เก็บตกอภิปรายไม่ไว้วางใจ/โลกทรรศน์ อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

โลกทรรศน์

อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์

 

เก็บตกอภิปรายไม่ไว้วางใจ

 

หากใครติดตามการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ล่าสุดที่เพิ่งผ่านไป คงมีทัศนะต่อการเมืองไทยหลากหลาย

สิ่งหนึ่งที่ควรนำมาพิจารณา ไม่ว่าเราจะชอบหรือไม่ชอบผลของการอภิปรายไม่ไว้วางใจที่ออกมาว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจครั้งนี้ อีกทั้งเราอาจได้เห็นลีลา วาทกรรม พิธีกรรมทางการเมืองมากมาย ทั้งจากฝากรัฐบาลและพรรคการเมืองฝ่ายค้าน

อย่างไรก็ตาม การเมืองในรัฐสภานับเป็น การเมือง ที่ไม่มีใครปฏิเสธความสำคัญไปได้ การเมืองในรัฐสภานับเป็นความจริงทางการเมือง ที่ก่อผลอย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อวิถีทางการเมืองไทยอย่างแน่นอน

ดังนั้น เราควรเพ่งพินิจการเมืองในรัฐสภา รวมทั้งการอภิปรายไม่ไว้วางใจให้ละเอียด

 

การเมืองแท้จริง

ช่วง 8 ปีของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ด้วยสภาพการณ์ทางการเมืองหลายประการได้แก่ การควบคุมเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรของพรรคพลังประชารัฐ ทั้งในแง่จำนวน ส.ส.ของพรรคเอง จำนวน ส.ส.ของพรรคร่วมรัฐบาล รวมทั้งจำนวน ส.ส.ที่สนับสนุนพรรครัฐบาลแบบลับๆ ล่อๆ ตามประสาการเมืองแห่งผลประโยชน์เป็นครั้งเป็นคราว

ทำให้รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์บริหารประเทศมาได้ท่ามกลางประเด็นปัญหามากมาย เช่น ความไร้ประสิทธิภาพของรัฐบาลเรื่องการบริหารเศรษฐกิจ ปัญหาข้าวยากหมากแพง ราคาพลังงานพุ่งสูงขึ้น การจำกัดการแสดงออกทางการเมืองของฝ่ายที่ไม่เห็นด้วย บทบาทที่ตกต่ำลงทางด้านกิจการต่างประเทศ รวมทั้งภาวะผู้นำทางการเมืองอีกด้วย

แต่ด้วยเสียงข้างมากในสภา รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์จึงรอดพ้นการอภิปรายไม่ไว้วางใจมาทุกครั้ง แต่ใช่ว่ารัฐบาลจะมีเสถียรภาพทางการเมือง เหตุที่เสียงปริ่มน้ำมาตลอด ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จากความไม่พอใจของประชาชนและการเรียกร้องผู้นำคนใหม่แทน พล.อ.ประยุทธ์

หากวิเคราะห์การอภิปรายไม่ไว้วางใจล่าสุด การเมืองของเสียงข้างมากในสภา เป็นความจริงทางการเมืองที่หลายฝ่ายเห็นอยู่แล้ว แม้แต่การวิเคราะห์การอภิปรายไม่ไว้วางใจของอาจารย์ Termsak Chalermpalanupap, ในบทความชื่อ “Thai PM need to show his cards if he survives the upcoming No-Confidence Fight” ISEAS Perspective, No. 70 12 July 2022 ซึ่งผู้เขียนเป็นนักวิชาการไทย แต่อยู่ห่างถึงสิงคโปร์ก็ยังรู้ล่วงหน้าเลย

ผู้เขียนบทความเขียนวิเคราะห์เมื่อ 12 กรกฎาคม 2565 โดยรู้ล่วงหน้าว่า

– ไม่มีอันตรายใดๆ ต่อรัฐบาลที่จะไม่ผ่านการอภิปรายไม่ไว้วางใจ

– พรรคร่วมรัฐบาลเข้มแข็งในการสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ และควบคุมเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎร ต้นเดือนมิถุนายน 2565 สภาได้ผ่านวาระแรกพระราชบัญญัติงบประมาณ 2566 ด้วยเสียงเฉียดฉิวแล้ว

– ในขณะที่ฝ่ายค้านถูกทำให้อ่อนแอ จากข้อบกพร่องของฝ่ายค้านเอง

– อย่างไรก็ตาม มีความท้าทายหลายอย่างท้าทายนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ ได้แก่ บทความของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ผู้นำพรรคเศรษฐกิจไทย ซึ่งสามารถสร้างความตึงเครียดรุนแรงต่อพรรคร่วมรัฐบาล ด้วยกลุ่ม 16 ของเขาที่อ้างว่ามีเสียงอยู่ 40 แต่ไม่เป็นความจริง

เห็นไหมครับ ผู้เขียนซึ่งช่ำชองการเมืองไทย แม้อยู่ไกลถึงสิงคโปร์ แต่ก็มองการอภิปรายไม่ใว้วางใจครั้งล่าสุดออกอย่างทะลุปรุโปร่ง น่าสังเกตว่า เป็นไปได้ว่า ฝรั่งที่อ่านบทความนี้และบทความอื่นๆ อาจรู้เท่าทันการเมืองไทย ดีกว่าและเป็นเหตุเป็นผลกว่าคนไทย รวมทั้งนักการเมืองไทยเสียอีก ซึ่งเป็นอย่างนี้เสมอมานานเท่านานแล้วครับ

อย่างไรก็ตาม การเมืองไทยก็เหมือนการเมืองที่อื่นๆ ด้วย นั่นคือ การเมืองไม่มีความแน่นอน เปลี่ยนได้เพียงพลิกฝ่ามือ เปลี่ยนอย่างลึกซึ้งภายใต้ความเงียบ ความเปลี่ยนแปลงไม่มีวันหยุด และไม่เคยหลับใหล

ขอให้ดูการงดออกเสียงรัฐมนตรีรัฐบาลประยุทธ์ เราเห็นอะไรได้บ้าง

 

ด้วยการวิเคราะห์ที่น่าสนใจของอาจารย์วีระ ธีระภัทร์ จากรายการ คุยให้คิด สถานีโทรทัศน์ช่อง 9 อสมท วันเสาร์ที่ 23 กรกฎาคม 2565 ที่ชวนให้เราเห็นความสำคัญของการงดออกเสียงของ ส.ส.ต่อรัฐมนตรีในรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ อันหนึ่ง การงดออกเสียงคือ ไม่ไว้วางใจ ไม่พอใจ ไม่ชอบการทำงานของรัฐมนตรีนั่นเอง แต่งดออกเสียง เป็นกลไกสำคัญกระทบต่อการเมืองภายในรัฐบาล รวมถึงอนาคตทางการเมืองหลังอภิปรายไม่ไว้วางใจด้วย

ประการที่หนึ่ง พรรคประชาธิปัตย์ จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ งดออกเสียง 23 เสียง จุติ ไกรฤกษ์ (17 เสียง) ชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ (18 เสียง) นิพนธ์ บุญญามณี (20 เสียง) น่าสนใจ ระหว่างอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาล คนที่นำเสนอผลงานเชิงบวก เช่น เศรษฐกิจการส่งออกดีมาก ราคาสินค้าเกษตรดี ราคาดี ควบคุมราคาสินค้าไม่ให้ชาวบ้านเดือดร้อน ความสำเร็จในการร่วมมือส่งออกในตลาดใหม่ เช่น ตะวันออกกลางและยุโรป ฟังแล้วไม่เพียงแต่เคลิ้มในความสำเร็จของจุรินทร์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์

แต่ทำไมมี ส.ส.งดออกเสียงต่อจุรินทร์มากถึง 23 เสียง หากดูคนที่งดออกเสียง รวมกับเสียงไม่ไว้วาง พรรคร่วมรัฐบาลอย่างพรรคประชาธิปัตย์แทบเอาตัวไม่รอด

ที่สำคัญกว่านั้น พรรคประชาธิปัตย์สั่นคลอนด้วยความแตกแยกภายในพรรค เพราะ ส.ส.ในพรรคก็งดออกเสียงต่อรัฐมนตรีของพรรค ทั้งจุติ ไกรฤกษ์ และชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ นิพนธ์ บุญญามณี และจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ เอง

ประการที่สอง พรรคพลังประชารัฐ สุชาติ ชมกลิ่น ได้รับงดออกเสียง (20 เสียง) สันติ พร้อมพัฒน์ (18 เสียง) สะท้อนให้เห็นว่า ไหนว่าพรรคพลังประชารัฐที่แนบแน่นด้วยแรงกระฉับของผู้ยิ่งใหญ่แห่งบ้านป่ารอยต่อฯ ทำไมแม้แต่ ส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐยังงดออกเสียงให้กับรัฐมนตรีข้างกายผู้ยิ่งใหญ่อย่างสุชาติ ชมกลิ่น

น่าสนใจมากๆ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ถูกงดออกเสียง (13 เสียง) ซึ่งเป็นเรื่องที่มีการคาดการณ์กันมาก่อนแล้ว แต่การงดออกเสียงส่วนหนึ่งมาจาก ส.ส.กลุ่มปากน้ำของพรรคพลังประชารัฐ แสดงว่า ส.ส.ในพรรคพลังประชารัฐสามารถคัดง้างพลังทางการเมืองของ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผู้ครองตำแหน่งรัฐมนตรีกระทรวงมหาดไทย ซึ่งผมมองว่า ส.ส.ของพรรคพลังประชารัฐคงไม่ได้มองอะไรลึกซึ้งเรื่องการเลือกตั้งทั่วไปที่กำลังจะมาถึง แล้วอยากเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย หาใช่เรื่องบุคลิกของท่านรัฐมนตรีมหาดไทยท่านเดิม อาจจะด้วยเหตุผลตื้นๆ เพียงแค่อำนาจและผลประโยชน์อันหอมหวานจากกระทรวงที่ทรงอิทธิพลมหาศาลในการเมืองไทย

การงดออกเสียงจาก ส.ส.กลุ่มปากน้ำได้คัดง้างโครงสร้างอำนาจของ 3 ป. ที่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ พูดติดตลกว่า 3 ป. 3 เปออะไร นี่ไม่ใช่พูดเล่นๆ นะครับท่าน

ส.ส.ที่งดออกเสียง รัฐมนตรีของพรรครัฐบาลเอง แสดงตัวตนที่แท้จริงของการเมืองในรัฐสภา ในแง่เป็นทั้งคุณประโยชน์ และโทษมหันต์ ต่อรัฐบาลเสียงปริ่มน้ำอย่างไม่ต้องสงสัย

ความไม่แน่นอนทางการเมืองคือ ความเป็นจริงทางการเมือง ไม่ว่าที่ไหน โดยเฉพาะการเมืองไทย