ฝีดาษลิง ภาวะฉุกเฉินระดับโลก?/บทความต่างประเทศ

บทความต่างประเทศ

 

ฝีดาษลิง

ภาวะฉุกเฉินระดับโลก?

 

เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม นายเท็ดรอส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) แถลงหลังหารือกับคณะกรรมาธิการผู้เชี่ยวชาญด้านสาธารณสุขระดับโลก ประกาศให้โรคฝีดาษลิง เป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (PHEIC) อย่างเป็นทางการแล้ว

นายเท็ดรอสยอมรับว่าคณะกรรมการไม่ได้มีฉันทามติว่าฝีดาษลิงซึ่งแพร่ระบาดออกจากพื้นที่ระบาดเดิมในประเทศแอฟริกาไปยังหลายๆ ภูมิภาคทั่วโลกนั้นเข้าเงื่อนไขของการเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขในระดับโลกแล้ว

แต่ตนในฐานะผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลกที่มีสิทธิตัดสินใจในเรื่องนี้ พิจารณาจากเงื่อนไขทั้งหมดแล้วตัดสินใจให้การแพร่ระบาดของฝีดาษลิงนั้นเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ

หลังจากฝีดาษลิงมีผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 16,000 ราย ในมากกว่า 70 ประเทศทั่วโลก

“เรามีโรคที่แพร่กระจายไปทั่วโลกอย่างรวดเร็ว ด้วยวิธีการแพร่ระบาดแบบใหม่ที่เรายังเข้าใจมันน้อยมาก และเข้าเงื่อนไขการกำกับดูแลด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ ด้วยเหตุผลเหล่านี้ผมตัดสินใจให้การแพร่ระบาดของฝีดาษลิงทั่วโลกนั้นเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ”

นายเท็ดรอสระบุเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคมที่ผ่านมา

 

ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern หรือ PHEIC) อยู่ภายใต้กฎอนามัยระหว่างประเทศ ค.ศ.2005 ซึ่งบัญญัติขึ้นเพื่อป้องกันและควบคุมโรคที่อาจมีผลกระทบกับการเดินทางและการค้าขายระหว่างประเทศ

ขณะที่ภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ นั้นหมายถึงเหตุฉุกเฉินด้านสาธารณสุขที่เป็นเหตุการณ์ร้ายแรง ฉับพลัน ไม่ปกติ หรือไม่คาดคิด ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อประเทศอื่นๆ จากการแพร่ระบาดที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากนานาประเทศในการรับมือ

การประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศนั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ โลกเคยเผชิญกับการแพร่ระบาดระดับนี้มาแล้ว โดยฝีดาษลิงนับเป็นการประกาศภาวะฉุกเฉินครั้งที่ 7 ต่อจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 เมื่อปี 2020 ที่ผ่านมา

องค์การอนามัยโลกเคยประกาศภาวะฉุกเฉินฯ กับไข้หวัดใหญ่ H1N1 เมื่อปี 2009, การระบาดของอีโบลาในแอฟริกาตะวันตกในปี 2014-2019, ไวรัสซิกาในปี 2016 รวมถึงโรคโปลิโอในปี 2014

ในจำนวนนั้นหลายโรคถูกประกาศลดระดับลงไปแล้ว แต่โควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในเวลานี้ รวมถึงโรคโปลิโอ ที่ยังไม่สามารถกำจัดให้หมดไปจากโลกนี้ได้ ยังคงอยู่เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศอยู่

 

การประกาศให้ฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศนั้นมีขึ้นหลังจากคณะกรรมาธิการพิจารณาการแพร่ระบาดของฝีดาษลิงขององค์การอนามัยโลกจัดการประชุมฉุกเฉินขึ้นอีกครั้ง เพื่อพิจารณาว่าฝีดาษลิงจะมีความเสี่ยงต่อสุขภาพของมนุษย์ มีความเสี่ยงที่จะมีการแพร่ระบาดในระดับนานาชาติ และความเสี่ยงที่จะมีต่อการเดินทางค้าขายระหว่างประเทศหรือไม่

อย่างไรก็ตาม แม้เสียงส่วนใหญ่ของคณะกรรมาธิการทั้งหมด 16 คนจะมองว่าการแพร่ระบาดของฝีดาษลิงยังไม่เข้าข่ายที่จะประกาศเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข แต่นายเท็ดรอสก็ตัดสินใจประกาศให้ฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศในที่สุด

“อย่างไรก็ตาม ผมประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระหว่างประเทศ โดยในเวลานี้การแพร่ระบาดนี้เป็นการแพร่ระบาดในหมู่ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีสัมพันธ์กับคู่นอนหลายคน” นายเท็ดรอสระบุ

สิ่งที่ทำให้คณะกรรมาธิการขององค์การอนามัยโลกยังคงมีความเห็นแตกต่างกันนั้น เนื่องจากฝีดาษลิงเป็นโรคที่มีอาการป่วยไม่หนัก เช่น อาการไข้ ปวดหัว ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง หนาวสั่น อ่อนเพลีย ต่อมน้ำเหลืองโต และจะพบผื่นคันบนใบหน้าและส่วนต่างๆ ของร่างกาย

นอกจากนี้ ฝีดาษลิงยังมีอัตราการเสียชีวิตที่ต่ำมาก ปัจจุบันมีรายงานผู้เสียชีวิตทั่วโลกเพียง 5 รายเท่านั้น ขณะที่วัคซีนฝีดาษในมนุษย์ก็ยังสามารถป้องกันฝีดาษลิงได้ด้วย

 

การประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขจะทำให้นานาชาติสามารถออกมาตรการร่วมกันเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรคได้ เช่น การจำกัดการเดินทาง กำหนดเงื่อนไขเพิ่มเติมสำหรับผู้เดินทางเข้าประเทศ แบบเดียวกับที่โลกตอบสนองกับการแพร่ระบาดของโควิด-19 อย่างไรก็ตาม นับจนถึงเวลานี้ก็ยังไม่มีมาตรการระดับนานาชาติที่จะป้องกันการแพร่ระบาดของฝีดาษลิงแต่อย่างใด

จากนี้ไปความห่วงกังวลนั้นจะยังคงพุ่งเป้าไปที่การแพร่ระบาดของโรคฝีดาษลิงในระดับนานาชาติต่อไป โดยเฉพาะในเวลานี้ผู้เชี่ยวชาญยังไม่สามารถพิสูจน์ได้แน่ชัดว่าฝีดาษลิงมีวิธีการแพร่ระบาดในช่องทางใดบ้าง สามารถติดเชื้อกันผ่านทางเพศสัมพันธ์ได้หรือไม่

ตามคำแนะนำขององค์การอนามัยโลก หลังการประกาศภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขแล้วหลายประเทศจะต้องเพิ่มระดับการเฝ้าระวังและยกระดับมาตรการทางสาธารณสุข เช่นเดียวกับการยกระดับความสามารถในการรักษา ป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดในโรงพยาบาลและหน่วยงานทางการแพทย์ให้มากขึ้น

ส่วนประเทศที่สามารถผลิตวัคซีน ยารักษา รวมถึงเครื่องมือในการวินิจฉัยฝีดาษลิงได้จะต้องเตรียมพร้อมที่จะรับมือกับกรณีที่เกิดการแพร่ระบาดที่ลุกลามมากขึ้นกว่าในปัจจุบัน

 

แม้นายเท็ดรอสจะมองว่าความเสี่ยงของการแพร่ระบาดของฝีดาษลิงทั่วโลกนั้นยังคงอยู่ในระดับปานกลาง ยกเว้นในภูมิภาคยุโรปที่มีความเสี่ยงในระดับสูง แต่ล่าสุดโรคฝีดาษลิงยังคงแพร่ระบาดไปอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดในสหรัฐอเมริกายืนยันพบผู้ติดเชื้อที่เป็นเด็กแล้ว 2 ราย ขณะที่ผู้ติดเชื้อทั่วโลกขยับใกล้ 2 หมื่นคนเข้าไปทุกที

ขณะที่งานวิจัยตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ พบว่าผู้ติดเชื้อ 95 เปอร์เซ็นต์นั้นติดเชื้อผ่านกิจกรรมทางเพศ นอกจากนี้ ผู้ติดเชื้อมีสัดส่วนมากถึง 98 เปอร์เซ็นต์ยังเป็นกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย ในจำนวนนี้ 41 เปอร์เซ็นต์พบเชื้อเอชไอวีอยู่ในร่างกายด้วย

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีงานวิจัยใดๆ ยืนยันว่าฝีดาษลิงจะเป็นโรคที่ระบาดผ่านการมีเพศสัมพันธ์ได้

จากนี้หลายประเทศทั่วโลกรวมถึงประเทศไทยคงต้องออกมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดให้มากขึ้น และเราคงจะได้เห็นความร่วมมือในระดับนานาชาติเพื่อป้องกันไม่ให้ฝีดาษลิงกลายเป็นโรคระบาดที่ซ้ำเติมโลกที่บอบช้ำจากสารพัดวิกฤตที่รุมเร้าอยู่ในเวลานี้ให้เลวร้ายลงไปอีก