แมลงวันในไร่ส้ม/ปิดคดีจำนำข้าว “ยิ่งลักษณ์” ขอลี้ภัย เดินหน้าเลือกตั้งปี “61

แมลงวันในไร่ส้ม

ปิดคดีจำนำข้าว “ยิ่งลักษณ์” ขอลี้ภัย เดินหน้าเลือกตั้งปี “61

คดีจำนำข้าว ลงเอยตามคำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่อ่านเมื่อวันที่ 27 กันยายนที่ผ่านมา ให้จำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นเวลา 5 ปี ฐานละเลยปล่อยให้มีการระบายข้าวแบบรัฐบาลต่อรัฐบาลโดยทุจริต ดังที่ศาลเดียวกันได้ตัดสินจำคุก นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ และจำเลยอื่นๆ ไปก่อนหน้านั้นแล้ว

น.ส.ยิ่งลักษณ์ไม่ได้มาฟังคำพิพากษา จึงออกหมายจับให้ติดตามตัวมารับโทษ

ปัญหาคือ น.ส.ยิ่งลักษณ์อยู่ที่ไหนแน่ ไม่มีข้อมูลยืนยันอย่างเป็นทางการ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ระบุต่อมาว่าอยู่ดูไบ เช่นเดียวกับ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ

ก่อนที่สำนักข่าวซีเอ็นเอ็น ระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์เดินทางจากดูไบไปอังกฤษ ตั้งแต่วันที่ 11 กันยายนแล้ว และยื่นขอลี้ภัยต่อรัฐบาลอังกฤษแล้ว

ทางตำรวจได้ดำเนินขั้นตอน ขอให้ตำรวจสากลติดตามตัว น.ส.ยิ่งลักษณ์กลับมารับโทษ

น.ส.ยิ่งลักษณ์จะได้ลี้ภัยในอังกฤษหรือไม่ และท่าทีของตำรวจสากลจะให้ความร่วมมือกับคำขอของประเทศไทยแค่ไหน ล้วนเป็นประเด็นสำคัญ ที่มีผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศ

สําหรับคดีจำนำข้าว ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ลงโทษจำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์ 5 ปี ไม่รอลงอาญา ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบฯ และเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติอย่างใด ในตำแหน่งหรือหน้าที่ หรือใช้อำนาจในตำแหน่งหรือหน้าที่โดยมิชอบฯ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และความผิดตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 กรณีละเลยไม่ดำเนินการระงับยับยั้งโครงการรับจำนำข้าว ทำให้รัฐเสียหายกว่า 5 แสนล้านบาท

ขั้นตอนการตัดสิน ในวันที่ 27 กันยายน ช่วงเช้าภายหลังจากองค์คณะแถลงคำพิพากษาส่วนตนในที่ประชุมแล้ว ได้มีการลงมติ 2 รอบ

รอบแรก ลงมติว่าการกระทำของจำเลยเป็นความผิดตามฟ้องหรือไม่ องค์คณะเสียงข้างมากมีมติ 8-1 เสียง ลงมติว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้อง ส่วนองค์คณะเสียงข้างน้อย 1 คน คือ นายพิศล พิรุณ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา ลงมติเห็นว่าการกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิด

หลังจากลงมติครั้งแรกที่เสียงข้างมากเห็นว่ามีความผิดแล้วจะต้องยึดตามมตินั้นว่าการกระทำของ น.ส. ยิ่งลักษณ์เป็นความผิด และจะมีการลงมติในครั้งที่ 2 ว่าจะลงโทษจำเลยอย่างไร จะรอการลงโทษไว้หรือไม่

การลงมติในครั้งที่ 2 มีมติเป็นเอกฉันท์ 9-0 ให้ลงโทษจำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์จำเลย 5 ปีไม่รอการลงโทษ

“ในเมื่อมติมี 2 รอบ แม้รอบแรกเสียงข้างน้อยจะเห็นว่าไม่ผิด แต่เมื่อแพ้มติแล้วก็ต้องเห็นเอาตามเสียงส่วนใหญ่ หลังจากนั้นจะต้องมาพิจารณาในเรื่องของการลงโทษและมาลงมติกันอีกครั้งที่ 2 และผลออกมาลงโทษ 5 ปีไม่รอลงอาญา” แหล่งข่าวกล่าว

องค์คณะในคดีโครงการรับจำนำข้าว ทั้ง 9 คน ประกอบด้วย 1.นายชีพ จุลมนต์ รองประธานศาลฎีกาลำดับที่ 1 เจ้าของสำนวนคดี 2.นายธนฤกษ์ นิติเศรณี รองประธานศาลฎีกา ลำดับที่ 4 3.นายธนสิทธิ์ นิลกำแหง ประธานแผนกคดีเลือกตั้งในศาลฎีกา

4.นายไสลเกษ วัฒนพันธุ์ ประธานแผนกคดีภาษีอากรในศาลฎีกา 5.นายธานิศ เกศวพิทักษ์ ผู้พิพากษาอาวุโสในศาลฎีกา 6.นายโสภณ โรจน์อนนท์ ประธานแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง 7.นายพิศล พิรุณ ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา 8.นายวิรุฬห์ แสงเทียน รองประธานศาลฎีกา และ 9.นางอุบลรัตน์ ลุยวิกกัย ประธานแผนกคดีสิ่งแวดล้อมในศาลฎีกา

วันรุ่งขึ้น 28 กันยายน ราชกิจจานุเบกษา ลงประกาศว่า พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีอาญาของนักการเมือง 2560 จะมีผลบังคับใช้ในวันต่อไป

ทำให้เกิดคำถามว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์จะยื่นอุทธรณ์หรือไม่ เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 ได้แก้ไขหลักเดิมของคดีอาญานักการเมือง ที่เดิมต้องมีหลักฐานใหม่ จึงยื่นอุทธรณ์ได้ ให้เป็นสิทธิของจำเลยยื่นได้ทันที

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หรือ กรธ. ระบุภายหลัง พ.ร.บ. ดังกล่าวมีผลบังคับใช้ ผู้อุทธรณ์หรือจำเลยในคดีต้องมาปรากฏตัวยื่นต่อศาลเท่านั้น

ส่วนการนับอายุความทั้งกฎหมายฉบับเดิมที่ปรับแก้ ปี 2558 และฉบับใหม่นี้ ระบุไว้ชัดว่า ไม่มีอายุความ

นายมีชัยระบุด้วยว่า แม้ น.ส.ยิ่งลักษณ์กลับมารับโทษ แต่ก็จะเล่นการเมืองไม่ได้อีก เพราะรัฐธรรมนูญ 2560 กำหนดว่า ต้องไม่เคยถูกพิพากษาลงโทษจำคุกตามกฎหมาย ป.ป.ช.

ส่วนปัญหาการขอลี้ภัยของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ มีความเห็นที่น่าสนใจหลายทิศทาง

พรรคประชาธิปัตย์ออกมาแถลงข่าวอ้างเหตุผลทางกฎหมายว่า ขอไม่ได้ เพราะเป็นผู้ต้องหาคดีอาญา ไม่ใช่เรื่องการเมือง ไม่เข้าข่ายจะขอลี้ภัยได้

ส่วน นายเจษฏ์ โทณะวณิก นักกฎหมายที่มีบทบาทในยุค คสช. ระบุว่า น.ส.ยิ่งลักษณ์มีโอกาสได้รับการอนุญาตให้ลี้ภัยสูงด้วย โดยใช้เหตุผลว่า กระบวนการตัดสินของศาล เกิดขึ้นในระหว่างที่ประเทศอยู่ภายใต้การบริหารของคณะรัฐประหาร

ส่วนตัวมองว่า จะมีน้ำหนักมาก แม้ว่าก่อนหน้านี้ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ได้มีการต่อสู้ตามกระบวนการมาโดยตลอดก็ตาม ดังนั้น ขึ้นอยู่กับการชี้แจงทำความเข้าใจของรัฐบาลกับต่างประเทศเท่านั้น นอกจากนี้ รศ.ดร.เจษฏ์ ยังกล่าวด้วยว่า เป็นไปได้มากที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์จะไม่เดินทางกลับมาอุทธรณ์คดีดังกล่าว แม้จะมีโอกาสในการต่อสู้ก็ตาม เพราะมองว่าอาจจะได้ไม่คุ้มเสีย เนื่องจากยังมีคดีอื่นๆ อีกหลายคดี ที่อาจจะมีผลเกี่ยวเนื่องด้วย

ในเรื่องการยื่นอุทธรณ์ เห็นได้ชัดเจนว่า ได้มีการกำหนดไว้ในกฎหมายที่เกี่ยวข้องชัดเจนว่า การยื่นอุทธรณ์ในคดีดังกล่าว จำเลยต้องมายื่นด้วยตนเอง

เท่ากับว่า มีโอกาสสูงที่คดีจำนำข้าวนี้จะไม่มีการอุทธรณ์

เป็นผลงานการอ่านเกมล่วงหน้าของมือกฎหมายของ คสช. ที่ต้องการดักทางอีกฝ่ายหนึ่งและทำได้สำเร็จ สร้างความสะใจแก่กองเชียร์ของฝ่ายหนึ่ง

แต่ก็มีเสียงวิจารณ์ข้อกำหนดนี้ว่า การตัดโอกาสของจำเลย ไม่ได้ส่งผลเสียต่อจำเลยฝ่ายเดียวเท่านั้น

แต่ขั้นตอนที่ยังค้างคา ยังเกิดผลเสียในแง่อื่นๆ ด้วย

การเมืองไทยหลังจากนี้ ยิ่งเพิ่มความน่าสนใจ

โดยเฉพาะหลังจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ไปเยือนสหรัฐ และกล่าวยืนยันกับ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐ ว่า จะมีการเลือกตั้งในปี 2561 ตามโรดแม็ปแน่นอน