วิกฤตสามมิติ : ระบบอาหาร,พลังงาน,การเงิน/การเมืองวัฒนธรรม เกษียร เตชะพีระ

เกษียร เตชะพีระ

การเมืองวัฒนธรรม

เกษียร เตชะพีระ

 

วิกฤตสามมิติ

: ระบบอาหาร,พลังงาน,การเงิน

 

วิกฤตเศรษฐกิจและการลุกฮือทางการเมืองของมวลชนในศรีลังกาเมื่อเร็วๆ นี้ทำให้นึกถึง วิกฤตหนี้สมัยคริสต์ทศวรรษที่ 1980 ในละตินอเมริกา

มันถูกถือเป็น “ทศวรรษที่สูญเปล่า” (the lost decade) ทางด้านการพัฒนาเศรษฐกิจของทวีปนั้น ค่าที่หลายประเทศต้องเผชิญความโกลาหลวุ่นวายทางการเงินจากพายุหนี้ซึ่งกร่อนเซาะเศรษฐกิจ

ตัวจุดชนวนได้แก่ อาการช็อกจากราคาน้ำมันพุ่งพรวดสองครั้ง ทำให้การเงินปั่นป่วนเสียกระบวน ขาดดุลการคลังขนานใหญ่ หนี้ต่างประเทศขึ้นสูงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน จนเศรษฐกิจจวนเจียนจะพังพินาศ

เม็กซิโก ล่มจมลงเป็นประเทศแรกในปี 1982 โดยประกาศว่าจะไม่สามารถชำระหนี้ตามกำหนด หลังจากนั้นอีกหลายประเทศละตินอเมริกันก็ทยอยประกาศผิดนัดชำระหนี้สาธารณะ วิกฤตหนี้ลุกลามครอบคลุม บราซิล ชิลี อาร์เจนตินา โคลอมเบีย เวเนซุเอลา เปรู เอกวาดอร์ ประเทศเหล่านี้ทยอยกันล้มราวโดมิโน ต่างเผชิญภาวะเศรษฐกิจถดถอยกรูด เงินเฟ้อสูง หนี้พอกพูน คนตกงานและเศรษฐกิจชะลอตัว

(https://www.federalreservehistory.org/essays/latin-american-debt-crisis)

สามทศวรรษให้หลัง ประวัติศาสตร์ทำท่าจะซ้ำรอยอย่างน่าหวาดเสียวแต่ในขอบเขตที่แผ่กว้างขึ้น

ดังเห็นได้ว่านานาประเทศกำลังพัฒนาในหลายทวีปตกอยู่ในภาวะระส่ำระสายและดิ้นรนกระเสือกกระสนหาทางแก้วิกฤตหนี้สาธารณะกันพัลวัน

โดยมี ศรีลังกา เป็นตัวอย่างแรกที่ดิ้นไม่หลุดแล้วล้มคว่ำลงก่อนเพื่อน

อาการเศรษฐกิจล่มสลายของศรีลังกาได้แก่ หนี้โป่งพอง เงินตราต่างประเทศสำรองหดลีบ ทำให้ไม่มีเงินพอซื้อสินค้าเข้าจำเป็นขั้นพื้นฐาน เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง ข้าว ปุ๋ยเคมี ยารักษาโรค

แน่ล่ะว่าวิกฤตนี้ด้านหลักแล้ว made in Sri Lanka เองโดยผู้นำแห่งตระกูลราชปักษาที่ผูกขาดยึดกุมอำนาจการเมืองต่อเนื่องยาวนาน อยู่เหนือการคัดค้านทัดทานตรวจสอบถ่วงดุลในระบบ ทำให้เหลิงเคลิ้มบริหารจัดการเศรษฐกิจการเงิน การคลัง การเกษตรและโครงสร้างพื้นฐานผิดพลาดมหันต์จนเศรษฐกิจแห่งชาติล่มสลาย

อาทิ หั่นภาษีลงมาก แต่ดันใช้จ่ายเกินรายได้ประชาชาติตามแนวทางประชานิยมทางเศรษฐกิจ, ห้ามนำเข้าปุ๋ยเคมี สั่งเปลี่ยนไปใช้ปุ๋ยอินทรีย์กะทันหัน เพื่อประหยัดเงินตราต่างประเทศ ส่งผลให้ผลผลิตเกษตรหลัก ได้แก่ ข้าวและใบชาทรุดต่ำ, กู้เงินภายนอกมาก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเพื่อหน้าตาและท้องถิ่นของตระกูล แต่กลับได้ “สนามบินที่ว่างร้างที่สุดในโลก” และทางหลวงที่ไม่นำไปสู่การลงทุนอุตสาหกรรมใดๆ, ทุจริตคอร์รัปชั่นกันในตระกูลพวกพ้อง เป็นต้น

(https://asia.nikkei.com/Spotlight/Sri-Lanka-crisis/Nepotism-bad-policy-push-Sri-Lanka-to-brink-of-economic-ruin)

วงจรอุบาทว์ที่กำลังปรากฏ (วนขวาจากยอด) ดัชนีราคาอาหารสูงเป็นประวัติการณ์ – น้ำมันดิบราคาสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 120 $/ถัง – ราคาก๊าซธรรมชาติในยุโรปสูงเป็น 10 เท่าของปี 2020 – ต้นทุนการค้าทางทะเลเพิ่มเกือบ 3 เท่าของระดับเฉลี่ยก่อนโควิดระบาด – อัตราดอกเบี้ยกำลังเพิ่มสูงขึ้น – ราคาปุ๋ยกำลังเพิ่มขึ้น

แต่สถานการณ์โลกก็ดูเหมือนเป็นใจให้เกิดวิกฤตในศรีลังกาด้วย ไม่ว่าโควิด-19 ระบาดซึ่งทำให้เศรษฐกิจชะลอตัว โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่เป็นตัวหลักในการนำรายได้เงินตราต่างประเทศเข้าศรีลังกานั้นถึงกับนักท่องเที่ยวลดหายไป 90%, ต้นทุนการกู้ยืมในตลาดสินเชื่อระหว่างประเทศเพิ่มพูนขึ้นในสภาพที่ปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนในศรีลังกาสืบเนื่องจากสงครามกลางเมืองกับขบวนการพยัคฆ์ทมิฬทำให้รัฐบาลกู้ยืมจากรัฐบาลประเทศอื่นลำบาก, แล้วเคราะห์ซ้ำกรรมซัดมาเกิดสงครามรัสเซียรุกรานยูเครนซึ่งถีบส่งราคาอาหาร เชื้อเพลิง ปุ๋ย ฯลฯ ให้พุ่งสูงในตลาดโลกในปัจจุบันอีกเล่า

ปมเงื่อนก็คือผู้เชี่ยวชาญเศรษฐกิจพากันเกรงว่าวิกฤตศรีลังกาจะเหมือนเมฆฟ้าตั้งเค้ามืดทะมึนแล้วกลายพันธุ์แผ่ลามไปเป็นพายุหนี้ในบรรดาประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก

ดังปรากฏว่าเมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ศกนี้ ธนาคารโลกได้ออกคำเตือนว่าบรรดาประเทศกำลังพัฒนา เผชิญกับวิกฤตหนี้ที่ตั้งเค้าทะมึนมา รายงาน World Development Report 2022 : Finance for an Equitable Recovery (รายงานการพัฒนาโลก 2022 : การเงินเพื่อการฟื้นตัวที่เป็นธรรม) ของธนาคารโลก ระบุว่ามีประเทศรายได้ปานกลางและรายได้ต่ำ 70 ประเทศกำลังต้องชำระหนี้สาธารณะมูลค่า 11 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นภาระหนักหนาสาหัสที่อาจถล่มทับเศรษฐกิจประเทศเหล่านี้จนแหลกลาญได้

(https://www.worldbank.org/en/publication/wdr2022)

และแล้วชั่ว 9 วันต่อมารัสเซียก็ยกทัพบุกยูเครน ทำให้ห่วงโซ่อุปทานโลกปั่นป่วนเสียกระบวน ตลาดการเงินโลกระส่ำระสาย และจุดปะทุวิกฤตน้ำมันโลกขึ้น หลังจากนั้นคำทำนายเศรษฐกิจก็ยิ่งทึบยิ่งมืดมนโทนโท่

เดือนเมษายน องค์การสหประชาชาติก็ได้เผยแพร่รายงาน Global Impact of War in Ukraine on Food, Energy and Finance Systems (https://news.un.org/pages/global-crisis-response-group/) เสนอว่าสงครามรัสเซียรุกรานยูเครนได้ก่อให้เกิด วิกฤตสามมิติ (a three dimensional crisis) ในระบบอาหาร, ระบบพลังงานและระบบการเงินโลก ซึ่งวนลูปป้อนเลี้ยงกันเป็น วงจรอุบาทว์ ที่กำลังปรากฏตัวตามแผนภูมิ

รายงานสหประชาชาติฉบับนี้ระบุว่ามีประเทศ 107 ประเทศรวมประชากร 1.7 พันล้านคน หรือกว่าหนึ่งในห้าของประชากรโลกซึ่งเผชิญกับความเสี่ยงอย่างน้อยหนึ่งในสามประการ (อาหารแพงขึ้น, พลังงานแพงขึ้น, เงื่อนไขเงินกู้เข้มงวดขึ้น) ข้างต้น

ใน 107 ประเทศนี้ มี 69 ประเทศ แบ่งเป็น 19 ประเทศในทวีปละตินอเมริกา, 25 ประเทศในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก และ 25 ประเทศในทวีปแอฟริกา รวมประชากรราว 1.2 พันล้านคนที่เผชิญกับความเสี่ยงทั้งสามประการพร้อมกัน

ประเทศเหล่านี้แหละที่ล่อแหลมต่อศรีลังกาภิวัตน์ (go the Sri Lankan way) ในปัจจุบัน