ตร.ออกแรงโชว์กวาดล้าง ขยับสู่ ‘เทียร์ 2’ TIP Report ปราบหลอกออนไลน์ค้ามนุษย์/บทความโล่เงิน

บทความโล่เงิน

 

ตร.ออกแรงโชว์กวาดล้าง

ขยับสู่ ‘เทียร์ 2’ TIP Report

ปราบหลอกออนไลน์ค้ามนุษย์

 

ถือเป็นข่าวน่ายินดีอย่างยิ่ง ทางการสหรัฐออกทิปรีพอร์ต 2565 ปรับอันดับสถานการณ์การค้ามนุษย์ของไทย จาก “เทียร์ 2 ที่ต้องจับตามอง” เป็น “เทียร์ 2”

แน่นอนเกิดมาจากผลงานการร่วมมือกันของ “ทีมไทยแลนด์” ภายใต้การกำกับดูแล “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ร่วมกันขับเคลื่อนจนมีผลเป็นรูปธรรมใน 3 ด้านสำคัญ

ทั้งการดำเนินคดีและบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง

การพัฒนากลไกการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายโดยคำนึงถึงบาดแผลทางจิตใจและยึดผู้เสียหายเป็นศูนย์กลาง

รวมทั้งการทำงานเชิงป้องกันปัญหาการค้ามนุษย์ในกลุ่มเสี่ยงและแรงงานต่างด้าว

โดยถือเป็นความสำเร็จอีกระดับหนึ่ง

สํานักงานตำรวจแห่งชาติเป็นหนึ่งใน “ทีมประเทศไทย” ที่ดำเนินการร่วมแก้ปัญหาการค้ามนุษย์จนเกิดเป็นผลรูปธรรม

พล.ต.อ.รอย อิงคไพโรจน์ รอง ผบ.ตร. ฐานะผู้อำนวยการศูนย์พิทักษ์เด็ก สตรี ครอบครัว ป้องกันปราบปรามการค้ามนุษย์ และภาคประมง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศพดส.ตร.) บอกว่า สำหรับผลงานการปราบปรามการค้ามนุษย์นี้ ถือว่าเป็นผลงานจากนโยบายและข้อสั่งการของ พล.ต.อ.สุวัฒน์ แจ้งยอดสุข ผบ.ตร. ที่สั่งกำชับถึงกรณีดังกล่าวตลอดมา พร้อมขอยกเครดิตให้ภาคีเครือข่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องที่ร่วมกันบูรณาการอย่างจริงจังตลอดมา

ต้องขอขอบคุณผู้ใต้บังคับบัญชาทุกนาย รวมถึงหน่วยงานอื่นทุกหน่วยงานที่ทุ่มสรรพกำลัง ร่วมกันจนได้เลื่อนอันดับขึ้นครั้งนี้

“ประเทศไทยถูกยกระดับขึ้นเทียร์ 2 เพราะสำนักงานตำรวจแห่งชาติมีความพยายามเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเวลารายงานปี 2564 เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ผบ.ตร.สั่งกำชับให้สืบสวนคดีค้ามนุษย์เพิ่มขึ้น การพัฒนากลไกการส่งต่อระดับชาติ และระยะเวลาการฟื้นฟูไตร่ตรอง จัดทำคู่มือมาตรฐานการปฏิบัติงานสำหรับผู้เสียหายจากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการตามมาตรา 6/1 แห่งพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ 2551 และแก้ไขเพิ่มเติม มีการริเริ่มสอบสวนเจ้าหน้าที่รัฐ 17 คนที่ถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์ พิพากษาลงโทษจำคุก 2 คน รวมถึงภาครัฐจัดตั้งศูนย์คัดแยกผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์แห่งใหม่ พร้อมจัดทำแนวปฏิบัติสำหรับพนักงานตรวจแรงงานในการส่งต่อกรณีอาจเข้าข่ายการค้ามนุษย์ไปยังทีมสหวิชาชีพ และระบุตัวผู้เสียหายได้มากกว่าปี 2564 ศพดส.ตร.และภาคีเครือข่ายต่างๆ จะดำเนินการกรณีดังกล่าวอย่างจริงจังต่อเนื่อง เพื่อให้อยู่ในอันดับที่ดีกว่านี้ต่อไป”

พล.ต.อ.รอยกล่าว

 

ขณะที่ “บิ๊กก้อง” พล.ต.ท.จิรภพ ภูริเดช ผบช.ก. ได้โพสต์เฟซบุ๊กตำรวจสอบสวนกลาง ว่า ขบวนการค้ามนุษย์ ถือเป็นขบวนการที่บ่อนทำลายสังคมไทยเป็นอย่างมาก และถือเป็นหนึ่งในปัญหาหลักที่ทางสอบสวนกลาง (CIB) เร่งแก้ไขมาโดยตลอด โดยกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (บก.ปคม.) ได้มีการจับกุมดำเนินคดีความผิดฐานค้ามนุษย์ มาอย่างต่อเนื่อง

ปี 2564 จับกุมได้กว่า 71 คดี ผู้ต้องหา 175 คน ขณะที่ในปี 2565 จับกุมได้จำนวน 39 คดี ผู้ต้องหา 63 คน

นอกจากนี้ สอบสวนกลางยังร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตรวจพื้นที่เสี่ยงที่อาจมีการแสวงหาประโยชน์จากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ การนำคนมาขอทาน การสกัดกั้นแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย รวมถึงการตรวจแรงงานภาคประมงในทะเล และช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์จำนวนหลายราย

“นอกเหนือจากการปราบปรามและการดำเนินคดีอย่างเข้มข้น อีกสิ่งหนึ่งที่ผมย้ำกับทีมงานเสมอ คือเรื่องการป้องกันและเฝ้าระวังไม่ให้เกิดการค้ามนุษย์ขึ้นเพิ่มเติม ซึ่งถือเป็นภารกิจสำคัญที่ผมมอบหมายให้เจ้าหน้าที่สอบสวนกลางตลอดมา ผมและเจ้าหน้าที่สอบสวนกลางทุกนาย ขอให้คำมั่นกับพี่น้องประชาชนว่า สอบสวนกลางจะเดินหน้ากวาดล้างการกระทำผิดเกี่ยวกับคดีค้ามนุษย์อย่างเข้มข้นต่อไป หากท่านใดมีเบาะแสเกี่ยวกับคดีค้ามนุษย์ สามารถแจ้งเข้ามาได้ที่เฟซบุ๊ก เพจ “ตำรวจสอบสวนกลาง” หรือโทร. 1191 สายด่วน ปคม.ได้”

พล.ต.ท.จิรภพระบุ

 

พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ วิชชารยะ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง ในฐานะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านการปราบปรามการค้ามนุษย์ เปิดเผยว่า การสนับสนุนจาก พล.อ.ประวิตร ทำให้การทำงานด้านการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เนื่องจากสถานการณ์การค้ามนุษย์มีรูปแบบสลับซับซ้อนมากขึ้น ด้วยผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 และเทคโนโลยีสื่อออนไลน์

กล่าวคือ ในปี 2562 มีการค้ามนุษย์ในรูปแบบการใช้ช่องทางออนไลน์ 32 คดี จากทั้งหมด 286 คดี (คิดเป็นร้อยละ 11.19) และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น

ในปี 2563 มีการค้ามนุษย์ผ่านช่องทางออนไลน์ 37 คดี จากทั้งหมด 133 คดี (คิดเป็นร้อยละ 27.82)

ส่วนในปี 2564 มี 107 คดี จากทั้งหมด 188 คดี (คิดเป็นร้อยละ 56.91) และในปี 2565 มีคดีที่ใช้สื่อออนไลน์มากถึง 107 คดี จากทั้งหมด 140 คดี (คิดเป็นร้อยละ 76.43) ซึ่งจะเห็นได้ว่ามีการกระทำผิดผ่านช่องทางออนไลน์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

คดีที่น่าสนใจคือคดีค้ามนุษย์ด้านการบังคับใช้แรงงานที่จับกุมได้แล้ว 16 คดี แบ่งเป็นการใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อหลอกลวงให้เหยื่อหลงเชื่อไปทำงาน 14 คดี หรือ 87.50% โดยเฉพาะกรณีแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่ใช้ช่องทางออนไลน์เพื่อหลอกลวงหาเหยื่อไปทำงาน สูงถึง 13 คดี หรือคิดเป็น 92.86% โดยใช้วิธีการโฆษณาชักชวนไปทำงานที่ดูน่าสนใจและรายได้ดีในประเทศเพื่อนบ้าน แต่เมื่อเหยื่อเดินทางไปถึงกลับบังคับ กักขัง ทำร้ายร่างกาย และหากใครทำงานได้ไม่ดี ยอดขายไม่เข้าเป้า ก็จะถูกส่งต่อไปที่อื่นอีกด้วย

พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์กล่าวอีกว่า ขอย้ำเตือนประชาชนเนื่องจากโควิด-19 แพร่ระบาด มีการทำงานผ่านช่องทางออนไลน์มากขึ้น ทำให้มิจฉาชีพใช้โอกาสนี้หลอกลวงผ่านช่องทางออนไลน์ โดยเสนอรายได้ที่สูง หากเหยื่อหลงเชื่อจะถูกนำตัวข้ามชายแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน หรือเดินทางไปประเทศแถบตะวันออกกลาง จากนั้นก็จะถูกบังคับให้ทำงาน หรือไม่ก็บังคับให้ค้าประเวณี ตัวอย่างเช่น การหลอกลวงคนไทยไปบังคับใช้แรงงานในประเทศเพื่อนบ้านโดยแก๊งสแกมเมอร์ ซึ่งสามารถช่วยเหลือคนไทยให้เดินทางกลับประเทศได้ถึง 855 คน

พล.ต.อ.ธรรมศักดิ์ระบุว่า พล.อ.ประวิตรได้สั่งการให้ตำรวจและกระทรวงดิจิทัลฯ กวดขันและให้ความสำคัญกับกรณีดังกล่าว ที่ทำให้เกิดความเดือดร้อนกับประชาชนเป็นวงกว้าง อีกทั้งยังห่วงใยพี่น้องประชาชน จึงอยากขอฝากและเตือนประชาชนว่าอย่าหลงเชื่อการโฆษณาหางานทางออนไลน์ที่ดูดีเกินจริง เพราะอาจถูกหลอกลวงได้

ผลงานอัพเกรดขึ้น “เทียร์ 2” เป็นกำลังใจ ทำให้ ตร.ซึ่งเป็นหนึ่งในหน่วยงานร่วมรับผิดชอบมุ่งมั่นปรามขบวนการค้ามนุษย์ ให้ไทยเลื่อนอันดับดีขึ้นไปอีก