คำ ผกา | ความเหลื่อมล้ำซ่อนเร้น

คำ ผกา

ปฏิเสธไม่ได้ว่าในการรับรู้ทั่วไปของสังคมไทย คนไทยนั้น สถานะของมหาวิทยาลัยต่างๆ ในเมืองไทยนั้นไม่เท่ากัน นั่นคือ จุฬาฯ ธรรมศาสตร์ มหิดล เกษตรศาสตร์ ดูเป็นมหาวิทยาลัย “ชั้นนำ” รองลงมาคือมหาวิทยาลัยของรัฐ ไล่ไปเป็นขอนแก่น, เชียงใหม่ ฯลฯ

ถ้าเป็นสมัยที่ฉันสอบเอนทรานซ์ เหล่านี้วัดกันที่คะแนนที่ใช้เพื่อการสอบเข้า มหาวิทยาลัยที่ได้ชื่อ “ชั้นนำ” ก็คือมหาวิทยาลัยที่คะแนนสูง

ถัดจากมหาวิทยาลัยชั้นนำเหล่านั้นก็เป็นมหาวิทยาลัยเอกชน ซึ่งก็แบ่งได้อีกว่าเป็นเอกชน “ชั้นนำ” กับเอกชนเกรดรองๆ ลงมา

ถามว่าวัดกันที่ไหน ก็วัดกันที่เข้ายากหรือง่ายนั่นแหละ ทีนี้ลูกหลานชาวบ้านที่สอบเข้ามหาวิทยาลัยของรัฐไม่ได้ และไม่สามารถจ่ายค่าเทอมมหาวิทยาลัยเอกชนได้ ทางเลือกของการเรียนระดับอุดมศึกษาคือเรียนมหาวิทยาลัยราชภัฏ หรือสมัยก่อนเรียกว่า “วิทยาลัยครู”

ถามว่านี่คือความเหลื่อมล้ำหรือไม่?

ก่อนที่จะตอบว่าเป็นความเหลื่อมล้ำหรือไม่? เราต้องเข้าใจให้ตรงกันก่อนว่า ในประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจ “เสรีนิยม” ซึ่งหมายความว่า การศึกษาเป็นธุรกิจมากกว่าเป็นสวัสดิการของรัฐ (ประเทศที่ใช้ระบอบประชาธิปไตยสังคมนิยมมองว่าการศึกษาทุกระดับเป็นสวัสดิการที่รัฐต้องจัดให้ประชาชนในคุณภาพที่ใกล้เคียงกัน)

ดังนั้น ในทุกประเทศเหล่านี้ล้วนแต่มีมหาวิทยาลัย “ชั้นนำ” เช่นมหาวิทยาลัยไอวี่ลีกในอเมริกา

ความชั้นนำนี้วัดกันตั้งแต่ความแพงของค่าเทอม ความยากในการสอบเข้า คุณภาพของการศึกษา คุณภาพของบุคลากร โปรเฟซเซอร์ บริการทางวิชาการที่มหาวิทยาลัยจัดให้นักศึกษา อาจารย์ คุณภาพทางสิ่งแวดล้อม คุณภาพชีวิต

และในประเทศอย่างอังกฤษนั้น การเรียนที่เคมบริดจ์ หรือออกซ์ฟอร์ดก็ว่ากันว่ามันคือไลฟ์สไตล์แบบ “อีลีต” และชนชั้นนำ อย่างสุดลิ่มทิ่มประตู

ในญี่ปุ่นก็มีมหาวิทยาลัยชั้นนำอย่างมหวิทยาลัยโตเกียว มหาวิทยาลัยเกียวโต ถามว่าชั้นนำอย่างไร ก็วัดกันที่สอบเข้ายากมาก คัดแต่คนที่ได้ชื่อว่าหัวกะทิจริงๆ และว่ากันว่าใครจบจากสองมหาวิทยาลัยนี้ก็การันตีอนาคตว่าได้เป็นชนชั้นนำของประเทศแน่ๆ

โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยโตเกียวนั้นส่วนมากกลายเป็นเครือข่ายในระบบราชการสานต่อไปเรื่อยๆ

และเหมือนกันกับประเทศไทยเปี๊ยบตรงที่แล้วใครล่ะจะได้เรียนในมหาวิทยาลัยชั้นนำและการเป็นชนชั้นนำของประเทศ

คำตอบก็คือ เด็กที่มาจากครอบครัวมีอันจะกิน เรื่องก็ไม่มีอะไรซับซ้อน เด็กจากครอบครัวมีอันจะกิน หรือมาจากครอบครัวที่พ่อแม่เป็นชนชั้นนำได้รับการศึกษาสูง ย่อมมีกำลังความสามารถให้เลี้ยงดูลูกเต้าให้มีพัฒนาการทางสติปัญญา ทักษะ วัฒนธรรมการอ่าน การถกเถียง การแสดงออก มีเงินส่งลูกไปเรียนซัมเมอร์ต่างประเทศ จ้างครูมาติว เรียนกวดวิชา สร้างบรรยากาศและสิ่งแวดล้อมในบ้านให้เหมาะแก่การเรียนรู้

เรียกได้ว่าความเป็นอีลีตนั้นเป็นกันจากชาติกำเนิด ชนะกันตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดาก็คงไม่ผิดนัก

ปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำที่เรียกว่า Modern poverty ในประเทศโลกที่ 1 อย่างอเมริกา หรือญี่ปุ่น ก็อยู่อาการเช่นนี้เหมือนกัน นั่นคือ ยิ่งเกิดมาจนก็ยิ่งจะจนลงและได้รับโอกาสที่จะทำให้หายจนน้อยลงเรื่อยๆ

ประชากรอเมริกาในรอบ 20 ปีที่ผ่านมายากจนแม้จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี เพราะเงินกู้ยืมเพื่อการศึกษา

ในขณะชนชั้นนำที่มี 1% ของประเทศ ได้รับการเตรียมความพร้อมมาตั้งแต่เกิด เพื่อได้รับการศึกษาอย่างชนชั้นนำตั้งแต่อนุบาลจนจบมหาวิทยาลัย และหนทางสู่การประกอบอาชีพ ทำธุรกิจก็ราบรื่นกว่า เสี่ยงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเด็กที่มาจากครอบครัวชนชั้นกลางลงไปถึงล่าง

นี่ยังไม่พูดถึงมหาวิทยาลัย “ชั้นนำ” ทั่วโลกแสวงหากำไรทางธุรกิจด้วยการเปิดหลักสูตรพิเศษขึ้นเยอะมาก เป็นหลักสูตรประเภท “จ่ายครบจบแน่” เพื่อให้ชนชั้นนำ คนมีเงินมีทองจากประเทศโลกที่สามมา “ชุบตัว” เรียนสักเก้าเดือน ก็ได้ชื่อว่าจบปริญญาโทจากมหาวิทยาลัยนี้ นั้น ที่มีชื่อเสียงระดับโลก

ถ้าคนไม่รู้ก็จะรู้สึกทึ่ง แต่คนในวงการวิชาการถ้าเห็นก็จะบอกได้ทันทีว่า อ๋อ จบมาจากพวกหลักสูตรพิเศษหารายได้เข้า

บางบริษัทในประเทศโลกที่สาม ใช้วิธีให้ทุนพนักงานไปเรียน แล้วสั่งให้ทำวิทยานิพนธ์ เพื่อ “อวยเกียรติยศ” ให้เจ้าของบริษัทในรูปแบบของงานประวัติศาสตร์เศรษฐกิจ หรือธุรกิจ ก็ยังมี

ในประเทศที่ประชาธิปไตยเต็มขั้น ความเหลื่อมล้ำยังขนาดนี้ (นั่นจึงเป็นเหตุผลว่าทำไมเราจึงควรมีนโยบายเกี่ยวกับการศึกษาและสาธารณสุขที่ค่อนไป “ซ้าย” หรือเป็นสังคมนิยมมากกว่าเสรีนิยม) แล้วประเทศไทยที่ก่อนมีรัฐประหารปี 2549 ก็เละตุ้มเป๊ะกับแนวทาง “เสรีนิยม” แล้วต้องมาถูกซ้ำเติมจากการลากประเทศเข้าสู่วังวนของเผด็จการและการรัฐประหารถึง 2 ครั้งในเวลาไม่ถึงสิบปี

ไม่นับว่าการก่อร่างสร้างรัฐสมัยใหม่ของประเทศไทยของเราที่เริ่มเมื่อปี 2475 นั้นไม่สมบูรณ์ ทำให้เราอยู่ในสภาพรัฐสมัยใหม่กึ่งอาณานิคมภายใต้การเมืองระบอบรัฐสภาจอมปลอม

ผลที่เห็นเด่นชัดที่สุดคือระบบการศึกษาไทยไม่ได้ต่างจากการศึกษาที่จัดทำกันมาใน British Raj นั่นคือ มีการศึกษาที่จัดให้ลูก-หลาน เจ้าอาณานิคม หรือข้าราชการของอาณานิคม กับการศึกษาระบบที่จัดไว้ให้ “ชาวพื้นเมือง”

การศึกษาจึงมี 2 tiers กันมาโดยตลอด Tier แรก คือการศึกษาเพื่อความเป็นเลิศทางปัญญา ความคิดเชิงวิพากษ์ เข้าใจอย่างถ่องแท้ว่า การศึกษาคือเครื่องมือปลดปล่อยมนุษย์จากอวิชชา ความเขลา เรียนเพื่อบรรลุถึงสิ่งที่เป็น Freedom หรือเสรีภาพของความเป็นมนุษย์

การศึกษา Tier 2 ที่จัดให้คนพื้นเมืองนั้น เป็นการศึกษาเพื่อท่องจำ เพื่อเสริมทักษะแห่งการรับคำสั่งและถูกกล่อมเกลาให้มีความเชี่ยวชาญในการ “อยู่เป็น” การศิโรราบต่ออำนาจเพื่อความเจริญก้าวหน้าและความปลอดภัยในชีวิต เพื่อความมั่นคงในหน้าที่การงาน เพื่อเป็นข้าราชการที่ดี

ถ้าการศึกษา Tier 1 จะมีวิชา “สุนทรียศาสตร์ทางดนตรี” การศึกษา Tier 2 จะเรียนเรื่องมารยาทไทยและการไหว้อย่างถูกต้อง

การศึกษา Tier 1 จะให้อิสระในการสวมเสื้อผ้า ทรงผม แต่การศึกษา Tier 2 เน้นการกล้อนผม ยืนตรงเคารพธงชาติ และท่องโอวาท อาขยาน ค่านิยม 12 ประการ

เขียนมาแค่นี้ก็ใส่ชื่อโรงเรียนกันเอาเองว่า โรงเรียนไหนเป็นโรงเรียนสำหรับชนชั้น “นำและปกครอง” โรงเรียนแบบไหนผลิต “ข้าราชการที่ซื่อสัตย์ต่อระบอบ” และโรงเรียนแบบไหนมีไว้สำหรับชาวพื้นเมืองที่เหมาะแก่การทำงานแบกหามรับใช้คนสองชนชั้นข้างบน

ส่วนจะเป็นจุฬาฯ หรือราชภัฏ สำหรับฉัน อันแรกก็เป็นแค่โรงเรียนผลิตข้าราชการ เทคโนแครตรับใช้ “โครงสร้างเก่า”

ส่วน “ราชภัฏ” ก็เป็นที่ฝึกลูกหลาน “คนพื้นเมือง” ออกแบบการเรียนรู้ทั้งหมดมาเพื่อให้โง่ ให้จน ให้อ่อนแอ ให้ไร้ซึ่งอิสรภาพในการคิดเพื่อกีดกันไม่ให้คนเหล่านี้ได้กลายเป็นเสรีชน เพราะหากเกิดเสรีชน อยากเป็นประชาชนเจ้าของประเทศและเจ้าของอำนาจเมื่อไหร่ก็เป็นภัยต่อโครงสร้างอำนาจเดิมมากเท่านั้น

พวกคนที่โชคดีเกิดมาในครอบครัวที่ถูกต้อง ได้เรียนในระบบการศึกษา Tire 1 ก็กลายเป็นชนชั้นนำ เป็นนายทุนข้ามชาติ หรือย้ายประเทศไปทำมหากินที่อื่น

ถามว่าแล้วเราจะแก้ปัญหาความไม่เสมอภาคนี้ได้อย่างไร

สำหรับฉันก็คงต้องบอกว่า เราต้องเริ่มต้นเข้าใจก่อนว่าความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย ไม่ใช่แค่ความเหลื่อมล้ำอันเกิดจากการพัฒนาเศรษฐกิจ และทุนนิยม

แต่มันลึกลงไปถึงระบอบอาณานิคมซ่อนเร้นที่เรายังไม่ได้หลุดออกจากตรงนี้ไปสู่การเป็นพลเมืองที่มีอำนาจเป็นของตนเองอย่างแท้จริง