ทวีศักดิ์ บุตรตัน : โลกร้อนเพราะมือเรา (96) วิสัยทัศน์ “จีน”

บนเวทีโลกสิ่งแวดล้อมยามนี้ ถ้าเทียบความมุ่งมั่นช่วยแก้ไขปัญหาโลกร้อนระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา จีนแซงหน้าไปไกลโข ฝ่ายสหรัฐถอยหลังลงคลอง

นายสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีของจีน ประกาศต่อหน้าผู้นำโลกในการประชุมเวิร์ลด์อีโคโนมิก ฟอรั่มที่สวิตเซอร์แลนด์ว่าจีนยืนหยัดเคียงข้างกับชาวโลกเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน

ตรงกันข้าม นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐสั่งล้มเลิกข้อตกลงแก้ปัญหาโลกร้อนที่ผู้นำโลกร่วมเซ็นสัญญากันที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส

จีนปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศโลกมากที่สุดในโลก มากกว่าสหรัฐอเมริกา

ตัวเลขเมื่อปี 2552 จีนปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 7,710 ล้านตัน หรือเท่ากับ 25.4 เปอร์เซ็นต์ของปริมาณก๊าซพิษที่ปล่อยทั่วโลก สหรัฐปล่อยเป็นอันดับสอง 5,420 ล้านตัน

 

รัฐมนตรีวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของจีนกล่าวยอมรับในที่ประชุมการประเมินผลกระทบจากภาวะโลกร้อนแห่งชาติว่าภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบกับจีนในหลายด้านไม่ว่าจะเป็นเรื่องของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลสูงขึ้น ระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น

กรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่าที่ราบสูงทิเบตของจีนมีอุณหภูมิสูงขึ้นสี่เท่าตัวมากกว่าที่อื่นๆ

จีนเป็นกังวลกับระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากชายฝั่งทะเลที่เป็นแนวยาวจากเหนือถึงใต้นั้น มีเมืองใหญ่ๆ ประชากรอยู่อย่างหนาแน่น และเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจ เช่นมหานครเซี่ยงไฮ้ เทียนจีน และกวางโจว

นักวิทยาศาสตร์จีนประเมินว่า ถ้าอุณหภูมิในภูมิภาคเอเชียเพิ่มขึ้น 1 องศาเซลเซียส ผลผลิตข้าวสาลีลดลงราว 3-10 เปอร์เซ็นต์

ถ้าระดับน้ำทะเลเพิ่มขึ้น 1 เมตร น้ำเอ่อท่วมชายฝั่งทะเลกินพื้นที่ 92,000 ตารางกิโลเมตร และคนจะอพยพย้ายถิ่นหนี 67 ล้านคน

สภาวะภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงยังทำให้ภาคเหนือของจีนเจอกับภัยแล้ง เกษตรไม่มีน้ำเพียงพอในฤดูเพาะปลูก

ส่วนภาคใต้เผชิญกับฝนตกหนัก น้ำท่วมใหญ่

หลังฝนตกเกิดโรคระบาดโดยเฉพาะโรคท้องร่วงและโรคมาลาเรียในเขตยากจน

การปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศนั้นมีผลทำให้ชาวจีนเสียชีวิตเฉลี่ยปีละ 400 คน

ผู้นำจีนจึงให้ความสำคัญกับปัญหาโลกร้อน

 

เมื่อได้จังหวะเหมาะที่นายทรัมป์เล่นเกมถอนตัวออกจากข้อสัญญากรุงปารีส “สี จิ้น ผิง” กระโดดขึ้นเวทีโชว์ความเป็นผู้นำแก้ปัญหาโลกร้อนแทนสหรัฐ

จีนประกาศจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ และลุยแผนการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มากขึ้น

เมื่อต้นปีนี้จีนประกาศแผนการลงทุนพลังงานหมุนเวียน 360,000 ล้านเหรียญสหรัฐเป็นระยะเวลา 4 ปี และยกเลิกแผนก่อสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากถ่านหิน 85 แห่ง

การขับเคลื่อนของจีนส่งผลให้เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนเร่งพัฒนาเร็วขึ้นและต้นทุนการผลิตถูกลง

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนของจีนก้าวหน้าไปมาก ดูได้จากอัตราเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนสูงขึ้น 18 เท่า แต่การใช้พลังงานหลัก เช่น ก๊าซ น้ำมัน หรือถ่านหินมีปริมาณลดลง มีอัตราเติบโตเพียง 5 เท่า

ข้อมูลธนาคารโลกชี้ว่า สัดส่วนการใช้พลังงานของจีนลด 70% ต่อหนึ่งหน่วยจีดีพี

ตามแผนฉบับที่ 13 จีนวางไว้จะลดการใช้พลังงานให้ได้ 15% จากปริมาณการใช้พลังงานทั้งประเทศ ในระหว่างปี 2559-2563

แผนเดินตามเป้าหมาย ดังที่นายหลี เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรีจีน แถลงต่อสมัชชาแห่งชาติจีนเมื่อต้นปีว่า ปี 2559 ปริมาณการใช้พลังงานลดลง 5%

อุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียนของจีนติดอันดับโลก อย่างเช่นอุตสาหกรรมผลิตกังหันลม และอุตสาหกรรมผลิตแผงโซลาร์เซลล์

ทิศทางในอนาคต ถ้าจีนเร่งมือพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน คาดว่าจีนจะยึดตลาดพลังงานหมุนเวียนของโลกอย่างแน่นอน

 

นอกจากนี้ จีนยังประกาศแผนเลิกการผลิตและขายรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล และตั้งเป้าผลิตรถยนต์ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้าหรืออีวี (electric vehicle : EV)

จีนมองว่า ถ้าแผนนี้สำเร็จจะช่วยลดปริมาณการปล่อยก๊าซพิษสู่ชั้นบรรยากาศได้มากทีเดียว

อย่างที่ทราบกันตลาดรถยนต์ในจีนใหญ่ที่สุดในโลก

ปีที่แล้วจีนผลิตและขายรถยนต์เครื่องยนต์ดีเซล เบนซินมากกว่า 28 ล้านคัน

อีก 3 ปีบริษัทวอลโว่จะผลิตรถอีวีขายในจีน ส่วนฟอร์ดเปิดตลาดรถไฮบริดในต้นปีหน้า

คาดว่าในอีกไม่เกิน 10 ปี ชาวจีนจะเลือกใช้รถอีวีเป็นส่วนใหญ่ เพราะรัฐบาลบีบให้ประชาชนเลือกเพื่อแก้ปัญหาโลกร้อน อากาศเป็นพิษ

อีกทั้งเศรษฐกิจจีนโตเร็วอย่างในปัจจุบัน คาดว่าจากประชากรทั้งหมด 1,300 ล้านคน มีจำนวน 240 ล้านคนเก็บเงินมากพอซื้อรถยนต์ส่วนตัวไว้ใช้เอง

ขณะเดียวกัน เมืองใหญ่ๆ ของจีน 10 เมืองมีอัตราการขยายตัวเร็วมาก ประชากรอยู่กันอย่างหนาแน่นเฉลี่ยเมืองละ 6-22 ล้านคน

ส่วนเมืองขนาดเล็กประชากรราว 1 ล้านคน มีมากถึง 160 เมือง

ถ้าปล่อยให้ชาวจีนเลือกซื้อรถใช้น้ำมัน รัฐบาลจีนจะวุ่นวายกับการก่อสร้างถนน แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นพิษตลอดเวลา

 

นโยบายบีบให้ชาวจีนซื้อรถอีวีจึงเป็นทางออกที่ดีที่สุด

เมื่อทิศทางตลาดรถพลังงานไฟฟ้าในจีนเป็นเช่นนี้ ตลาดโลกจะถูกบีบให้เดินตามด้วย

ในความเป็นจริงตลาดรถยนต์ของโลกกำลังเบนทิศเข้าสู่ยุคอีวี

อุตสาหกรรมรถยนต์โลกมีมูลค่าราว 200,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เฉพาะปีที่แล้วชาวโลกซื้อรถยนต์ใช้น้ำมัน รวม 95 ล้านคัน

รถไฮบริดกึ่งพลังงานไฟฟ้าเริ่มเข้ามาแทรกตัวในตลาดรถยนต์ของโลก แต่ยอดขายปีหนึ่งแค่ 1% ของตลาดโลก

ถ้ารัฐบาลทั่วโลกหันมาเอาจริงกับการแก้ปัญหาการปล่อยก๊าซพิษจากรถยนต์โดยมีแผนห้ามขายรถเชื้อเพลิงเบนซิน ดีเซล เหมือนอย่างจีน อังกฤษ นอร์เวย์ หรืออินเดีย ตลาดรถอีวีจะบูมอย่างรวดเร็ว

นักวิเคราะห์เชื่อว่า ภายใน 5 ปีนี้ ต้นทุนการผลิตรถอีวีลดลงโดยเฉพาะแบตเตอรี่ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของรถอีวี ราคาถูกลง 20%

รถ “อีวี” จึงเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่จะมาลบประวัติศาสตร์รถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีเครื่องยนต์สันดาปภายในซึ่งพัฒนามากว่า 100 ปี