ผ่าคะแนนโหวตซักฟอก ‘ชทพ.’ หักเหลี่ยม ‘ปชป.’ นั่งร้าน ‘จุรินทร์’ หวิดพัง 6 ส.ส.ปากน้ำไฝว้ ‘ป.ป๊อก’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

ผ่าคะแนนโหวตซักฟอก

‘ชทพ.’ หักเหลี่ยม ‘ปชป.’

นั่งร้าน ‘จุรินทร์’ หวิดพัง

6 ส.ส.ปากน้ำไฝว้ ‘ป.ป๊อก’

ศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งสุดท้าย

ผลโหวตลงมติไม่พลิกความคาดหมายทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐมนตรีอีก 10 คน ผ่านการลงมติไว้วางใจทุกคน

แต่ก็เป็นการผ่านในลักษณะบอบช้ำ

ทั้งจากแผลที่ฝ่ายค้านเปิดออกมาเหวอะหวะตั้งแต่ “หัว” ยัน “นั่งร้าน”

ทั้งจากความสัมพันธ์อันสั่นคลอนในพรรครัฐบาล สะท้อนจากผลโหวตรัฐมนตรีบางคนที่ได้เสียงไว้วางใจ “ต่ำ” กว่าที่ควรจะเป็น

เมื่อไล่ดูคะแนนโหวตของทั้งนายกรัฐมนตรี และ 10 รัฐมนตรี นอกจาก “พลังกล้วย” กับบรรดา “งูเห่า” ที่ทำหน้าที่แข็งขัน ยังฉายให้เห็นรอยร้าวภายในพรรคแกนนำรัฐบาล ภายในพรรคร่วมรัฐบาล

กลุ่ม “3 ป.” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้คะแนนไว้วางใจ 256 ไม่ไว้วางใจ 206 งดออกเสียง 9 โดยได้เสียงสนับสนุนจากทุกพรรครัฐบาล รวมถึง ส.ส.กลุ่ม 16 พรรคเล็กพรรคจิ๋ว

มีเพียง นายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และนายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ ที่ลงมติไม่ไว้วางใจ

ส.ส.พรรคฝ่ายค้านลงมติไม่ไว้วางใจครบถ้วน ยกเว้น 7 งูเห่าเพื่อไทยที่งดออกเสียง ขณะที่ 4 งูเห่าก้าวไกล 1 งูเห่าประชาชาติ ที่ลงมติไว้วางใจ

เศรษฐกิจไทย 16 คนเสียงแตก 11 คน นำโดย ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ลงมติไม่ไว้วางใจ มี 4 คนสวนมติ โหวตไว้วางใจให้ พล.อ.ประยุทธ์

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ ได้คะแนนไว้วางใจ 268 ไม่ไว้วางใจ 193 เสียง งดออกเสียง 11 ถือว่าได้รับคะแนนไว้วางใจสูงสุด ไม่ไว้วางใจต่ำสุด

โดยได้คะแนนสนับสนุนจากทุกพรรครัฐบาล จาก ส.ส.กลุ่ม 16 รวมถึงพรรคเศรษฐกิจไทย 15 เสียง ตามที่ ร.อ.ธรรมนัสประกาศจุดยืนไว้ก่อนการอภิปราย

สำหรับคะแนนงดออกเสียง มาจาก 7 ส.ส.งูเห่าเพื่อไทยที่เตรียมย้ายไปอยู่ภูมิใจไทย รวมทั้งนายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.ประชาธิปัตย์ และนายอารี ไกรนรา ส.ส.เพื่อชาติ

แต่ที่เรียกเสียงฮือฮา เป็นประเด็น พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ได้คะแนนไว้วางใจ 245 ไม่ไว้วางใจ 212 งดออกเสียง 13 โดยมีคะแนน “ไม่ไว้วางใจ” สูงสุด 212 เสียง

นอกจากฝ่ายค้านทุกพรรคที่ไม่ไว้วางใจ ที่เซอร์ไพรส์กว่าคือ ส.ส.กลุ่มปากน้ำ พลังประชารัฐ 6 คน ได้ลงมติไม่ไว้วางใจ พล.อ.อนุพงษ์ด้วยเช่นกัน เช่นเดียวกับ ส.ส.เศรษฐกิจไทย 13 เสียง ยกเว้นนายณัฏฐพล จรัสรพีพงษ์ นายธนะสิทธิ์ โควสุรัตน์ ที่งดออกเสียง

 

อีก 8 คนไล่เรียงตั้งแต่ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกฯ และ รมว.พาณิชย์ ได้คะแนนไว้วางใจ 241 ไม่ไว้วางใจ 207 งดออกเสียง 23

ถือว่าได้คะแนนไว้วางใจ “ต่ำสุด” ในรัฐมนตรี 11 คน เนื่องจากได้รับเสียงไว้วางใจจากพรรคร่วมรัฐบาลไม่ครบ

3 ส.ส.ชาติไทยพัฒนา งดออกเสียง ส.ส.กลุ่ม 16 ไม่เทคะแนนให้ ซ้ำร้าย นายอันวาร์ สาและ ส.ส.ปัตตานี พรรคประชาธิปัตย์ ลงมติไม่ไว้วางใจหัวหน้าพรรคของตัวเอง เนื่องจากมีปัญหาไม่ลงรอยกันมาก่อน

ส.ส.เศรษฐกิจไทย 3 คนงดออกเสียง ร.อ.ธรรมนัส และลูกพรรคคนอื่นๆ ลงมติไม่ไว้วางใจ

นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมฯ ได้คะแนนไว้วางใจ 244 ไม่ไว้วางใจ 209 งดออกเสียง 17 แม้ก่อนหน้านั้นจะมีข่าว ส.ส.ประชาธิปัตย์จะลงมติคว่ำ

แต่เมื่อถึงเวลาจริง ทุกคนลงมติไว้วางใจให้ทั้งหมด ยกเว้นนายไชยยศ จิรเมธากร ส.ส.บัญชีรายชื่อ งดออกเสียง

ส.ส.พรรครัฐบาลทุกคนลงมติไปในทิศทางเดียวกัน ยกเว้น น.ส.วทันยา บุนนาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พลังประชารัฐ ที่งดออกเสียง

ส่วน ส.ส.กลุ่ม 16 ลงมติไว้วางใจ ยกเว้น 3 คน คือ นายดำรงค์ พิเดช พรรครักษ์ผืนป่าประเทศไทย, นายพีระวิทย์ เรื่องลือดลภาค พรรคไทรักธรรม, นายคฑาเทพ เตชะเรืองกุล พรรคเพื่อชาติไทย ลงมติไม่ไว้วางใจตามที่เคยประกาศไว้

นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย ได้คะแนนไว้วางใจ 246 ไม่ไว้วางใจ 206 งดออกเสียง 20

โดยคะแนนงดออกเสียง มาจาก 7 งูเห่าเพื่อไทย 5 งูเห่าก้าวไกล ยังมีนายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.ประชาธิปัตย์ ที่งดออกเสียงเช่นกัน

ส่วน ส.ส.กลุ่ม 16 โหวตไว้วางใจไปในทางเดียวกัน ตรงข้ามกับ ส.ส.เศรษฐกิจไทย 12 คน ลงมติไม่ไว้วางใจ

 

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้คะแนนไว้วางใจ 249 ไม่ไว้วางใจ 205 งดออกเสียง 18

ได้รับเสียงไว้วางใจจากทุกพรรครัฐบาล รวมถึง น.ส.กานต์กนิษฐ์ แห้วสันตติ ส.ส.กทม. พลังประชารัฐ อดีตภรรยา

งดออกเสียง 18 เสียง มาจากกลุ่มงูเห่าเจ้าเก่าจากเพื่อไทย-ก้าวไกล เศรษฐกิจไทย 3 คน รวมถึงนายศรัณย์วุฒิ ศรัณย์เกตุ ส.ส.อุตรดิตถ์ หัวหน้าพรรคเพื่อชาติ

นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง ได้ไว้วางใจ 249 ไม่ไว้วางใจ 204 งดออกเสียง 18 เสียงไว้วางใจส่วนใหญ่มาจากพรรครัฐบาล รวมถึง ส.ส.กลุ่ม 16 ที่ลงมติตามคำขอของ พล.อ.ประวิตร

งดออกเสียง 18 เสียงมาจากนายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.ประชาธิปัตย์ กับกลุ่มงูเห่าฝ่ายค้าน ยกเว้นนายเกษมสันต์ มีทิพย์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ งูเห่าก้าวไกล ที่โหวตไว้วางใจ

นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ได้คะแนนไว้วางใจ 243 ไม่ไว้วางใจ 208 งดออกเสียง 20 โดยได้คะแนนไว้วางใจจากพรรคร่วมรัฐบาล และงูเห่าฝ่ายค้าน

ส่วนคะแนนไม่ไว้วางใจ 208 เสียง นอกจากพรรคร่วมฝ่ายค้าน ยังมี 6 เสียงจากกลุ่มปากน้ำ พลังประชารัฐ รวมอยู่ในนั้นด้วย ส่อเค้าบานปลาย

งดออกเสียง 20 มาจากงูเห่าจากก้าวไกล 5 ประชาธิปัตย์ 2 ส่วนพรรคเพื่อชาติมี ส.ส. 6 เสียง แบ่งเป็นไม่ไว้วางใจ 3 เสียง งดออกเสียง 3 เสียง

นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.สาธารณสุข ได้คะแนนไว้วางใจ 264 ไม่ไว้วางใจ 205 งดออกเสียง 3

ส.ส.ร่วมรัฐบาลเทเสียงหนุนไม่มีแตกแถว ทั้งยังได้คะแนนจากงูเห่าเพื่อไทย ที่ย้ายไปอยู่พรรคภูมิใจไทย 7 เสียงร่วมลงมติไว้วางใจ รวมถึงงูเห่าก้าวไกล 5 เสียง และนายอารี ไกรนรา ส.ส.เพื่อชาติ กับ ส.ส.กลุ่ม 16 ทุกคน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม ไว้วางใจ 262 ไม่ไว้วางใจ 205 งดออกเสียง 5 ส.ส.พรรคร่วมรัฐบาลโหวตไว้วางใจครบถ้วน

ยกเว้น “มาดามเดียร์” น.ส.วทันยา บุนนาค ส.ส.พลังประชารัฐ กับนายพนิต วิกิตเศรษฐ์ ส.ส.ประชาธิปัตย์ งดออกเสียง

ยังมีเสียง 3 ส.ส.เศรษฐกิจไทย ที่จะไปอยู่ภูมิใจไทย รวมถึงงูเห่าเพื่อไทย ก้าวไกล ประชาชาติ ที่ลงมติไว้วางใจให้นายศักดิ์สยาม ใกล้เลือกตั้งการเปลี่ยนขั้วย้ายข้างเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น

 

สรุปผลการลงมติอภิปราย รัฐมนตรีที่ “พัง” มากที่สุดคือ นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

คะแนนอันดับบ๊วยรั้งท้าย ไว้วางใจเพียง 241 เสียง เกินกึ่งหนึ่งมาเพียง 3 เสียง น่าหวาดเสียว

ผลโหวตครั้งนี้นอกจากสะท้อนสนิมเนื้อใน ยังแสดงถึงความไม่เป็นเอกภาพกับบางพรรคร่วมรัฐบาล

โดยเฉพาะการที่นายเผดิมชัย สะสมทรัพย์ ส.ส.นครปฐม นายจุลพันธ์ โนนศรีชัย ส.ส.บัญชีรายชื่อ นายอนุรักษ์ จุรีมาศ ส.ส.ร้อยเอ็ด 3 ส.ส.พรรคชาติไทยพัฒนา ลงมติ “งดออกเสียง”

ด้วยอ้างเหตุผลว่า คำชี้แจงข้ออภิปรายฟังไม่ขึ้น ทั้งประเด็นกล่าวหาทุจริตจัดซื้อถุงมือยางขององค์การคลังสินค้า และปัญหาสินค้าราคาแพง

นายจุลพันธ์ระบุ คำชี้แจงของนายจุรินทร์ไม่ตรงกับข้อเท็จจริงและไม่พยายามแก้ไขปัญหา เดิมจะลงมติไม่ไว้วางใจ แต่เพื่อรักษามารยาทจึงเลือกงดออกเสียง

นายวราวุธ ศิลปอาชา รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า เป็นเอกสิทธิ์การลงคะแนนของ ส.ส.

ได้สอบถามทราบเหตุผลว่า เป็นเรื่องการทำงานที่มีความเห็นไม่ตรงกัน ซึ่งถือเป็นเอกสิทธิ์ในการลงคะแนนของ ส.ส. พรรคชาติไทยพัฒนาเปิดโอกาสให้ทุกคนต่อการแสดงความคิดเห็นด้านประชาธิปไตย

แม้ต่อมานายวราวุธจะได้เคลียร์ใจกับนายจุรินทร์จนเข้าใจกันดี

แต่ถ้าฟังจากนายราเมศ รัตนะเชวง โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ ดูเหมือนเรื่องยังไม่จบง่ายๆ

“ผลคะแนนนายจุรินทร์มีข้อสังเกตสำคัญคือ มี 3 เสียงของพรรคร่วมรัฐบาลของพรรคชาติไทยพัฒนา ที่งดออกเสียงจึงเป็นเหตุให้คะแนนออกมาเช่นนั้น ก็ต้องยอมรับว่าพรรคก็ติดใจ และไม่พอใจในส่วนนี้ อะไรจะเกิดก็ต้องเกิดในวันข้างหน้า”

น่าสนใจใน ครม. “จุรินทร์-วราวุธ” จะมองหน้ากันอย่างไร

 

อีกแรงกระเพื่อมในพลังประชารัฐ กรณี 6 ส.ส.กลุ่มปากน้ำฝ่าฝืนคำสั่ง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

โหวตคว่ำ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย พี่รองกลุ่ม 3 ป. กับนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ที่เป็นถึง ผอ.พรรค

6 ส.ส. ประกอบด้วย นายกรุงศรีวิไล สุทินเผือก นายฐาปกรณ์ กุลเจริญ น.ส.ภริม พูลเจริญ นายยงยุทธ สุวรรณบุตร นายอัครวัฒน์ อัศวเหม และนายต่อศักดิ์ อัศวเหม ส.ส.บัญชีรายชื่อ

เนื่องจากมีปัญหาเรื่องของบประมาณในพื้นที่ที่ไม่เคยได้รับการสนองตอบจาก พล.อ.อนุพงษ์ และเป็นกลุ่มที่เคยเสนอชื่อ พล.อ.ประวิตรมาเป็น รมว.มหาดไทยแทน พล.อ.อนุพงษ์ในที่ประชุมพรรค

ตอนแรกหลายคนจับตา พล.อ.ประวิตรจะมีท่าทีอย่างไรกับ 6 ส.ส.ที่ฝ่าฝืนมติพรรค แต่ปรากฏว่านอกจากไม่มีบทลงโทษ พล.อ.ประวิตรยังยกคณะบุกไปเยือน ส.ส.กลุ่มปากน้ำถึงถิ่น จนเกิดภาพนายกรุงศรีวิไลก้มกราบเท้า

พล.อ.ประวิตรยังได้กล่าวกับชาวสมุทรปราการตอนหนึ่ง “สมุทรปราการมี ส.ส.พลังประชารัฐถึง 6 คน แม้จะได้ ส.ส.มากแต่ยังไม่ได้รัฐมนตรี ไม่ต้องห่วง ยังไงก็ต้องได้ เพราะอยู่มานาน ปรับ ครม.เมื่อไหร่ต้องได้เป็น”

ทั้งหมดคือ “รอยร้าว” ภายในพรรครัฐบาลหลังศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ

ไม่ว่ากรณี 6 ส.ส.กลุ่มปากน้ำ กับ “อนุพงษ์-สุชาติ” ไม่ว่ากรณีประชาธิปัตย์ กับชาติไทยพัฒนา รอยร้าวจะพัฒนายกระดับเป็น “รอยแตก” นำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งในรัฐบาลหรือไม่

เป็นประเด็นร้อนทางการเมือง น่าเกาะติดอย่างยิ่ง