ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 กรกฎาคม - 4 สิงหาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | ล้านนาคำเมือง |
เผยแพร่ |
ล้านนาคำเมือง
ชมรมฮักตั๋วเมือง
สำนักส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
พระพุทธรูปที่แกะสลักจากไม้

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า พะเจ้าไม้
หมายถึง พระพุทธรูปที่แกะสลักจากไม้
มวลสารในการทำรูปพระ เป็นสัญลักษณ์ในการสร้างพระพุทธรูปเพื่อกราบไหว้บูชานั้นขึ้นอยู่กับยุคสมัย สถานที่ และวัตถุดิบในการสร้างรูปองค์พระ
เริ่มต้นจากการสร้างพระพุทธรูปในตักสิลา สมัยคันธาระ นิยมแกะสลักพระพุทธรูปจากศิลา โดยได้รับอิทธิพลมาจากการแกะสลักรูปสมัยกรีกและโรมัน ดังจะเห็นได้จากพระพุทธรูปในพิพิธภัณฑ์ในประเทศปากีสถาน
ในอินเดียสมัยหลังพุทธกาลก็รับอิทธิพลมาจากคันธาระเช่นกัน ดังจะเห็นจากพระพุทธรูปศิลาในหมู่ถ้ำอะชันตา อะโรรา
ในหมู่ถ้ำม่อเกา เขตทะเลทรายซินเกียง ประเทศจีน ในเส้นทางสายไหม มีพระพุทธรูปหลายองค์ทำจากฟางมัดเป็นโครงขึ้นร่างก่อนแล้วพอกด้วยดินเหนียว ทาสีสวยงาม
ดังนั้น มวลสารที่ใช้ทำพระพุทธรูปจึงขึ้นอยู่กับว่าวัดและศรัทธาจะหาอะไรได้ เอามาสร้างรูปเคารพขึ้น เช่น เกาะอินเลย์ ในพม่าที่มีแต่น้ำ ก็อาศัยดอกไม้ที่คนเอามาบูชาพระ ตากแห้งแล้วเอามาปั้นเป็นองค์พระ ได้แก่ พระบัวเข็มที่เลื่องชื่อ
ในบางท้องที่ทั้งในพม่าและไทยมีการสร้างพระพุทธรูปจากหวาย เอามาสานเป็นองค์พระ แล้วอาจจะพอกครั่งหรือปูนในภายหลัง เรียกว่า “พระอินทร์ถวาย”
การปั้นพระพุทธรูปด้วยปูน หรือสร้างจากโลหะ มีทั้งทองสัมฤทธิ์และทองคำแท้นั้น เป็นการสร้างพระพุทธรูปในระยะหลังแล้ว
สําหรับพระพุทธรูปที่เป็นเอกลักษณ์ของทั้งล้านนาและพม่า ได้แก่ พระพุทธรูปที่แกะสลักจากไม้ เนื่องจากในแถบนี้เป็นแหล่งไม้สักชั้นดี จึงไม่น่าแปลกใจที่ไม้จะถูกใช้เป็นมวลสารในการจัดทำพระพุทธรูป เรียกว่า “พระเจ้าไม้”
ดังจะเห็นจากกลุ่มพระเจ้าไม้ขนาดเล็ก วางเรียงรายบนแท่นแก้ว ในวัดพม่า หรือพระพุทธรูปเก่าของพม่าที่มีขายตามร้านขายของโบราณ
ยังมีพระเจ้าไม้อีกชนิดหนึ่งเรียกว่า “พระเจ้าพร้าโต้” เป็นศิลปะที่เกิดจากภูมิปัญญาชาวบ้าน โดยผู้สร้างต้องใช้ความพยายามอย่างยิ่งในการแกะสลักให้ออกมาสวยงามและสร้างให้เสร็จภายใน 1 วัน
โดยเริ่มแกะสลักตั้งแต่ตะวันขึ้นและเสร็จในตอนตะวันตกดินพอดี จึงมีชื่อเรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า “พระเจ้าทันใจ”

เช่น ที่พิพิธภัณฑ์พระเจ้าพร้าโต้ วัดศรีดอนคำ อ.ลอง จ.แพร่ เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย สูง 3 เมตร หน้าตักกว้าง 1.5 เมตร มีพระเกศพุ่มสูงใหญ่ สัญลักษณ์แห่งโลกุตตระ ผู้มีธรรมอันอยู่พ้นโลก พระเกศา (ผม) เป็นหนามแหลมที่แสดงถึงความเฉียบแหลมแห่งปัญญา พระกรรณ (หู) ที่กว้างใหญ่ สัญลักษณ์ความเป็นผู้รู้มาก ฟังมาก เรียกว่า สัพพัญญู พระพักตร์ เป็นใบหน้าที่ยิ้มอย่างสงบแสดงถึงเมตตาธรรม เป็นต้น
พระเจ้าไม้ และพระเจ้าพร้าโต้เป็นพระพุทธรูปของล้านนาโดยเฉพาะ เชื่อกันว่าหากได้กราบไหว้จะทำให้ประสบความสำเร็จดั่งปรารถนาในเวลาอันรวดเร็ว เป็นพระพุทธรูปที่เกิดจากความเคารพนับถือ ความเลื่อมใส ความศรัทธา ในองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระพุทธศาสนาของคนล้านนา •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022