ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 29 กรกฎาคม - 4 สิงหาคม 2565 |
---|---|
คอลัมน์ | การเมืองวัฒนธรรม |
เผยแพร่ |
การเมืองวัฒนธรรม
เกษียร เตชะพีระ
เศรษฐกิจโลกาภิวัตน์ซวยสามต่อ
: จากสงครามการค้าสหรัฐ-จีน
โควิด-19 ถึงสงครามในยูเครน
เพียงเมื่อฤดูร้อนปี 2019 นี้เอง นิตยสาร Forbes ได้ลงบทความของ Rainer Michael Preiss ผู้จัดการการลงทุนในหลักทรัพย์ซึ่งประจำอยู่ที่สิงคโปร์แสดงความปลาบปลื้มร้องเชียร์ว่า “ตลาดศรีลังกาเป็นอัญมณีแห่งการลงทุนที่ซุกซ่อนอยู่ในการมองโลกแง่ร้ายมากเกินไป” (“Sri Lanka’s Market : An Investment Gem Hidden In Too Much Pessimism”, https://www.forbes.com/sites/rainermichaelpreiss/2019/08/07/sri-lankas-market-an-investment-gem-hidden-in-too-much-pessimism/?sh=10075c485df6)
แต่ชั่วไม่กี่เดือนให้หลัง โควิด-19 ระบาดก็ทำให้เศรษฐกิจโลกพิกลพิการเป็นอัมพาตไป และศรีลังกาก็ค่อยดิ่งทรุดต่ำลงตามลำดับ จนธนาคารโลกประกาศลดชั้นศรีลังกาจากประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง (เหมือนไทย) มาเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำเมื่อปี 2020 (EconomyNext, 20 May 2020) กระทั่งศรีลังกาผิดนัดชำระหนี้ต่างประเทศเมื่อพฤษภาคมศกนี้
และล่าสุดนายกฯ รานิล วิกรมสิงเห ก็ยอมรับอย่างซื่อๆ ว่าเศรษฐกิจศรีลังกา “ได้ล่มสลายลงอย่างสิ้นเชิงแล้ว”
(https://www.theguardian.com/world/2022/jun/23/sri-lanka-prime-minister-economy-completely-collapsed)
ในทำนองเดียวกัน ประเทศอย่างตูนิเซียและอียิปต์ในทวีปแอฟริกาซึ่งต้องเพิ่มงบประมาณรายจ่ายเพื่อรับมือโควิดระบาดในช่วงที่ผ่านมา ประกอบกับรายรับภาษีอากรตกต่ำลง ก็จำต้องกู้หนี้ยืมสินมาใช้พรวดเดียวขึ้นไปถึง 7.4% ของจีดีพีของทั้งสองประเทศในชั่ว 18 เดือน เทียบกับที่หนี้เคยเพิ่มแค่ 1.8% ของจีดีพีสองประเทศตลอดช่วงทศวรรษก่อน
การสำรวจของธนาคารโลกยังพบว่ากว่า 2 ใน 3 ของครัวเรือนในบรรดาประเทศรายได้ต่ำและรายได้ปานกลางทั่วโลกแจ้งข้อมูลว่ารายได้ต่ำลงในช่วงโควิดระบาด นอกจากนี้ นับเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปีที่คนอีก 97 ล้านคนทั่วโลกตกลงไปอยู่ในสภาพยากจนสุดโต่งในปี 2020-2021
ความตกระกำลำบากดังกล่าวยังมาถูกซ้ำเติมด้วยค่าอาหารและน้ำมันแพงขึ้นเนื่องจากสงครามในยูเครนปัจจุบันอีกเล่า ความทุกข์ยากจึงแปรเปลี่ยนเป็นอุกอั่งคับแค้นดังเชื้อไฟที่พร้อมจุดติดเป็นการลุกฮือประท้วงทางการเมืองไม่ว่าในเปรู ปากีสถาน และศรีลังกา จนนายกรัฐมนตรีสองประเทศหลังหลุดจากตำแหน่งไป
อาจกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจการค้าการเงินโลกยุคโลกาภิวัตน์ที่เติบใหญ่ไหลสะพัดในรอบสามทศวรรษที่ผ่านมาเผชิญกับภาวะซวย 3 ต่อ (triple whammy) ในช่วง 5 ปีหลังนี้ได้แก่ สงครามการค้าสหรัฐกับจีน (2018), โควิด-19 ระบาด (ปลายปี 2019 ต่อต้นปี 2020) และสงครามรัสเซียรุกรานยูเครน (กุมภาพันธ์ 2022)
นำไปสู่ปัญหาเศรษฐกิจการเงินสลับซับซ้อนวนลูปปัจจุบัน แสดงออกด้วยอาการหนี้ท่วม-เงินเฟ้อ-ค่าเงินตกในโลก
โลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจการค้าการเงินค่อยคลายตัวลง ชาติต่างๆ หันไปเน้นอธิปไตยทางเศรษฐกิจมากขึ้น ที่เห็นชัดก็ในรูปชาตินิยมทางอาหารและมาตรการคุ้มครองการค้าโดยห้ามส่งออกอาหาร (food nationalism & food protectionism) เช่น มาเลเซียห้ามส่งออกเนื้อไก่ อินโดนีเซียห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม อินเดียห้ามส่งออกข้าวสาลี เป็นต้น ดู https://www.foodingredientsfirst.com/news/food-nationalism-on-the-rise-as-countries-struggle-to-safeguard-domestic-supplies.html; https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-05-24/rising-global-food-protectionism-risks-worsening-inflation-woes)
กระบวนการลำดับเหตุที่นำไปสู่ผลลัพธ์เป็นอาการเศรษฐกิจป่วยต่างๆ ดังกล่าว พอประมวลเรียบเรียงโดยสังเขปได้ดังนี้คือ :
1) หนี้สาธารณะพุ่งสูง
โควิดระบาด –> รัฐใช้จ่ายเพิ่ม –> เก็บภาษีได้น้อยลง –> หนี้สาธารณะเพิ่ม ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปให้ –> ลดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานลง
นี่กลายเป็นเรื่องน่าวิตก เพราะปัญหาภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง/โลกร้อน –> ดินฟ้าอากาศแปรปรวนสุดโต่ง อาทิ ภัยพิบัติฝนแล้ง น้ำท่วม อากาศร้อนจัด เป็นต้น
บรรดาประเทศยากจนซึ่งขาดเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรับมือป้องกันภัยพิบัติโลกร้อนดังกล่าวจึงตกอยู่ในฐานะล่อแหลมที่สุดต่อผลกระทบสารพัดจากภาวะโลกร้อน
2)เงินเฟ้อ
โควิดระบาด –> ห่วงโซ่อุปทานปั่นป่วนเสียกระบวน & จีนปิดท่าเรือและโรงงานตามนโยบายซีโร่โควิด + สงครามในยูเครน –> อุปทานสินค้าลดลงกะทันหันไม่คาดคิด (negative supply shock) –> ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ก๊าซธรรมชาติ ข้าวสาลี ข้าวโพด น้ำมันปรุงอาหาร ปุ๋ยเพิ่ม –> เงินเฟ้อเนื่องจากต้นทุนเพิ่ม (cost-push inflation)
สำหรับอัตราเงินเฟ้อปีนี้ในไทย ข้อมูล IMF คาดการณ์ไว้ต่ำกว่า 5% (ดูแผนภูมิด้านบน) แต่ข้อมูลแหล่งอื่นในเดือนมิถุนายนคาดสูงกว่า ตั้งแต่ 5.6% (ซิตี้แบงก์), 5.9% (EIC ธ.ไทยพาณิชย์), ถึง 6.6% (KKP Research) (https://www.thaipost.net/economy-news/158827/; https://workpointtoday.com/thai-inflation-hits-24-year-high-of-5-9/; https://www.bangkokbiznews.com/business/1010146)
3) ค่าเงินตกต่ำ
บรรดาประเทศตลาดเกิดใหม่ซึ่งมีหนี้สาธารณะ/หนี้ภาครัฐต่อภายนอกประเทศพุ่งสูง + ราคาอาหาร และพลังงานในตลาดโลกเพิ่มขึ้น & โดยเฉพาะหากเป็นประเทศซึ่งพึ่งตนเองไม่ได้ ไม่พอเพียงในตนเอง ต้องนำเข้าวัตถุดิบ อาหารและเชื้อเพลิงจำนวนมากแล้ว –> ค่าเงินตก
ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้ –> เงินทุนไหลออก –> ขาดเงินตราต่างประเทศสำหรับชำระหนี้ภายนอกและซื้อหาสินค้าเข้าประเภทอาหาร-เชื้อเพลิงที่จำเป็น –> ก็อาจถึงขั้นผิดนัดชำระหนี้ได้ (debt default)
อย่างที่ศรีลังกาประสบอยู่
4) การพัฒนาเศรษฐกิจชะลอตัวลง
ผลมวลรวมจาก [การถดถอยของโลกาภิวัตน์ทางเศรษฐกิจ + ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ (ระหว่างสหรัฐและพันธมิตรตะวันตก vs. จีนและรัสเซียรวมทั้งพันธมิตรกำลังพัฒนาบางประเทศ) + ความล่อแหลม เปราะบางของห่วงโซ่อุปทานการผลิต + การหันมาเน้นอธิปไตยทางเศรษฐกิจของชาติ + อุตสาหกรรมที่ทำการผลิตแบบอัตโนมัติและด้วยหุ่นยนต์]
-> การจัดตั้งห่วงโซ่มูลค่าในการผลิตสินค้ากันใหม่ -> ลดการผลิตโพ้นทะเลในประเทศค่าแรงต่ำลง -> ส่งผลระยะยาวทำให้การพัฒนาบรรดาประเทศตลาดเกิดใหม่ทั้งหลายชะลอตัวลง
ซึ่งถ้าหากบรรจบกับวิกฤตหนี้สาธารณะภายนอกเข้าแล้ว (ในบรรดาประเทศรายได้ต่ำ 70 ประเทศของ โลก มีราว 60% ที่อยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงจะผิดนัดชำระหนี้ตอนนี้) ก็อาจนำไปสู่ -> ทศวรรษที่สูญหายของการพัฒนาเหมือนทศวรรษที่ 1980 เมื่อครั้งประเทศละตินอเมริกาและ แอฟริกาแถบใต้ทะเลทรายซาฮารา 41 ประเทศพากันผิดนัดชำระหนี้ระหว่างปี 1980-1985
ธนาคารโลกได้คำนวณว่าประเทศดังกล่าวเหล่านี้ต้องใช้เวลาถึง 8 ปีกว่าจะฟื้นฟูจีดีพีกลับมาในระดับก่อนวิกฤตหนี้ได้