ย้อนตำนาน 50 ปี ‘ฮอนด้า ซีวิค’ 11 เจนเขย่าโลก ‘27.6 ล้านคัน’ / ยานยนต์ สุดสัปดาห์ : สันติ จิรพรพนิต

สันติ จิรพรพนิต

ยานยนต์ สุดสัปดาห์

สันติ จิรพรพนิต

[email protected]

 

ย้อนตำนาน 50 ปี ‘ฮอนด้า ซีวิค’

11 เจนเขย่าโลก ‘27.6 ล้านคัน’

 

ช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา ถือเป็นจังหวะฉลองความสำเร็จของค่าย “ฮอนด้า” กับการครบรอบ 50 ปี หรือครึ่งศตวรรษของ “ซีวิค” รถเก๋งกลุ่ม “ซี-เซ็กเมนต์”

ถ้าเป็นสมัยเข้ามาทำตลาดในเมืองไทยใหม่ๆ ช่วงปี พ.ศ.2527 จัดว่าเป็นรถขนาดเล็ก

จำได้ว่าสร้างกระแสได้ประมาณหนึ่ง เพราะยุคนั้นคนไทยคุ้นกับแบรนด์ฮอนด้า ว่าเป็นรถจักรยานยนต์

ซีวิครุ่นแรกที่มาเปิดตัวในไทยเป็นเจเนอชั่นที่ 3 โดยเปิดโรงงานผลิตด้วย

ส่วนเจน 1-2 นำเข้าจากต่างประเทศมาทำตลาดแบบนิดๆ หน่อยๆ

เจเนอชั่นที่ 3 ของซีวิค มีรุ่น “ซีวิค เอสไอ” ใช้เครื่องยนต์ DOHC (Double Overhead Camshaft) เทคโนโลยีที่มีเฉพาะในรถแข่งฟอร์มูล่าวัน

เจเนอเรชั่นต่อมา โฉมไฟท้าย 2 ชั้น เริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ และเป็นจุดเริ่มพัฒนาเครื่องยนต์ “VTEC” อันเลื่องชื่อ

ก่อนมาพีกสุด และถือว่าแจ้งเกิดฮอนด้า ในไทยอย่างเต็มตัวกับเจเนอเรชั่นที่ 5 โฉม “EG” หรือรุ่นเตารีด ซึ่งเข้ามาทำตลาดทั้งรุ่น 3 ประตู และ 4 ประตู ช่วงปี พ.ศ.2535

โดยเฉพาะรุ่น “3 ประตู” ถูกใจวัยรุ่นยุคนั้นอย่างมาก แถมตั้งราคามาน่าสนใจ

ผมจำตัวเลขชัดๆ ไม่ได้ แต่หากไม่ผิดรุ่นเริ่มต้นน่าจะราวๆ 299,000 บาท หรือ 3 แสนต้นๆ นี่แหละ

จนเกิดปรากฏการณ์ซื้อขาย “ใบจอง” อย่างเป็นล่ำเป็นสัน

สมัยนั้นการผลิตรถยนต์ไม่ได้มีเทคโนโลยีทันสมัยเท่ายุคนี้ จึงผลิตออกมาได้จำนวนจำกัด

แต่ด้วยความต้องการสูงมากจึงเกิดการซื้อขายใบจอง ปั่นราคากันสนุกทีเดียว

ซีวิค 3 ประตู เป็นรถขวัญใจวัยรุ่นยาวนานนับสิบๆ ปี แม้จะเปลี่ยนไปหลายเจเนอเรชั่น แต่ยังเป็นที่ต้องการของตลาดรถมือสอง

ถือว่าเป็นรุ่นที่ราคาตกน้อยมาก

 

ปี 2539 เจเนอชั่นที่ 6 เข้ามาต่อเติมความสำเร็จ ที่รู้จักในชื่อ “ซีวิค ตาโต” ขยายตัวถังใหญ่ขึ้น มีรุ่น 2 ประตูคูเป้ ให้เลือกด้วย ได้รับความนิยมมากพอตัว

รุ่นนี้เองยังสร้างปรากฏการณ์ “ฮอนด้า X อีซูซุ” นำโมเดลรถของตัวเองไปแปะยี่ห้อของอีกฝ่ายเพื่อจำหน่ายในตลาด

เนื่องจากฮอนด้าเป็นค่ายเก๋งล้วนไม่มีปิกอัพเหมือนแบรนด์อื่นๆ

ขณะที่อีซูซุเป็นค่ายปิกอัพล้วน ไม่มีเก๋งเช่นกัน

คนไทยจึงได้เห็นเก๋งอีซูซุ ในชื่อรุ่น “เวอร์เทค” และปิกอัพฮอนด้า ในชื่อรุ่น “ทัวร์มาสเตอร์”

แต่ทั้ง 2 รุ่นไม่ได้รับความนิยมมากนัก

ซีวิค เจเนอชั่นที่ 7 หรือรุ่น “ไดเมนชั่น” มาแปลกหน่อยเพราะใช้เครื่องยนต์ 1.7 ลิตร และเป็นครั้งแรกที่นำเครื่องยนต์ไฮบริด ลูกผสมน้ำมัน+ไฟฟ้า เข้ามาด้วย แต่เป็นแค่ชิมลางเท่านั้น ยอดขายไม่ถึง 100 คัน

รุ่นนี้ขายสู้รุ่นก่อนไม่ได้ อาจด้วยหน้าตาไม่ค่อยโดนเท่าไหร่ แถมคู่แข่งอย่าง “โตโยต้า” ปล่อยทีเด็ดรุ่น “โคโรลลา อัลติส” ออกมาอีก

มาในเจเนอชั่นที่ 8 หรือรุ่น “FD” ฮอนด้า ซีวิค กลับมากวาดยอดขายอีกครั้ง ด้วยรูปลักษณ์สวยเฉี่ยว ทั้งใช้เครื่องยนต์ 1.8 ลิตร แรงเฟร่อ

เจเนอชั่นที่ 9 หรือ “FB” เข้าอีหรอบเดียวกับรุ่นไดเมนชั่น ขายได้เรื่อยๆ มาเรียงๆ

เจเนอชั่นที่ 10 ซีวิค ได้รับความนิยมอย่างล้นหลาม เพราะออกแบบสวยงามตามท้องเรื่อง ทั้งใส่เครื่องยนต์รุ่นใหม่ “VTEC TURBO” แรงขึ้นแต่ประหยัด มาเป็นตัวเลือกด้วย

กระทั่งรุ่นปัจจุบันคือเจเนอชั่นที่ 11 นำเสนอระบบฟูลไฮบริด e:HEV

ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา “ซีวิค” ถือเป็นรถธงของค่ายฮอนด้า มีจำหน่าย 170 ประเทศทั่วโลก ยอดขายสะสมกว่า 27.6 ล้านคัน

 

ปิดท้ายกับรถอเนกประสงค์ขนาดเล็ก “ซูซูกิ XL7” ขยับปรับเปลี่ยนพร้อมเพิ่มออปชั่นพิเศษ เติมเต็มความต้องการของลูกค้ามากขึ้น

ภายนอกออกแบบด้วยดีไซน์ผสานแนวทางสปอร์ต กระจังหน้าดีไซน์สปอร์ตสีดำผสมโครเมียม

สอดรับกับไฟหน้า LED สามารถปรับระดับองศาของไฟต่ำได้ มาพร้อม Daytime Running Light และไฟตัดหมอกหน้า

ตกแต่งใต้กันชนด้วยวัสดุสีเงินรอบคัน

ไฟท้าย LED และไฟเบรกแนวตั้ง เติมความเข้มด้วยซุ้มล้อสีดำ ล้ออัลลอยทูโทนขนาด 16 นิ้ว

ภายในบริเวณคอนโซลด้านหน้าสไตล์สปอร์ต ตกแต่งวัสดุด้วยลาย Carbon Fiber พร้อมคิ้วโครเมียม

มาตรวัดพร้อมจอ LCD แสดงผลแจ้งสถานะข้อมูลสำคัญของตัวรถ เช่น Driving G-Force อัตราสิ้นเปลืองน้ำมันเชื้อเพลิง อัตราแรงบิด กำลังของเครื่องยนต์ และข้อมูลอื่นๆ

พวงมาลัยมัลติฟังก์ชั่น ทรง D-Shape พร้อมปุ่มควบคุมเครื่องเสียงและการสั่งการสมาร์ตโฟน

ระบบ Keyless Push Start และระบบ Keyless Entry ประตูเปิด-ปิดได้ โดยไม่ต้องกดกุญแจรีโมต

รุ่นปรับใหม่นี้เพิ่มแท่นชาร์จโทรศัพท์แบบไร้สาย (Wireless Charger) พร้อมด้วยกล้องบันทึกภาพด้านหน้ารถ (Digital VDO Recorder) ติดตั้งมาจากโรงงาน

 

ส่วนอื่นๆ ที่เด่นอยู่แล้วยังมีอยู่ครบครัน อาทิ จอสัมผัสขนาดใหญ่ 10 นิ้ว พร้อมระบบปรับแต่งเสียงและประมวลผลในแบบดิจิตอล (Digital Sound Processor)

มีฟังก์ชั่นเชื่อมต่อ Bluetooth การเชื่อมต่อสมาร์ตโฟน Apple CarPlay, Android Auto รวมไปถึงช่องเชื่อมต่อ USB และ HDMI ที่บริเวณคอนโซลหน้า

ช่องจ่ายไฟสำรอง 12V ให้มา 3 ตำแหน่ง

ห้องโดยสารกว้างขวางที่นั่ง 3 แถว 7 ที่นั่ง เบาะแถวสองปรับพับแยกเบาะแบบ 60:40 สามารถเลื่อนสไลด์ได้ 240 มิลลิเมตร

เครื่องยนต์ K15B ขนาด 1.5 ลิตร กำลังสูงสุดถึง 105 แรงม้า/6,000 รอบต่อนาที แรงบิดที่ 138 นิวตัน-เมตรที่ 4,400 รอบต่อนาที เกียร์อัตโนมัติ 4 สปีด

ช่วงล่างออกแบบและปรับแต่งเพื่อตอบสนองการขับขี่ได้ในทุกไลฟ์สไตล์ ความสูงใต้ท้องรถ 200 ม.ม.

นุ่มนวลและมั่นใจด้วยเหล็กกันโคลงด้านหน้าขนาดใหญ่ ลดอาการโคลงของตัวรถและเพิ่มการยึดเกาะถนน

ความปลอดภัย ระบบถุงลมนิรภัย SRS คู่หน้า ระบบเบรก ABS ช่วยป้องกันล้อล็อกขณะเบรกกะทันหัน พร้อมระบบ EBD ช่วยกระจายแรงเบรกได้อย่างสมดุล เสริมด้วยระบบควบคุมเสถียรภาพในการทรงตัว ESP

ระบบช่วยการออกตัวขณะอยู่บนทางลาดชัน (Hill Hold Control) ระบบกุญแจนิรภัย Immobilizer ฯลฯ

“ซูซูกิ XL7” ใหม่ ราคา 814,000-829,000 บาท (แล้วแต่สีภายนอก) •