2503 สงครามลับ สงครามลาว (92)/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (92)

 

“บนถนนที่ยาวไม่รู้จบ บิลล์ แลร์ ทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดในใจ เริ่มต้นเมื่อเขามาถึงยังเมืองไทยและดำเนินการจัดตั้งหน่วยพารู จากนั้นเดินทางข้ามไปอีกฝั่งแม่น้ำโขง เขานึกทบทวนเรื่องราวซ้ำๆ ในใจ ค้นหาสิ่งปลุกเร้าจิตวิญญาณ อันเป็นพลังแฝงที่ทำให้ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นอย่างที่มันเป็นอยู่ เขาวาดภาพทบทวนการพบปะครั้งแรกกับวังเปา ตอนที่ได้รับไฟเขียวจากเดสมอนด์ ฟิเจอรัลด์ ภาพครั้งเก่าเกี่ยวกับโทนี่และวินท์ และจากนั้นแช็คลี่ก็เข้ามากุมอำนาจสงคราม และสิ่งพลาดที่เริ่มตามมาหลังจากนั้น

กินระยะทางเป็นหมื่นๆ ไมล์บนถนนกว่าที่เขาจะข่มใจสลัดความโกรธแช็คลี่ลงได้…

…แลร์ใช้เวลาเป็นปีๆ กับความสันโดษบนถนนหลวง กว่าที่เขาจะคิดได้อย่างชัดเจนปรุโปร่ง เมื่อตอนแรกเขาทำให้ปฏิบัติการขนาดเล็กกะทัดรัดก่อเกิดผลดีได้อย่างไร เมื่อความขัดแย้งในเวียดนามขยายตัวขึ้น เหตุใดความล้มเหลวในการสกัดกั้นเส้นทางโฮจิมินห์ เทรล ส่งผลให้กองทัพอากาศและกองทัพบกเริ่มเข้ามาวุ่นวายในลาวมากขึ้น และระบบราชการอันซับซ้อนได้ครอบงำปฏิบัติการโมเมนตัมกระทั่งมันเติบโตจนเกินเลยขอบเขตที่เหมาะสมไปได้อย่างไร

เมื่อเวลาผ่านไป โดยมีเพียงความคิดที่โลดแล่นในหัวสมองเป็นเพื่อน แลร์เริ่มมองบทบาทของเขาในลาวอย่างเห็นอกเห็นใจมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าเขาจะพยายามปรักปรำตนเองเช่นไร เขารู้ดีว่าได้พยายามทำอย่างดีที่สุดแล้ว และก็ได้ผลลัพธ์บางอย่างออกมาจากความพยายามนั้น

เขาเคยเป็นผู้ก่อตั้ง และผู้นำของกองทัพที่มีกำลังคนกว่า 3 หมื่น มีไม่กี่คนนักที่คุยเช่นนั้นได้ เขามีโอกาสร่วมงานกับคนดีๆ ที่สุดที่เขาเคยพบมา พารูชาวไทยกับเหล่านายพล เอกอัครราชทูตและพระเจ้าแผ่นดิน เขามีอาชีพที่สมบูรณ์ และหาใช่โดยปราศจากชัยชนะเสียทีเดียว เขาสามารถยอมรับความพ่ายแพ้อย่างใจเย็น

และบางที…แลร์คิดขณะขับรถบรรทุกคู่ชีพลงไปตามถนนหลวง อาจเป็นเพราะทุกสิ่งทุกอย่างได้ถูกลิขิตไว้แล้ว”

เจมส์ วิลเลียม แลร์ เสียชีวิตเมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ.2557 ขณะอายุได้ 90 ปี ศพของเขาได้รับเกียรติจากรัฐบาลฝังไว้ที่สุสานแห่งชาติ อาร์ลิงตัน วอชิงตัน ดี.ซี. เคียงคู่กับวีรชนของชาติทั้งหลายตั้งแต่สงครามกลางเมือง

 

REST IN PEACE : นายพลวังเปา

เมื่อทั้งสหรัฐและไทยยุติบทบาทในลาว เมื่อ พ.ศ.2517 หลังข้อตกลงหยุดยิง ขบวนการประเทศลาวก็สามารถรุกเข้าสู่ทุกพื้นที่อย่างง่ายดาย นายพลวังเปาและชาวม้งจึงอพยพหนีภัยมาฝั่งไทย

“Back Fire” ของโรเจอร์ วอร์นเนอร์ บันทึกเส้นทางชีวิตของนายพลวังเปา ไว้ตอนหนึ่งดังนี้

“นายพลชาวไทยแจ้งแก่สถานทูตอเมริกันในกรุงเทพฯ ว่า วังเปามีทางเลือกอยู่ 2 ทาง เขาสามารถอยู่ในประเทศไทยภายใต้กุญแจมือ หรือรีบออกจากประเทศไปเพื่อเห็นแก่ความสัมพันธ์ไทย-อเมริกา และไทย-ลาว สถานทูตอเมริกันจึงตัดสินใจเข้าจัดการปัญหาที่เกี่ยวกับวังเปาอย่างไม่ค่อยเต็มใจนัก โทรเลขตอบโต้ถูกส่งไปมาระหว่างกรุงเทพฯ และวอชิงตัน พวกกระทรวงการต่างประเทศไม่สามารถหาเอกสารบันทึกการตัดสินใจนำตัววังเปามาลี้ภัยในอเมริกา พวกเขากล่าวว่า หากไม่มีหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรบนหน้ากระดาษ ก็หมายถึงว่ามันไม่ได้เป็นนโยบายของรัฐบาล

ตอนนี้เองที่ซีไอเอยื่นมือเข้ามาเกี่ยวข้อง พวกเขาเปิดเผยว่า วังเปามีสถานที่ที่เป็นตัวเลือกอยู่ในใจได้แก่ มินนิโซตา หรือมอนทานา ซีไอเอแจ้งว่าจะรับผิดชอบนำวังเปาเข้าประเทศและออกสตางค์ซื้อบ้านพักแก่เขา พวกเขายังช่วยวังเปาเลี่ยงกฎหมายคนเข้าเมืองของอเมริกา เกี่ยวกับประวัติที่แปดเปื้อนในเรื่องการมีภรรยาหลายคนและพัวพันกับการค้าฝิ่น

จากนั้นสถานทูตอเมริกันจึงแจ้งแก่รัฐบาลไทยว่าอเมริกายินยอมให้วังเปาและลูกน้องของเขาบางคนและคนอื่นๆ ที่เคยทำงานให้กับซีไอเอและยูเสดเข้าลี้ภัยในอเมริกาได้

18 มิถุนายน 1975 ก่อนจะบินไปยังอเมริกา วังเปาถูกพาตัวไปยังสำนักงานซีไอเอบนชั้น 3 ของอาคารสถานทูตอเมริกันบนถนนวิทยุในกรุงเทพฯ เมื่อร่ำลาอย่างเป็นทางการกับผู้อำนวยการซีไอเอแล้ว ที่ห้องโถง วังเปาได้พบกับบุรุษบุคลิกนิ่งเงียบจากเท็กซัสผู้ที่ติดตามหาตัวเขาจนพบบริเวณตอนใต้ของทุ่งไหหินเมื่อประมาณ 15 ปีก่อน

ไม่มีอะไรให้ต้องพูดมากนัก ชายสองคนต่างถูกเหตุการณ์และเวลาลดบทบาทความสำคัญลง ความอ่อนน้อมถ่อมตัวที่เคยเป็นส่วนหนึ่งของฉากหน้าที่เคลือบแฝงตัวตนแท้จริงไว้ บัดนี้ได้ผสมกลมกลืนเข้าเป็นบุคลิกอันแท้จริงของเขาไปแล้ว เขาดูแก่ขึ้น ศีรษะขาวขึ้น และเก็บตัวมากขึ้น ดูเหมือนร่างกายวังเปาก็จะหดลด ไม่ผึ่งผายเหมือนเมื่อตอนยังอยู่ในแผ่นดินถิ่นบ้านเกิดของตนเอง เขาเหมือนคนหมดอาลัยตายอยาก เป็นอดีตขุนศึกร่างเตี้ยเจ้าเนื้อธรรมดาๆ เหมือนกับพวกนายพลและผู้นำฝ่ายขวาอื่นๆ ของกัมพูชาและเวียดนามใต้

ในห้องโถงสถานทูต แลร์อวยพรวังเปาให้โชคดี แต่ช่วงขณะที่วังเปาเดินผ่านไปนั้น แลร์คิดหวังในใจให้วังเปาฝ่าฝืนคำสั่ง และนำคนของเขาข้ามแม่น้ำโขงไปยังแขวงไชยบุรีในเขตประเทศลาว พวกเขาอาจพบอุปสรรคที่นั่นบ้าง แต่พวกเขาเป็นจำนวนมากคงมีชีวิตอยู่ในความดิบเถื่อนแบบที่พวกเขาเคยชินมาชั่วชีวิต พวกเขาเหมาะที่จะใช้ชีวิตเยี่ยงเสรีชนอยู่ในเขตภูเขาแทนการมาอยู่ในค่ายผู้ลี้ภัยที่ประเทศไทยหรืออเมริกา

และยังมีทางเลือกอื่นอีก แลร์คิดในใจ คงจะเป็นการดีหากวังเปาเสียชีวิตไปในการรบ และคงดีกว่าหากวังเปาได้ตายเยี่ยงคนกล้าในประเทศลาว มันจะกลายเป็นตำนานเล่าขาน แทนที่จะต้องกลายเป็นเพียงผู้ลี้ภัยคนหนึ่ง เพราะครั้งหนึ่งในช่วงเริ่มต้นของปฏิบัติการ วังเปาเป็นผู้ยิ่งใหญ่มาก่อน”