พฤษภารำลึก (11) ปฏิรูปกองทัพในกระแสโลก!/ยุทธบทความ สุรชาติ บำรุงสุข

ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข

ยุทธบทความ

สุรชาติ บำรุงสุข

 

พฤษภารำลึก (11)

ปฏิรูปกองทัพในกระแสโลก!

 

“อุดมการณ์เป็นสิ่งสำคัญ และไม่อาจถูกทำลายได้ด้วยการกระทำเชิงลบ แม้จากการกระทำของฝ่ายรัฐ [ดังนั้น] ผู้นำฝ่ายประชาธิปไตยจะต้องมีบทบาทในการสร้างหลักนิยมของการป้องกันประเทศใหม่ เพื่อเป็นทางเลือกเชิงบวก [สำหรับผู้นำทหาร]”

Alfred Stepan (1988)

ผู้เชี่ยวชาญด้านทหารกับการเมืองในละตินอเมริกา

 

หากมองจากภายนอกเข้ามาแล้ว เราอาจกล่าวเป็นข้อสังเกตได้ว่า กระแสการปฏิรูปกองทัพไทยในช่วงหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 สอดรับกับกระแสปฏิรูปทหารที่เกิดขึ้นในเวทีโลก อันเป็นผลโดยตรงจากการสิ้นสุดของยุคสงครามเย็น ซึ่งยุติลงอย่างเป็นทางการในเดือนธันวาคม 2534

โจทย์ทางทหารของรัฐทั่วโลกจากปี 2535 เปลี่ยนไปหมด ไม่มีภัยคุกคามทางทหารแบบเก่าเหลือ ซึ่งก็คือสภาวะที่ไม่มี “สงครามใหญ่” ขณะเดียวกันก็ไม่มีข้าศึกแบบเดิม เพราะสิ่งที่ตามมากับการสิ้นสุดของสงครามเย็นคือ การพังทลายของรัฐสังคมนิยม พร้อมกับการล่มสลายของจักรกลที่ทรงพลังอย่างมากในเวทีโลกคือ การสิ้นพลังอำนาจของ “กองทัพแดง”

ดังนั้น การเปลี่ยนภูมิทัศน์ความมั่นคงของโลก หรือการมาของ “ระเบียบโลกใหม่” (The New World Order) ของยุคหลังสงครามเย็น เป็น “ปัจจัยบังคับ” ที่ผู้นำรัฐบาลและผู้นำทหารทั่วโลกต้องมา “คิดใหม่” เพราะสภาวะแวดล้อมหรือปัจจัยด้านความมั่นคงภายนอกเปลี่ยนไปหมดโดยสิ้นเชิง… ไม่มี “ข้าศึกเก่า” เหลือแล้วในทางยุทธศาสตร์

อย่างไรก็ตาม คำถามที่ตามมาอย่างน่าสนใจคือ แล้วรัฐบาลไทยและกองทัพไทยจะยอมรับการมาของกระแสโลกเช่นนี้หรือไม่

และจะดำเนินการอย่างไรกับ “โลกของทหาร” ที่ถูก “ดิสรัปต์” (disrupt) จากการมาของระเบียบใหม่

 

รัฐมนตรีกลาโหมพลเรือน

หลังจากการเปลี่ยนผ่านทางการเมืองในปี 2535 เดินหน้าไปสักระยะ ผมเริ่มรู้สึกว่าโอกาสของการปฏิรูปทหารคงกลายเป็น “คลื่นกระทบฝั่ง” ในเวลาอีกไม่นานนัก ซึ่งอาจจะเป็นเพราะแรงผลักของ “กระแสพฤษภา 2535” ต่อเรื่องดังกล่าวเองก็ค่อยๆ ลดน้ำหนักลง หากเปรียบเทียบกับการเปลี่ยนผ่านในหลายประเทศในยุคนั้น

น่าสนใจว่าเหตุการณ์ “พฤษภาประชาธิปไตย” ไม่ได้นำความเปลี่ยนแปลงมาสู่ภายในกองทัพมากนัก ดังจะเห็นได้ว่า แม้จะเกิดกรณีดังกล่าว แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมยังไม่เป็นพลเรือน

ในด้านหนึ่งอาจจะเป็นคำตอบในตัวเองว่า อำนาจของ “ความเป็นอิสระของกองทัพ” ยังมีอยู่สูง การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในไทย ยังไม่นำไปสู่แนวคิดเรื่อง “รัฐมนตรีกลาโหมพลเรือน” เช่นที่เกิดในละตินอเมริกาได้

ซึ่งเมื่อระยะเวลาผ่านไป ผมมีเวลาหวนกลับมาพิจารณาเหตุการณ์นี้แล้ว ต้องยอมรับว่า ชัยชนะของประชาชนในปี 2535 ไม่อาจที่จะสั่นคลอนโครงสร้างภายในของกองทัพไทยได้ และทั้งยังไม่สามารถสร้าง “วัฒนธรรมใหม่” ของการปกครองกองทัพโดยพลเรือนได้ด้วย

อันทำให้ชุดความคิดเรื่อง “การควบคุมโดยพลเรือน” ที่น่าจะเกิดขึ้น กลายเป็นเพียงความฝันของนักวิชาการ

สภาวะเช่นนี้ทำให้ความคาดหวังว่าการเลือกตั้งครั้งแรกหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่เกิดขึ้นในเดือนกันยายนของปีเดียวกันนี้ จะส่งผลให้รัฐบาลใหม่รับเอาเรื่องของการปฏิรูปกองทัพมาเป็นหนึ่งในวาระสำคัญของรัฐบาลนั้น ดูจะไม่ค่อยเป็นจริงเท่าใดนัก และโดยเงื่อนไขทางการเมือง รัฐบาลในอนาคตก็อาจให้ความสนใจในเรื่องของการปฏิรูปการเมือง ด้วยการผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 2534 ซึ่งเป็นผลผลิตโดยตรงของรัฐบาลทหาร

ฉะนั้น รัฐบาลใหม่จัดตั้งโดยพรรคประชาธิปัตย์เป็นแกนหลัก และนายชวน หลีกภัย ก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี จึงไม่สามารถสร้างปรากฏการณ์ “รัฐมนตรีกลาโหมพลเรือน” ได้จริง และยังคงต้องอาศัยผู้นำทหารเก่าคือ พล.อ.วิจิตร สุขมาก กลับเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรี [กว่านายกรัฐมนตรีชวนจะเป็นรัฐมนตรีกลาโหมพลเรือนได้นั้น ก็เป็นในเดือนพฤศจิกายน 2540 ไปแล้ว (หลังการล้มลงของรัฐบาล พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ พฤศจิกายน 2540)]

ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า การเปลี่ยนผ่านในปี 2535 แทบจะไม่ได้ส่งผลกระทบในเชิงโครงสร้างของความสัมพันธ์พลเรือน-ทหาร สภาวะเช่นนี้ทำให้ผมมีข้อสังเกตกับตัวเองเสมอว่า การเมืองไทยไม่มีพื้นฐานรับรอบการปฏิรูปกองทัพ เรามีแต่ความฝัน

ดังนั้น หากมองผ่านแนวคิดเรื่องรัฐมนตรีกลาโหมพลเรือนที่จะเป็นดัชนีวัดความสำเร็จของการเปลี่ยนผ่านสู่ประชาธิปไตยดังเช่นตัวแบบในละตินอเมริกานั้น ตัวแบบที่กรุงเทพฯ อาจจะไปไม่ถึงจุดดังกล่าว

เพราะนับจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี 2475 เป็นต้นมาจนถึงเหตุการณ์ในปี 2535 การเมืองไทยมีรัฐมนตรีกลาโหมพลเรือนเพียงคนเดียวคือ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช แต่อยู่ในตำแหน่งเพียงระยะเวลาสั้นๆ จาก 27 สิงหาคม 2519 และสิ้นสุดพร้อมกับการถูกรัฐประหารในเหตุการณ์นองเลือดในวันที่ 6 ตุลาคม 2519

ประวัติศาสตร์การเมืองเป็นคำยืนยันอย่างดีในอีกด้านว่า ประเทศไทยไม่มี “วัฒนธรรมการเมือง” ที่จะยอมรับการดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีกลาโหมที่มาจากพลเรือน อันเป็นจุดที่เป็นความแตกต่างจากการเมืองของประเทศตะวันตกอย่างมาก ฉะนั้น ไม่ว่าใครจะชนะเลือกตั้ง แต่รัฐมนตรีกลาโหมจะต้องมาจากผู้นำทหาร ซึ่งอาจจะคล้ายคลึงกับการเมืองญี่ปุ่นในยุคก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ที่ตำแหน่งนี้เป็นของคนที่มาจากกองทัพเท่านั้น

ภาวะเช่นนี้ทำให้ผมเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า ผมควรที่จะฝันต่อไหม

หรือเราควรจะดำรง “ความบ้า” ที่จะแบกความฝันชุดนี้ต่อไปแบบไม่สิ้นสุด

 

นายทหารสายปฏิรูป

ผมกลับมาเก็บข้อมูลเพื่อเตรียมเขียนวิทยานิพนธ์ปริญญาเอก และได้กลับมาสอนที่ภาควิชาฯ ซึ่งในทางวิชาชีพ ผมโชคดีที่ได้สอนวิชาที่ตัวเองสนใจมาโดยตลอดคือ วิชา “ยุทธศาสตร์ศึกษา” วิชานี้ในยุคสงครามเย็น เป็นวิชาบังคับที่นิสิตภาคความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจำเป็นต้องมีความรู้รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ในขณะนั้น จึงเป็นมหาวิทยาลัยพลเรือนแห่งเดียวที่มีการเรียนการสอนทางด้านนี้ในระดับปริญญาตรี (แต่ในยุคหลังสงครามเย็น วิชานี้ถูกปรับออกให้เป็นวิชาเลือก ซึ่งเป็นไปตามกระแสโลกที่ความสนใจในเรื่องนี้ลดลง)

ผมสอนยุทธศาสตร์ และอาจจะมีโทนเนื้อหาออกมาเหมือนการเรียนวิชาทหารสำหรับนิสิตพลเรือน เพราะนิสิตที่เรียนการเมืองระหว่างประเทศต้องเรียนรู้เรื่องของสงคราม การใช้กำลังของรัฐ ตลอดรวมถึงการป้องปราม ปัญหาอาวุธนิวเคลียร์ การลดอาวุธและการควบคุมอาวุธ

นิสิตอาจจะรู้สึกแปลกไปบ้าง เนื่องจากเนื้อหาเป็นรัฐศาสตร์อีกแบบ โดยเฉพาะการเรียนเรื่องของสงคราม แต่ดังที่นักรัฐศาสตร์ในสาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศถูกสอนเสมอว่า สงครามเป็นมรดกเก่าแก่ที่สุดของมนุษยชาติ… สงครามจึงเป็นเรื่องที่ต้องเรียนรู้ และเป็นดังที่ลิดเดล ฮาร์ท นักยุทธศาสตร์ชาวอังกฤษ เคยย้อนคติเก่าของยุคโรมว่า “ถ้าอยากได้สันติภาพ ท่านต้องเข้าใจสงคราม” (If you want peace, understanding war- Liddell Hart)

วันหนึ่งมีลูกศิษย์ที่เรียนวิชานี้มาขอคุยส่วนตัว… คุณพ่อของนิสิตเห็นสมุดเล็กเชอร์ของลูก และอ่านเนื้อหาที่ลูกจดไว้ เลยอยากขอมาคุยด้วย ลูกศิษย์บอกว่าคุณพ่อเป็นทหาร และอยากขอพาคุณพ่อมาพบ

ผมไม่คิดว่าการพบครั้งนี้ จะเป็นจุดเริ่มต้นของการนำเสนอความคิดครั้งสำคัญครั้งหนึ่งในชีวิตทางวิชาการของตนเอง แต่กระนั้น ก็ไม่ได้คาดหวังว่า ผมจะไปปรับเปลี่ยนอะไรของกองทัพได้… การปฏิรูปทหารไทยไม่ใช่เรื่องง่าย

เป็นครั้งแรกหลังเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ที่ผมได้พบนายทหารระดับสูงของกองทัพไทย และไม่ใช่เป็นทหารบกที่ผมพอจะคุ้นเคยอยู่บ้าง… คุณพ่อของลูกศิษย์เป็นนายทหารอากาศ อยากจะขออนุญาตเอ่ยชื่อของนายทหารท่านนี้ และเป็นนายทหารท่านหนึ่งในกองทัพที่ผมให้ความเคารพมาก คือ “พล.อ.อ.พิสิฐษ์ ศรีกาฬสินธุ์”

ผมพอเดาได้ว่า เมื่อมีการปรับย้าย พล.อ.อ.เกษตร โรจนนิล ผู้บัญชาการทหารสูงสุด (เป็นรองหัวหน้าคณะรัฐประหาร 2534) ออก และ พล.อ.อ.วรนาถ อภิจารี เข้ามารับตำแหน่งแทน พร้อมกับการประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนว่า “ทหารอาชีพไม่ทำรัฐประหาร” นั้น เท่ากับเป็นสัญญาณว่า นายทหาร “สายปฏิรูป” ที่เราเรียกในทฤษฎีเปลี่ยนผ่านวิทยาว่า “soft-liner officers” จะมีบทบาทมากขึ้น พร้อมกับเก็บสายรัฐประหารหรือพวก “hard-liner officers” เข้ากรุไป

แต่ก็เป็นเพียงในระดับหัวไม่กี่นาย

 

ในแวดวงทหาร

ผมได้มีโอกาสคุยและแลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องทางทหารกับ พล.อ.อ.พิสิษฐ์อีกหลายต่อหลายครั้ง บางครั้งท่านมารับลูกเอง ก็จะมาเร็วหน่อย เพื่อที่จะได้คุยกัน จึงเป็นโอกาสให้ผมได้รับรู้ปัญหาภายในของกองทัพมากขึ้น ซึ่งอาจไม่ต่างจากในยุคที่ผมจบปริญญาโทกลับมาจากมหาวิทยาลัยคอร์แนล

ผมได้พบกับนายทหารจาก “กลุ่มยังเติร์ก” ที่กลับเข้ารับราชการ แต่พี่เหล่านี้ไม่มีโอกาสกลับไปเป็นผู้พันหน่วยรบ หากถูกส่งไปอยู่หน่วยการศึกษาที่โรงเรียนเสนาธิการทหารบก จึงมาชักชวนผมให้ไปร่วมงานทางวิชาการ (ไม่ได้มาชักชวนไปยึดอำนาจครับ 55) อันเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งในชีวิตทางวิชาการของผม

และเป็นประตูที่เปิดออกให้ผมได้เรียนรู้เรื่องของกองทัพไทยมากขึ้น จนในยุคนั้น ซึ่งด้วยฐานะความอาวุโสของความเป็นน้องเล็ก ผมถูกถือว่าเป็นเหมือน “คนในกองทัพ”

พี่ๆ เขาคุยกันบางเรื่องจนผมเกรงว่าจะเสียมารยาท เพราะเป็นเรื่อง “วงในของทหาร” และผมจะขอเดินออก แต่พี่เขากลับบอกว่า “ฟังไว้ จะได้รู้ว่าเกิดอะไรในกองทัพ…” แต่ผมก็ถือเสมอว่า ผมไม่เอาเรื่องเหล่านี้มาเขียนในที่สาธารณะเด็ดขาด

ว่าที่จริงแล้ว ผมมีชีวิตเช่นนี้ตั้งแต่จบปริญญาโทกลับมาทำงานที่จุฬาฯ เป็นชีวิตที่ส่วนหนึ่งอยู่ในแวดวงทหาร จนคนแทบไม่เชื่อว่า ผมมีอดีตเป็นผู้นำนักศึกษาฝ่ายซ้ายของยุค 6 ตุลาฯ

หรือบางคนคิดว่า ผมเป็นนายทหารไปร่วมยึดอำนาจกับพวกพี่ๆ ยังเติร์ก และย้ายมาเป็นอาจารย์

หรือมีคนมาถามว่า ผมย้ายออกจากโรงเรียนนายร้อย จปร. มาจุฬาฯ ปีไหน เป็นต้น

แต่ไม่มีคำถามไหนที่ผมชอบมากและเป็นความทรงจำมาจนถึงวันนี้… มีคณะนายทหารมาประชุมที่คณะ หลังจากเสร็จการประชุมแล้ว นายทหารรุ่นพี่ท่านหนึ่งถามว่า “ผมไปเวียดนามผลัดไหน?”… พี่เขาตั้งใจจะชวนผมไปเจอเพื่อนๆ ที่ไปรบเวียดนามมาด้วยกัน

จนผมต้องขอโทษว่า ผมเป็นแค่นักรัฐศาสตร์ที่ขอเข้ามาเรียนรู้เรื่องของกองทัพ ไม่ได้มีโอกาสเข้าร่วมรบกับพี่ๆ ในเวียดนามแต่อย่างใด

แน่นอนว่า ในกองทัพเป็นที่รวมของสายขวาจัด สายเหยี่ยว และอีกหลายสาย แต่ผมโชคดีที่เริ่มชีวิตทางวิชาการในกองทัพกับสายปฏิรูป แม้บางคนอาจจะเคยเป็นสายปราบคอมมิวนิสต์

แต่พี่ๆ น้องๆ เหล่านี้ ล้วนยอมรับว่า กองทัพไทยต้องการการปฏิรูป!