หัวล้านชนกัน (1) / จ๋าจ๊ะ วรรณคดี : ญาดา อารัมภีร

ญาดา อารัมภีร
ภาประกอบ : หัวล้านชนกันศึกวันสะท้านคลอง งานดำเนินรำลึกเสด็จประพาสต้นรัชกาลที่ 5 คลองดำเนินสะดวก

จ๋าจ๊ะ วรรณคดี

ญาดา อารัมภีร

 

หัวล้านชนกัน (1)

 

หัวล้านชนกัน เป็นการละเล่นของชายหัวล้านที่ประลองกำลังโดยใช้ร่างกายส่วนบนคือ ศีรษะและหัวไหล่ ชน ดัน หรืองัดคู่ต่อสู้ สร้างความสนุกสนานครึกครื้นแก่หมู่คณะ

ภาพหัวล้านชนกันพบในงานศิลปะหลากหลาย เป็นจิตรกรรมฝาผนังตามที่ต่างๆ อาทิ เพดานศาลาการเปรียญ วัดทุ่งหญ้าคมบาง อ.เมือง จ.ราชบุรี จิตรกรรมบนสิม (อุโบสถ) วัดสนวนวารีพัฒนาราม ต.หัวหนอง อ.บ้านไผ่ จ.ขอนแก่น ฮูปแต้มประดับผนังอาคารวิหารวัดโพธิ์ชัย ต.นาพึง อ.นาแห้ว จ.เลย ฮูปแต้มประดับธรรมาสน์ไม้วัดบริบูรณ์ ต.พระบุ อ.พระยืน จ.ขอนแก่น ฯลฯ (ฮูปแต้ม = จิตรกรรมฝาผนัง)

การละเล่นนี้มีขึ้นเมื่อใดไม่ทราบแน่ แต่ที่แน่ๆ สมัยอยุธยามีแล้ว เป็นหนึ่งในเจ็ดการเล่นเบิกโรงก่อนการแสดงหนังใหญ่เรื่อง “สมุทรโฆษ” มีข้อความระบุวิธีการเล่นในวรรณคดีสมัยอยุธยา เรื่อง “สมุทรโฆษคำฉันท์” ดังนี้

[เรื่องเบิกโรง 1]

จะเล่นหัวล้าน ทั้งสองหัวบ้าน

คือหน้าผากผา จะจำชนกัน

ค ในสวภา จะดูหัวข้า

ทั้งสองใครแขง

หลังจากสรุปเรื่องเบิกโรงทั้งเจ็ดครบแล้ว ก็ต่อด้วยสังเขปเรื่องสมุทรโฆษ ตอนที่ 1-4 จากนั้นก็เริ่มเล่นเบิกโรงรายการแรก

[เบิกโรง 1 เล่นหัวล้านชนกัน]

เป็นการสู้กันตัวต่อตัวเพื่อฝากชื่อให้ผู้คนครั่นคร้าม

“หัวล้านทั้งสองชนอด ฦๅชาปรากฏ

กระเกลือกกระกริ้วไทกลัว

ทั้งยังเป็นการพนันสร้างความมั่นคงให้ครอบครัว

ชนได้ไถ่ข้าซื้อวัว ผสมเป็นครอบครัว

ทั้งเหย้าแลเรือนคูคัน

ไม่มีมวยล้มต้มคนดู เพราะทั้งคู่สู้กันเต็มที่ ไม่มีใครยอมใคร

สองข้างหาญชนเขี้ยวขัน สองเห็นหัวกัน

ก็คันยเยื้อมขนแขยงฯ”

 

ก่อนชนกันมีคุยโวข่มคู่ต่อสู้เพื่อผลทางจิตวิทยาว่าตัวเองมากประสบการณ์ ใครๆ ก็รู้ฝีมือและฉายาประจำตัว ชนแตกแหลกยับ ไหวหรือคิดจะมาสู้

กูนี้ไทถือ แต่ชาวลุ่มฦๅ

ว่ากูคำแหง เขาขึ้นชื่อกู

ชื่ออ้ายหัวแขง กูชนกลางแปลง

บรู้กี่ปาง

อย่าเห็นหัวเกลี้ยง กูชนโพล่เพนียง

ก็แตกโผงผาง ชาวลุ่มทั้งหลาย

รอาอางขนาง มึงต่อกูปาง

นี้จักเกี่ยงตาย

เมื่อคู่ต่อสู้ชาวลุ่ม ฉายา ‘อ้ายหัวแข็ง’ คุยข่ม ชาวไร่ก็เกทับด้วยสรรพคุณเหนือชั้นว่า ฉายา ‘อ้ายหัวตัน’ ของกูมีที่มา อย่ามาหือ สี่คนยังไม่พอมือ

“กูนี้ชาวไร่ กูก้มหัวไว้

หัวล้านทั้งหลาย ครั้งกูชวนชน

แล่นซรอกทุกพาย เขาเรียกกูนาย

ชื่ออ้ายหัวตัน

กูออกนอกบ้าน วันหนึ่งหัวล้าน

สี่คนคบกัน มาพอพบกู

กูชวนชนพนัน ตกใจยะยรร

แล่นเร้นไร่แตง”

 

‘อ้ายหัวตัน’ ทิ้งท้ายว่าจะสอนบทเรียนให้อ้ายหัวแข็งรู้สำนึกว่า แรงมึงสู้แรงกูไม่ได้

“ปรานีมึงนาย จักเกี่ยงหัวหาย

แลมากล้าแข็ง จะให้หัวมึง

จงแตกระแหง ว่ามึงทรามแรง

แลมาทระนง”

 

เมื่อการต่อสู้เริ่มขึ้น ‘อ้ายหัวแข็ง’ ชาวลุ่ม และ ‘อ้ายหัวตัน’ ชาวไร่ไม่ผิดอะไรกับช้างสารถาโถมปะทะกัน ไม่มีการออมแรง มีเท่าไรใส่เท่านั้น เห็นภาพ ‘หัวล้านกบาลใส’ กระจ่างชัด

“สองขาขึงเข้าขบฟัน คิ้วตายักยัน

แลแล่นรรื้นชมชน

ถ้อยตั้งถ้อยแล่นชนทน หัวล้านแสนกล

กลบรู้ใดใด

แคว้งแคว้งแสงหัวสองใส ส่องเห็นเงาใน

ก็แล่นกระทบทบทาน

บมิลื้นบมิลอกบมิอาน สองคือช้างสาร

แลชนกันปลักกลางแปลง”

เมื่อหัวล้านกระทบกันดังสนั่น ‘ชาวลุ่ม’ ก็ได้เลือด ออกอาการเมาเลือด หนีกระเจิดกระเจิง ชาวไร่ได้ทีไล่ตามติดเล่นงานฝ่ายตรงข้ามหมดสภาพในที่สุด

“ฉาดฉาดเสียงหัวสองแขง เลือดไหลลามแดง

ทั้งหน้าทั้งตาดูยัง

หัวล้านชาวลุ่มอังลัง เมาเลือดแล่นซรัง

ทุกแห่งทุกพายพ่ายสนาม

หัวล้านชาวไร่ไล่ปาม เข้าขวิดติดตาม

กันแทกก็หัวไถดิน ฯ”

 

ในที่นี้หัวล้านชนกันหาใช่ชนกันแค่สนุก แต่ชนเอาแพ้ชนะ แต่ละฝ่ายน่าจะมีร่างกายกำยำใหญ่โต ไม่เช่นนั้นกวีคงไม่เปรียบเทียบกับช้างสูงใหญ่ชนกัน ดังข้อความว่า ‘สองคือช้างสาร แลชนกันปลักกลางแปลง’

หัวล้านชนกันทำให้นึกถึงความสนุกสนานของผู้ชมและความเจ็บปวดของคู่ต่อสู้ ผู้ชมสนุกแน่ แต่ผู้ชนและคนใกล้ชิดคงไม่สนุก สังเกตได้จาก “เพลงกล่อมเด็กภาคใต้” มีเนื้อหาที่เมียแสดงความกังวลห่วงใยผัวหัวล้านที่ต้องไปแข่งขันจนเจ็บเนื้อเจ็บตัว

“ฮาเอ้อ นกโฉ้งหัวขวานเอย ได้ผัวหัวล้าน

เป็นทุกข์กังวล เดือนสี่เดือนห้า

เขาจับหัวล้านให้ชน เป็นทุกข์กังวล

เขาจับหัวล้านให้ชน กันเห้อ”

ฉบับนี้ หัวล้านชนกัน รู้ผลแพ้ชนะ ฉบับหน้า ไม่ทันชนก็เผ่นแน่บ •