สุจิตต์ วงษ์เทศ/ปี่พาทย์นางหงส์ ประโคมงานศพคนชั้นสูง

สุจิตต์ วงษ์เทศ/www.sujitwongthes.com

ปี่พาทย์นางหงส์ ประโคมงานศพคนชั้นสูง

ปี่พาทย์นางหงส์ เป็นเครื่องดนตรีประโคมงานศพของคนชั้นสูง หรือคนชั้นนำระดับสูง แล้วแพร่หลายสมัยหลังๆ ลงสู่งานศพสามัญชนชาวบ้านกลุ่มแคบๆ ในเมือง

คนบ้านนอกสมัยก่อนไม่มีเครื่องดนตรีชั้นสูงที่ใช้ในปี่พาทย์นางหงส์ แม้ทุกวันนี้ก็รู้จักในวงจำกัดเฉพาะกลุ่ม (ผมเคยเขียนขึ้นออนไลน์ครั้งหลังสุดเมื่อวันศุกร์ 16 ธันวาคม 2559)

คนทั่วไปรู้จักมักคุ้นมาก ว่างานศพไทยนิยมใช้ปี่พาทย์มอญ แต่ไม่รู้จักปี่พาทย์นางหงส์ ซึ่งมีปี่ชวากับกลองแขกเป็นเครื่องดนตรีพิเศษผสมอยู่ด้วย

ปี่ชวา กลองแขก

ปี่ชวา กลองแขก เป็นเครื่องประโคมศักดิ์สิทธิ์ มีต้นแบบจากอินเดียโดยผ่านราชสำนักชวา-มลายู

จากนั้นราชสำนักอยุธยารับไปใช้ประโคมในขบวนพยุหยาตรา (เรียก ปัญจดุริยางค์ หรือ เบญจดุริยางค์) เพราะมีเสียงดัง ฟังชัด

ชาวบ้านทั่วไปไม่มีเครื่องมือด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงอย่างนี้ ทำเองก็ไม่ได้ แล้วยังมีข้อห้ามทำเทียมเจ้านาย ใครขืนทำต้องถูกลงโทษหนักถึงตาย

วงบัวลอย

ต่อมาปรับจากปี่ชวา 1 เลา กลองแขก 4 ลูก (หรือ กลอง 4 ปี่ 1) ให้ลดเหลือกลองคู่เดียว (มี 2 ลูก) ปี่ชวา 1 ฆ้องเหม่ง 1 เรียก วงบัวลอย

ใช้ประโคมทั้งงานศพกับงานมหรสพที่ท้องสนามหลวง กรุงรัตนโกสินทร์ เช่น ไต่ลวด, ลอดบ่วง, นอนหอกนอนดาบ [สาส์นสมเด็จ ฉบับลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2483]

ย่อมไม่ใช่งานสามัญชนตามคำอธิบายของทางการยุคนี้ เช่น กรมศิลปากร

ปี่พาทย์นางหงส์ ขุนนางทำเลียนแบบเจ้านาย

วงบัวลอย ต่อมาก็กลืนกลายเข้ากับวงปี่พาทย์พิธี เพื่อใช้ประโคมเพลงนางหงส์งานศพคนชั้นสูงในราชสำนัก เรียก ปี่พาทย์นางหงส์ [สาส์นสมเด็จ ฉบับลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2483]

ครั้นสังคมก้าวหน้าขึ้น และพิธีกรรมโบราณคลายความศักดิ์สิทธิ์ลงเรื่อยๆ บรรดาขุนนางระดับสูงๆ ตลอดจนเจ้าสัวมีทรัพย์ ต่างพากันเลียนแบบเจ้านายยุคก่อนๆ ทำงานศพโดยมีปี่พาทย์นางหงส์กับวงบัวลอย

เรื่องนี้สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเล่าถึงงานศพหม่อมเฉื่อย (ชายาใหญ่ของกรมดำรงฯ) ว่า “เมื่อครั้งงานศพหม่อมเฉื่อยของหม่อมฉัน เจ้าพระยาเทเวศร์ท่านจัดปี่พาทย์นางหงส์อย่างประณีต ไปช่วยที่สุสานหลวง ณ วัดเทพศิรินทร์…” [สาส์นสมเด็จ ฉบับลงวันที่ 16 กรกฎาคม 2483]

เป็นพยานว่าเครื่องประโคมอย่างปี่พาทย์นางหงส์ สมัย ร.5 (และหลังจากนั้น) เป็นสมบัติของขุนนางชั้นสูงอย่างเจ้าพระยาเทเวศร์ (โดยมีสามัญชนบ่าวไพร่เป็นนักดนตรี แต่ไม่ใช่เจ้าของเครื่องดนตรีปี่พาทย์นางหงส์)

ชาวบ้านเลียนแบบขุนนาง

ปี่พาทย์นางหงส์ กับ วงบัวลอย นานเข้าก็แพร่ลงถึงงานศพสามัญชนชาวบ้านในกรุงเทพฯ ที่เป็นเครือญาติเครือข่ายข้าเก่าเต่าเลี้ยง หรือเป็นพวกมีอาชีพรับจ้างทำปี่พาทย์ ซึ่งเคยอยู่มาก่อนกับเจ้านายขุนนาง ซึ่งต้องถือเป็นงานพิเศษ ไม่มีทำทั่วไป

พ้นออกไปจากกรุงเทพฯ ชาวบ้านไม่มีใครรู้จักปี่พาทย์นางหงส์กับวงบัวลอย

บ้านนอกไม่มีปี่พาทย์นางหงส์

ยิ่งบ้านนอกขอกนาออกไปไกลๆ ยิ่งไม่รู้จักปี่พาทย์นางหงส์

ครูพินิจ ฉายสุวรรณ (พ.ศ.2474-2560) ศิลปินแห่งชาติทางดนตรีปี่พาทย์ เกิดที่บ้านนา ต.บ้านนา อ.มหาราช จ.พระนครศรีอยุธยา เคยเขียนเล่าไว้ว่าบ้านนอกที่อยุธยา ไม่เคยได้ยินว่ามีปี่พาทย์นางหงส์ เพิ่งรู้จักเมื่อเข้ากรุงเทพฯ หลังสงครามโลก จะคัดมาดังนี้

“ในตอนที่ผู้เขียนมีอายุประมาณ 13-14 ปี ตอนนั้นพอที่จะรู้ถึงเรื่องปี่พาทย์และภาษาปี่พาทย์บ้างแล้ว แต่ก็ไม่เคยได้ยินได้ฟังบรรดาครูทั้งหลายพูดถึงวงปี่พาทย์นางหงส์เลย เห็นมีแต่วงปี่พาทย์ที่ชาวบ้านชาวช่องรู้จักกันทั่วไป ที่ตีในงานสวดมนต์เย็นฉันเช้า ตีรับลิเกละครโขนเท่านั้น ส่วนปี่พาทย์นางหงส์ไม่เคยได้ยินได้ฟังการเรียนในลักษณะนี้มาก่อน”

“ผู้เขียนมาได้ยินชื่อ “วงปี่พาทย์นางหงส์” ก็ตอนที่เข้ามาเรียนปี่พาทย์อยู่ในกรุงเทพฯ แล้วนี่เอง แต่ก็ยังไม่รู้จักวงปี่พาทย์นางหงส์ว่าวงปี่พาทย์นางหงส์คืออะไร”

[ข้อเขียนเรื่อง “ปี่พาทย์นางหงส์” โดย พินิจ ฉายสุวรรณ ใน วารสารเพลงดนตรี ของวิทยาลัยดุริยางคศิลป์ มหาวิทยาลัยมหิดล ปีที่ 9 ฉบับที่ 12 เดือนตุลาคม พ.ศ.2546]

กรมศิลปากร ว่า ปี่พาทย์นางหงส์เป็นของสามัญชน

กรมศิลปากร บอกในเอกสารว่าปี่พาทย์นางหงส์กับวงบัวลอย เป็นประเพณีบรรเลงงานศพสามัญชนมาก่อน ดังนี้

“แต่เดิม วงปี่พาทย์นางหงส์ เป็นวงดนตรีที่บรรเลงในงานพระศพของสามัญชน ต่อมาในรัชกาลที่ 5 ได้นำมาบรรเลงในงานสวดพระอภิธรรมศพเจ้านาย และใช้ในตอนถวายพระเพลิงพระบรมศพ และพระศพ—-”

“ที่มาของวงปี่พาทย์นางหงส์ เกิดจากการนำวงปี่พาทย์ไทย ได้แก่ ปี่ใน ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงใหญ่ ฆ้องวงเล็ก ตะโพน กลองทัด ฉิ่ง ประสมกับวงบัวลอย (ซึ่งใช้ในงานเผาศพของสามัญชน)—-”

[จากบทความเรื่อง “แบบแผนการประโคมดนตรีในราชสำนัก และในงานพระบรมศพและพระศพ” พิมพ์ในเอกสารประกอบการเสวนา การมหรสพ และแบบแผนในการประโคมดนตรีในงานพระเมรุ ณ ห้องประชุมอาคารดำรงราชานุภาพ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร วันเสาร์ที่ 2 กันยายน 2560 หน้า 21]