‘ระบอบฝันอันมั่นคง’ ของฮุน เซน-สัม รังสี/อัญเจียแขฺมร์ อภิญญา ตะวันออก

อภิญญา ตะวันออก

อัญเจียแขฺมร์

อภิญญา ตะวันออก

 

‘ระบอบฝันอันมั่นคง’

ของฮุน เซน-สัม รังสี

 

มิตรสำลัญ ฉันให้ความสนใจเลือกตั้งกลางปีหน้าของกัมพูชา/2023 ซึ่งเป็นครั้งที่ 7 นับจากอนุสัญญาปารีส และไม่น่าเชื่อว่า คณะก่อการรุ่นแรกที่ล้มตายไปแล้วต่างประสบความล้มเหลวตั้งแต่สีหนุ-ซอน ซานน์-เขียว สัมพัน ทั้งสะรงไม่มีใครเหลือรอดในภาคีนี้สำหรับกลุ่มเขมร 3 ฝ่าย คนสุดท้ายที่อยู่ในเรือนจำ นายเขียว สัมพัน นั้นขณะนี้สุขภาพไม่ดีนัก

เมื่อหมดรุ่นนั้น แต่เพียงเข้าปีที่ 30 รุ่นที่ 2 ก็ร่วงหล่นและลาโลกตั้งแต่รณฤทธิ์/ฟุนซินเปก, กึม สกขา/พรรคซอน ซานน์ : ถูกจองจำกักตัวขึ้นศาลไม่รู้ชะตากรรม ส่วนคนสุดท้ายสัม รังสี/ก็ถูกแบน และไม่ “สำเร็จขญม” ต่อไป?

จะมีก็แต่ภาคีสุดท้าย “ฮุน เซน-เฮง สำริน” หรือเขมรฝ่ายที่ 4 ที่ชนะขาดจนกลายเป็น “ระบอบฮุนเซน” ที่มีองคาพยพทางการเมืองเข้มแข็งในทุกวันนี้

เพชร จันมุนี (ภรรยาฮุน มาเนต)

จะร้ายจะดีตลอดชีวิตนักการเมืองกลุ่มนี้ ไม่มีใครถอย ดูฟุนซินเปกเป็นตัวอย่างที่แต่งตั้งนโรดมพี่น้อง “รัตนาฯ-จักราวุธ” เป็นตัวแทนรุ่นที่ 3 ซึ่งเมื่อดูทรงแล้วใจหาย ไม่นึกว่าพรรคนิยมสีหนุซึ่งกำลังจะครบ 40 ปี ได้เดินมาถึงวันนี้ วันที่เริ่มต้นที่ศูนย์

จะมีแต่ก็กลุ่ม “สำเร็จขญม” ของฮุน เซน ที่ประสบความภาคภูมิทั้งสะรง ด้วยการประกาศทายาทการเมือง : ฮุน มาเนต เป็นแคนดิเดตนายกรัฐมนตรี เป็นรุ่นที่ 2 ของตระกูลฮุนที่ถูกวางตัวอย่างเป็นทางการในการเลือกตั้งปีหน้า แต่ก็ถูกฮุนพ่อมาตัดหน้า ด้วยการประกาศจะเล่นการเมืองอีกต่อไป

ทำเอากองเชียร์ผู้นำรุ่นใหม่ที่อยากเห็น “รัตนาเทวี-ฮุน มาเนต” ผิดหวัง ส่วนคณะยุทธศาสตร์การเมืองเขมรกำลังสนใจว่าฮุน เซน ที่กำลังแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นจะทิ้งทวนอะไร?

ระหว่างมาตราที่ปกป้องตนเองแล้ว ยังเปิดทางให้ดำรงตำแหน่งพิเศษอะไร หากว่าฮุนพ่อยอมเปิดทางให้ลูก แต่ก็ยังผูกอำนาจไว้?

ดังจะเห็นว่า ฝ่ายชนะเบ็ดเสร็จตลอดมา ยังคงกุมอำนาจและชนะแบบ “นอนมา” ในการเลือกตั้งครั้งต่อไป สำหรับการถ่ายโอนอำนาจให้แก่รุ่นที่ 2 ของพรรคประชาชนกัมพูชาซึ่งเดินมาถึงวันนี้ แต่เริ่มต้นดีกว่าพรรคใดๆ เว้นแต่ว่า ฮุน มาเนต ยังต้องรออีกสมัย หากว่าพ่อเซนยังไม่ยอมลงจากบัลลังก์

และปัญหาเดิมๆ ของทายาทตระกูลฮุน คือการที่ฮุน เซน ปกป้องลูกๆ ตนเองราวกับไข่ในหิน ซึ่งก็เป็นเช่นนี้มาหลายปีดีดัก จนกลายเป็นกับดักของพี่น้องตระกูล “มาเนตและมานี” ที่ไม่มีผลงานใดๆ เป็นชิ้นเป็นอัน

ตัวอย่างคราวเยือนสหรัฐหนหนึ่งของฮุน มาเนต เห็นได้ชัดว่า เขาไม่สามารถรับมือกับสื่อและการประท้วงจนลามไหลการเป็นประเด็นใหญ่โต ทั้งที่ นี่คือจุดที่ฮุน มาเนต ควรได้เรียนรู้ และพบว่า นี่คือจุดเปราะบางที่ลูกชายฮุน เซน ถูกปกป้องไว้จนเคยตัว

อย่างไรก็ตาม กระนั้น ฮุน มาเนต ก็หันไปทำงานหนักในประเทศเป็นทวี ในที่นี้ เขายังให้เพชร จันมุนี-ภรรยาออกงานสังคมในภาคบริการส่วนเด็กและสตรีที่เสริมส่งภาคลักษณ์และคะแนนนิยม

ขณะที่ฮุน มานี เปราะบางในเรื่องนี้ กรณีที่เขามีโลกหลายใบและเคยเกิดเหตุที่เด็กผู้หญิงฆ่าตัวตาย ส่วนศรีภรรยานั้น ก็นิยมงานไฮโซมากเกินไป

แบบทดสอบการเมืองของฮุน มานี (40) จึงล้มเหลว เห็นได้ว่าเขาพยายามทำทุกอย่างตามบิดามากเกินไป กระทั่งถึงกับสำเนาลีลาการพูดเหมือนบิดาฮุน เซน เวลาปราศรัยราวกับโคลนนิ่งกันมา แต่ในเรื่องนี้ ไม่มีใครกล้าจะวิพากษ์ เช่นเดียวกับหน้าตาของเขาที่โรยรากว่าอายุจริง

แต่นั่นก็ไม่เท่ากับว่า ทำไมฮุน มานี ที่เป็น ส.ส.มาหลายสมัยแล้ว จึงไม่เคยได้รับมอบหมายในกระทรวงสำคัญ?

มานีและพี่ชาย มักอยู่ในสปอตไลต์ในเวทีประชุมนานาชาติโดยเฉพาะหากกัมพูชาเป็นเจ้าภาพ และได้รับการอวยยศว่าเป็นนักการเมืองรุ่นใหม่ แต่นั่นก็ไม่เคยไปไกลกว่าหน้าที่จริงจังทางการเมือง

ปัญหาของฮุนรุ่นนี้ คือเป็นลูกไม้ที่ถูกบ่มจนเกินฤดูกาล? บนเวทีการเมืองยาวนานที่บอบบาง และนั่นคือ “จุดอ่อน” ของนิวเจนในฮุน เซน!

มาเนตกับประธานฟุนซินเปกคนใหม่ : พระองค์มจะจักราวุธ

ตรงข้าม เพราะยิ่งสปอยล์คนในตระกูลของตัวเอง ฮุน เซน กลับฟาดงวงฟาดงาฝ่ายตรงข้ามอย่างรุนแรงโดยเฉพาะสัม รังสี ที่ทั้งถูกยุบพรรค จนดูราวกับไม่มีโอกาสกลับมาได้

ในเชิงโครงสร้าง สัม รังสี จึงไม่ต่างจากคนอื่นๆ ในพรรคสงเคราะห์ชาติที่สิ้นไร้ไม้ตอก หมดวาสนาทางการเมือง

สำหรับบุตรชายสัม ซารี อดีตนักการเมืองดังที่หายตัวไปในสมัยสีหนุอย่างลึกลับนั่น สัม รังสี ยังเติบโตการเมืองมากับยุค “สำเร็จขญม” ของพ่อตา-พล.อ.ยึก จูล่ง น่าเสียดายที่แม้จะเต็มเปี่ยมด้วยเส้นทางอันสูงส่ง แต่สัม รังสี ก็หาความสำเร็จไม่ได้เมื่อเทียบเวลา 30 ปีที่สูญไป

สมัยที่อัปเปหิตัวเองจากฟุนซินเปกใหม่ๆ นั้น ทุกฝ่ายหัวเราะเยาะในความล้มเหลวนั่น ว่ากันตามตรง สัม รังสี แทบไม่มีมิตรสหายในวงการเมือง แต่เมื่อเขาเปิดฉากพรรคการเมือง ก็มักจะสะเทือนเลื่อนลั่น

สัม รังสี เป็นนักปั้นพรรคการเมืองหรือนั่น? ไม่มีใครให้คะแนนว่าเขาทำพรรคดีเด่นไหม? ตั้งแต่พรรคชาติเขมร :1994 ที่เกิดการระเบิดและผู้คนล้มตาย พรรคสัมรังสี :1998 ที่เปิดฉากเลือกตั้งครั้งแรก, พรรคสงเคราะห์ชาติ:2013 ที่ร่วมกับกึม สกขา ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งล่าของการออกนอกประเทศในสมาชิกเกือบทั้งหมด!

และพรรคล่าสุด “เพลิงเทียน” (แสงเทียน) ที่ถอดสัญลักษณ์มาจากพรรคสัมรังสี เป็นพรรคที่สัม รังสี ว่างเปล่า! เขาแทบไม่ได้ทำอะไรเลย นอกจากหยิบเอาปรากฏการณ์ “1998” มาปัดฝุ่นอีกครา เพลิงเทียนจึงมี สูตรลูกผสมระหว่างความเป็นเอ็นจีโอกับพรรคการเมือง ซึ่งเป็นข้อเด่นของพรรคสัมรังสีเวลานั้น แต่มันยังกลับมาใช้ได้อีกหรือนี่? แสดงว่า กัมพูชาจะย้อนไป ค.ศ.1998 หรือ 24 ปีก่อน?

ซึ่งเท่ากับว่า เพลิงเทียนคือพรรค “นอมินี” ของสัม รังสี คนที่อะโลนและดูท่าว่า ไม่มี “ทายาท” ทางการเมือง แต่ตอนนี้มันกลับมาใหม่ ในรูปเงาอวตาร ที่นำไปสู่การฟื้นตัวความทรงจำอันมากมายหลายอย่าง สำหรับการเลือกตั้งท้องถิ่นในกลางปีที่ผ่านมา

 

นี่คืออะไรกัน? ความพยายามมากมายในสมเด็จฮุน เซน เขาล้มเหลวอย่างงั้น? ไม่สิ มันคือความท้าทายอีกครั้ง สำหรับการกลับมาของสัม รังสี แมวการเมืองเก้าชีวิต!

ที่ขนาดไม่มีตัวตนในประเทศ แต่พรรคที่ตั้งขึ้นมาไม่กี่วันกลับได้สัดส่วนเลือกตั้งท้องถิ่นไปไม่น้อย ใครเลยจะเชื่อว่า คนบ้านๆ พวกนั้นจะเล่นการเมืองได้ และหากพรรคประชาชนกัมพูชาไม่โกงคะแนนระเนระนาด เพลงเทียนก็คงกวาดคะแนนมากกว่านี้

แม้สัม รังสี จะไม่พูดอะไรเลยสักคำ แต่ฉันถอดความได้ ภาษากายของเขาที่บ่งว่าพบมันแล้ว “ทายาท” การเมืองซึ่งมี “ดีเอ็นเอ” เดียวกัน และคนพวกนั้นคือ “สำเร็จขญม” สูตรใหม่ ในท่ามกลางการเมืองของระบอบฮุนเซนที่มอบความเดียวดายแก่ประเทศนี้

หรือนี่คือโฉมหน้าพรรคของประชาชนที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในการเมืองกัมพูชา มันยังเกิดขึ้นท่ามกลางระบอบรวมศูนย์อำนาจที่ยาวนานของฮุน เซน และมันเป็นความหวัง

นี่คือยุทธศาสตร์อะไรกัน? สำหรับประชาชนพวกนั้นที่เกิดมาสัมผัสแต่ความล้มเหลวสัม รังสี ในการเมืองแบบฝ่ายค้านตลอด 3 ทศวรรษปี ไม่มีเสียล่ะ ในความย้อนแย้งนี้ แต่มันก็เกิดขึ้นแล้ว และเห็นเชื้อไฟอยู่ในเพลิงนั่น!

มันเป็นไปได้อย่างไรกัน? ดูสิ ผ่านไป 30 ปี ที่ UNTAC/สหประชาชาติ ได้สูญเงินไปมากมายเพื่อจัดการเลือกตั้งทั่วไปให้กัมพูชา แต่ผลลัพธ์ที่กลับได้ คือระบอบปกครองเผด็จการในคราบประชาธิปไตยตลอดมา

ทว่า วันนี้ ในหมู่ชนที่ส่วนใหญ่เกิดหลังการเลือกตั้งของอันเทคนั้น พวกเขาคือกลุ่มคนที่ไม่มีอดีตแห่งความหลัง ในคำร้องตะโกน “อุดมการณ์” ฉบับนั้น จึงเกิดขึ้นโดยยุทธศาสตร์ในความเป็นภาคประชาชนที่มีโมเดลพรรคการเมืองย้อนยุคฉบับสัมรังสีที่เป็นแรงบันดาลใจ

และมันคือการต่อสู้แนวใหม่ในการเมืองกัมพูชา ระหว่าง “แนวร่วมประชาชน” กับ “ระบอบฮุนเซน” โดยมิพักว่า เพลิงเทียนหรือไม่ที่จะพ่ายแพ้อีกครั้งสำหรับเดิมพันแห่งอำนาจกับการต่อสู้ยกสุดท้ายอันเกินต้านระหว่าง “ฮุน เซน” กับ “สัม รังสี”

ซึ่งที่สุดนั้น ใครกันจะเป็น “สำเร็จขญม”?