หนังสือเรียนสำหรับเด็ก (๑๓๖)/บทความพิเศษ ฟ้า พูลวรลักษณ์

ฟ้า พูลวรลักษณ์

บทความพิเศษ

ฟ้า พูลวรลักษณ์

 

หนังสือเรียนสำหรับเด็ก (๑๓๖)

 

ปัญหาของโลกทุกวันนี้ เกิดจาก

๑ Fundamentalism หรือความเชื่อในศาสนาสุดโต่ง นี้คือมูลฐานนิยม

๒ ความไม่ทัดเทียมกัน

๓ Racism หรือการเหยียดเชื้อชาติ

๔ สงคราม

แต่สิ่งเหล่านี้ เกิดจากอะไร มีอะไรเป็นอาหารหล่อเลี้ยง แน่ละ หนึ่งในนั้นคือข่าวปลอมเป็นต้นเหตุ และความเชื่อในสิ่งนอกเหนือหลักธรรมชาติ หรือรวมกันเรียกว่า เวรกรรม

เวรกรรมเป็นสิ่งเชิงซ้อน มันคืออะไรหลายอย่างมารวมกัน เกิดเป็นเวรกรรม หากแต่ทว่า หากเราจะจับเอาตัวมันขึ้นมาโดดๆ กลับหาไม่ได้ ด้วยมันคือความว่างเปล่า

หรือพูดอีกที เวรกรรม คือความสิ้นสูญของระบบเหตุผล

 

ทําไมระบบเหตุผล จึงเหลือน้อยนัก ทั้งที่มันมีความสำคัญ

ทำไมมันถึงมีความสำคัญ ที่จริงแล้ว มันคือหัวใจของมนุษย์

มนุษย์คือ Homo Sapiens ที่หลงกาล ตกยุค มีชีวิตในยุคนี้ แต่บางส่วนของสมอง เป็นของยุคโบราณ เต็มไปด้วยอคติ ความหลงผิด และอุปาทาน ไม่สามารถเข้าใจความซับซ้อนของโลกสมัยใหม่

ฉลาดจริง แต่ฉลาดแบบลิงหลงยุค

 

จิตมนุษย์นี่เอง ที่มักไม่ยอมรับ ว่าเราคือผู้สร้างอารยธรรม ค้นพบกฎธรรมชาติ เอาชนะเชื้อโรค และได้สร้างระบบเหตุผลที่แข็งแกร่ง สูงลิบเป็นป้อมปราการ

จิตมนุษย์นี่เอง ที่ปฏิเสธตัวเราเอง ว่าทำลังทะยานพุ่งไปสู่ศตวรรษที่ ๒๒

และเกินกว่านั้น เรางอแง เราคร่ำครวญ เราสรุปด้วยความเชื่อง่ายๆ เช่น วันพุธไม่เหมาะกับฉัน ดังนั้น วันพุธฉันจะไม่ทำอะไร

หรือเลข ๑๓ เป็นเลขอัปมงคล ควรหลีกเลี่ยง ระบบเหตุผลบอกเราว่า หากจริง ทุกวันก็จริงได้หมด เท่ากับว่า เราไม่ทำอะไรเลยในทุกวัน หรือหากเลขนี้อัปมงคลจริง ทุกเลขก็อัปมงคลหมด นี้คือระบบเหตุผล

๑๐

คนมีระบบเหตุผล ในหนึ่งสัปดาห์จึงมีเจ็ดวัน

คนไม่มีเหตุผล ในหนึ่งสัปดาห์จึงเหลือหกวัน หรือเหลือห้าวัน หรือเหลือสี่วัน หรือเหลือน้อยกว่านั้น

คนมีระบบเหตุผล จึงมีตัวเลขครบ

คนไม่มีเหตุผล จะมีตัวเลขไม่ครบ

คนมีเหตุผล มองวันนี้ และวันพรุ่งนี้ แต่คนไม่มีเหตุผลจะมองเมื่อวานนี้

เพราะเมื่อวาน มีอคติแน่นหนา น่าเอร็ดอร่อยดั่งจอกแหน ดั่งสาหร่าย ดั่งสวนมักกะลีผล ดั่งสวนดอกท้อ

พรุ่งนี้อาจว่างเปล่า มีแต่กัมมันตภาพรังสี และดวงอาทิตย์ที่แสบร้อน

๑๑

มีคนมากมายที่มีความสามารถ เฉลียวฉลาด แต่ทว่า เขามีหลักคิดเช่นนี้คือ

๑ ฉันถูก

๒ คุณว่าฉัน จึงแปลว่า คุณผิด

๓ คุณชมฉัน แสดงว่า คุณถูก

มันเป็นเช่นนี้ โดยเริ่มจากบรรทัดแรกเท่านั้นเอง คือคำว่า ฉันถูก

มันจะต่างกันมาก หากเขาเริ่มด้วยคำว่า ฉันผิด

 

๑๒

ที่จริงแล้ว ทฤษฎีสมคบคิด เป็นสิ่งเก่า

สิ่งนอกเหนือหลักธรรมชาติ เป็นสิ่งเก่า

ข่าวปลอม จึงเป็นสิ่งโคตรเก่า ปัญหาของมันคือ มันเก่า ขึ้นหืน เต็มไปด้วยเชื้อรา

๑๓

ในยุคอดีต เราไม่รู้ว่าอะไรจริงหรือเท็จ ใครที่คาดเดา หรือผูกเรื่อง หรือสร้างนิทาน จะสามารถดึงดูดใจคนฟังได้มากกว่า สามารถชักจูง ชักนำมนุษย์

เพราะเราไม่รู้จริงๆ ว่าจักรวาลนี้คืออะไร ชีวิตคืออะไร มีอะไรซ่อนอยู่หลังประตูบานนี้ ภายในวัง ภายในห้องของผู้มีอำนาจ พวกเขากำลังคุยอะไรกัน ทันใดนั้นเองทฤษฎีสมคบคิดก็เกิดขึ้น และแข็งแรงยิ่งนัก

ทฤษฎีสมคบคิด เหนี่ยวนำมนุษย์ ทั้งที่มันไม่มีเหตุผล

๑๔

กลุ่มคนที่เป็นผู้นำในทฤษฎีสมคบคิด คือพวกกูรู พวกเขาคิดว่าตัวเองรู้เยอะ จึงวิเคราะห์ แต่ทันใดที่พวกเขามองข้ามเหตุผล พวกเขาคือคนนำพาไปสู่ความผิด

วันที่ Will Smith ตบหน้าโฆษกในงานออสการ์ มีกูรูกลุ่มหนึ่งออกมาวิเคราะห์ว่า โดยภาษากาย เขาไม่ได้ตบจริง นี่เป็นการเล่นละคร

แต่ระบบเหตุผล เรียบง่ายกว่านั้น เขาจะทำอย่างนั้นทำไม เกิดประโยชน์ใดหรือ มันมีแต่โทษ เห็นๆ อยู่ว่า สังคมลงโทษเขาอย่างหนัก

ความหลงผิดของกูรู นั้นน่าพิศวง เขาอยู่ๆ อวดเก่ง รอบรู้ในภาษากาย

 

๑๕

ระบบไม่มีเหตุผล เกิดจากการเลือกข้าง อคติ ความสับสน ของมายาคติ

การเลื่อนไหลของนิทาน

รวมกันทั้งหมดนี้ คือระบบไม่มีเหตุผล

แต่ระบบไม่มีเหตุผล อธิบายได้ยาก มันเหมือน Quantum มันละเอียดอ่อนยิ่งนัก เราจะไม่ตายได้ยังไง ในเมื่อเราตายไปแล้ว ในวันพรุ่งนี้

๑๖

เวรกรรม เฉียดใกล้กับสิ่งนอกเหนือหลักธรรมชาติ หรือพูดอีกทีมันก็เกือบเป็นสิ่งเดียวกัน แต่ไม่ใช่ ความข้อนี้เอง ที่ตัดสินกันด้วย Quantum คือต้องวัดกันในระดับอนุภาค

ทุกวันนี้ฉันคิดถึงเวรกรรม แล้วหนักใจเหลือเกิน มันหนักหน่วง มันกดทับสมองของฉัน มันบดบังดวงตาของฉัน ฉันขยับตัวไม่ได้ ฉันหายใจไม่ออก ฉันจำอะไรเกือบไม่ได้เลย

๑๗

ฉันไม่ได้บอกว่า ระบบเหตุผล Perfect เพียงแค่บอกว่า มันเป็นระบบที่ดีกว่า แต่ตัวมันเองก็ยังต้องพัฒนา เราเริ่มเข้าใจบางสิ่งในจักรวาล แต่ก็ยังไม่รู้อีกมากหลาย แต่ความแตกต่างของสองระบบนี้ ตัดสินได้ง่าย เช่น เวลาเจอปัญหาสภาพแวดล้อม

กลุ่มไม่มีเหตุผล จะปฏิเสธ หรือไม่สนใจ หรือยอมรับแต่ไม่ทำอะไร

ตรงข้ามกับกลุ่มมีเหตุผล