The ‘end of history’ will not come tomorrow. จิตรกรรมภาษี ตีแผ่ความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันในสังคม / อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ : ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ

ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์

 

The ‘end of history’ will not come tomorrow.

จิตรกรรมภาษี

ตีแผ่ความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันในสังคม

 

“โลกนี้ไม่มีอะไรแน่นอน เว้นเสียแต่ความตายและภาษี” เป็นคำกล่าวของ เบนจามิน แฟรงคลิน รัฐบุรุษผู้สร้างชาติของสหรัฐอเมริกา ที่แสดงให้เห็นถึงสิ่งที่ทุกคนต้องประสบพบเจออย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ไม่ต่างอะไรจากความตายอย่าง “ภาษี”

แต่ในความเป็นจริง ภาษีเป็นสิ่งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้สำหรับ “ทุกคน” จริงๆ หรือ?

คำถามเดียวกันนี้ ถูกตั้งขึ้นในนิทรรศการแสดงเดี่ยวครั้งล่าสุดของ วันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร ศิลปินคอนเซ็ปช่วลชาวไทยผู้สนใจในการตั้งคำถามเกี่ยวกับประเด็นความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ที่มีชื่อว่า The “end of history” will not come tomorrow. ที่วันทนีย์ใช้ผลงานศิลปะเป็นเสมือนหนึ่งเครื่องมือวิเคราะห์ประเด็นทางการเมืองในชีวิตประจำวัน ผ่านการทำระบบ Consumer Documentary (การสังเกตการณ์ของผู้บริโภค)

วันทนีย์สร้างสรรค์ผลงานที่เธอเรียกว่า “จิตรกรรมภาษี” (Tax painting) ขึ้นจากการเก็บข้อมูลและการสะสมหลักฐานการจ่ายภาษีทั้งทางตรงและทางอ้อมในช่วงปี พ.ศ.2562 จนกลายเป็นภาพวาดจำนวนเกือบ 300 ชิ้น ที่ถูกแขวนเรียงรายบนผนังห้องแสดงงาน และจัดวางซ้อนกันบนชั้นวาง ที่แสดงให้เห็นว่าการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของคนธรรมดาสามัญนั้นแฝงภาระทางภาษีหนักหน่วงเพียงใด

และเผยให้เห็นว่าโศกนาฏกรรมในชีวิตอาจไม่ได้มาจากความยากจน หากคือการเข้าไม่ถึงโอกาสที่ควรจะมี และการไร้อำนาจต่อรอง

ปัญหานี้จึงไม่ใช่แค่เรื่องของการบริหารจัดการระบบภาษี หากแต่เป็นความเหลื่อมล้ำไม่เท่าเทียมกันทางโอกาสและคุณภาพชีวิตของคนในสังคม

“เราวางแผนทำผลงานชุดนี้ตั้งแต่ก่อนที่จะจัดแสดงนิทรรศการ Broken Ladder เมื่อปี 2562 เสียอีก ที่เป็นเช่นนั้นเพราะเมื่อคำถามในเรื่องการครอบครองทรัพย์สินเริ่มเป็นรูปเป็นร่างได้ผลักให้เราไปต่อในแง่ที่ว่า แม้จะมีบ้านแล้ว แต่พื้นที่ในการต่อสู้ในชีวิตประจำวันนั้นไม่มีวันจบสิ้น เรารู้สึกว่าการเป็นผู้อาศัยในประเทศนี้นั้นยาก ยากตั้งแต่การมีชีวิตไปจนถึงการใช้ชีวิต”

“ผลงานชุดนี้จึงเลือกที่จะหยิบใบเสร็จต่างๆ จากการใช้จ่ายในชีวิตประจำวันที่ทุกคนมักจะได้มาแล้วโยนทิ้งไปในทันที ซึ่งบางคนอาจไม่เคยตรวจดูด้วยซ้ำ มาเป็นจุดเริ่มต้น”

“แน่นอนว่าข้อสงสัยที่ว่า ภาษีสร้างความเท่าเทียมจริงหรือ? ที่หลายคนถามกันนั้น เราก็สงสัยว่าคนอย่างเราๆ มีค่าใช้จ่ายทางภาษีปีละเท่าไรกัน? หลังจากที่เริ่มสะสมใบเสร็จและข้อมูลมาได้ในระยะหนึ่งก็พบว่า คนรวย คนมีสตางค์ เขามีวิธีที่จะลดหย่อนภาษีได้เยอะมาก และประโยคที่มีคนบางคนพูดว่า คนจนไม่เสียภาษี ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น คนจนเสียภาษีเยอะมากจากทุกกิจกรรม ทั้งภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง VAT หรือภาษีมูลค่าเพิ่ม”

“พอเราคิดว่าจะทำงานศิลปะเกี่ยวกับเรื่องภาษี แล้วเราจะทำอย่างไรให้คนเห็นความเป็นภาษี, เพราะพอพูดถึงภาษี อาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องรูปธรรม แต่จริงๆ แล้วมีความเป็นนามธรรมมากกว่า คือเราโดนภาษีโดยไม่รู้ตัวไปเรื่อยๆ ตัวอย่างเช่น ค่าจอดรถเราก็ต้องเสียภาษี หรือค่ายา ซึ่งเป็นสิ่งจําเป็น เป็นปัจจัยสี่ที่ทุกคนต้องใช้ หรือผ้าอนามัย, เสื้อใน, กางเกงใน, อาหารสัตว์ ก็ต้องเสียภาษีหมด”

“ถามว่าประเทศอื่นที่เป็นรัฐสวัสดิการเขาเสียภาษีกันเยอะไหม เขาเสียกันเยอะก็จริง แต่การที่เขาเสียภาษีเยอะ ภาษีเหล่านั้นก็กลับมาสู่รูปแบบของสวัสดิการรัฐที่มอบ สวัสดิภาพและความมั่นคงในชีวิตให้ประชาชน ในขณะที่ประเทศเรา ไม่ต้องบอกก็คงรู้กันดีอยู่”

“ตัวงานทุกชิ้นที่ทั้งถูกแขวน และถูกจัดวางอยู่ในชั้นวางพวกนี้สามารถอ้างอิงกลับไปสู่ใบเสร็จต้นทางได้ทุกชิ้น, อย่างที่เราบอกว่าใบเสร็จคือวัตถุดิบที่เป็นจุดเริ่มต้น ดังนั้น ไม่ว่าจะเป็นตัวเลขบนเฟรม ตำแหน่งของการจัดวางตัวเลข สีของเฟรม หรือแม้กระทั่งขนาดของมัน ล้วนเป็นเหมือนรหัสตัวเลขที่เราอยากให้คนดูได้ค่อยๆ ดูและคิดไปกับมัน”

“มีคนถามเราเหมือนกันว่าทำไมถึงเลือกที่จะนำเสนองานชุดนี้ในรูปของการทำงานจิตรกรรม แน่นอนว่าที่ผ่านมาเราไม่เคยทำวาดภาพมาก่อน และงานที่ผ่านมาก็มักจะมีเรื่องของมัลติมีเดียเข้ามาเกี่ยวข้องเสมอ ซึ่งครั้งนี้ก็มีเหมือนกัน เพียงแต่ผู้ชมอาจจะมองไม่เห็น เพราะมันปรากฏอยู่ในส่วนของกระบวนการทำงาน”

“จากคำถามนี้เราเลือกที่จะตอบ 2 คำตอบ ที่เราเลือกใช้วิธีการทำงานจิตรกรรม ก็เพราะเราอยากให้ตัวชิ้นงานสามารถที่จะเชื่อมโยงไปถึงวัตถุดิบต้นทางที่เคยเป็นมา การทำงานจิตรกรรมจึงเป็นเหมือนวิธีการที่เราหยิบมาใช้ ส่วนการใช้มัลติมีเดียนั้นไม่ได้หายไปไหน เพราะหลังจากได้ใบเสร็จต้นทาง เราก็เอามาสแกนลงในคอมพิวเตอร์ แล้วก็เอามาฉายด้วยโปรเจ็กเตอร์ให้ปรากฏอยู่บนเฟรม และจากสูตรการกำหนดรหัสตัวเลข จึงทำให้ชุดตัวเลขชุดหนึ่งคงอยู่ พร้อมกับชุดข้อมูลอีกหลายๆ ส่วนถูกลบทิ้งไป”

“ในส่วนเรื่องของสีพื้นของเฟรมแต่ละเฟรม ก็อ้างอิงมาจากสีของการบริโภค สีที่แต่ละหน่วยงาน/บริษัทห้างร้านเลือกใช้ให้เป็นสีตัวแทนความเป็นองค์กรหรือกิจการนั้นๆ สีก็เหมือนกับตัวเลขที่แฝงตัวสร้างความคุ้นเคยในแบบที่เราอาจจะไม่รู้ตัว มารู้อีกทีสีบางสีก็เข้ามามีอิทธิพลกับรูปแบบการบริโภคของเราแล้ว เช่น สีส้มที่เป็นตัวแทนของหน่วยงานการไฟฟ้าหน่วยงานหนึ่ง สีน้ำเงิน ตัวแทนของหน่วยงานการประปาหน่วยงานหนึ่ง เป็นต้น”

เมื่อเห็นผลงานจิตรกรรมที่ประกอบด้วยตัวเลขบนเฟรมอันว่างเปล่า หลายคนอาจนึกไปถึงผลงานของ ออง คาวารา (On Kawara) ศิลปินคอนเซ็ปช่วลเรืองนามชาวญี่ปุ่น ผู้ทำงานเกี่ยวกับข้อมูลและตัวเลข

วันทนีย์เฉลยให้เราฟังถึงความเหมือนที่แตกต่างระหว่างกันและกันว่า

“ในแง่หนึ่งเราตั้งใจยั่วล้องานของเขา ด้วยความที่เราสนใจตัวเลขเหมือนกัน เพราะเราคิดว่าตัวเลขเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเราทุกคน แต่ในขณะที่ตัวเลขของออง คาวารา พูดถึงวันเวลาประวัติศาสตร์ สำหรับเรา เรามองว่าที่เขาทำงานแบบนี้ได้ เพราะเขาเกิดในประเทศที่ทำให้เขาสามารถละเลียดกับความคิด หรือมีเวลาสังเคราะห์ชีวิตอย่างลึกซึ้งได้, ในขณะที่วิถีชีวิตของเราในประเทศนี้ เราไม่มีเวลาทำอะไร นอกจากทำมาหากินไปวันๆ เราถูกเอารัดเอาเปรียบ ถูกกดทับจนกระทั่งเราไม่มีเวลาให้คิดอะไรลึกซึ้งหรือมีความเป็นกวีอย่างเขา”

“เราว่าน่าเศร้านะ ว่าทำไมคนอย่างพวกเราตื่นขึ้นมาในประเทศนี้แล้วต้องนั่งคิดว่าจะหาทางรอดยังไงดี, เราคิดว่าชีวิตไม่ควรเป็นแบบนี้ เราไม่ควรจะยอมรับมัน, แต่แน่นอนว่าเราไม่ใช่นักต่อสู้เคลื่อนไหวทางการเมือง เราต่อสู้ด้วยงานศิลปะของเรามากกว่า”

นอกจากผลงานชุดหลักอย่าง จิตรกรรมภาษีแล้ว ในนิทรรศการครั้งนี้ยังมีผลงานอีกชุดที่จัดแสดงในห้องเล็กของหอศิลป์ ในรูปของกระดาษทำมือพื้นผิวแปลกตา ที่จัดแสดงในแท่นโชว์ไม้กรุกระจกหน้าตาดูเป็นทางการ ราวกับเป็นเอกสารราชการสำคัญก็ไม่ปาน

“ส่วนผลงานในห้องเล็กเราอยากจะพูดว่า ‘ภาษีเป็นสิ่งที่ทุกคนไม่อาจหลีกเลี่ยง’ แต่มีอยู่วันหนึ่ง ในขณะที่เราอ่านข่าวในอินเตอร์เน็ตไปเรื่อยๆ ก็เจอข่าวว่าในประเทศเรานี้มีการออกกฎหมายในการยกเว้นภาษีให้กับอภิสิทธิ์ชนบางกลุ่มโดยเฉพาะ ก็เลยกลายเป็นว่า สิ่งที่เข้าใจกันโดยสากลว่าไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้อย่างภาษี กลับมีความพยายามให้เกิดการหลีกเลี่ยงขึ้นได้ในประเทศนี้ โดยมีกฎหมาย 3 ฉบับนี้เอื้อประโยชน์ให้”

“ดังนั้น สิ่งที่เราเลือกทำก็คือ ถ้าภาพวาดเกือบ 300 ชิ้นนั้นคือการสร้างตัวแบบที่สามารถอ้างอิงไปยังต้นแบบขึ้นมาใหม่ ตัวงานในแท่นไม้นี้ก็คือการใช้วิธีการทำลายกายภาพที่มันถูกสร้างขึ้นมา เพื่อให้กลับไปสู่ความเป็นต้นแบบของจริงที่เป็นแค่กระดาษ สิ่งที่เราทำก็คือ ไม่ว่าจะเป็นใบเสร็จต้นทางหรือกฎหมายทั้ง 3 ฉบับ ที่เราพิมพ์ออกมา เราเอามาปั่นรวมกันทั้งหมด แล้วใช้เทคนิคการทำกระดาษด้วยตัวเอง โดยนำสิ่งที่เรามีอยู่มาทำให้อยู่ในรูปของกระดาษเปล่าขนาด A4 อีกครั้ง แต่ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่าในความเป็นกระดาษเปล่าก็ยังมีร่องรอยของใบเสร็จและตัวประกาศกฎหมายดังกล่าวเหลืออยู่ โดยไม่ได้ผ่านการควบคุมใดๆ”

เมื่อฟังเรื่องราวเหล่านี้แล้วทำให้เราอดรู้สึกไม่ได้ว่า ผลงานอันเงียบเชียบเรียบง่ายจนแทบจะไร้อารมณ์ของวันทนีย์ในนิทรรศการนี้ กลับกระตุ้นให้เราตระหนักถึงความหนักหน่วงของภาระภาษีอันเกิดจากช่องว่างของความเหลื่อมล้ำไม่เท่ากันในประเทศนี้ได้อย่างไม่น่าเชื่อ

นิทรรศการ The “end of history” will not come tomorrow. โดยวันทนีย์ ศิริพัฒนานันทกูร จัดแสดงตั้งแต่วันที่ 9 กรกฎาคม-11 กันยายน 2565 ที่แกลเลอรี่เว่อร์ (Gallery VER) สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Facebook @galleryver หรือโทรศัพท์ 0-2120-6098

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก Gallery VER •