เมื่อพลังประชารัฐ ไม่พอ ถึงเวลา 3 ป. ขยับ ปรับหาพรรคสำรอง รับเลือกตั้งใหญ่ ยุทธศาสตร์ไปต่ออีก 4 ปี/บทความในประเทศ(

บทความในประเทศ

 

เมื่อพลังประชารัฐ ไม่พอ

ถึงเวลา 3 ป. ขยับ

ปรับหาพรรคสำรอง รับเลือกตั้งใหญ่

ยุทธศาสตร์ไปต่ออีก 4 ปี

 

นับตั้งแต่การเข้ามามีอำนาจปกครองประเทศของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ด้วยวิธีการยึดอำนาจในช่วงแรก และด้วยวิธีการทางรัฐธรรมนูญใหม่เข้ามามีอำนาจต่อในสมัย 2 จนกลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่ดํารงตําแหน่งต่อเนื่องกันยาวนานมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์การเมืองไทยสมัยใหม่

คำถามสำคัญคือ ในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้า อนาคตทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์จะเป็นอย่างไร รวมถึงตัวของ พล.อ.ประยุทธ์เองและเครือข่าย จะวางตำแหน่งทางการเมืองของตัวเองอย่างไร

ถ้ามองในมุมของการลงจากอำนาจ ต้องยอมรับว่า ความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ได้มีเพียงพอที่จะให้สานต่อตำแหน่งนายกรัฐมนตรีอีกสมัย อันที่จริงความนิยมของ พล.อ.ประยุทธ์ไม่ได้สูงมาตั้งแต่เลือกตั้งใหญ่ครั้งที่แล้ว พรรคการเมืองที่ได้จำนวน ส.ส.มากเป็นอันดับ 1 และอันดับ 3 ก็คือพรรคฝ่ายค้าน

ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจของประชาชน เรื่อง “การสำรวจคะแนนนิยมทางการเมือง รายไตรมาส ครั้งที่ 2/2565” ทำการสำรวจช่วงปลายเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ได้คะแนนเพียงร้อยละ 11.68 โดยมีนักการเมืองจากพรรคฝ่ายค้านได้คะแนนเยอะกว่า พล.อ.ประยุทธ์หลักเท่าตัว น.ส.แพทองธาร (อุ๊งอิ๊ง) ชินวัตร จากพรรคเพื่อไทย ร้อยละ 25.28 นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้คะแนนร้อยละ 13.24 และเมื่อดูจากทั้ง 7 อันดับแรก พบว่า 5 อันดับเป็นนักการเมืองฝ่ายค้าน ส่วนคะแนนอันดับ 2 ร้อยละ 18 ระบุว่ายังไม่ตัดสินใจ

นี่คือหายนะชัดเจนในทางการเมือง

แต่คำถามสำคัญคือ ด้วยเงื่อนไขการเมืองในขณะนี้ พล.อ.ประยุทธ์จะยอมถอยตัวเองลงจากอำนาจได้อย่างไร

ดูเหมือนพระเอกประยุทธ์จะไม่ยอมวางมือทางการเมืองง่ายๆ จากท่าทีปัจจุบัน กรณีการโหวตสูตร 500 หรือสูตร 100 ในการใช้หารเพื่อคำนวณผู้แทนฯ แบบปาร์ตี้ลิสต์ คือเหตุการณ์ชี้ขาดล่าสุดในเรื่องนี้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะยังคงสู้ต่อ

 

เมื่อมองไปที่ภายในของพรรคพลังประชารัฐในขณะนี้ ก็ยังเกิดปัญหาความวุ่นวายปั่นป่วนภายในไม่น้อย หลังจากการขับกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ออกจากพรรค แม้ส่วนใหญ่ในพรรคตอนนี้จะยังโหวตไปในทิศทางเดียวกัน แต่ด้วยสภาวะการแตกเป็นเหล่าก๊ก หลายกลุ่ม ก็ทำให้ยากที่จะบริหารจัดการ

โดดเด่นที่สุดตอนนี้คงจะเป็นนายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน และในฐานะผู้อำนวยการของพรรค ที่ยังแสดงบทบาทนำ ทำกิจกรรมการเมืองในพื้นที่ ส่วนคนอื่นๆ บทบาทลดลงชัดเจน

ดังนั้น หากจะเดินหน้าโดยใช้พลังประชารัฐเป็นฐานทางการเมืองของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็คงจะไม่เพียงพอ แถมหลายเดือนข้างหน้าก็ยังไม่รู้ว่าอนาคตทางการเมืองปัญหาของแต่ละกลุ่มเหล่าจะเป็นอย่างไร

ยิ่งเปรียบเทียบกับคู่แข่งหลักอย่างพรรคเพื่อไทย ที่แม้จะเป็นแค่ฝ่ายค้าน ไม่มีเงินทรัพยากรอะไรมากมายเมื่อเทียบกับฝั่งรัฐบาล แต่ยังคงได้รับความสนับสนุนเหนียวแน่นในพื้นที่ การลงไปทำกิจกรรมแต่ละครั้งของเพื่อไทยมีคนเข้ามาร่วมมากมาย บวกกับกระแสความไม่เอาประยุทธ์ ทั้งยังต้องเจอการตื่นตัวกับกระแสชัชชาติฟีเวอร์ ที่ทำให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรค ต้องสั่งทบทวนการทำงานแนวทางการขับเคลื่อนของพรรคใหม่ทั้งหมด

ประเด็นเรื่องการตั้งพรรคสำรองจึงผุดขึ้นมาอีกครั้ง ต้องยอมว่ารัฐบาลกลัวเพื่อไทยแลนด์สไลด์จริง ปรากฏการณ์ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ในศึกการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. คือบทเรียนชัดเจน ว่าจะยอมให้เปลี่ยนกลับไปใช้ระบบเลือกตั้งและคำนวณ ส.ส. แบบที่ทำให้พรรคการเมืองเดียวเข้มแข็งไม่ได้ ต้องสร้างระบบที่ก่อให้เกิดรัฐบาลผสมหลายพรรคเช่นเดิม

หลังจากนี้ พล.อ.ประยุทธ์และพรรคพลังประชารัฐคงจะต้องปรับยุทธศาสตร์การเลือกตั้งเพื่อรับมือกับศึกใหญ่ในการเลือกตั้งครั้งหน้า แต่ พล.อ.ประยุทธ์ก็ยังต้องพบกับปัญหาว่าพรรคพลังประชารัฐ จะยังเสนอ พล.อ.ประยุทธ์เป็นแคนดิเดตนายกฯ หรือไม่ ไม่รู้ว่าอะไรจะเกิดขึ้น หากอนาคต พล.อ.ประยุทธ์ไม่ใช่แม่เหล็กที่มีพลังในการดึงดูดความนิยมเพียงพอ

 

แนวทางหนึ่งคือการรื้อฟื้นพรรครวมไทยสร้างชาติ ที่นายเสกสกล อัตถาวงศ์ หรือแรมโบ้อีสาน เคยไปเตรียมไว้ กลับมาปัดฝุ่น ใช้เป็นอีกหนึ่งพรรคการเมืองต่อสู้ในศึกเลือกตั้งครั้งหน้า โดยก็มีข่าวว่านายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษาและเป็นคนทำงานสำคัญของ พล.อ.ประยุทธ์ จะเข้าไปรับตำแหน่งหัวหน้าพรรครวมไทยสร้างชาติ คนใหม่ และเตรียมส่งชื่อ พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งครั้งหน้า

เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา นายวิทยา แก้วภราดัย อดีต ส.ส.นครศรีธรรมราชหลายสมัย ออกมาเปิดเผยความเคลื่อนไหวถึงการร่วมกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ทำพรรครวมไทยสร้างชาติ โดยระบุว่า พูดคุยอยู่ โดยยังไม่ทราบดีว่าจะตั้งพรรคกันเมื่อไหร่ วันไหน อย่างไร ส่วนตัวสนิทกับนายพีระพันธุ์ รู้จักกันมานาน และเป็นผู้ที่ผลักดันให้นายพีระพันธุ์ไปแข่งเป็นหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กับนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์

“ที่ผ่านมาได้คุยกับนายพีระพันธุ์ตลอด เขาต้องการทำพรรคที่มีลักษณะในการประนีประนอมทุกฝ่าย ส่วนตัวเชื่อมั่นในตัวนายพีระพันธุ์ เพราะเป็นคนดี ซื่อสัตย์ ไว้ใจได้ ไม่ใช่นักการเมืองประเภทที่เข้ามาแสวงหาประโยชน์ แต่ยังไม่ทราบว่าถึงขั้นที่จะเปิดที่ทำการพรรคกันตามข่าวที่ออกมา” นายวิทยากล่าว

นายวิทยากล่าวว่า ส่วนตัวได้เสนอนายพีระพันธุ์ว่า เราจำเป็นต้องรวบรวมคนดีๆ ทุกคนในสังคมการเมืองเข้ามาอยู่ด้วยกัน ถ้ามีการตั้งพรรคแล้วพูดคุยกันได้ก็ควรจะพูดคุยกัน และลดอัตตาของแต่ละคนลงมา เพราะเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องนึกสนุกก็ตั้งพรรค แต่มันเป็นทิศทางวันข้างหน้าว่า คุณคิดจะเป็นอะไร คิดจะเป็นรัฐบาลแล้วจะทำอะไร จำเป็นต้องคิดรอบด้านทุกทาง

สื่อมวลชนถามว่าที่ยังดึงรออยู่ เพราะรอการตัดสินใจสุดท้ายของ พล.อ.ประยุทธ์หรือไม่ นายวิทยากล่าวว่า เป็นอย่างนั้นหรือไม่ ตนไม่ทราบ แต่เท่าที่คุยกับนายพีระพันธุ์ เป็นการทำพรรคเอง ไม่ได้รอใคร แต่ถ้าคนอย่าง พล.อ.ประยุทธ์เข้ามา ส่วนตัวในฐานะที่เป็นนักการเมืองอยู่ในแวดวงนี้มานานก็ถือว่า พล.อ.ประยุทธ์มีจุดอ่อนเยอะ แต่จุดแข็งจุดหนึ่งที่ใครยังทะลวงเข้าไปไม่ได้เลยคือ 4 ปีของสภาชุดนี้ ยังไม่มีใครอภิปรายเรื่อง พล.อ.ประยุทธ์ทุจริตได้เลย ไม่รู้เขาทำไรกันอยู่ หรือลุงตู่ไม่เคยทุจริตเลย

“ส่วนตัวถ้าลุงตู่จะไปต่อก็ไม่ขัดข้อง ถ้า 7-8 ปีอยู่มาไม่มีทุจริตเลย เราก็อยากได้คนแบบนี้ แต่การจะสนับสนุนให้ไปต่อก็ต้องมีข้อตกลงกันบ้างว่า สิ่งไหนควรทำ สิ่งไหนไม่ควรทำ โดยเฉพาะทิศทางขององคาพยพทั้งหมดของการเป็นรัฐบาลที่ต้องทำให้การเมืองดีขึ้น” นายวิทยากล่าว

 

ขณะที่นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ อดีต ส.ส.กทม. พรรคประชาธิปัตย์ พูดออกมาในทิศทางเดียวกันว่ากำลังคุยเรื่องการทำการเมืองและการตั้งพรรคการเมืองอยู่กับคนหลายคน อยู่ระหว่างการรอการตัดสินใจบางอย่าง โดยเฉพาะรอการตัดสินใจจากนายพีระพันธุ์ ซึ่งการตัดสินใจดังกล่าวไม่สามารถตอบได้ตอนนี้ว่านายพีระพันธุ์จะตัดสินใจอย่างไร แต่เบื้องต้นที่มองไว้ว่าหากจะเข้าสังกัดพรรคการเมือง ตัวเลือกอันดับหนึ่งก็คือพรรครวมไทยสร้างชาติ

“สำหรับคุณพีระพันธุ์ หากเขาไปที่ไหน พวกผมก็จะไปอยู่กับพี่พีระพันธุ์ที่นั่น อยู่ที่เขาตัดสินใจ ส่วนการตัดสินใจว่าจะไปร่วมงานกับรวมไทยสร้างชาติในวันที่ 3 สิงหาคมเลยหรือไม่ ส่วนหนึ่งคงให้จบการอภิปรายไม่ไว้วางใจ เสร็จสิ้นการโหวตในวันที่ 23 กรกฎาคมก่อน ส่วนแนวทางพรรค ตอนนี้คงพูดอะไรไม่ได้ ต้องรอให้มีความชัดเจน เพราะเรายังไม่ได้เข้าไป พูดตอนนี้คงไม่ดี” เอกนัฏกล่าว

จากสถานการณ์ตอนนี้ เริ่มจาก พล.อ.ประยุทธ์ หักคอ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ยืนกรานเรื่องสูตรหาร 100 มาโดยตลอด แต่ พล.อ.ประยุทธ์สั่งพลิกในนาทีสุดท้ายเปลี่ยนเป็นสูตร 500 พล.อ.ประวิตรต้องกลืนเลือดอีกครั้ง ทันใดนั้น ความเคลื่อนไหวของพรรคสำรองก็เกิดขึ้นทันที รวมไทยสร้างชาติเตรียมประชุมใหญ่ 3 สิงหาคม ที่สโมสรราชพฤกษ์

เป็นอันว่า กลุ่ม 3 ป.เอง ก็มียุทธศาสตร์ในการรักษาอำนาจทางการเมือง แม้จะยังบัญชาการอยู่ในนามพรรคพลังประชารัฐ

แต่ก็มีการวางยุทธศาสตร์พรรคสำรอง ทั้ง ป.ประวิตร ที่ยังมีอาน้อย หรือ พล.อ.วิชญ์ เทพหัสดิน ณ อยุธยา ไว้ใช้งาน และ ป.ประยุทธ์ ที่ได้ พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค และอดีต ส.ส.ปชป. รวมถึงทีม กปปส.เก่า ไว้ร่วมทำงาน