เมืองใหม่คณะราษฎร ในย่านเก่ากรุงเทพฯ (จบ)/พื้นที่ระหว่างบรรทัด ชาตรี ประกิตนนทการ

ชาตรี ประกิตนนทการ

พื้นที่ระหว่างบรรทัด

ชาตรี ประกิตนนทการ

 

เมืองใหม่คณะราษฎร

ในย่านเก่ากรุงเทพฯ (จบ)

 

ประเด็นสุดท้ายที่อยากพูดถึงเกี่ยวกับการอ่านแผนที่ 2475 เทียบกับแผนที่ 2490 คือ รายละเอียดของการเขียนระบุชื่อสถานที่ต่างๆ ลงบนแผนที่ทั้งสองชุดที่อาจนำมาเป็นหลักฐานหนึ่งในการศึกษาประวัติศาสตร์ในช่วงก่อนและหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองได้

จากการเปรียบเทียบเฉพาะพื้นที่เท่าที่สามารถทำได้ คือ บริเวณที่เป็นเมืองเก่ากรุงรัตนโกสินทร์และบางส่วนของฝั่งธนบุรี (เหนือสุดราวประมาณสนามม้านางเลิ้ง ใต้สุดประมาณสะพานพระพุทธยอดฟ้าฝั่งธนบุรี ตะวันตกสุดไปถึงสถานีรถไฟบางกอกน้อย และฝั่งตะวันออกสุดไปถึงประมาณสนามกีฬาแห่งชาติ) อันเนื่องมาจากข้อมูลแผนที่ 2490 มีจำกัด ตามที่เคยอธิบายไปแล้วในบทความก่อนหน้านี้

ทำให้พบความเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจอย่างน้อย 2 ประการ

แผนที่ 2475 และแผนที่ 2490 แสดงให้เห็นพื้นที่ของธนาคารชาติไทยที่เกิดขึ้นใหม่หลังการปฏิวัติ 2475 (ภาพขวา)

ประการแรก แผนที่ 2490 เราจะพบเห็นคำว่า “ไทย” อันมีนัยยะเชื่อมโยงกับแนวคิดว่าด้วย “ชาติ” อยู่ในชื่อสถานที่ต่างๆ ทั้งของภาครัฐและเอกชนเพิ่มขึ้นในปริมาณมากอย่างมีนัยยะสำคัญ ในขณะที่แผนที่ 2475 จะไม่ปรากฏคำนี้อยู่เลย (ยกเว้นคำว่า “มหาดไทย” ซึ่งไม่ได้มีประเด็นโยงกับ “ชาติ” แต่อย่างใด)

แน่นอนว่า แผนที่ 2475 ชื่อประเทศยังคงใช้คำว่า “สยาม” อยู่ ดังนั้นย่อมไม่แปลกที่เราจะไม่พบคำว่า “ไทย” ในแผนที่ 2475 แต่ถ้าเรามองหาคำว่า “สยาม” ในแผนที่ 2475 ที่แสดงนัยยะของสถานที่ที่เชื่อมโยงกับแนวคิดว่าด้วย “ชาติ” เราก็จะพบเพียงแค่ 1 แห่งเท่านั้น คือ บริษัทไฟฟ้าสยาม บริเวณวัดราชบูรณะ (ความจริงมีอีกแห่งคือ “ศาลพระสยามเทวา” ในตำแหน่งที่เป็นศาลหลักเมืองในปัจจุบัน แต่การระบุในกรณีนี้มีนัยยะของการสื่อถึง “พระสยามเทวาธิราช” เทวรูปที่สร้างขึ้นใหม่โดยรัชกาลที่ 4 มากกว่าที่จะสื่อถึงสถานที่ที่เกี่ยวข้องกับแนวคิดว่าด้วยชาติ)

ในขณะที่แผนที่ 2490 ปรากฏสถานที่ที่มีคำว่า “ไทย” หรือ “ชาติ” มากถึง 8 แห่ง คือ กรีฑาสถานแห่งชาติ (สนามศุภชลาศัย), ธนาคารชาติไทย บริเวณสี่กั๊กพระยาศรี, โรงงานไทยนิยม ติดวัดพระพิเรนทร์, ตลาดไทยรัตน์ ถนนสันติภาพ ใกล้วงเวียน 22 กรกฎาคม, บริษัทไฟฟ้าไทยคอมเปอร์เรชั่น ติดวัดราชบูรณะ, สะพานเฉลิมวันชาติ, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ (วังบางขุนพรหม)

หากนับรวมชื่อสถานที่ที่มีคำว่า “ไทย” และ “ชาติ” อื่นๆ ที่เราทราบ แต่ไม่ปรากฏการระบุชื่อในแผนที่ 2490 ก็จะยิ่งพบว่ามีอีกหลายแห่ง เช่น ห้างไทยนิยม, ศาลาเฉลิมไทย, โรงภาพยนตร์เฉลิมชาติ ฯลฯ

แผนที่ 2475 และแผนที่ 2490 แสดงการระบุชื่อสถานที่ที่เปลี่ยนไปจาก “วังจันทรเกษม” มาสู่ “กระทรวงศึกษาธิการ”

ความเปลี่ยนแปลงอีกประการ คือ แผนที่ 2490 คำว่า “วัง” ลดลงไปอย่างน่าสังเกต จากทั้งหมด 9 แห่งที่ปรากฏในแผนที่ 2475 ได้แก่ วังปารุสกวัน, วังบางขุนพรหม, พระราชอุทยานสราญรมย์, พระบรมมหาราชวัง, วังท่าพระ, วังจันทรเกษม, วังกรมพระกำแพงเพชร, วังกรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา และวังสมเด็จกรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์

เหลือเพียง 3 แห่ง คือ วังปารุสกวัน, วังสราญรมย์ และพระบรมมหาราชวัง

ควรกล่าวไว้ก่อนนะครับ ผมไม่ได้หมายความว่า ในพื้นที่เมืองเก่ากรุงเทพฯ เมื่อปี พ.ศ.2475 และ 2490 จะมีวังในพื้นที่นี้เพียงแค่ 9 แห่ง และ 3 แห่ง แต่อย่างใด

แต่สิ่งที่ผมต้องการจะสื่อ คือ การระบุชื่อวังในแผนที่ 2475 คนทำแผนที่ระบุเอาไว้เพียงแค่ 9 แห่ง ในขณะที่แผนที่ 2490 คนทำแผนที่ระบุเอาไว้เพียงแค่ 3 แห่ง

ย้อนกลับมาที่ประเด็นของบทความ การหายไปของคำว่า “วัง” ในแผนที่ 2490 นั้นเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ ตั้งแต่การเปลี่ยนพื้นที่วังมาเป็นสถานที่ราชการหลังเปลี่ยนแปลงการปกครอง เช่น กรณีวังบางขุนพรหม เปลี่ยนมาเป็นสภาวัฒนธรรมแห่งชาติ และวังกรมพระกำแพงเพชร เปลี่ยนมาเป็นกรมสรรพากร

หรือการที่เจ้าของวังย้ายออกจากวังเดิมไปอยู่วังใหม่ เช่น กรณีวังท่าพระ ที่สมเด็จฯ เจ้าฟ้า กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ย้ายไปอยู่วังปลายเนิน ซึ่งต่อมาหลังจากนั้นอีกหลายปี มหาวิทยาลัยศิลปากรได้ทำการขอซื้อพื้นที่วังท่าพระ ต่อจากทายาทเพื่อนำมาขยายพื้นที่การศึกษาของมหาวิทยาลัย

หรือการเลือกที่จะไม่ระบุชื่อวังไปเลย ไม่ว่าวังแห่งนั้นจะยังคงมีสถานะเป็นวังอยู่หรือไม่ก็ตาม เช่น วังกรมขุนพิทยลาภพฤฒิธาดา และวังสมเด็จกรมพระสวัสดิวัดนวิศิษฎ์ ซึ่งไม่ระบุรายละเอียดอะไรเลย ในแผนที่ 2490

ไปจนถึงกรณีพิเศษ เช่น วังจันทรเกษม ซึ่งไม่เคยมีสถานะเป็นวังมาก่อน เพราะไม่เคยมีเจ้านายพระองค์ใดมาประทับและตัววังก็ทำหน้าที่เป็นสถานที่ราชการมาโดยตลอด ทั้งการเป็นโรงพยาบาลและโรงเรียนการเรือน แต่แผนที่ 2475 ก็ยังระบุชื่อโดยใช้คำว่า วังจันทรเกษม

แต่พอมาถึงแผนที่ 2490 วังจันทรเกษมเปลี่ยนมาเป็นที่ตั้งของกระทรวงศึกษาธิการ และการระบุชื่อเรียกก็ตัดคำว่า วังจันทรเกษม ออกไปและใช้คำว่า กระทรวงศึกษาธิการ แทน

 

คําถามที่น่าคิดคือ การเพิ่มขึ้นมาของคำว่า “ไทย” และ “ชาติ” พร้อมๆ กับการหายไปของคำว่า “วัง” จากแผนที่ทั้งสองชุดนี้ บอกอะไรแก่เราบ้าง

ประการแรก มันสะท้อนให้เราเห็นไม่มากก็น้อยว่า เนื้อเมืองที่เป็นศูนย์กลางทางการเมืองการปกครองของไทย ได้เปลี่ยนจากพื้นที่ที่เคยเต็มไปด้วยวัง อันเป็นที่ประทับของเจ้านายต่างๆ ซึ่งเคยเป็นกลไกหลักที่สำคัญของการขับเคลื่อนการปกครองในระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาสู่สถานที่ราชการสมัยใหม่ในระบอบประชาธิปไตย เช่น กรณีวังบางขุนพรหม และวังกรมพระกำแพงเพชร (อาจรวมถึงกรณีวังท่าพระด้วย)

ประการที่สอง การปรากฏคำว่า “ไทย” และ “ชาติ” พ่วงขยายใส่เข้าไปในสถานที่ต่างๆ ในพื้นที่เมืองเป็นจำนวนมาก สะท้อนให้เห็นถึงความเปลี่ยนแปลงและขยายตัวมากขึ้นของแนวคิดว่าด้วยรัฐ “ชาติ” ในรูปแบบที่เป็น “รัฐประชาชาติ” หลังการปฏิวัติ 2475

แม้แนวคิดว่าด้วย “ชาติ” ในความหมายที่หมายถึงประเทศ จะเริ่มปรากฏแล้วตั้งแต่สมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์ แต่คำว่า “ชาติ” ก่อน 2475 ก็มีความหมายที่เลื่อนไหลหลากหลายแบบ ซึ่งมิได้หมายความถึง “ประชาชาติ” (ชาติที่เป็นของประชาชน) แต่อย่างใด ที่สำคัญคือ คำว่า “ชาติ” และ “ไทย” นี้ก็มิได้ถูกนำไปขยายความสู่โครงการของรัฐ ที่มุ่งประโยชน์สาธารณะอย่างเท่าเทียมกันของคนในชาติเท่าที่ควร

นอกจากนี้ การปรากฏคำว่า “ไทย” ในสถานที่ของเอกชนหลายแห่ง ก็อาจจะเป็นเครื่องหมายที่สะท้อนให้เรามองเห็นถึงแนวคิดว่าด้วยชาติที่กำลังขยายตัวมากขึ้นไปสู่ประชาชน ไม่ว่าจะเป็นการขยายตัวในแง่ที่เอกชนเหล่านั้นโอบรับแนวคิดว่าด้วยชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตตนเองเรียบร้อยแล้ว หรือเป็นเพียงการใช้คำนี้ไปตามแฟชั่นของยุคสมัยโดยไม่สนใจเนื้อหาแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม เราก็ไม่ควรลืมเช่นกันว่า การปรากฏมากขึ้นของคำนี้ เป็นส่วนหนึ่งที่แยกไม่ออกจากนโยบายชาตินิยมที่เน้นเชื้อชาตินิยม (เชื้อชาติไทย) ในยุคของจอมพล ป.พิบูลสงคราม

ดังนั้น การอ่านความหมายในส่วนนี้ก็ควรที่จะไม่ลืม การโหมใช้แนวคิดชาตินิยมอย่างหนักหน่วงในยุคสมัยดังกล่าวที่อาจส่งผลให้เกิดอาคารสถานที่ภายใต้อุดมการณ์แบบนี้เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากอย่างมีนัยยะสำคัญ

 

แต่ไม่ว่าจะอ่านหรือตีความไปในทางใด การปรากฏขึ้นของคำว่า “ไทย” และ “ชาติ” ที่สวนทางกับคำว่า “วัง” ที่ลดลงเรื่อยๆ จากแผนที่สองชุดนี้ ในความเห็นส่วนตัว คือหลักฐานที่น่าสนใจสำหรับนักประวัติศาสตร์

และจากข้อมูลที่อธิบายมาทั้งหมด 6 ตอน ผมหวังว่าจะได้แสดงให้เห็นตัวอย่างที่มากพอถึงนัยยะสำคัญของแผนที่ 2475 และแผนที่ 2490 ในการเป็นหลักฐานที่จะเข้ามาช่วยศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการปฏิวัติ 2475 ได้ไม่มากก็น้อย

สุดท้ายนี้ ผมควรออกตัวไว้ก่อนนะครับว่า ทั้งหมดที่อธิบายมา เป็นเพียงข้อสังเกตเบื้องต้นจากการนั่งอ่านแผนที่ทั้งสองชุดภายใต้เวลาที่จำกัด ดังนั้น คงมีประเด็นอีกมากที่ผมมองไม่เห็น ซึ่งต้องรอผู้สนใจเรื่องนี้จริงจังนำไปต่อยอดขยายความต่อไป รวมถึงข้อเสนอที่ได้เขียนไปทั้งหมดก็อาจมีข้อผิดพลาดปรากฏอยู่พอสมควร ซึ่งก็ต้องขออภัยมา ณ ที่นี้ด้วย