จิตต์สุภา ฉิน : Snapchat กับฟิลเตอร์ปิดบังเพื่อปลดปล่อย

จิตต์สุภา ฉินFacebook.com/JitsupaChin

แอพพลิเคชั่นสแน็ปแชต (Snapchat) เป็นแอพพลิเคชั่นส่งภาพและข้อความที่ฮิตมากในหลายประเทศ โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาที่ครองใจวัยรุ่นชาวอเมริกันได้จำนวนมาก

โดยที่มีฟีเจอร์หลักๆ ที่คนชอบใช้คือการส่งภาพและวิดีโอหากันแบบเร็วๆ ส่งไปแล้วก็ตั้งเวลาได้ว่าจะให้มันทำลายตัวเองภายในกี่วินาที

แต่จนแล้วจนรอดแอพพลิเคชั่นนี้ก็ยังไม่มาบูมในบ้านเราเสียที

ซึ่งซู่ชิงก็คิดว่าอีกไม่นานเกินรอขนาดนั้นหรอกค่ะ ยังไงก็ไม่พลาดแจ้งเกิดในประเทศไทยแน่ๆ

หากคุณผู้อ่านดาวน์โหลดแอพพลิเคชั่นนี้มาใช้แล้วรู้สึกหงอยเหงาที่ไม่มีใครในเฟรนด์ลิสต์ให้ส่งข้อความหา อีกหนึ่งฟีเจอร์ที่สามารถจะทดลองเล่นได้ก็คือฟีเจอร์ที่เรียกว่า Snapchat Lenses ที่จะซ้อนเอาฟิลเตอร์ที่เรียกว่า Live filter เข้าไปบนหน้าของเราเอง แบบเดียวกับที่เราเห็นเพื่อนๆ บนไทม์ไลน์เราแชร์อยู่บ่อยๆ นั่นเองค่ะ

บางคนก็สลับหน้ากับคนข้างๆ บางคนก็มีหูแมวงอกออกมา หรือเป็นกระต่าย พออ้าปากก็จะแทะแครอตหยับๆ ซึ่ง Snapchat Lenses จะแตกต่างกันกับแอพอื่นๆ อย่าง MSQRD หรือ Snow

ที่คนชอบใช้กันก็ตรงที่รูปแบบของฟิลเตอร์ที่จะไม่เหมือนกันในแต่ละแอพนั่นเองค่ะ

วิธีการใช้ฟีเจอร์ Snapchat Lenses อาจจะหายากสักหน่อยสำหรับคนที่ยังไม่เคยใช้ เมื่อเปิดเข้าไปในโหมดถ่ายภาพ ถือมือถือเอาไว้ในแนวตั้ง เปิดกล้องหน้าให้เห็นหน้าตัวเอง แล้วใช้นิ้วกดค้างลงไปบนหน้าของเราเองจนเห็นเส้นเว็กเตอร์ขึ้นทั่วใบหน้า

จากนั้นฟิลเตอร์ต่างๆ ก็จะปรากฏขึ้นมาที่แถบด้านล่างของแอพพลิเคชั่น มีให้เล่นสนุกหลายอย่างเลยค่ะ ทั้งการแปลงโฉมเราให้เป็นผึ้ง เป็นโมนาลิซ่า เป็นแพนด้า เป็นหมา ฯลฯ

นอกจากจะซ้อนหน้าให้เรากลายเป็นสารพัดสิ่งได้แล้ว ก็ยังสามารถเปลี่ยนเสียงเราให้เข้ากับธีมนั้นๆ ได้ด้วย

ทั้งหมดนี้สามารถบันทึกเป็นภาพนิ่งและวิดีโอเพื่อแชร์ออกไปนอกแอพพลิเคชั่นได้ค่ะ

pjimage (1)

สาเหตุที่ซู่ชิงเกริ่นถึงสแน็ปแชตและฟีเจอร์ Snapchat Lenses มายืดยาวนี้ก็เพราะอยากเล่าให้ฟังว่านอกจากการนำเอาฟีเจอร์นี้มาใช้สนุกๆ เรียกเสียงหัวเราะและสร้างรอยยิ้มแล้ว ก็ยังมีคนสามารถนำฟีเจอร์นี้มาช่วยปลดปล่อยผู้หญิงที่เป็นเหยื่อข่มขืนในอินเดีย ประเทศซึ่งมีสถิติเฉลี่ยของผู้หญิงที่ถูกข่มขืนอยู่ที่ 92 คนต่อวัน ซ้ำร้ายโครงสร้างทางสังคม ความเชื่อ และประเพณี ที่โน้มเอียงไปในทางตำหนิว่าการถูกข่มขืนเป็นความผิดของผู้หญิง ก็ทำให้ผู้หญิงที่ถูกข่มขืนจำนวนมากเลือกที่จะปิดปากเงียบเพราะไม่ต้องการจะรู้สึกเหมือนถูกข่มขืนซ้ำเป็นครั้งที่สองจากการที่ต้องไปแจ้งตำรวจหรือเล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นให้ใครฟัง หรือหากมีความกล้าหาญที่จะเล่าเรื่องก็จะเจอกับอุปสรรคด้านกฎหมายที่ห้ามมิให้สื่อมวลชนระบุอัตลักษณ์ของเหยื่อข่มขืน

ทั้งหมดนี้ทำให้ ยูซุฟ โอมาร์ บรรณาธิการฝ่ายโมบายล์ของ Hindustan Times ในอินเดีย เกิดความคิดในการหยิบเอาฟิลเตอร์ของสแน็ปแชตมาช่วยปกปิดตัวตนของเหยื่อ

จุดมุ่งหมายก็คือการมีช่องทางให้ผู้หญิงที่ถูกข่มขืนได้เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นจากปากของตัวเองในขณะที่คนฟังก็สามารถสัมผัสถึงความเป็นมนุษย์ของพวกเธอได้โดยไม่ผ่านการเซ็นเซอร์ปิดบังไปจนหมด

เพราะหากสัมภาษณ์พวกเธอออกทีวี กระบวนการเซ็นเซอร์ตามปกติจะต้องมีการเบลอใบหน้าหรือปิดไฟให้เป็นเงามืดสลัวๆ แต่วิธีพรางตาด้วยการใช้ฟิลเตอร์บนแอพพลิเคชั่นนี้จะทำให้พวกเธอยังสามารถแสดงสีหน้า ท่าทาง ที่บ่งบอกอารมณ์ความรู้สึกได้โดยไม่ต้องเปิดเผยตัวตนที่แท้จริง

ซึ่งโอมาร์ได้บอกเอาไว้ว่า การแค่ได้เห็นดวงตาทั้งสองข้างก็มากเพียงพอที่จะเข้าไปยังก้นบึ้งของจิตใจของพวกเธอได้แล้ว
สิ่งที่เขาทำก็คือการยื่นโทรศัพท์มือถือที่ติดตั้งแอพพลิเคชั่นนี้ให้กับเหยื่อข่มขืนสองคน และให้พวกเธอเป็นคนเลือกฟิลเตอร์ที่ตัวเองชอบ โดยฟิลเตอร์ที่พวกเธอเลือกด้วยตัวเองก็มีความน่าสนใจมาก เพราะทั้งสองคนเลือกฟิลเตอร์ที่เปลี่ยนหน้าให้เป็นมังกรพ่นไฟ (ซึ่งโอมาร์บอกว่าน่าจะเป็นเพราะฟิลเตอร์นี้ช่วยเพิ่มความรู้สึกแข็งแกร่งให้กับพวกเธอได้)

จากนั้นเขาก็จะเดินจากไป ปล่อยให้พวกเธอเล่าเรื่องด้วยตัวเองโดยไม่ต้องอยู่ใต้แรงกดดันจากการมีกล้องวิดีโอ ไฟ หรือไมค์มาจ่อหน้า

แม้ว่าการนำเรื่องราวของการที่ผู้หญิงเหล่านี้ถูกทำร้ายมาโพสต์บนโซเชียลมีเดียดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมเอาเสียเลย

แต่ปรากฏว่าการทำแบบนี้ทำให้ผู้หญิงจำนวนมากที่เป็นเหยื่อรู้สึกว่า ในที่สุด พวกเธอก็สามารถเล่าเรื่องของตัวเองได้ และเริ่มทยอยก้าวออกมาจากความเงียบกันทีละคนๆ

มีคนหนึ่งเล่าว่าเธอถูกลักพาตัวมาจากเมืองไฮเดอราบัดและถูกกักขังทรมานอยู่ในบ้านโดยที่ไม่สามารถหนีออกมาได้เลย อีกคนหนึ่งเล่าว่าเธอถูกข่มขืนตอนอายุห้าขวบ

โอมาร์บอกว่าการใช้ฟิลเตอร์เข้ามาช่วยทำให้ผู้หญิงที่ถูกข่มขืนกล้าเล่าเรื่องได้ละเอียดขึ้น เปิดเผยความรู้สึกได้มากขึ้นเมื่อเทียบกับการสัมภาษณ์ตามปกติ

และเขาหวังว่าเครื่องมือชนิดนี้จะช่วยเพิ่มพลังให้เหยื่อข่มขืนมีความกล้ามากขึ้นจนสามารถนำไปสู่การเปลี่ยนความคิดของสังคมที่มักจะกล่าวโทษว่าการถูกข่มขืนเป็นความผิดของผู้หญิงได้ในที่สุด

 

ซู่ชิงคิดว่าความน่าสนใจอีกอย่างของเรื่องนี้คือการที่เราสามารถหยิบเครื่องมือใกล้ตัวมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะสื่อมวลชนที่ต้องมีการรายงานข่าวอย่างฉับไว บางครั้งแหล่งข่าวของเราเป็นแหล่งข่าวที่ไม่อยากเปิดเผยตัวตน แต่เราไม่มีเวลาในการไปหาแว่นกันแดดหรือหมวกมาปิดหน้า หรือหากมีก็ไม่อยากให้สิ่งเหล่านั้นปกปิดอารมณ์ความรู้สึกของแหล่งข่าวไปจนหมด แถมฟีเจอร์นี้นอกจากจะใช้ในการบันทึกวิดีโอได้แล้ว ก็ยังสามารถใส่ข้อความ ภาพเขียน กราฟิก และอีโมจิเพิ่มเข้าไปได้ด้วย

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าฟิลเตอร์เหล่านี้จะเป็นวิธีการปิดบังตัวตนที่สะดวก รวดเร็ว และเป็นมิตร แต่โอมาร์เองก็ยอมรับว่าเขาไม่แน่ใจเท่าไหร่ว่าจะมีวิธีการทางเทคนิคแบบไหนบ้างที่จะสามารถดึงเอาฟิลเตอร์ออกและเผยให้เห็นใบหน้าที่แท้จริงได้

ซึ่งข้อมูลตรงนี้ทางสแน็ปแชตคงต้องเป็นคนออกมายืนยันเพื่อให้ความมั่นใจกับผู้ใช้ด้วยตัวเองค่ะ