คุยกับทูต “ฟิลลิป คริเดลก้า ไทย-เบลเยียม” ฉลองความสัมพันธ์ทางการค้าและการทูต (จบ)

ความสัมพันธ์ที่มีมายาวนานระหว่างราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรเบลเยียมเป็นไปอย่างราบรื่น

ความสัมพันธ์อันใกล้ชิดระหว่างพระราชวงศ์ของทั้งสองประเทศมีส่วนสำคัญในการกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น มีความร่วมมือด้านการค้า การลงทุน การศึกษา เทคโนโลยี ตลอดจนการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม

ไทยและเบลเยียมได้ร่วมมือกันเป็นอย่างดีมาโดยตลอด โดยเฉพาะทางด้านการศึกษา มีการแลกเปลี่ยนนักศึกษาด้านวิศวกรรมศาสตร์ และนักศึกษาที่เชี่ยวชาญทางด้านยนตรกรรม ระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยคาทอลิกเลอเฟิน (Catholic University of Leuven – KUL)

นอกจากนี้ รัฐบาลทั้งสองประเทศได้มีการแลกเปลี่ยนศึกษาดูงานระหว่างกันเสมอมา

“เรากำลังเตรียมจัดกิจกรรมสำหรับปีหน้า อันเป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 150 ปี ความสัมพันธ์ทางด้านการค้าที่ไทยและเบลเยียมได้ลงนามร่วมกันในสนธิสัญญาทางพระราชไมตรีและการพาณิชย์ (Treaty of Friendship and Commerce) เมื่อปี ค.ศ.1868 เพื่อสะท้อนภาพความสัมพันธ์อันยาวนานระหว่างสองราชอาณาจักรและมิตรภาพอันแนบแน่นระหว่างราชวงศ์ทั้งสอง และพลเมืองของทั้งสองประเทศ”

เอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศไทย นายฟิลลิป คริเดลก้า เล่าถึงแผนการจัดงาน

“ต้นปี ค.ศ.2018 จะมีการประชาสัมพันธ์งานด้วยการนำ สเมิร์ฟ (The Smurfs) ตัวการ์ตูนสีฟ้าจากหมู่บ้านเห็ด ไปโชว์ในขบวนรถไฟฟ้าบีทีเอส ประมาณ 1 เดือน และการจัดเทศกาลสำหรับประชาชนทั่วไปในช่วงเย็น ณ บริเวณใกล้สะพานไทย-เบลเยียม (Thai-Belgium Bridge) ถนนพระราม 4”

สะพานไทย-เบลเยียมเดิมเป็นส่วนหนึ่งของสะพานลีโอโปลด์ 2 (Viaduc Leopold II) สร้างขึ้นเพื่อใช้อำนวยความสะดวกในงาน WORLD EXPO ที่กรุงบรัสเซลส์ในปี ค.ศ.1958 ต่อมาได้รื้อออกแล้วสร้างเป็นอุโมงค์ เนื่องจากสะพานนี้เป็นสะพานชั่วคราวที่สามารถรื้อออกไปสร้างที่ใหม่ได้

และเพื่อเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับเบลเยียมให้แน่นแฟ้น ประเทศเบลเยียมจึงได้ส่งชิ้นส่วนสะพาน โดยขนส่งมาทางเรือในปี ค.ศ.1986 และได้ทำการสร้างขึ้นใหม่ในปี ค.ศ.1988 ในพระบรมราชูปถัมภ์ของพระมหากษัตริย์ไทยและเบลเยียมเพื่อช่วยลดปัญหาการจราจรในกรุงเทพฯ

หลังจากนั้นได้รับการปรับปรุงให้มีความแข็งแรง และคงทนมากขึ้น และเมื่อวันที่ 21 มีนาคม ค.ศ.2013 เจ้าชายฟิลิป มกุฎราชกุมารแห่งราชอาณาจักรเบลเยียม (ในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วย เจ้าหญิงมาทิลด์ พระชายา เพื่อทรงเปิดสะพานไทย-เบลเยียม อีกครั้ง

“นอกจากการจัดฉายภาพยนตร์เบลเยียมในเทศกาลภาพยนตร์ยุโรปประจำปีในกรุงเทพฯ แล้ว เรามีการแข่งขันดนตรี Queen Elizabeth of Belgium ซึ่งมีชื่อเสียงมากในเบลเยียม หนึ่งในผู้ได้รับรางวัลจากการแข่งขันนี้จะมาแสดงร่วมกับนักศึกษาไทยจากวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล”

ความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นระหว่างสองประเทศได้พัฒนาเป็นความร่วมมือกันอีกหลายด้าน

“ประเทศไทยเป็นประเทศที่ก้าวหน้า สามารถเป็นตัวอย่างที่ดีให้แก่ประเทศอื่นในภูมิภาค ซึ่งไม่เพียงแต่ก้าวหน้าทางการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังรวมถึงมีความก้าวหน้าในเรื่องสิทธิสตรี การวางแผนครอบครัว ความเสมอภาคระหว่างชายหญิง และชนกลุ่มน้อยหรือสิทธิของกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ซึ่งเบลเยียมก็พยายามที่จะเป็นประเทศในยุโรปที่มีความก้าวหน้าในเรื่องนี้เช่นกัน”

ในมาตรา 2 ของสนธิสัญญาของสหภาพยุโรป ได้ระบุว่า

สหภาพยุโรปตั้งอยู่บนพื้นฐานของค่านิยมที่ให้ความเคารพต่อศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ เสรีภาพ ประชาธิปไตย ความเสมอภาค หลักนิติธรรม และการเคารพต่อสิทธิมนุษยชน รวมทั้งสิทธิของชนกลุ่มน้อย

ดังนั้น สมาชิกทั้ง 28 ประเทศของสหภาพยุโรปจะต้องยึดมั่นในหลักการเหล่านี้เสมอ และประเทศที่ปรารถนาเข้าร่วมเป็นสมาชิกสหภาพยุโรป จะต้องยอมรับในหลักการเหล่านี้ ก่อนที่จะเข้าเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพยุโรปได้

“ทั่วโลกยังมีการพูดถึงเรื่องโทษประหารชีวิต ในปี ค.ศ.2005 โทษประหารชีวิตในประเทศเบลเยียมได้ถูกยกเลิกไป ก่อนหน้านั้น เรามีระบบเดียวกันกับประเทศไทย โทษประหารชีวิตยังคงอยู่ในกฎหมายของเบลเยียมตามหลักการ แต่ไม่ได้มีการนำมาใช้หลังจากศตวรรษที่ 19 ยกเว้นสำหรับผู้ที่ให้ความร่วมมือกับศัตรูในสงครามโลกทั้งสองครั้ง”

“ผมทราบจากกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติ ประจำประเทศไทย (UNFPA Thailand) กรณีประเทศไทยมีบทบาทอย่างแข็งขันในเรื่องการเสริมพลังสตรี (Women Empowerment) ผมได้ทราบว่า ดร.มีชัย วีระไวทยะ เป็นผู้ทรงคุณวุฒิและยังเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญของประเทศที่ได้ช่วยเหลือรัฐบาลไทยในเรื่องนี้” เอกอัครราชทูตเบลเยียมกล่าว

“ในช่วงศตวรรษที่ 17 ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราประชากรสูงที่สุดในโลก รัฐบาลได้เริ่มรณรงค์เกี่ยวกับการวางแผนครอบครัว แต่ในปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ประสบความสำเร็จของโลกด้านการวางแผนครอบครัว และยังคงมีความตั้งใจที่จะใช้ประสบการณ์นี้ในการเผชิญกับปัญหาที่ท้าทายต่างๆ เช่น การควบคุมโรคเอดส์ หรือการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควร”

“การเสริมพลังสตรี (Women Empowerment) ยังเป็นหนึ่งในเรื่องที่มีความสำคัญในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศเบลเยียม เรามีโครงการรณรงค์ “ให้เธอเป็นผู้ตัดสินใจ” (She decides) มีจุดประสงค์ที่จะช่วยองค์การสหประชาชาติโดยเฉพาะ UNFPA เพื่อให้ผู้หญิงทั่วโลกสามารถเข้าถึงการเรียนรู้เรื่องสิทธิอนามัยเจริญพันธุ์และเรื่องสุขภาพทางเพศ”

เอกอัครราชทูตเบลเยียมกล่าวอีกว่า “สำหรับปีนี้ ประเทศไทยให้ความร่วมมือด้วยการเชิญนักศึกษาภาควิชาสถาปัตยกรรมจากประเทศเบลเยียม กัมพูชา อินโดนีเซีย และพม่า มาร่วมกันทำงานในโครงการฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรมและเมืองเก่าของจังหวัดน่าน เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เนื่องจากประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการป้องกันและการฟื้นฟูมรดกทางวัฒนธรรม”

“และผมหวังว่า สักวันหนึ่งนักศึกษาภาควิชาสถาปัตยกรรมจากมหาวิทยาลัยในประเทศไทย จะไปแสดงวิสัยทัศน์และให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิธีการที่ดีที่สุดในการรักษามรดกทางวัฒนธรรมในประเทศของเรา”

“นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีภาคประชาสังคมที่แข็งขันทั้งในภาครัฐและประชากรในหลายสาขา มากที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เช่นเดียวกับเบลเยียม ได้แก่ องค์กรพัฒนาเอกชน (NGOs) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความร่วมมือระหว่างประเทศ ผมจึงคิดว่า เราควรพยายามที่จะพัฒนาความร่วมมือกัน”

“อย่างเช่น ด้านการสงวนรักษามรดกทางวัฒนธรรม การเสริมพลังสตรี สิทธิของชนกลุ่มน้อย ด้านการสาธารณสุข และความปลอดภัยทางถนน เพื่อลดการเสียชีวิตและความพิการที่ตามมา ซึ่งไม่นานมานี้ ผมมีโอกาสพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นที่สอดคล้องกันในเรื่องความปลอดภัยบนท้องถนนเพื่อหาทางร่วมมือกันระหว่างสองประเทศในด้านนี้กับ นายมนัสวี ศรีโสดาพล เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงบรัสเซลส์ ผู้ซึ่งเป็นท่านทูตที่มีความกระตือรือร้นเป็นอย่างมาก”

“วัตถุประสงค์แรก คือ เพื่อเรียกร้องให้รัฐดำเนินนโยบายในการบังคับใช้กฎหมายควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์อย่างเข้มงวดมากขึ้น รวมทั้งการเพิ่มป้ายเตือนตามถนนต่างๆ”

“วัตถุประสงค์ที่สอง คือ การรวบรวมผู้ที่สูญเสียสมาชิกในครอบครัวหรือญาติมิตร ให้มาพบปะพูดคุยกัน เรียนรู้ที่จะดำเนินชีวิตต่อไป เพื่อให้เกิดความรักและยิ้มได้อีกครั้ง แม้จะเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่การได้มาแบ่งปันความเศร้าโศก บอกกล่าวความรู้สึกให้บุคคลอื่นรับรู้ เป็นการแบ่งปันและช่วยกันให้ก้าวผ่านช่วงเวลาแห่งความเศร้านี้ไปได้ ความรู้สึกเศร้าเสียใจในวันนี้จะไม่ได้อยู่ตลอดไป เพราะเวลาและมิตรภาพที่มีต่อกันจะช่วยทำให้ดีขึ้น”

“สถานทูตเบลเยียมที่กรุงเทพฯ มีแผนกตำรวจที่เข้มแข็งและมีประสิทธิภาพมาก มีการทำงานอย่างใกล้ชิดกับตำรวจไทยในหลายประเด็น เช่น การต่อสู้กับการก่อการร้าย อาชญากรรม ผู้ค้ายาเสพติดหรือสิ่งเสพติด ผู้ลักลอบค้ามนุษย์และวัตถุทางวัฒนธรรมที่ผิดกฎหมาย”

เอกอัครราชทูตเบลเยียม นายฟิลลิป คริเดลก้า กล่าวสรุปตอนท้ายว่า

“นี่คือชีวิตของนักการทูต เรามีหน้าที่และความรับผิดชอบ ผมในฐานะตัวแทนของสมเด็จพระราชาธิบดีฟิลิป พระมหากษัตริย์ของชาวเบลเยียม และตัวแทนของราชอาณาจักรเบลเยียม ผมมีหน้าที่ที่ต้องปกป้องผลประโยชน์ของประเทศเบลเยียม สร้างชื่อเสียงให้แก่ประเทศชาติ เสริมสร้างและพัฒนาความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างประเทศของเราทั้งสองในทุกด้านที่จะเป็นไปได้”

“ดังนั้น ทุกอย่างที่ผมปฏิบัติ ก็เพื่อสืบทอดและพัฒนามิตรภาพระหว่างไทยและเบลเยียมให้มีความมั่นคงและเจริญก้าวหน้ายิ่งขึ้นต่อไป”