คุยกับทูต : เดวิด เดลี อียู สานสัมพันธ์ไทยอย่างสร้างสรรค์ สมดุล เป็นรูปธรรม (2)

รายงานพิเศษ

ชนัดดา ชินะโยธิน

[email protected]

 

คุยกับทูต เดวิด เดลี

อียู สานสัมพันธ์ไทย

อย่างสร้างสรรค์ สมดุล เป็นรูปธรรม (2)

 

“ภารกิจที่สำคัญของผมในประเทศไทย ได้แก่ การเจรจาจัดทำกรอบความตกลงว่าด้วยความเป็นหุ้นส่วนและความร่วมมือรอบด้าน (PCA) ส่วนทางด้านการค้าการลงทุน ไทยและสหภาพยุโรปให้ความสำคัญต่อการจัดทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) ซึ่งการเจรจาได้ถูกระงับไป หลังเหตุการณ์รัฐประหารเมื่อปี 2014 ตอนนี้เรากลับมาเจรจาและกำหนดระดับเป้าหมายของเขตการค้าเสรี โดยพยายามให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคมปีนี้”

นายเดวิด เดลี (H.E. Mr. David Daly) เอกอัครราชทูตแห่งสหภาพยุโรป (อียู) ประจำประเทศไทย เล่าถึงแนวทางการทำงานของคณะผู้แทนสหภาพยุโรปที่เกี่ยวกับอินโด-แปซิฟิก สิ่งแวดล้อม สิทธิมนุษยชน ความร่วมมือทางวัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ

“ด้านอินโด-แปซิฟิก (Indo-Pacific) สหภาพยุโรปตระหนักถึงความสำคัญของภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ซึ่งไทยและอาเซียนเป็นศูนย์กลาง ได้เปิดตัวยุทธศาสตร์เพื่อความร่วมมือในอินโด-แปซิฟิกเมื่อเดือนกันยายน 2021″

รัฐมนตรีต่างประเทศของ 27 ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปได้อนุมัติ “ยุทธศาสตร์ความร่วมมือของสหภาพยุโรปในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก” โดยยุทธศาสตร์ใหม่นี้ถูกมองว่า จะช่วยส่งเสริมให้อียูเข้าถึงภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก โดยเฉพาะกับพันธมิตรที่สำคัญในภูมิภาคนี้ ความร่วมมือของประเทศในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกได้ถูกยกสู่ระดับความร่วมมืออย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน (unprecedented levels of cooperation)

นายเดวิด เดลี (H.E. Mr. David Daly) เอกอัครราชทูตแห่งสหภาพยุโรป หรืออียู ประจำประเทศไทย /เครดิตภาพ “สำนักงานคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย”

“ประเด็นยุทธศาสตร์เจ็ดประการที่สหภาพยุโรปมีความประสงค์ที่จะเพิ่มความร่วมมือกับประเทศในภูมิภาค มีความครอบคลุมทั้งในด้านเศรษฐกิจ การรักษาสภาพแวดล้อมและต่อสู้กับสภาวะโลกร้อน การบริหารจัดการท้องทะเล การบริหารจัดการยุคดิจิตอล การเชื่อมโยงระหว่างกัน ความมั่นคงของมนุษย์ การทหารและความมั่นคง”

การที่หลายประเทศหันมาปฏิบัติยุทธศาสตร์นี้แสดงให้เห็นถึงความจริงที่ว่า ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกกำลังกลายเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจและภูมิรัฐศาสตร์ที่สำคัญ ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกมีประชากรคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของโลก ตั้งอยู่ในศูนย์กลางของผลประโยชน์เชิงยุทธศาสตร์ทางการเมืองและเศรษฐกิจของโลก เป็นภูมิภาคที่มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และมีเส้นทางทะเลที่สำคัญเป็นอย่างมาก อีกทั้งมีกิจกรรมทางเศรษฐกิจและการค้าที่มีความคล่องตัวที่สุด ภูมิภาคนี้นับวันจะมีบทบาทที่สำคัญในศตวรรษที่ 21 และในอนาคต

“ยุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมนี้ เป็นการเชื้อเชิญอย่างเปิดเผยสำหรับฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อจัดการกับความท้าทายโดยทั่วไป”

“เป้าหมายของสหภาพยุโรปในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิกเป็นเป้าหมายในระยะยาว ที่เอื้อประโยชน์ต่อกัน โดยมีความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิด”

“สหภาพยุโรปในฐานะนักลงทุนชั้นนำ เป็นหุ้นส่วนความร่วมมือด้านการพัฒนาชั้นนำ และคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก”

“เมื่อรวมกันแล้ว อินโด-แปซิฟิกและยุโรปถือครองมากกว่า 70% ของการค้าสินค้าและบริการทั่วโลก เช่นเดียวกับกระแสการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศมากกว่า 60%”

นายเดวิด เดลี (H.E. Mr. David Daly) เอกอัครราชทูตแห่งสหภาพยุโรป หรืออียู ประจำประเทศไทย

“สิ่งแวดล้อม (Environment ) ปัญหาร่วมกันระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทย นั่นคือ วิกฤตสภาพอากาศเลวร้ายที่เพิ่มขึ้น เช่น น้ำท่วม”

“สหภาพยุโรปเป็นผู้นำระดับโลกในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ได้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไปแล้วกว่า 30% ตั้งแต่ปี 1990 ในขณะที่เศรษฐกิจเติบโตกว่า 60%”

“สหภาพยุโรป เดินหน้าอย่างชัดเจนผ่านนโยบายกรีนดีล (European Green Deal : EGD) ซึ่งนำเสนอเมื่อเดือนธันวาคม 2019 โดยมุ่งมั่นที่จะบรรลุความเป็นกลางของสภาพภูมิอากาศภายในปี 2050”

ความเป็นกลางของคาร์บอนภายในปี 2050 ได้กลายเป็นภารกิจเร่งด่วนที่สุดในโลก

European Green Deal คือ แผนการปฏิรูปสีเขียวและมาตรการทางภาษีของสหภาพยุโรป โดยคณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกแผนการปฏิรูปสีเขียว (European Green Deal) เป็นแผนยุทธศาสตร์ ในการสร้างสังคมที่เป็นธรรมบนพื้นฐานเศรษฐกิจที่ทันสมัยและใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 50-55 ภายในปี 2030

“ความร่วมมือระหว่างสหภาพยุโรปและประเทศไทยในด้านความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและความยืดหยุ่นของสภาพอากาศ ได้รวมถึงความร่วมมือในข้อตกลงสีเขียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ทับซ้อนกับ BCG ของไทย การสนับสนุนคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง โครงการเกี่ยวกับป่าไม้ที่ยั่งยืน การสนับสนุนระดับสูงของสหภาพยุโรป-อาเซียนในการเสวนาว่าด้วยสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ต่อสู้กับขยะพลาสติกและขยะในทะเล”

ประเทศไทยมีรากฐาน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งดีๆ ที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ เช่น ศิลปวัฒนธรรม เป็นรากฐานที่หลายประเทศไม่มี กว่า 10% ของความหลากหลายทางชีวภาพอยู่ที่ไทย กลไกสำคัญ คือรัฐบาลได้กำหนดนโยบายการขับเคลื่อน BCG (Bio-Circular-Green Economy) เป็นวาระแห่งชาติ ได้แก่ เศรษฐกิจชีวภาพ (Bio-economy) เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) เศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)

นายเดวิด เดลี ทูตอียู หารือกับนายสุทธิพงษ์ จุลเจริญ ปลัดกระทรวงมหาดไทยในประเด็นผู้พลัดถิ่นชาวเมียนมาในประเทศไทย

“สิทธิมนุษยชน ( Human Rights) สหภาพยุโรป ทำงานร่วมกับรัฐบาลไทย ภาคประชาสังคม และสถาบันคลังสมอง (think tanks) รวมทั้งหน่วยงานของสหประชาชาติ (UN) เพื่อเสริมสร้างสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย ความคืบหน้าที่สำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้แก่ แผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน สิทธิจากเรือสู่ฝั่ง (งานที่มีคุณค่า, แรงงานอพยพ)”

“European Instrument for Democracy and Human Rights (EIDHR) คือภารกิจของสหภาพยุโรปในการส่งเสริมและสนับสนุนประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนอย่างเป็นรูปธรรมในประเทศที่กำลังพัฒนา โดยมีการริเริ่มเมื่อปี 2014 ด้วยเป้าหมายที่จะจัดทำนโยบายด้านประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศที่มิใช่สมาชิกสหภาพยุโรป สนับสนุนนักปกป้องสิทธิมนุษยชน แรงงานข้ามชาติ และการต่อสู้กับการค้ามนุษย์”

“รวมทั้งการสนับสนุนให้ประเทศไทยปฏิบัติตามข้อเสนอแนะของการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชน (Universal Periodic Review หรือ UPR)”

กระบวนการ Universal Periodic Review (UPR) เป็นกลไกการตรวจสอบสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐบาลภายใต้สภาสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (Human Rights Council) ตั้งอยู่ที่เมืองเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ภายใต้กลไกนี้รัฐสมาชิกของยูเอ็นจำเป็นต้องเข้ากระบวนการตรวจสอบทบทวนสิทธิมนุษยชนระหว่างรัฐบาล โดยทุกประเทศจะมีสิทธิในการทบทวนสิทธิมนุษยชนประเทศต่างๆ และจำเป็นที่จะต้องถูกทบทวนจากประเทศต่างๆ ด้วยเช่นกัน ซึ่งทุกประเทศจะต้องถูกทบทวนตรวจสอบประมาณทุก 4 ปี

และประเทศไทยในฐานะสมาชิกยูเอ็น จำเป็นต้องถูกทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนภายใต้กลไกนี้เช่นกัน

Europe Day ใน สเปน

“ความร่วมมือทางวัฒนธรรมและการแลกเปลี่ยนทางวิชาการ (Cultural cooperation/Academic Exchanges) สหภาพยุโรปเสนอโครงการทุนการศึกษาที่ใหญ่ที่สุดในโลกชื่อ อีราสมุส พลัส (Erasmus+) ซึ่งช่วยให้นักศึกษาสามารถแลกเปลี่ยนทางวิชาการระหว่างสถาบันของสหภาพยุโรปและประเทศหุ้นส่วนได้

และยังมอบทุนการศึกษาให้กับนักเรียนไทยเพื่อศึกษาต่อในมหาวิทยาลัยในยุโรปอีกด้วย”

วันนี้เหตุการณ์ที่ทั่วโลกต่างจับตามองหนีไม่พ้นการระบาดใหญ่ (Pandemic) และประเด็นภูมิรัฐศาสตร์ จากการรุกรานยูเครนของรัสเซีย

ทูตอียู นายเดวิด เดลี ชี้แจงว่า

“เรื่องการระบาดใหญ่ (Pandemic) กลยุทธ์การทูตวัคซีนของสหภาพยุโรปเป็นตัวอย่างของความร่วมมือและความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน สหภาพยุโรปมีวัคซีน 4.2 พันล้านโดส และส่งออกวัคซีน 1.7 พันล้านโดสไปยังประเทศที่ไม่ใช่สมาชิกสหภาพยุโรป โดยประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปส่งออก 32 ล้านโดสมายังประเทศไทย ส่งผลให้ประเทศไทยได้รับใบรับรอง Digital COVID Certificate”

โครงการโคแวกซ์-Covax ภาพ -Atalayar

“ในฐานะเอกอัครราชทูตสหภาพยุโรป ผมมีความภาคภูมิใจมาก ตั้งแต่เริ่มต้น สหภาพยุโรปได้แสดงให้เห็นชัดเจนว่าจะแบ่งปันวัคซีนอย่างน้อยร้อยละ 50 ให้แก่ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในขณะที่บางชาติมีวัคซีนแต่ไม่ได้ทำอย่างนั้น ความภาคภูมิใจที่สองคือ การเป็นผู้สนับสนุนด้านการเงินของระบบ Covax ทุกครั้งที่คุณได้ยินคำว่า covax ประสบความสำเร็จในการกระจายวัคซีนไปยังประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียและแอฟริกา ที่ยากจนกว่า ผู้คนอ่อนแอกว่า ก็ได้โปรดระลึกว่า ประมาณครึ่งหนึ่งของวัคซีนนั้น มาจากสหภาพยุโรป”

โครงการโคแวกซ์ ( Covax ย่อมาจาก Covid-19 Vaccines Global Access Facility) หรือโครงการเพื่อการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ระดับโลกซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อเดือนเมษายน ปี 2020 มุ่งสนับสนุนการพัฒนา จัดซื้อ และส่งวัคซีนไปยังกว่า 180 ประเทศทั่วโลก โดยมีองค์การอนามัยโลกเป็นผู้นำ ร่วมกับองค์กรพันธมิตรเพื่อวัคซีน (Gavi) ที่ก่อตั้งโดยบิลและเมลินดา เกตส์ และกลุ่มพันธมิตรความร่วมมือด้านนวัตกรรมเพื่อรับมือโรคระบาด (Cepi)

“เราหวังว่าบทเรียนจากโควิดจะได้รับการเรียนรู้เพื่อจะได้เตรียมตัวในครั้งต่อไปให้ดียิ่งขึ้น ความท้าทายครั้งสำคัญสำหรับโลกในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มีผู้คนมากมายได้รับการชื่นชม นับตั้งแต่นักวิทยาศาสตร์ แพทย์ บุคลากรทางการแพทย์ โรงพยาบาล ตลอดจนผู้กำหนดนโยบายในการควบคุมโควิดของแต่ละประเทศ ดังนั้น เราจึงได้เห็นข้อจำกัดที่วางไว้กับตัวเองและสังคมในการดูแลตนเอง รวมทั้งการเคลื่อนที่ไปยังสถานที่ต่างๆ”

อียู อยู่เคียงข้าง ยูเครน ภาพ- CNBC

“มาถึงตอนนี้ ก็เป็นเรื่อง การรุกรานยูเครนของรัสเซีย สหภาพยุโรปประณามการโจมตียูเครนของกองกำลังทหารรัสเซีย ที่เป็นไปอย่างไร้เหตุผลและไร้ซึ่งความยุติธรรม เป็นการกระทำโดยปราศจากการยั่วยุ เป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศและกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศอย่างร้ายแรง ซึ่งเป็นปัญหาที่เราทุกคนกังวล เพราะเป็นการทำลายกฎเกณฑ์ ระเบียบสากล ที่ทั้งไทยและอียูให้การสนับสนุนและได้รับประโยชน์อย่างต่อเนื่อง เพราะไม่ว่าประเทศใดประเทศหนึ่งจะมีความคับข้องใจอย่างไร ก็ยังมีอีกประเทศหนึ่งมีสิทธิที่จะโต้แย้ง ข้อพิพาทควรได้รับการแก้ไขบนโต๊ะเจรจาและไม่ควรให้กองกำลังทหารข้ามพรมแดนเข้ามารุกรานเพื่อนบ้าน”

“ประเด็นสำคัญประการหนึ่งของสงครามครั้งนี้คือ การโจมตีสถาบัน ไม่เพียงแต่กับยูเครน แต่กับระบบทั้งหมดของสหประชาชาติ ซึ่งหลักการส่วนใหญ่แตกต่างกันอย่างมาก ระบบระหว่างประเทศ ในพหุภาคี อยู่ในกฎระเบียบ การเจรจาต่อรอง ซึ่งสหภาพยุโรปให้การสนับสนุน หรือระบบที่อิงอำนาจทางทหารและอานุภาพ ที่ประเทศใหญ่สามารถทำได้ ซึ่งประธานาธิบดีปูตินได้เลือกใช้ระบบนี้ในปฏิบัติการต่อต้านยูเครนและต่อต้านระบบโลก

“ในขณะที่เราเลือกที่จะปกป้องระบบตามกฎเกณฑ์ โดยไม่อาศัยอำนาจทางการทหาร เป็นความท้าทายหลักที่ต้องได้รับการแก้ไขของโลกในปัจจุบัน”

“เรารับทราบว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ร่วมลงมติประณามการรุกรานยูเครนของรัสเซียในระหว่างการประชุมสมัชชาใหญ่แห่งสหประชาชาติในกรณีฉุกเฉินพิเศษครั้งที่ 11 ซึ่งสหภาพยุโรปจำเป็นต้องปกป้องหลักการของกฎตามระเบียบสากล โดยจะยังคงทำงานต่อไปเพื่อประโยชน์ของสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ ปกป้องทุกรัฐทั้งใหญ่และเล็ก ยืนเคียงข้างยูเครน สนับสนุนสถาบันและตัวแทนที่เป็นประชาธิปไตย การรวมตัวในการตอบโต้ จึงนับเป็นมาตรการคว่ำบาตรที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของเรา”

“อย่างไรก็ตาม มาตรการคว่ำบาตรของสหภาพยุโรปไม่ได้เป็นสาเหตุที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อความมั่นคงด้านอาหารของโลก และราคาน้ำมันที่สูงขึ้น การรุกรานของรัสเซียในยูเครนคือสาเหตุที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงดังกล่าว”

“การบิดเบือนข้อมูล (Disinformation) เป็นส่วนหนึ่งของสงครามรัสเซียรุกรานยูเครน ซึ่งทางการรัสเซียกำลังดำเนินการจัดการข้อมูลเกี่ยวกับสงครามในยูเครน รวมถึงการใช้กลวิธีบงการและการเผยแพร่ข้อมูลเท็จ โดยการประสานงานและทุนสนับสนุนจากรัฐ”

“ทั้งนี้ เพื่อต่อต้านการบิดเบือนข้อมูลดังกล่าว คณะมนตรียุโรป (European Council) มีมติให้ก่อตั้งเว็บไซต์ EUvsDisinfo ขึ้นในปี 2015 เพื่อประโยชน์จากการคาดการณ์ และตอบสนองต่อแคมเปญบิดเบือนข้อมูลอย่างต่อเนื่องของสหพันธรัฐรัสเซีย”

“วัตถุประสงค์หลัก คือเพิ่มการรับรู้และความเข้าใจของสาธารณชนเกี่ยวกับการดำเนินการบิดเบือนข้อมูลของเครมลิน และเพื่อช่วยเหลือพลเมืองในยุโรป นอกเหนือจากการพัฒนา การต่อต้านข้อมูลดิจิตอลและการจัดการสื่อ” •

คุยกับทูต : เดวิด เดลี อียูสานสัมพันธ์ไทยอย่างสร้างสรรค์ สมดุล เป็นรูปธรรม (1)

คุยกับทูต : เดวิด เดลี อียูสานสัมพันธ์ไทยอย่างสร้างสรรค์ สมดุล เป็นรูปธรรม (1)