สูตร 500 หาร ส่อไปไม่ไหว จับสัญญาณรีเซ็ตแก้ รธน. ‘เลือกตั้ง’ กลับใช้ใบเดียว ดีไซน์เพื่อเรา/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

สูตร 500 หาร ส่อไปไม่ไหว

จับสัญญาณรีเซ็ตแก้ รธน.

‘เลือกตั้ง’ กลับใช้ใบเดียว ดีไซน์เพื่อเรา

 

รัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นรัฐธรรมนูญที่ได้มีการพยายามแก้ไขทั้งพรรคการเมือง และภาคประชาชนที่ได้ออกมาขับเคลื่อนให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2560 ให้มีเนื้อหาที่ยึดโยงกับประชาชนมากขึ้น รวมไปถึงหยุดการสืบทอดอำนาจผ่านกลไกรัฐธรรมนูญปี 2560

แม้ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของประชาชนจะถูกตีตกไปในที่สุด แต่รัฐธรรมนูญก็ได้มีการแก้ไขในที่ประชุมรัฐสภา ซึ่งจุดสำคัญในการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคการเมืองต่างๆ คงหนีไม่พ้นเรื่องกฎกติกาการเลือกตั้ง

สรุปรัฐธรรมนูญที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมให้ ส.ส.ประกอบด้วยสมาชิก 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.แบบเขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน ให้ใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ

 

ต่อมาเมื่อได้มีการแก้รัฐธรรมนูญแล้ว จึงต้องมีการแก้ไขพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง พ.ศ…. หรือกฎหมายลูกทั้ง 2 ฉบับ ให้สอดคล้องกับระบบเลือกตั้งที่ได้มีการแก้ไขให้มาใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ โดยเฉพาะรายละเอียดที่ส่งผลกระทบถึงความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้ง อย่างเรื่องสูตรคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ ในร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่กระทบถึงการได้มาและจำนวนเก้าอี้ ส.ส.ของทั้งพรรคใหญ่และพรรคเล็ก

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 12 พฤภาคม ที่ประชุมคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. มีมติเสียงข้างมาก 32 ต่อ 11 เสียง โหวตสูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ ให้ใช้สูตรหาร 100 ดังนั้น มติเสียงข้างมากของ กมธ.เห็นชอบให้การคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ นำคะแนนเลือกตั้งบัตรดีทั้งประเทศหารด้วย 100 และจะไม่มีการคำนวณ ส.ส.พึงมี ซึ่งอาจจะทำให้พรรคเล็กสูญพันธุ์ได้ เนื่องจากมีคะแนนเสียงได้ไม่พอนำมาคิดคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ

จากนั้น เมื่อร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. เข้าสู่ที่ประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาในวาระ 2

ผลปรากฏว่า รัฐสภากลับมติของ กมธ.เสียงข้างมาก ด้วยการโหวตเห็นชอบกับมติของ กมธ.เสียงข้างน้อย คือให้ใช้สูตรคำนวณ ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ หาร 500 โดยที่ประชุมมีมติเห็นด้วย 354 เสียง ไม่เห็นด้วย 162 งดออกเสียง 37 ไม่ลงคะแนน 4 เสียง จากผู้เข้าร่วมประชุมทั้งหมด 577 คน

ทั้งนี้ ผู้ที่เห็นด้วย เป็น ส.ส.จากพรรคร่วมรัฐบาล ทั้งพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) พรรคภูมิใจไทย (ภท.) และพรรคเล็ก นอกจากนี้ ยังมีพรรคร่วมฝ่ายค้านบางส่วนโหวตสนับสนุนด้วย อาทิ พรรคเสรีรวมไทย พรรคก้าวไกล (ก.ก.) รวมทั้ง ส.ส.งูเห่าของพรรคเพื่อไทย (พท.) และเสียงส่วนใหญ่ของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ที่เห็นชอบด้วย

ส่วนเสียงไม่เห็นด้วย จะเป็นเสียงส่วนใหญ่ของ ส.ส.จากพรรค พท. พรรค ก.ก. และ ส.ว. 7 คน รวมทั้ง ส.ส.จากพรรคร่วมรัฐบาลที่เป็น กมธ. ที่มีมติยืนยันตามเสียงข้างมากในชั้น กมธ. ที่สนับสนุนให้ใช้สูตรหารด้วย 100

นี้ถือเป็นสัญญาณสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการดับฝัน ยุทธศาสตร์แลนด์สไลด์ของพรรคเพื่อไทยในการเลือกตั้งครั้งหน้า โดยใช้สูตรหาร 500 มี ส.ส.แบบพึงมาเป็นเกณฑ์กำหนดสัดส่วน ส.ส.ของแต่ละพรรค

 

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากร่างกฎหมายลูกที่ กมธ.ได้พิจารณาออกมานั้น เขียนออกมาตามมติเสียงข้างมากคือ สูตรหาร 100 ฉะนั้น มาตราอื่นๆ ในร่างกฎหมายลูกจึงออกแบบมาเพื่อรองรับสูตรหาร 100 แต่เมื่อมติในที่ประชุมรัฐสภากลับมาให้ใช้หาร 500 จึงทำให้การเดินหน้าพิจารณามาตราอื่นๆ ของร่างกฎหมายลูกได้รับผลกระทบไปด้วย

ทำให้การประชุมรัฐสภาในวันที่ 26 กรกฎาคม ที่มีการพิจราณาร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. รัฐสภาถกกันวุ่น

จนนายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธาน กมธ. เสนอญัตติถอนร่างกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ออกไปพิจารณาใหม่ในชั้น กมธ.ก่อนให้เกิดความรอบคอบ

 

ขณะที่ที่ประชุมรัฐสภามีการโต้เถียงเรื่องกฎหมายลูกว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.อย่างดุเดือด

ฝั่งทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยช่วงเช้าก่อนการประชุม ครม. พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เข้าไปหารือกันในห้องเล็ก ถึงเรื่องการพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของรัฐสภาสภา ที่ก่อนนี้นั้นให้ความเห็นชอบให้ใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หาร 500 โดยได้เรียกแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลเข้าพบพูดคุย เพื่อแจ้งความจำนงที่ต้องการจะกลับไปใช้สูตรหาร 100

โดยวงหารือได้มีการคำนวณกันให้ดูเลยว่า หากใช้สูตรหาร 500 พรรคร่วมรัฐบาลจะเสียเปรียบในการเลือกตั้ง เพราะพรรคขนาดใหญ่และพรรคขนาดกลางจะไม่ได้ ส.ส.บัญชีรายชื่อเลย จึงต้องการทำให้เบ็ดเสร็จในที่ประชุมรัฐสภาวันที่ 26 กรกฎาคมนี้ไปเลย

แต่พรรคร่วมรัฐบาลพยายามอธิบายว่า ทำไม่ได้ เนื่องจากมีการโหวตมาตราที่เกี่ยวข้องกับการคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อไปแล้ว จึงต้องปล่อยให้เป็นไปตามขั้นก่อน คือต้องส่งให้คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ความเห็น แล้วส่งกลับมาให้ที่ประชุมรัฐสภาชี้ขาด หากมีความเห็นแย้งจะต้องส่งไปที่ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ชี้ขาด

เมื่อพรรคร่วมรัฐบาลพยายามอธิบายกระบวนการขั้นตอนต่างๆ พล.อ.ประวิตรจึงมีท่าทีอ่อนลง โดยทำตามคำแนะนำที่จะให้ทุกอย่างเดินไปตามขั้นตอนก่อน แต่ยืนยันว่าอย่างไรต้องกลับไปใช้หารด้วย 100

 

นอกจากนี้ แกนนำรัฐบาลคนหนึ่งได้ส่งสัญญาณกับพรรคร่วมรัฐบาลว่าต้องการจะกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว เหมือนรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ใช้ในการเลือกตั้งตอนปี 2562 ซึ่งเป็นสัญญาณเดียวกับที่พรรค พปชร.ได้รับมาตั้งแต่ก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

แต่ปัญหาคือ หากจะทำเช่นนั้นต้องแก้ไขรัฐธรรมนูญอีกครั้งเพื่อกลับไปใช้บัตรใบเดียว ทั้งที่เพิ่งมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญจากบัตรใบเดียวมาเป็นบัตรสองใบ และประกาศใช้ในปี 2564 จะทำให้ถูกวิพากษ์วิจารณ์ และไม่มีคำตอบให้สังคมถึงการกระทำดังกล่าว

วงหารือจึงยังไม่ตกผลึกว่าจะเดินไปสู่จุดนั้นอย่างไร เนื่องจากยังไม่ชัดเจนเรื่องวิธีการ

นับจากนี้คงต้องจับสัญญาณของพรรคร่วมรัฐบาล รวมทั้ง ส.ว. ว่าจะเดินต่ออย่างไรในการดีไซน์กติกาในการเลือกตั้ง โดยเฉพาะรัฐธรรมนูญและกฎหมายลูกเพื่อให้เอื้อประโยชน์กับพรรคร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะพรรค พปชร.ที่ประกาศว่าจะเป็นแกนนำฟอร์มเสียงจัดตั้งรัฐบาลอีกครั้ง ในการเลือกตั้งครั้งหน้า

ประเด็นที่อาจจะย้อนกลับไปใช้บัตรเลือกตั้งใบเดียว ตามที่แกนนำพรรค พปชร.เคยประกาศไว้ว่า “รัฐธรรมนูญฉบับนี้ ดีไซน์มาเพื่อพวกเรา” ในทางการเมืองอะไรก็เกิดขึ้นได้