นายกฯ ประยุทธ์ ครบ 8 ปี จะมีผลอย่างไรต่อการเมือง/หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว มุกดา สุวรรณชาติ

มุกดา สุวรรณชาติ

หลักศิลากลางน้ำเชี่ยว

มุกดา สุวรรณชาติ

 

นายกฯ ประยุทธ์ ครบ 8 ปี

จะมีผลอย่างไรต่อการเมือง

 

การอภิปรายไม่ไว้วางใจผ่านไป อย่างที่คนส่วนใหญ่คาดการณ์ไว้ว่าต้องลงเอยแบบนี้ แม้แต่คะแนนโหวตในสภาก็ยังคาดการณ์ล่วงหน้าได้ รัฐบาลนี้ไม่สนใจเสียงตำหนิ คัดค้าน รถสั่งการจึงเป็นเบนซ์ 500 แม้แต่บริษัทผู้ผลิตยังงง การซื้อขายเสียงโหวต เป็นเรื่องกล้วยๆ ทำให้ภาพของ ส.ส.พรรคจิ๋ว 1 คน พรรคปัดเศษ จะถูกมองข้ามในการเลือกตั้งครั้งใหม่ โอกาสเกิดจะไม่มีอีกแล้ว ไม่ว่าหาร 100 หรือ 500

ยังไม่มีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพราะต้องดูชะตากรรมของนายกรัฐมนตรี ในวาระครบ 8 ปี ว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะถูกร้อง และศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินอย่างไร ซึ่งจะเป็นผลโดยตรงกับการเลือกตั้งครั้งใหม่ที่คาดว่าจะเกิดในต้นปี 2566

ให้ดูจากคำสัมภาษณ์ของนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคม 2565 ระหว่างมีการอภิปรายไม่ไว้วางใจถึงความชัดเจน ว่าการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่จะครบวาระ 8 ปี ในเดือนสิงหาคม ยังจะอยู่ต่อได้หรือไม่?

ถ้าลาออก เว้นไป 6 เดือนแล้วสมัครใหม่ได้หรือไม่?

นายวิษณุ เครืองาม กล่าวว่า “ไม่ว่าจะอย่างไรก็ไม่สามารถที่จะกลับมาดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีใหม่ได้ ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 158 ซึ่งเป็นหมวดคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีการบัญญัติไว้อย่างชัดเจน โดยวรรคท้ายเขียนไว้ว่านายกรัฐมนตรีจะดำรงตำแหน่งรวมกันเกิน 8 ปีไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นเว้นระยะไปนานเท่าไหร่ก็ตาม ชีวิตนี้ได้แค่นี้ ยกเว้นไปแก้รัฐธรรมนูญ ซึ่งก็เหมือนประเทศรัสเซียกับจีนที่มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญทำให้กลับมาได้ อย่าง นายวลาดิมีร์ ปูติน ก็มีการแก้รัฐธรรมนูญถึงได้กลับมาได้”

เมื่อถามว่า การเมืองไทยก็มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญบ่อย นายวิษณุกล่าวว่า “ไม่มีใครเขาทำให้หรอก”

 

เรื่องนี้จึงทำให้เกิดการคาดคะเนว่าจะมีตุลาการภิวัฒน์อีกครั้งหรือไม่

การขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรี ครั้งที่ 1 วันที่ 24 สิงหาคม 2557 ตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ครั้งที่ 2 วันที่ 9 มิถุนายน 2562 ตามรัฐธรรมนูญ 2560

มีความเห็นทางกฎหมายแตกต่างกันเป็น 3 แนวทาง

แนวทางแรก อยู่ได้แค่สิงหาคม 2565

รัฐธรรมนูญ (รธน.) 2560 หมวดคณะรัฐมนตรี มาตรา 158 วรรคสี่

“นายกรัฐมนตรีจะดํารงตําแหน่งรวมกันแล้วเกินแปดปีมิได้ ทั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการดํารงตําแหน่งติดต่อกันหรือไม่ แต่มิให้นับรวมระยะเวลาในระหว่างที่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปหลังพ้นจากตําแหน่ง”

คำอธิบายประกอบรายมาตราของรัฐธรรมนูญ 2560 อธิบายความมุ่งหมายของมาตรา 158 ไว้ช่วงหนึ่งว่า… “การกำหนดระยะเวลา 8 ปีไว้ก็เพื่อมิให้เกิดการผูกขาดอำนาจในทางการเมืองยาวเกินไปอันจะเป็นต้นเหตุเกิดวิกฤตทางการเมืองได้”

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครั้งแรกมาก่อนประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 แต่ในบทเฉพาะกาลมาตรา 264 กำหนดไว้ชัดเจนว่า

“ให้คณะรัฐมนตรีที่บริหารราชการแผ่นดินอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ เป็นคณะรัฐมนตรีตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ จนกว่ามีคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่ภายหลังการเลือกตั้งทั่วไป”

‘รัฐธรรมนูญนี้’ หมายถึงรัฐธรรมนูญ 2560 นายกฯ ประยุทธ์จึงต้องอยู่ในบังคับของมาตรา 158 วรรคสี่

ข้อยกเว้นในบทเฉพาะกาลก็ไม่มีข้อไหนเป็นข้อยกเว้น ที่จะเปิดทางให้นายกรัฐมนตรีที่ดำรงตำแหน่งขณะมีรัฐธรรมนูญ 2560 สามารถดำรงตำแหน่งติดต่อกันเกิน 8 ปีได้ (ไม่มีข้อยกเว้นที่เขียนไว้ว่านายกฯ ที่มาจากการรัฐประหารของ คสช .ให้ยกเว้นไม่ถือว่าเป็นนายกฯ ตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2560)

ดังนั้น ตามรัฐธรรมนูญ 2560 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ไม่เกินวันที่ 24 สิงหาคม 2565

 

แนวทางที่สอง ไม่นับสมัยที่เป็นนายกฯ จากการรัฐประหาร 2557 จะ อยู่ได้ถึงปี 2570

เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 มาตรา 158 วรรคสี่ เพิ่งจะบังคับใช้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นับตั้งแต่ได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2562 โดยอ้างว่าเป็นไปตามหลักกฎหมายทั่วไป หากบังคับใช้มาตรานี้จะเป็นการบังคับใช้รัฐธรรมนูญย้อนหลัง เป็นโทษกับบุคคล ขัดหลักกฎหมายทั่วไปและหลักนิติธรรม

แต่ก็มีผู้แย้งว่า นี่เป็นจุดมุ่งหมายในการปฏิรูปการเมือง ที่เกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองที่รัฐธรรมนูญ 2560 บัญญัติให้เข้มข้นขึ้นเพื่อให้การเมืองโปร่งใส (ไม่รู้ว่าเดิมมีจุดมุ่งหมายจะใช้กับใคร) นักการเมืองทุกฝ่าย ก็ถูกหลายมาตรการใช้บังคับทันทีที่รัฐธรรมนูญประกาศใช้และมีผลย้อนหลังด้วยกันทั้งนั้น

 

แนวทางที่สาม มองว่า มาตรา 158 มีผลตั้งแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 จึงต้องยึดถือวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ 2560 คือวันที่ 6 เมษายน 2560 เป็นหลัก

โดยถือว่ากฎหมายมาตรานี้มีผลต่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตั้งแต่วันที่ 6 เมษายน 2560 ระยะเวลา 8 จึงจะไปครบ 6 เมษายน 2568

ไม่ว่าจะตัดสินแบบไหน ศาลรัฐธรรมนูญก็จะมีส่วนให้การเมืองเปลี่ยน

แต่เป็นการเปลี่ยนที่มีเกมการเมืองติดตามมา

 

เกมการเมืองเรื่องนายกฯ 8 ปี

เรื่องนี้จะต้องจบลงที่ศาลรัฐธรรมนูญ เพราะจะมีคนร้องเรียนหลายคน และเป็นปัญหาจากรัฐธรรมนูญจริงๆ

1 ในกรณีที่ศาลตัดสินว่าประยุทธ์ต้องครบวาระ 8 ปี ในเดือนสิงหาคมนี้และเป็นนายกฯ ต่อไปไม่ได้อีกแล้ว แม้มีเลือกตั้งใหม่ก็ไม่มีสิทธิ์สมัคร แบบนี้เท่ากับอนาคตการเป็นนายกรัฐมนตรีของประยุทธ์จบลง ประเมินว่าถ้าการตัดสินจะเป็นแบบนี้ประยุทธ์น่าจะรู้ตัวล่วงหน้าและชิงลาออกก่อน การจะต้องออกจากตำแหน่งแบบถูกปลดลงกลางคันไม่น่าจะเกิดขึ้น

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็จะต้องมีผู้มารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อด้วยการซาวเสียงหานายกฯ ผ่านรัฐสภา แม้จะเหลืออีกไม่กี่เดือนแต่ก็ยังมีคนอยากเป็น และผู้ที่จะเหมาะสมในระยะเวลาสั้นๆ เพื่อให้พร้อมที่จะเลือกตั้งใหม่ภายใต้กติกาซึ่งยังไม่แน่ชัดว่าจะเป็นอย่างไร

ผู้ที่มีบารมีพอนั่งตำแหน่งนายกฯ ได้น่าจะเป็น พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ซึ่งสามารถจะสานฝันให้เป็นจริงทั้งตัวเอง และลูกน้องบริวารที่ใกล้ชิด

2 ในกรณีที่ศาลตัดสินว่าให้นับอายุการเป็นนายกฯ เริ่มจากวันที่รับตำแหน่งนายกฯ ในวันที่ 9 มิถุนายน 2562 แบบนี้ พล.อ.ประยุทธ์จะอยู่ได้ถึงจนครบ 4 ปี และสามารถลงสมัครเป็นนายกฯ ถ้าชนะได้เป็นต่อไปได้อีก 4 ปีถ้ามีความสามารถพอ กรณีนี้ถือว่าจะเป็นประโยชน์ในเชิงอำนาจบารมี ว่ามีมากพอยังไม่มีใครสามารถมารบกวนหรือบีบบังคับได้ ซึ่งก็จะทำให้กองหนุนกองเชียร์วิ่งมาหา จนอาจจะทะเลาะกันบ้าง

แต่ในทางตรงข้ามประชาชนที่ไม่ยอมรับและไม่เห็นฝีมือ 8 ปีที่ผ่านมา ก็จะหาทางต่อต้านอย่างหนัก ทั้งในขณะที่อยู่ปลายสมัยนี้และในการเลือกตั้งครั้งหน้า การลงสมัคร ส.ส. พรรคในสังกัดประยุทธ์ อาจไม่ได้ผลดีมีกล้วย อ้อย น้ำตาล แต่จะโดนแรงกดดันจากประชาชนที่ได้รับผลกระทบด้านต่างๆ จนพ่ายแพ้ได้

ในขณะที่ลงสมัครพรรคอื่น จะเป็นเป้าโจมตีน้อยกว่า เส้นทางเดินราบเรียบกว่า

3 อยู่ถึงปี 2568 น่าจะเป็นไปได้มาก

แต่ถ้าศาลตัดสินว่า เพราะรัฐธรรมนูญประกาศใช้เมื่อเดือนเมษายน 2560 ดังนั้น ต้องนับอายุตั้งแต่มีรัฐธรรมนูญฉบับนี้ มาตรา 158 ก็มีผลตั้งแต่วันที่เกิดรัฐธรรมนูญนี้ขึ้น จนครบ 8 ปีในปี 2568

ถ้าเป็นแบบนี้แม้หมดสมัยไปแล้ว พล.อ.ประยุทธ์ก็สามารถจะสมัครมาเป็นนายกฯ อีกครั้ง แต่จะเป็นต่อได้จนถึงเดือนเมษายน 2568 ก็คือเป็นได้อีกประมาณ 2 ปี และจะต้องจบบทบาทของนายกฯ ลงเพียงเท่านั้น ส่วนใครจะได้เป็นนายกฯ ต่อก็ต้องไปว่ากันในอนาคต

มองในแง่หนึ่งก็อาจจะทำให้พลังที่มาสนับสนุนพรรคประยุทธ์ในการเลือกตั้งครั้งใหม่น้อยลง หรือบางคนอาจบอกว่าอาจจะทำให้เกิดการยุบสภาในระยะแค่ 2 ปีก็ได้

แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งก็อาจจะมีคนคิดว่าเมื่อนายกฯ ประยุทธ์ต้องลงจากตำแหน่งตัวเองก็อาจมีโอกาสได้รับการเลือกเข้าไปแทน จึงอยากเข้าร่วมรอโอกาส

หลายคนมองว่าแนวทางนี้น่าจะเป็นไปได้มาก

 

เกมการเมืองในเดือนสิงหาคม 2565 ดูเหมือนไม่มีอะไร..แต่ถ้าใครมีอำนาจมากพอและคิดจะใช้เกมตุลาการภิวัฒน์มาเปลี่ยนผู้นำรัฐบาล จะเป็นการเดินเกมที่ง่ายมากและลงทุนน้อยที่สุดไม่ต้องมีม็อบมวลชนเป็นแสน ไม่ต้องมีทหารถือปืน และไม่ต้องฝืนความรู้สึกแบบการตัดสินคดีอดีตนายกฯ สมัคร สุนทรเวช เพราะสภาพของรัฐบาลและผู้นำรัฐบาลไม่ได้มีผลงานที่โดดเด่นอะไร คนส่วนใหญ่ไม่พอใจ การอาศัยมือในสภาให้ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ประชาชนก็มองว่าพวกมากลากกันไปอาศัยกล้วย ถ้ากฎหมายมีช่องทางให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างถูกต้อง ก็คงไม่มีใครคัดค้านสักกี่คน

การตัดสินของศาลจะส่งผลต่อยุทธศาสตร์การเลือกตั้งครั้งใหม่ ในการจัดตั้งพรรค เพราะขณะนี้พรรคกลางและใหญ่เห็นปัญหาของการหาร 500 ไม่อยากได้แล้ว แต่การอยู่แบบไหนของ พล.อ.ประยุทธ์ จะมีผลต่อการรวม หรือแตกพรรคของกองเชียร์

สิงหาคม ดูฝีมือ ดูการตัดสินใจ ของศาลรัฐธรรมนูญ