ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 กรกฎาคม - 4 สิงหาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | ท่าอากาศยานต่างความคิด |
เผยแพร่ |
ท่าอากาศยานต่างความคิด
อนุสรณ์ ติปยานนท์
บางอย่างในความรักของเรา (19)
ผมใส่หนังสือนวนิยายเล่มนั้นลงในกระเป๋าสะพาย โดยสารรถประจำทางกลับสู่ห้องพัก ในระหว่างที่อยู่บนรถประจำทางผมพลิกหนังสือเล่มนั้นไปมา มันมีความหนาเกินกว่างานบทกวีที่ผมตั้งใจจะแปลอยู่มากทีเดียว ผมปิดหน้าหนังสือก่อนถึงป้ายรถโดยสารที่ใกล้ที่พักของตน ถอนหายใจ หนังสือเล่มแรกที่ผมจะได้ทำการแปลนั้นเป็นภูเขาสูงใหญ่ที่ชวนให้ผมสงสัยว่าผมจะปีนป่ายข้ามมันได้หรือไม่
อากาศวันนั้นร้อนอบอ้าว การโดยสารรถประจำทางที่มีแต่พัดลมทำให้ผมรู้สึกเหนียวตัวอย่างยิ่ง ผมอาบน้ำ ผลัดเปลี่ยนเสื้อผ้า ก่อนจะทิ้งตัวลงนอนมองฝ้าเพดาน ผมเปิดหน้าต่างทุกบานเพื่อให้ลมจากแม่น้ำเจ้าพระยาผ่านเข้ามา แต่กระนั้นผมก็ยังรู้สึกว่ามันหาได้ช่วยอะไรเลย
ความอ่อนเพลียทำให้ผมหลับลง จนกระทั่งใครบางคนเคาะประตูห้องของผมอย่างแรง
ผมงัวเงียลุกจากที่นอน ถอดก้านกลอนประตู บุคคลที่ยืนอยู่ตรงนั้นคือผู้เป็นเจ้าของบ้าน สีหน้าของเขาเบื่อหน่ายอย่างบอกไม่ถูก แต่ไม่ใช่ความเบื่อหน่ายจากการเจอผม มันคือความเบื่อหน่ายจากอะไรบางอย่างที่ผมคาดเดาได้ว่าอยู่ลึกลงไปในใจของเขา
“มีโทรศัพท์ถึงคุณตอนที่คุณไม่อยู่ เขาบอกว่าเป็นเพื่อนคุณ มีธุระด่วน เขาทิ้งเบอร์ไว้ด้วย” ชายเจ้าของบ้านยื่นเศษกระดาษให้ผม มีตัวเลขหลายตัวที่บ่งบอกว่ามันเป็นโทรศัพท์บ้านในเขตกรุงเทพฯ
“ผู้หญิงนะ เสียงเพราะทีเดียว เขาบอกชื่อสั้นๆ ว่านาง”
ผมรับเศษกระดาษแผ่นเล็กนั้นจากเขาและก่อนที่ผมจะเอ่ยขอบคุณ ชายเจ้าของบ้านก็จากไปแล้ว เขาเดินลงบันไดไปชั้นล่างพร้อมกับสีหน้าอันเหนื่อยหน่ายที่ดูเหมือนจะกลายเป็นสัญลักษณ์ส่วนตนของเขาแล้ว
ผมอ่านชื่อของผู้ส่ง “นาง” ชื่อที่ผมไม่คาดคิดว่าจะเป็นบุคคลที่โทรศัพท์หาผม เด็กสาวที่ผมรังแกเธอ หญิงสาวที่ผมตั้งสมญานามอันน่ารังเกียจแก่เธอ ผมไม่คาดคิดถึงใครอื่น นางนั่นเอง นางผู้เป็นเพื่อนผมและปิ่น
ผมทิ้งตัวลงนอนอีกครั้ง ในครานี้ความอ่อนเพลียดูจะถาโถมผมหนักขึ้นกว่าแต่ก่อน ผมหลับลงอีกครั้งแทบจะในห้านาทีถัดมา หลับสนิทแบบไม่มีความฝันใด แต่เมื่อผมตื่นขึ้นในยามโพล้เพล้ ผมกลับพบว่ามีคราบน้ำตาบนใบหน้า เป็นไปได้ว่าผมอาจฝันแต่ไม่รู้ตัว และความฝันนั้นย่อมเป็นความฝันอันเศร้าโศกอย่างแน่นอน
ผมเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดเสื้อแขนสั้นและกางยีนส์ซีดขายาวที่เก่าคร่ำคร่า ผมยัดเศษธนบัตรที่พบในห้องทั้งหมดลงในกระเป๋ากางเกง ตบมันเบาๆ ให้เศษธนบัตรเหล่านั้นล้มตัวนอนอย่างอบอุ่น ผมลงบันไดเดินออกจากบ้าน พระอาทิตย์กำลังจะตกดิน เวลาแห่งความมืดกำลังเริ่มต้นการทำงานของมัน
ราวห้านาทีผมก็มาถึงตู้โทรศัพท์สาธารณะที่หน้าปากซอย ผมหยอดเหรียญที่กำมาใส่ลงในช่อง ยกหูและหมุนหน้าปัดโทรศัพท์ หน้าปัดเคลื่อนตัวอย่างเกียจคร้าน
ผมรออยู่ชั่วครู่ก่อนที่เสียงปลายสายจะดังขึ้น
“ฮัลโหล? นางพูดค่ะ”
ผมเอ่ยชื่อของผม นางดูไม่ประหลาดใจทั้งที่เราไม่ได้พบกันมาเนิ่นนาน เธอน่าจะเฝ้ารอการโทรศัพท์มาของผมอยู่แล้ว และก่อนที่การถามไถ่ทุกข์สุขจะยืดยาวไป นางก็พูดจากปลายสายว่า “ปิ่นกำลังจะหมั้นแล้ว เธอรู้หรือไม่?”
“หมั้น” ผมทวนข้อความนี้ “นางหมายถึงการหมั้นหมายที่นำไปสู่การแต่งงานนะหรือ?”
“ใช่” นางตอบเบาๆ “มันมีการหมั้นหมายเพียงแบบเดียวมิใช่หรือ?”
ผมเปลี่ยนหูโทรศัพท์จากมืออีกข้างหนึ่งมาสู่มืออีกข้างหนึ่ง มีเหงื่อจำนวนมากไหลออกมาจนหูโทรศัพท์เหนียวเหนอะ ผมรู้สึกได้ถึงความร้อนรุ่มของโลกข้างนอกในขณะที่โลกข้างในกายของผมเย็นเฉียบ
“ที่ไหน เมื่อไหร่และเพราะอะไร?” ผมรัวคำถามไม่ยั้งกับปลายสาย
“ที่บ้าน อาทิตย์หน้า ส่วนเพราะอะไรนั้น ไม่อาจรู้ได้”
“ผมไม่รู้เลยว่าปิ่นกลับจากต่างประเทศแล้ว” น้ำเสียงของผมสั่นเครือ
“ไม่มีใครรู้ ในหมู่พวกเรามีไม่กี่คนที่รู้เพราะปิ่นชวนไปงานของเขา เธอโอเคใช่ไหม?”
ผมไม่แน่ใจว่านางถามคำถามนั้นด้วยเหตุผลอะไร แต่แทนการตอบคำถามนั้น ผมเสียมารยาทกับนางด้วยการแขวนหูโทรศัพท์เข้ากับตัวเครื่อง และในระหว่างการเดินกลับที่พักนั้นผมตระหนักได้ว่าผมไม่เพียงเสียมารยาทต่อนางแม้การขอโทษเรื่องราวในอดีตที่ผมทำต่อเธอ ผมก็ลืมเลือนมันไป

เช้าวันรุ่งขึ้น ผมตื่นแต่เช้าตรู่ หลังกาแฟแก้วแรก ผมเริ่มต้นอ่านนวนิยายเรื่อง “Poland”
มันเป็นนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ของครอบครัวชาวโปลิชสามครอบครัวที่กินเวลายาวนานถึงกว่าเจ็ดร้อยปี ครอบครัวทั้งสามครอบครัวนั้นประกอบไปด้วยครอบครัวลูบองสกี้ ครอบครัวบูโคว์สกี้ และครอบครัวบุค แต่ละครอบครัวมีวิถีชีวิตและฐานันดรแตกต่างกันไป
ครอบครัวลูบองสกี้เป็นครอบครัวที่เป็นกษัตริย์ผู้ปกครองโปแลนด์
ครอบครัวบูโคว์สกี้เป็นครอบครัวที่เป็นพวกขุนนาง
ในขณะที่ครอบครัวบุคนั้นเป็นพวกชาวนา
สมาชิกในครอบครัวทั้งสามนั้นมีความเกี่ยวพันกันไปมา บ้างก็ในฐานะของคนที่เกื้อกูล บ้างก็ในฐานะของศัตรู ในระหว่างปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวละครนั้น
ผู้เขียนคือมิชเชนเนอร์ได้สอดแทรกเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ของโปแลนด์เป็นระยะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องราวการบุกรุกจากทางทิศตะวันออกของพวกมองโกล เรื่องราวการบุกรุกจากทางเหนือของพวกสวีดิช หรือเรื่องราวการบุกรุกจากทางใต้ของพวกเติร์ก
ในขณะที่ชีวิตของผู้คนสามัญดำเนินไปอย่างสงบ ชีวิตของประเทศชาติก็ดำเนินไปด้วยแรงบีบคั้น
และในขณะที่ชีวิตของประเทศดำเนินไปอย่างสันติ ชีวิตของผู้คนกลับเต็มไปด้วยการต่อสู้นานา
ผมใช้เวลาสองอาทิตย์อ่านนวนิยายเล่มนี้ไปได้เพียงครึ่งทาง หลายบท หลายตอนเต็มไปด้วยถ้อยคำที่ยากและต้องพึ่งพาพจนานุกรมอย่างยิ่ง
ในช่วงปลายของสัปดาห์แรก ผมอ่านทวนหนังสือชื่อ “ศิลปะแห่งการแปล” ของอาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ และพบว่าเราไม่อาจมีพจนานุกรรมคู่มือเพียงฉบับเดียวได้ พจนานุกรมที่ผมมีคือพจนานุกรมฉบับมาตรฐานของสอ เสถบุตร ที่จัดพิมพ์โดยไทยวัฒนาพาณิช ซึ่งแม้ว่าจะเป็นพจนานุกรมที่ดีและมีประโยชน์มากมาย แต่หลายคำก็เป็นคำที่พ้นสมัยไปแล้ว
ผมตัดสินใจเอาเงินเก็บส่วนตัวซื้อพจนานุกรมสองเล่ม เล่มแรกเป็นพจนานุกรมของลองแมน อีกเล่มนั้นเป็นพจนานุกรมของ American Heritage เพื่อใช้หาศัพท์ที่ไม่ปรากฏในพจนานุกรมเล่มอื่น
การได้พจนานุกรมใหม่ทั้งสองเล่มสร้างความสดชื่นและความกระตือรือร้นให้กับผมเป็นอย่างมาก
และเมื่อถึงสัปดาห์ที่สาม ผมก็ตัดสินใจจะลงมือแปลบทแรกของนวนิยาย “Poland”
การแปลในช่วงแรก ผมยังมีความขลุกขลักเรื่องภาษาอยู่บ้าง แต่แล้วหลังจากผมค้นหาสำนวนที่เหมาะสมได้ การแปลก็ราบรื่นขึ้น
ผมตัดสินใจใช้สำนวนแปลแบบโบราณของ “สันตสิริ” นักแปลที่ผมชื่นชอบจากนวนิยายอิงประวัติศาสตร์ฝรั่งเศสเรื่องเอเตียน เชรา ทหารเอกนโปเลียน ในแต่ละหน้าของการแปล ผมทำโน้ตย่อประกอบ สร้างเชิงอรรถขนาดใหญ่
ผมตั้งใจทำงานชิ้นนี้อย่างมาก เพื่อพิสูจน์ให้กับบรรณาธิการผู้ที่ผมยังไม่มักคุ้นว่าผมหาได้เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยที่ไร้วินัยและความตั้งใจจริง ราวห้าวันบทแรกของนวนิยาย Poland ก็เสร็จลง
ด้วยความที่ผมไม่มีเครื่องพิมพ์ดีด ผมตัดสินใจลอกงานแปลทั้งหมดของผมด้วยลายมือบรรจง อาจดูน่าแปลกที่นักศึกษาหนุ่มคนหนึ่งจะตั้งใจกับงานชิ้นแรกในชีวิตของเขาเช่นนี้ แต่ผมรู้ตัวดีว่าการทำงานชิ้นนี้อย่างหมดจิตหมดใจนั้นเป็นเพราะผมต้องการที่จะให้เวลาทั้งหมดเกี่ยวกับงานเพื่อลืมเรื่องราวของปิ่น
เช้าวันถัดมา ผมเอาต้นฉบับงานแปลของผมไปถ่ายเอกสาร ทำสำเนาหนึ่งชุด ก่อนจะเอามันใส่แฟ้มเอกสารและนั่งรถประจำทางไปยังสำนักพิมพ์
เมื่อลงรถประจำทาง ผมเดินตรงเข้าซอยไปจนถึงอาคารหลังเดิมที่ผมปรากฏตัวเมื่อหลายสัปดาห์ก่อน ผมแหงนมองป้ายชื่อสำนักพิมพ์ และท่ามกลางแสงแดดยามเช้านั้นเอง
ผมก็ตระหนักได้ว่าวันนี้นอกจากจะเป็นวันที่ตัดสินชะตาชีวิตของผมในฐานะนักแปลแล้ว มันยังเป็นวันหมั้นของปิ่นอีกด้วย •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022