กิติมา อมรทัต ไรน่าน อรุณรังษี สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (1)/มุมมุสลิม จรัญ มะลูลีม

จรัญ มะลูลีม

มุมมุสลิม

จรัญ มะลูลีม

 

กิติมา อมรทัต

ไรน่าน อรุณรังษี

สองปัญญาชนมุสลิมร่วมสมัย (1)

 

ในแวดวงสังคมมุสลิมไทยที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับงานวรรณกรรม งานแปล และงานด้านอิสลามศึกษา แม้จะมีผู้มีคุณูปการสำคัญอย่างดิเรก กุลสิริสวัสดิ์ อดีตนายกสมาคมภาษาและหนังสือ ผู้แปลคัมภีร์อัลกุรอานเป็นภาษาไทยด้วยภาษาที่งดงามแล้ว สังคมมุสลิมยังมีผู้ที่อยู่ในแวดวงวรรณกรรมและงานแปลที่สำคัญ อย่างน้อยที่ผมคุ้นเคยและเคยแปลหนังสือร่วมกันอยู่อีกสองคน ได้แก่ กิติมา อมรทัต น้องสาวนักหนังสือพิมพ์และนักเขียนคนสำคัญของไทยที่เคยถูกจองจำอันเนื่องมาจากการต่อสู้เพื่อความถูกต้องในยุคสมัยที่การเมืองไทยอยู่ภายใต้อำนาจเผด็จการ และไรน่าน อรุณรังษี

ทั้งกิติมา อมรทัต และไรน่าน อรุณรังษี มีพื้นภูมิที่คล้ายคลึงกันคือเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย

โดยกิติมาสอนที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะครุศาสตร์ และเคยเป็นอาจารย์อุเทนถวายมาก่อน

กิติมา อมรทัต จบปริญญาตรีคณะสถาปัตยกรรม และปริญญาโทคณะครุศาสตร์ จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาเอก สาขาการศึกษา และหลังปริญญาเอก สาขาตะวันออกกลางศึกษาหรือเอเชียตะวันตกศึกษา จากมหาวิทยาลัย Aligarh Muslim University India โดยได้รับทุน UGC (University Grands Commission)

กิติมาทำงานด้านการออกแบบอาคารสถานที่มาแล้วหลายแห่ง รวมทั้งอาคาร West Asia and African Studies ที่เมือง Aligarh ซึ่งยังคงเป็นอาคารที่มีความงดงามแห่งหนึ่งของมหาวิทยาลัยและเป็นงานที่กิติมาออกแบบให้กับสถานศึกษาที่ตนได้รับการหล่อหลอมและเล่าเรียนมา

อย่างไรก็ตาม แม้จะเป็นครูบาอาจารย์ที่สอนภาษาอังกฤษอยู่ในคณะครุศาสตร์และเคยเป็นอาจารย์สอนสถาปัตยกรรมที่อุเทนถวายมาก่อน แต่กิติมากลับชอบงานเขียนและงานแปลเป็นชีวิตจิตใจ

รวมทั้งวรรณกรรมเพื่อชีวิตจากนักเขียนอินเดีย อย่างโคทาน (Godan) ของเปรมจันทร์ ซึ่งในประเทศไทย จิตร ภูมิศักดิ์ นักคิดคนสำคัญของไทย ก็เคยแปลงานชิ้นนี้เอาไว้ด้วยเช่นกัน งานอื่นๆ ก็เช่น กุลีของมุลค์ ราชอานันท์ ร้อยหิว (So Many Hunger) ของควาญา อะห์มัด อับบาส (Kwaja Ahmad Abbas) รวมทั้งงานของมหาตมะ คานธี ที่เป็นถ้อยวาทะสำคัญ ตลอดไปจนถึงงานของนักเขียนรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม รพินทรนาถ ฐากูร อีกจำนวนหนึ่ง

นอกจากนี้ กิติมายังแปลวิญญาณขบถของคาลิล ยิบราน (Kalil Jibran) นักเขียนชาวเลบานอน ที่ผลงานของเขาสร้างผลสะเทือนอย่างมากในแวดวงปรัชญาและวรรณกรรมของโลก

ขณะเรียนอยู่ที่ Aligarh Muslim University กิติมาเลือกเรียนภาษาอาหรับและภาษารัสเซียในเวลาเดียวกัน และถ่ายทอดงานของนักเขียนรัสเซียเอาไว้จำนวนหนึ่ง รวมถึงงานที่เกี่ยวกับการต่อสู้ของชาวปาเลสไตน์อีกจำนวนหนึ่งเช่นกัน

นอกจากนี้ กิติมายังวาดรูปลงบนพื้นผ้าใบได้อย่างงดงามอีกด้วย ทั้งนี้ กิติมาได้เข้าศึกษาในระดับ Diploma (Applied Art) หรือศิลปะประยุกต์ในมหาวิทยาลัยเดียวกัน

ด้วยเหตุนี้กิติมาจึงชอบงานของจิตรกรคนสำคัญของโลกอีกหลายคนที่กิติมาได้ถ่ายทอดเอาไว้ เช่น งานของแวนโก๊ะ ซึ่งจนถึงปัจจุบันงานอย่างไฟชีวิต (Lust for Life) ที่กิติมาแปลเอาไว้ก็ยังคงได้รับการตีพิมพ์ใหม่อีกหลายครั้ง

กิติมา อมรทัต เดินทางไปหลายประเทศและเคยเล่าให้ผมฟังว่า ในบั้นปลายชีวิตหากมีโอกาสได้เลือกการใช้ชีวิตจะขออยู่ที่ฟินแลนด์อันเป็นประเทศที่สงบสุข

กระนั้นประเทศที่กิติมาใช้ชีวิตในบั้นปลายและเดินทางไปในหลายพื้นที่ก่อนจะกลับมาเมืองไทยในที่สุดก็ยังเป็นอินเดียที่กิติมาเลือกมาศึกษาต่อนั่นเอง

กิติมาเป็นหนึ่งในผู้แปลที่ถ่ายทอดภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยได้งดงาม ครั้งหนึ่งมีผู้อ่านถามคำถามในคอลัมน์หนึ่งของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐเมื่อหลายสิบปีก่อนว่าในประเทศไทยใครแปลหนังสือดีที่สุดระหว่างกิติมา อมรทัต กับชมัยพร แสงกระจ่าง (ถ้าจำไม่ผิด) โดยเจ้าของคอลัมน์ตอบเลี่ยงๆ ไปว่าคนแปลที่ดีที่สุดยังไม่เกิด

กิติมาเคยเล่าว่า ได้แปล Gone With the Wind (วิมานลอย) สำเร็จตั้งแต่เธอมีอายุแค่ 13 ปี ซึ่งแสดงให้เห็นว่ากิติมาชอบงานแปลมาตั้งแต่เยาว์วัย

ในด้านศาสนา กิติมาเริ่มคลุมฮิญาบเมื่อเธอมาศึกษาเล่าเรียนที่ Aligarh Muslim University และเป็นหนึ่งในสตรีมุสลิมที่เรียนรู้และถ่ายทอดงานแปลด้านศาสนาอิสลามว่าด้วยคัมภีร์กุรอาน และการต่างประเทศของโลกมุสลิม นวนิยายว่าด้วยชีวิตอันรันทดของชาวปาเลสไตน์ที่ถูกอิสราเอลยึดครอง บทกวีของชาวปาเลสไตน์โดยเฉพาะงานของมะห์มูด ดารวิช

กิติมามีบิดาเป็นคนเชื้อสายอินเดีย มารดาเป็นชาวไทย คำว่าอมรทัต หรืออมันตกุล น่าจะมาจากนามสกุลอามาน (Aman ของชาวอินเดียแถบคุชราช) อย่างเช่น ดาราภาพยนตร์อินเดียที่โด่งดังสุดขีด ซีนาต อามาน (Zeenat) จากภาพยนตร์สัตยัม ชีวัม สุนดารัม (ความจริง ชีวิต ความงาม)

แม้ว่ากิติมาจะจากโลกนี้ไปแล้ว แต่ผลงานของเธอโดยเฉพาะงานแปลของเธอยังคงได้รับการตีพิมพ์ใหม่อย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน

ส่วนไรน่าน อรุณรังษี เริ่มต้นชีวิตหลังจบการศึกษาที่คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ด้วยการเข้าเป็นอาจารย์ในคณะเดียวกันอันเนื่องมาจากผลการเล่าเรียนที่ยอดเยี่ยมคือเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง

ไรน่านอาจต่างกับกิติมาอยู่บ้าง เพราะไรน่านชอบการเมือง เขาเข้าสู่การต่อสู้ทางการเมืองในช่วงเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 หลังจบปริญญาโท คณะรัฐศาสตร์จาก Aligarh Muslim University และเป็นคอลัมนิสต์อยู่ในหนังสือการเมืองหลายฉบับ เช่น ธงไทย เพชรไทย และมหาราษฎร์

ไรน่านเคยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติและร่วมร่างรัฐธรรมนูญปี 2517 ร่วมก่อตั้งพรรคสังคมนิยมกับ ดร.บุญสนอง บุณโยทยาน ในปี 2519 ลงสมัครรับเลือกตั้งในนามพรรคสังคมนิยม และได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพัทลุง

ต่อมาไรน่านได้ลงเลือกตั้งอีกครั้งในนามพรรคประชาธิปัตย์ เมื่อปี 2522 ที่กรุงเทพมหานคร ในเขตที่มีชาวมุสลิมอยู่จำนวนมาก อย่างหนองจอก มีนบุรี ลาดกระบัง แต่ไม่ได้รับเลือกตั้ง

ไรน่านจึงกลับเข้าสู่แวดวงงานเขียนทางการเมืองอีกครั้งด้วยการเป็นบรรณาธิการนิตยสารตะวันใหม่

ในช่วงท้ายๆ ของชีวิตไรน่านได้รับการสรรหาให้เป็นสมาชิกวุฒิสภาที่มาจากภาควิชาชีพ ในปี 2551 สิ่งที่เหมือนกันระหว่างไรน่านกับกิติมาคือสนใจการปฏิวัติอิสลามของสาธารณรัฐอิสลามแห่งอิหร่าน

ทั้งกิติมาและไรน่านล้วนเคยทำงานแปลให้กับศูนย์วัฒนธรรมอิหร่านมาพักใหญ่ แม้กิติมาจะยังคงดำรงความเป็นซุนนี แต่ไรน่านเลือกที่จะอยู่ในแนวทางของสำนักคิดชีอะฮ์เช่นเดียวกับนักวิชาการมุสลิมอีกจำนวนหนึ่ง

บางคนที่รู้จักไรน่านดี บอกว่าไรน่านคุ้นเคยกับนักบวชชาวพุทธ ทำให้ไรน่านเป็นชาวมุสลิมที่มีความรู้อย่างลึกซึ้งด้านพุทธศาสนา

คอลัมน์ของเขาในหนังสือญิฮาด ซึ่งเป็นหนังสือของปัญญาชนมุสลิมเมื่อหลายสิบปีก่อนและมีคนจำนวนไม่น้อยติดตามอ่านมีคอลัมน์ของไรน่าน ซึ่งตอบคำถามเพื่อนชาวพุทธที่ถามเรื่องราวของศาสนาอิสลามได้อย่างกระจ่างแจ้ง จึงเป็นคอลัมน์ที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในเวลานั้น

ไรน่านให้ความสนใจปัญหาปาเลสไตน์อย่างมากเขาพูดถึงชะตากรรมของชาวปาเลสไตน์ได้อย่างยาวนานทุกครั้งที่มีคำถาม

ต่อมา ไรน่านเข้าเรียนปริญญาเอกด้านปรัชญาและศาสนาที่มหาวิทยาลัยเซนต์จอห์น และจบการศึกษาระดับปริญญาเอก จากมหาวิทยาลัยเดียวกัน

มีบางช่วงที่ไรน่านไปสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และมหาวิทยาลัยอื่นๆ ในฐานะอาจารย์พิเศษเมื่อเขาไม่ได้สอนที่ธรรมศาสตร์แล้ว

 

ไรน่านและกิติมาเคยแปลวรรณกรรมร่วมกันอยู่บ้าง อย่างเช่น รุไบยาต งานชั้นเยี่ยมของโอมาร์ คัยยัม (อุมัร อัล ค็อยยูม) ของเปอร์เซียหรืออิหร่าน และงานบางเรื่องของคาลิล ยิบราน อย่างเช่น รหัสย์แห่งหัวใจ

ส่วนงานสวนกุหลาบ (Kulistan) ของซะอ์ดี ชิราซี นักกวีของอิหร่าน ซึ่งกิติมา ไรน่าน และผมได้แปลร่วมกัน ผมได้นำบางส่วนมานำเสนอในมติชนสุดสัปดาห์แล้ว เป็นเล่มเดียวที่ผมมีโอกาสแปลร่วมกับไรน่าน

ไรน่านยังแปล Secret of Self (รหัสย์แห่งอาตมัน) ของอะลามาอ์ อิกบาล นักกวีแห่งบูรพาทิศชาวปากีสถานอีกด้วย นอกจากนี้งานของไรน่านเรื่อง อิสลาม : ศาสนา ปรัชญาและวิทยาศาสตร์ ได้รับเลือกเป็น 100 หนังสือดีวิทยาศาสตร์ไทย สาขาสารคดีและความรู้ทั่วไป

งานของอิกบาล นอกจากรหัสย์แห่งอาตมันแล้ว ผมกับกิติมาได้แปลคำร้องทุกข์ ร่วมกันซึ่งได้นำเสนอในมติชนสุดสัปดาห์ไปแล้วเช่นกัน

 

ไรน่านเป็นนักคิดมุสลิมที่ศึกษาแนวคิดของนักคิดสายมาร์กซิสต์มาตลอด แต่ในเวลาเดียวกันก็สนใจงานด้านปรัชญาและคำสอนของอิสลามมาโดยตลอด เขาจึงเลือกสังกัดพรรคสังคมนิยมในช่วงแรกของชีวิตทางการเมือง

ในขณะที่กิติมาเป็นชาวกรุงเทพฯ มีภูมิลำเนาอยู่แถวถนนข้าวสาร แม้ต่อมาจะย้ายไปอยู่ลาดพร้าวและพระประแดง แต่ไรน่านเป็นชาวพัทลุง อำเภอปากพะยูน

นอกจากกิติมาจะแปลหนังสือแล้วในบางช่วงเธอยังอาสาไปสอนหนังสือที่โรงเรียนอิสลามศรีอยุธยามูลนิธิ จังหวัดพระนครศรีอยุธยา ที่เป็นบ้านเกิดของผม โดยเธอสอนภาษาอังกฤษเป็นด้านหลัก

แม้ว่าทั้งกิติมาและไรน่านจะอำลาโลกนี้ไปแล้ว โดยกิติมาจากไปในปี 2548 ร่างของเธอถูกฝังลงที่สุสานหรือกุโบร์ของมัสญิดนูรุ้ลมู่บีน สี่แยกบ้านแขก

ส่วนไรน่านจากไปในปี 2552 ที่โรงพยาบาลเลิดสิน ที่ภรรยาของไรน่านเป็นพยาบาลอยู่โรงพยาบาลเดียวกัน ด้วยโรคถุงลมโป่งพอง ในวัย 67 ปี ขณะดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภา โดยร่างของเขาถูกฝังลงที่มัสญิดต้นสน

คนมุสลิมที่รักการอ่านยังมีงานของนักคิดนักเขียนทั้งสองคนอยู่บนหิ้งหนังสือของพวกเขาอยู่จนถึงเวลานี้