 7

ทั้งผู้ถือสำนักคิดซุนนีและชีอะฮ์ถือว่าพวกตนเป็นผู้ตีความศาสนาอิสลามไปในแนวทางที่ศาสนาได้กำหนดเอาไว้ตั้งแต่ต้น

ซาอุดีอาระเบียและอิหร่านเป็นสองประเทศที่มีอิทธิพลอยู่ในอ่าวเปอร์เซีย (Persian Gulf) และดินแดนใกล้เคียง

ในเวลาเดียวกันหลังการปฏิวัติแนวคิดชีอะฮ์อิสลามได้รับการเผยแพร่โดยอิมามโคมัยนี ผู้นำคนแรกของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน

อย่างไรก็ตาม ทั้งซุนนีและชีอะฮ์ต่างก็เชื่อในหลักการพื้นฐานที่เหมือนกันนั่นคือเชื่อในพระเจ้าองค์เดียวกัน เชื่อในคำสอนและวิถีปฏิบัติของศาสดามุฮัมมัด มีวัตรปฏิบัติเช่นเดียวกัน แต่อาจมีรายละเอียดที่ต่างกันไปตามการตีความ

ส่วนความแตกต่างที่มีอยู่ระหว่างสองแนวคิดนี้จะเป็นเรื่องของการสืบทอดตำแหน่งต่อจากศาสดามุฮัมมัดมากกว่าเรื่องอื่นใด และส่วนใหญ่มีทิศทางไปในเรื่องของการเมืองหลังการจากไปของท่านศาสดาเสียมากกว่า

ทั้งนี้ อุดมการณ์ทางศาสนา นัยยะทางชาติพันธุ์จะช่วยอธิบายความแตกต่างของสองประเทศที่ต้องการมีอิทธิพลอยู่เหนือดินแดนเอเชียตะวันตกได้เป็นอย่างดี

 

การปฏิวัติตามแนวทางอิสลามของอิหร่านในปี 1979 ทำให้ความขัดแย้งระหว่างอิหร่านและซาอุดีอาระเบียขยายตัวขึ้น ตามมาด้วยสงครามอิรัก-อิหร่าน (1980-1988) และการรุกรานอิรักของสหรัฐในปี 2003 จบลงด้วยเหตุการณ์อาหรับสปริง

กระนั้นก็ตามจะพบว่าความขัดแย้งระหว่างซาอุดีอาระเบียกับอิหร่านที่มักจะห่างเหินกันอยู่บ่อยๆ นั้นมีอิทธิพลอยู่ในตะวันออกกลางเป็นอย่างมาก

อิหร่านและซาอุดีอาระเบียกลายเป็นสองประเทศที่วาทกรรมว่าด้วยความแตกต่างทางสำนักคิดถูกนำมาใช้ในโลกมุสลิม

ในการเมืองระหว่างประเทศพบว่าซาอุดีอาระเบียเอนเอียงเข้าสู่นโยบายต่างประเทศของตะวันตกมากกว่าอิหร่าน

ความขัดแย้งซาอุดีอาระเบีย-อิหร่านที่ครอบคลุมภูมิภาคตะวันออกกลางและโลกมุสลิมสะท้อนให้เห็นความขัดแย้งในภูมิภาคมาตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน

ความตึงเครียดระหว่างสองประเทศนี้ดูเหมือนยังไม่จืดจางลงแต่อย่างใด

 

ความไม่ลงรอยระหว่างซาอุดีอาระเบียและอิหร่านนั้นบ่อยครั้งเป็นผลมาจากความแตกต่างหลายๆ เรื่องไม่ว่าจะเป็นสำนักคิด ความเป็นชาตินิยม อุดมการณ์ปฏิวัติ การแข่งขันเพื่อการมีอำนาจนำในภูมิภาคราคาน้ำมัน นโยบายการมีทหารของสหรัฐในแถบอ่าวและความเห็นต่างว่าด้วยกิจการฮัจญ์

Graham E. Fuller มีความคิดว่าการขยายตัวอย่างกว้างขวางของอิสลามไม่ได้มาจากอ่าวเปอร์เซียพร้อมกับอะยาตุลลอฮ์โคมัยนี

แต่มาจากคาบสมุทรเบดุอินคนแรก กว่า 200 ปีมาแล้ว เป็นอิทธิพลต่างๆ ที่มาจากขบวนการวะฮาบีย์ของซาอุดีอาระเบียที่เคร่งครัด

ส่วนการขยายตัวของอิสลามของอิหร่านนั้นเพิ่งจะเริ่มต้นและมามีความสำคัญหลังจากการปฏิวัติของอิหร่านเองในปี 1979

การปฏิวัติในปี 1979 สร้างความไม่สบายใจให้กับซาอุดีอาระเบียและตะวันตก

ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบียเรียกการเปลี่ยนผ่านที่มาจากการปฏิวัติว่าเป็นการปฏิวัติชีอะฮ์ (Shi”ah Revolution)

ซาอุดีอาระเบียมีความกังวลว่าอิหร่านพยายามจะส่งออกการปฏิวัติออกไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับชนกลุ่มน้อยชีอะฮ์ในประเทศต่างๆ ของตะวันออกกลาง รวมทั้งซาอุดีอาระเบียเองและทั่วทั้งภูมิภาคหากเป็นไปได้

อะห์มาดีเนญอร์ด (Ahmadinejad) อดีตประธานาธิบดีสองสมัยของอิหร่านได้เคยกล่าวเอาไว้ว่าประเทศตะวันตกรุกรานภูมิภาคตะวันออกกลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งอัฟกานิสถานและอิรัก หลังจากตึกเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ถูกโจมตีเมื่อวันที่ 11 เดือนกันยายน ปี 2001

ในขณะที่ศูนย์รวมของอัลกออิดะฮ์ตั้งอยู่ในอีกดินแดนหนึ่งของภูมิภาคที่มีรายได้จากน้ำมันมหาศาล และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐและประเทศตะวันตก

เขากล่าวต่อไปว่า มีบางประเทศในตะวันออกกลางที่ไม่เคยมีการเลือกตั้งแม้แต่ครั้งเดียว ไม่อนุญาตให้ผู้หญิงขับรถ (ปัจจุบันซาอุดีอาระเบียอนุญาตให้ผู้หญิงขับรถได้เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของประเทศนี้)

แต่สหรัฐและรัฐบาลยุโรปก็ให้การสนับสนุนรัฐบาลที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตยนี้

 

ในกรณีของซีเรีย ซาอุดีอาระเบียไม่เห็นด้วยกับลักษณะการปกครองของรัฐบาลซีเรียภายใต้ชีอะฮ์อะลาวี ด้วยเหตุนี้ซาอุดีอาระเบียจึงพยายามที่จะเปลี่ยนแปลงรัฐบาลซีเรียด้วยการเรียกร้องให้คนส่วนใหญ่ที่เป็นซุนนีเข้ามาเป็นผู้บริหารมากขึ้นซึ่งจะทำให้ซีเรียออกห่างจากอิหร่านได้

ต่อมาความขัดแย้งได้ขยายตัวขึ้นอย่างรุนแรง ทำให้คนจำนวนมากต้องจบชีวิตลง คนนับล้านกลายเป็นคนไร้ถิ่นที่อยู่ เมืองทางประวัติศาสตร์และศาสนสถานถูกทำลาย

บาชัร อัลอะสัด ปกครองซีเรียผ่านพรรคบาธ (Ba”ath Party) หรือพรรคสังคมนิยมอาหรับที่ใช้อุดมการณ์แบบโลกวิถีเป็นเป้าหมายในการนำเอาชาวอะลาวี (Alawite) ที่เป็นชนส่วนน้อยขึ้นสู่อำนาจหน้าที่ที่สำคัญ

หลังจากนั้นชาวอะลาวีทั้งหลายก็ได้รับอำนาจมากขึ้นนับตั้งแต่ผู้บัญชาการทหารไปจนถึงหน่วยงานทหารติดอาวุธทั้งหลาย

บาชัร อัลอะสัด ให้การยอมรับว่าชีอะฮ์อะลาวีเป็นสาขาหนึ่งของสำนักคิดชีอะฮ์

ด้วยเหตุนี้ซีเรียและอิหร่านจึงมีมรดกร่วมกัน

ทั้งสองประเทศมีแนวความคิดในการต่อต้านการขยายอำนาจของมหาอำนาจและลัทธิไซออนิสต์ (Zionism) ซึ่งเป็นองค์การของชาวยิวยุโรปที่อพยพเข้ามาอยู่ในปาเลสไตน์และเข้ายึดครองดินแดนปาเลสไตน์จนชาวปาเลสไตน์ต้องกลายเป็นผู้อพยพและสูญเสียดินแดนมายาวนานกว่าครึ่งศตวรรษ

ในระหว่างสงครามกลางเมืองในซีเรีย ทั้งอิหร่านและซาอุดีอาระเบียต่างก็แสวงหาพันธมิตรในภูมิภาค

อิหร่านให้การช่วยเหลือซีเรียและได้รับการสนับสนุนจากรัสเซีย

ในขณะที่ซาอุดีอาระเบียหาพันธมิตรร่วมกับสหรัฐ สหภาพยุโรป

รวมทั้งประเทศเล็กๆ ของอ่าวเปอร์เซียและกลุ่มใหม่ที่มีอำนาจทางการเมืองของฝ่ายฏอลิบาน (Taliban) รวมทั้งนักต่อสู้ชาวซุนนี ซึ่งในที่สุดได้เผชิญหน้ากับอิทธิพลของอิหร่านในซีเรีย