2503 สงครามลับ สงครามลาว (91)/บทความพิเศษ พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

บทความพิเศษ

พล.อ.บัญชร ชวาลศิลป์

 

2503 สงครามลับ

สงครามลาว (91)

 

ยุคที่ 3 : “ทหารประจำการ” พ.ศ.2513-2514

พ.ศ.2513 สถานการณ์ของฝ่ายรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรลาวตกอยู่ในความคับขันอย่างถึงที่สุด จึงร้องขอกองกำลังจากไทยเป็นการด่วน ซึ่งสหรัฐให้การสนับสนุนเต็มที่

รัฐบาลไทยสมัยจอมพลถนอม กิตติขจร จึงส่งกำลังทหารราบ 2 กองพัน พร้อมด้วย 2 กองร้อยทหารปืนใหญ่ เข้าปฏิบัติการในพื้นที่ทุ่งไหหิน เมื่อกลางปี พ.ศ.2513 โดยมีที่หมายสำคัญทางยุทธศาสตร์ที่ต้องป้องกันรักษาให้ได้คือเมืองล่องแจ้ง

แต่เนื่องจากกำลังทหารประจำการส่วนนี้เป็นกำลังสำคัญของแผนป้องกันประเทศจึงกำหนดให้ปฏิบัติการได้เพียง 1 ปี

ตลอดระยะเวลา 1 ปี การสู้รบเป็นไปอย่างรุนแรงในรูปแบบที่ใกล้เคียงกับการรบแบบประจำการเพื่อแย่งยึดพื้นที่ทุ่งไหหิน โดยมีเมืองล่องแจ้งเป็นที่หมายสำคัญสูงสุดของทั้ง 2 ฝ่าย

ฝ่ายเวียดนามเหนือส่งกำลังทหารหลายกองพลทหารราบซึ่งมีอัตราการจัดแบบกองพลประจำการเต็มรูปแบบเข้าสู่พื้นที่การรบพร้อมด้วยอาวุธหนักที่โซเวียตให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่

ขณะที่กำลังฝ่ายไทยมีเพียง 2 กองพันทหารราบ 2 กองร้อยทหารปืนใหญ่สนาม และการสนับสนุนทางอากาศยุทธวิธีในระดับหนึ่ง จึงตกเป็นฝ่ายเสียเปรียบอย่างมาก

และเนื่องจากกำลังทหารประจำการฝ่ายไทยทั้งหมดจะต้องถอนกลับภายใน 1 ปีตามแผนที่วางไว้ จึงมีการเตรียมการจัดตั้งกองกำลังใหม่เข้าไปทดแทนในรูปของอาสาสมัครที่เรียกว่า “ทหารเสือพราน”

 

ยุคที่ 4 : “ทหารเสือพราน” พ.ศ.2514-2517

ขณะที่ก่อนหน้านี้ แม้กำลังฝ่ายไทยจะเป็นหน่วยทหารประจำการ แต่ก็ตกอยู่ในสภาพเสียเปรียบเมื่อเปรียบเทียบอำนาจกำลังรบทั้งขนาดของหน่วย จำนวนกำลังพล และการจัดที่สมบูรณ์แบบของฝ่ายเวียดนามเหนือ

แต่ทหารเสือพรานซึ่งเข้ามารับหน้าที่ต่อในต้นปี พ.ศ.2514 จะยิ่งเสียเปรียบมากยิ่งขึ้นไปอีก เพราะถูกออกแบบแต่แรกให้มีลักษณะเป็น “ทหารราบเบา” ซึ่งมีขีดความสามารถทางการรบจำกัดยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อเปรียบเทียบกับกองพันทหารราบที่ถอนกำลังกลับไป

แม้จะมีการสนับสนุนจากหน่วยทหารปืนใหญ่และการสนับสนุนทางอากาศใกล้ชิดจากเครื่องบินรบทางยุทธวิธีก็ตาม

ขณะที่ฝ่ายเวียดนามเหนือซึ่งยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างเต็มที่จากโซเวียต และยังคงจัดกำลังแบบกองทัพประจำการเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะปืนใหญ่สนาม ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน และรถถัง จึงเป็นฝ่ายเหนือกว่าในอำนาจกำลังรบอย่างเห็นได้ชัด

ด้วยความเสียเปรียบด้านอำนาจกำลังรบเปรียบเทียบดังกล่าว ในช่วงแรกของการสู้รบ ในที่สุดฝ่ายเวียดนามเหนือก็สามารถรุกไล่ทหารเสือพรานไทยจนเกือบสูญเสียเมืองล่องแจ้งเมื่อต้นปี พ.ศ.2515

สหรัฐจึงตัดสินใจใช้เครื่องบินทิ้งระเบิดทางยุทธศาสตร์ B-52 เข้ามาให้การสนับสนุนด้วยการโจมตีกองกำลังของฝ่ายเวียดนามเหนือที่รุกประชิดเตรียมเผด็จศึกที่มั่นสุดท้ายที่เมืองล่องแจ้ง

การโจมตีของ B-52 สร้างความสูญเสียและความเสียหายต่อฝ่ายเวียดนามเหนืออย่างมหาศาล จนทำให้สถานการณ์เปลี่ยนไป ไม่สามารถเปิดการรุกใหญ่ขึ้นได้อีก

ประกอบทั้งต้องรวมกำลังเพื่อเผด็จศึกในเวียดนามใต้ กระทั่งมีการเจรจาหยุดยิงเมื่อต้นปี พ.ศ.2516 กำลังทหารเสือพรานไทยจึงทยอยถอนตัวกลับประเทศจนหมดสิ้นใน พ.ศ.2517 และราชอาณาจักรลาวก็ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสังคมนิยมในที่สุดเมื่อปลายปี พ.ศ.2518

รวมระยะเวลาทั้งสิ้นถึง 14 ปีที่กองกำลังติดอาวุธจากไทยตั้งแต่ตำรวจพลร่ม หน่วยบินทางยุทธวิธีกองทัพอากาศ กองร้อยทหารปืนใหญ่สนาม กำลังทหารประจำการ และทหารเสือพราน ได้เข้าไปปฏิบัติการในสงครามลับแห่งราชอาณาจักรลาว

 

“นักรบนิรนาม” ไม่ใช่ “ทหารรับจ้าง”

หลังเหล่า “นักรบนิรนาม” ทหารอาสาสมัครไทยถอนตัวจากสมรภูมิลับลาวเมื่อ พ.ศ.2517 ต่อมาเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2518 ราชอาณาจักรลาวก็เปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสังคมนิยม ตามเวียดนามและกัมพูชา ขณะที่เกิดความหวาดวิตกว่าไทยจะกลายเป็น “โดมิโนตัวที่ 4”

ความคิดที่จะข้ามโขงมา “ปลดปล่อย” ไทยของเวียดนามนั้นมิได้เป็นเพียงปฏิบัติการจิตวิทยาเพื่อสร้างความหวาดกลัวภัยคอมมิวนิสต์ในหมู่คนไทยเท่านั้น

แต่ปรากฏหลักฐานซึ่งเป็นที่ทราบกันดีในหมู่ชาวพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย โดยมีบันทึกยืนยันไว้ในหนังสือ “ธง แจ่มศรี ใต้ธงปฏิวัติ”

ธง แจ่มศรี คืออดีตเลขาธิการใหญ่ของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ชุดที่ 4 พ.ศ.2525

“พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามได้เชิญตัวแทนของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยไปร่วมงานครบรอบ 2 ปีแห่งการปฏิวัติเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ.2520 ฝ่ายคอมมิวนิสต์ไทยได้ส่งคุณประสิทธิ์ ตะเพียนทอง และคุณประวิง อุทัยทวีป เป็นตัวแทน

พรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามและลาวเสนอว่า นอกเหนือจากการหนุนช่วยด้านวัตถุปัจจัยและกำลังอาวุธ พรรคพี่น้องทั้งสองพรรคพร้อมที่จะส่งกำลังทหารมาช่วยปฏิวัติไทยให้ได้รับชัยชนะ อาจจะมาจากหน่วยทหารลาวหรือทหารชนชาติไทในเวียดนาม ทหารเหล่านี้จะเข้ามาช่วยการสู้รบในยุทธศาสตร์ที่ฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์ไทยเป็นฝ่ายกำหนด

ฝ่ายเวียดนามเสนอถึงขนาดว่า การพัฒนาเร่งสร้างสังคมใหม่ของเขายังชะลอจังหวะก้าวได้ ขอให้ไทยปฏิวัติเสียก่อน คุณประสิทธิ์ได้ตอบแบบแบ่งรับแบ่งสู้ว่า จะขอนำมาหารือในคณะกรรมการพรรคฝ่ายไทยเสียก่อน”

ธง แจ่มศรี เล่าเรื่องนี้ต่อไปไว้ว่า

“ในเรื่องเวียดนาม ที่เราไม่ยอมรับก็คือเวียดนามเสนอเราว่า เขาจะส่งทหารลาวจากชายแดนเข้ามาช่วยเราปลดปล่อยทางชายแดนลาวกัมพูชา เราเองก็ไม่เห็นด้วย การส่งกำลังเข้ามาอย่างนี้ถึงจะเป็นลาว พอผ่านชายแดนเข้ามาปุ๊บ มวลชนเราก็ดูออกทันทีว่าไทยหรือลาว ทางจัดตั้งเราพิจารณาว่ามันมีแต่เสีย มันเหมือนกับชักศึกเข้าบ้าน พวกเราจะกลายเป็นผู้ขายชาติ อีกอย่างทางรัฐบาลถึงแม้ว่าเขาจะสู้กองทัพเวียดนามไม่ได้ก็ตาม แต่เขาก็คงจะต้านอย่างไว้สุดฤทธิ์

สรุปก็คือ กรมการเมืองของพรรคคอมมิวนิสต์ไทยไม่เห็นด้วยกับแนวทางการช่วยเหลือของฝ่ายเวียดนามและลาวเช่นนี้ เพราะเห็นว่าเป็นการพึ่งพิงต่างชาติมากเกินไป และเข้าข่ายนโยบายปฏิวัติแบบส่งออก จึงหาเหตุผลปฏิเสธต่อฝ่ายเวียดนามด้วยมิตรภาพว่า ฝ่ายพรรคคอมมิวนิสต์ไทยขอขอบคุณ แต่ยังมุ่งหวังที่จะใช้ความพยายามปฏิวัติด้วยตนเองก่อน”

นี่คือหลักฐานยืนยันที่ชัดเจนว่า ในยุคสงครามเย็นนั้น ภัยจากคอมมิวนิสต์อีกฟากฝั่งแม่น้ำโขงนั้นเป็นเรื่องจริง และการทำสงครามเพื่อยับยั้งสงครามครั้งนั้นเพื่อมิให้ข้ามโขงมาจึงเป็นเรื่องจริง

เหล่านักรบนิรนามไม่ว่าจะเป็นส่วนของทหารประจำการหรือกำลังพลอาสาสมัคร พวกเขาอาจไม่สามารถอธิบายเหตุผลทางการเมืองอันซับซ้อนยุ่งเหยิงระหว่างประเทศในการข้ามโขงไปทำศึกของพวกเขา แต่ทุกคนล้วนตระหนักว่า พวกเขาไปรบเพื่อป้องกันไม่ให้คอมมิวนิสต์ข้ามโขงมายึดครองไทย เป็นเหตุผลง่ายๆ ที่พวกเขาเชื่อและยินดีทอดร่างอาสาศึกครั้งนี้

แม้จะเป็นที่รับรู้กันทั่วไปในหมู่นักรบนิรนามว่า การสนับสนุนทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นอาวุธยุทโธปกรณ์ งบประมาณมหาศาล รวมทั้งค่าตอบแทนที่พวกเขาได้รับนั้นมาจากซีไอเอ มาจากสหรัฐอเมริกา แต่พวกเขาล้วนตระหนักว่า การศึกครั้งนี้ พวกเขามิได้รบเพื่ออเมริกา พวกเขามิได้รบเพื่อราชอาณาจักรลาว แต่พวกเขารบเพื่อแผ่นดินเกิด-ประเทศไทยอันเป็นที่รักยิ่งของเขา พวกเขาเป็นนักรบนิรนามแห่งองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว…

พวกเขาไม่ใช่ “ทหารรับจ้าง” ที่ต้องรับใช้ “ผู้ว่าจ้าง”

พวกเขาคือ “นักรบนิรนาม” ที่รบเพื่อปกป้องแผ่นดินไทยให้รอดพ้นจากเงื้อมมือคอมมิวนิสต์

“ถ้าราชอาณาจักรลาวตกอยู่ในความควบคุมของคอมมิวนิสต์โดยสิ้นเชิง อันตรายจะมีขึ้นแก่ประเทศไทยสักเพียงไร โดยเราทราบกันอยู่แน่นอนแล้วว่า ถ้าประเทศไทยตกอยู่ใต้อำนาจของคอมมิวนิสต์ เราจะต้องสูญเสียอิสรภาพของชาติ พระศาสนาจะดำรงอยู่ไม่ได้ พระมหากษัตริย์และราชบัลลังก์จะต้องถูกทำลาย

ข้าพเจ้าจะต่อสู้จนสิ้นสุดลมหายใจ ทุกกระเบียดนิ้วแห่งผืนแผ่นดินไทย ข้าพเจ้าจะรักษาไว้ด้วยชีวิตและเลือดเนื้อของข้าพเจ้า จะไม่ยอมให้ประเทศไทยตกเป็นทาสคอมมิวนิสต์ในขณะที่ข้าพเจ้ายังมีชีวิตอยู่

รัฐบาลนี้ปรารถนาอย่างยิ่งที่จะให้พรรคและบุคคลสำคัญทางการเมืองของลาวตกลงกันให้เรียบร้อยและให้ราชอาณาจักรลาวพ้นจากอำนาจครอบงำของคอมมิวนิสต์ ถ้าไม่สามารถจะเป็นอย่างนั้น โดยราชอาณาจักรลาวตกไปในมือของคอมมิวนิสต์และมีพฤติการณ์อันเป็นการรุกรานประเทศไทย ประเทศไทยก็จะต้องตัดสินใจของตนเอง ทำการป้องกันประเทศชาติทุกวิถีทางที่สามารถกระทำได้ โดยไม่ว่าจะได้รับความช่วยเหลือทางใดหรือไม่”

คำปราศรัย ฯพณฯ จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เมื่อวันที่ 21 กันยายน พ.ศ.2503

 

REST IN PEACE

: เจมส์ วิลเลียม แลร์ “บิลล์ แลร์”

เจมส์ วิลเลียม แลร์ “บิลล์ แลร์” ขอย้ายตัวเองออกจากสมรภูมิลาวเมื่อ พ.ศ.2521 อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายต่อสงครามลับในลาวที่เขาไม่เห็นด้วย

ต่อมาเมื่อเกษียณอายุในระดับเทียบเท่า “นายพลหนึ่งดาว” ของกองทัพสหรัฐ เขากลับไปถิ่นเกิดที่เท็กซัส ใช้เงินบำนาญซื้อไร่ปศุสัตว์ แต่กิจการไม่ประสบความสำเร็จพร้อมหนี้ก้อนใหญ่

“Back Fire” ของโรเจอร์ วอร์นเนอร์ ซึ่งไผท สิทธิสุนทร ถ่ายทอดเป็นภาษาไทยในชื่อ “ผลาญชาติ สงครามลับของซีไอเอในลาว และความเชื่อมโยงกับสงครามในเวียดนาม” ได้บันทึกเส้นทางชีวิตหลังเกษียณของเขาไว้ตอนหนึ่ง ดังนี้

“เขารู้วิธีที่จะทำให้ร่ำรวยอย่างฉับไว นั่นคือกลับไปยังประเทศไทย และทำงานกับธุรกิจเอกชนที่นั่น เขารู้ดีว่าเขามีประโยชน์ล้นเหลือต่อชาวต่างชาติที่ต้องการลงทุนทำธุรกิจในประเทศไทย อันเนื่องจากเครือข่ายความสัมพันธ์ส่วนตัวและความรอบรู้เรื่องวัฒนธรรมไทยของเขา เขามีเพื่อนจากซีไอเอและกองทัพที่ยึดเดินบนเส้นทางสายนี้ เมื่อออกจากราชการ คนพวกนี้อยากทำงานในพื้นที่ที่คุ้นเคย เป็นผู้ติดต่อสัญญาค้าอาวุธบริษัทข้ามชาติ หรือเป็นตัวแทนล็อบบี้สำหรับรัฐบาลต่างชาติ เขาเข้าใจเรื่องพวกนี้ดี พวกเขาได้ค่าจ้างแสนต่ำในรัฐบาลเมื่อเทียบกับความรับผิดชอบที่มี พวกเขาต่างเป็นคนปราดเปรื่อง กล้าได้กล้าเสีย ผู้ที่ต้องการชีวิตสุขสมบูรณ์ และส่งลูกๆ เข้าโรงเรียนและมหาวิทยาลัยชั้นนำ

เขาไม่สามารถตัดใจทำอย่างนั้นได้ เขาได้รับความยกย่องนับถือจากคนไทยที่เคยทำงานกับเขา เพราะคนเหล่านั้นรู้ว่าเขาทำงานเพื่อสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าประโยชน์ของตัวเขาเอง เขาจะไม่มีวันร้องขอให้ทำสิ่งใดเพื่อประโยชน์ส่วนตัวของเขา หากปราศจากความนับถือที่ว่านี้แล้วเขาคงไม่สามารถทำอะไรให้สำเร็จได้เลย หลายครั้งที่เขาพยายามหางานหลายๆ ชนิดในแถบถิ่นที่อยู่ แต่ก็ไม่ได้เรื่องนัก เขาจึงเริ่มหงุดหงิด ความสุขที่ได้กลับบ้านในตอนแรกเริ่มเลือนหาย และบางสิ่งบางอย่างรบกวนจิตใจเขาอย่างหนัก

วันหนึ่งเขาเห็นโฆษณาในหน้าหนังสือพิมพ์ต้องการคนขับรถบรรทุกอิสระ เพื่อลากจูงพาหนะที่ใช้ในงานบันเทิงจากโรงงานที่สร้าง ไปยังผู้สั่งซื้อทั่วประเทศ ด้วยแรงกระตุ้นอย่างฉับพลัน เขาซื้อรถบรรทุกอินเตอร์เนชั่นแนล รุ่น 4080 สีขาวมือสอง ที่มีเตียงนอนพับได้ด้านหลังเบาะคนขับ และเครื่องยนต์ดีเซลคัมมินส์อยู่ใต้ฝาครอบเครื่องยนต์ เขาเริ่มลากจูงสินค้าชิ้นแรกซึ่งก็คือรถพ่วงยาว 54 ฟุตสีส้มแปร๋น

เขารู้ดีว่าเพื่อนเก่าๆ ของเขาจะคิดอย่างไรเมื่อรู้ว่าเขามาขับรถบรรทุก และเขาก็ไม่ได้ใส่ใจแต่อย่างใด เขาไม่จำเป็นต้องนั่งเขียนหนังสือชีวประวัติ ไม่ต้องไปให้ปากคำต่อหน้าคณะกรรมาธิการ ทำงานกับเจ้านายที่เขาไม่ชอบขี้หน้า หรือแม้แต่ต้องทนทำงานทั้งๆ ที่ไม่รู้สึกอยากจะทำสักนิด เขาทำงานขับรถสัปดาห์ละ 2-3 วัน และสามารถมีรายได้มากเท่าที่ต้องการ

เขาเพลิดเพลินกับทิวทัศน์ที่เห็นจากที่นั่งคนขับที่อยู่สูงเหนือตัวถังรถ มีอะไรคล้ายๆ การได้นั่งบนเครื่องบินลำเลียงในประเทศไทยหรือลาว เพียงแต่ตอนนี้เขาได้มานั่งที่คนขับ บนที่โล่งกว้างของรัฐที่มีภูมิประเทศเป็นท้องทุ่งราบ เขาสามารถมองเห็นสภาพอากาศเปลี่ยนแปลงจากสุดขอบโค้งฟ้า เมฆหนาสีขาวลอยขึ้นสูง และก่อตัวขึ้นเป็นหัวพายุอยู่ทางขอบฟ้ากว้างด้านทิศตะวันตก ในวันที่อากาศแจ่มใส เมื่อเขาขับรถของเขามายังเขตเทือกเขาร็อกกี้ เขาสามารถเห็นหิมะบนยอดเขาห่างออกไปถึง 50 หรือ 80 ไมล์ได้อย่างถนัดชัดเจน

บางครั้งบางหนเขาอยู่ลำพังบนถนนเป็นเวลาหลายวัน ละเลียดซิการ์ เพลิดเพลินและมีความสุขกับชีวิตสันโดษ…”