ศึกซักฟอก “สงครามยกสุดท้าย”/ลึกแต่ไม่ลับ จรัญ พงษ์จีน

จรัญ พงษ์จีน

ลึกแต่ไม่ลับ

จรัญ พงษ์จีน

 

ศึกซักฟอก “สงครามยกสุดท้าย”

 

สงครามครั้งสุดท้าย “ยุทธการเด็ดหัว สอยนั่งร้าน” ที่ฝ่ายค้านร่วมจองกฐิน “ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคล” ยลตามช่องทางมาตรา 151 ของกรอบรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยปี 2560

เป็นศึกซักฟอกครั้งที่ 4 ของสภาผู้แทนราษฎรชุดปัจจุบัน หลังเลือกตั้งใหญ่เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2562 เป็นต้นมา จึงขอบันทึกในรายละเอียดไว้ เพราะเป็นโค้งสุดท้ายแล้ว ก่อนจะยืนหยัดครบเทอม 4 ปีในปลายเดือนมีนาคม 2566

“ครั้งที่ 1” การอภิปรายทั่วไประเบิดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม 2563 “ครั้งที่ 2” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564 “ครั้งที่ 3” ปะฉะดะเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ.2564 และ “ครั้งที่ 4” เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2565

แต่มีความต่างกันในเชิงเนื้อหาสาระ “ครั้งที่ 1-3” ตามกลไกมาตรา 151 ยื่นอภิปรายเพื่อลงมติไม่ไว้วางใจ ขณะที่ “ครั้งที่ 4” เดินตามช่องทางมาตรา 152 ที่กำหนดให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้าชื่อเสนอญัตติ “เพื่อซักถามข้อเท็จจริง” หรือเสนอแนะปัญหาต่อรัฐมนตรี “โดยไม่มีการลงมติ”

คำรบนี้ จึงเป็น “ครั้งที่ 5” หลังรัฐบาล “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ผลัดใบจากการรัฐประหารยึดอำนาจ “ซ่อนรูป” อยู่ใต้เงาปีกเผด็จการอยู่นานหลายปีนับตั้งแต่โค่นรัฐบาลพลเรือนของ “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” สำเร็จเมื่อเดือนพฤษภาคม 2557

ลัดสนามเดินข้ามฟากสู่ถนนประชาธิปไตยทางตรงของประชาชนพลเมือง และสามารถยึดหัวหาดไว้ได้แบบเฉียดฉิว แต่ก็สามารถ “รักษาเมือง” เอาไว้ได้มา 3 ปีกว่าเข้าให้แล้ว จะครบเทอมอยู่หรัดๆ ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

โดยมีรัฐมนตรีที่ถูกฝ่ายค้านร่วมจับขึ้นเตา ทำการกริลล์ “ปิ้ง-ย่าง” มี 11 คนด้วยกัน 1 ผู้นำรัฐบาล กับ 10 เสนาบดี ประกอบด้วย 1. “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม 2. “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรี 3. “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย 4. “นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์” รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ 5. “นายอนุทิน ชาญวีรกูล” รองนายกฯ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข

6. “นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม 7. “นายสุชาติ ชมกลิ่น” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน 8. “นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 9. “นายจุติ ไกรฤกษ์” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ 10. “นายสันติ พร้อมพัฒน์” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง

และ 11. “นายนิพนธ์ บุญญามณี” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

 

เกมอภิปรายไม่ไว้วางใจระเบิดขึ้นแล้ว ตั้งแต่เช้าตรู่วันที่ 19 กรกฎาคม ถึงวันที่ 22 กรกฎาคม ใช้เวลา 4 วัน 4 คืนเต็ม มีการแบ่งคาบช่วงเวลา และบุคคล ศิโรราบรวมทั้งหมด 45 ชั่วโมงที่ได้รับกระทำการ ล็อตแรก เปิดตัวด้วย “หมอหนู อนุทิน” ตามด้วย “ศักดิ์สยาม-สุชาติ-ชัยวุฒิ-จุติ”

วันที่ 2 เป็นคิวทองของ “จุรินทร์” ตามด้วย “นิพนธ์” ต่อด้วย “สันติ-พล.อ.ประวิตร-พล.อ.อนุพงษ์”

10 นั่งร้าน ใช้เวลาสอยเพียง 15 ชั่วโมง ที่เหลืออีก 30 ชั่วโมง เหมารอบลงเสาเอก รุมเด็ดหัว “พล.อ.ประยุทธ์” เพียงคนเดียว ทุกพรรคมีเอี่ยว โดยที่ “เพื่อไทย” เตรียมขุนพลฝีปากเอกไว้ถึง 30 คน

กะจะเอาให้สุด หยุดอยู่ที่ “บิ๊กตู่” ขู่ถึงขนาดว่า ศึกซักฟอกรอบนี้ นวดให้หนัก ไม่ทุพพลภาพส่งเข้าโรงพยาบาล ก็ต้องดักแด้รับประทานหามเข้าวัด

อย่างไรก็ตาม ช่วงวันแรกของศึกซักฟอก “สงครามยกสุดท้าย” ฝ่ายค้านมาตรฐานต่ำกว่าราคาคุย ไม่สมกับที่ข้อกล่าวหา “พล.อ.ประยุทธ์” ที่นำเสนอไปในญัตติรุนแรง ประติมากรรมถ้อยคำ โหด หนักชนิดห้ามอุทธรณ์

แต่พลันที่เปิดซักฟอกจริงๆ กลับพากันน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรง กองเชียร์พากันผิดหวังตามๆ ทั้ง “ชลน่าน ศรีแก้ว” ดาวเด่นหัวหน้าพรรคในฐานะผู้นำฝ่ายค้าน หรือ “สุทิน คลังแสง” ประธานวิป

ซุป’ตาร์ที่อภิปรายเป็นเรื่องเป็นราว คุณภาพห้าดาว แสงเทียนที่ส่องสว่าง กลายเป็น “คนรุ่นใหม่” จากค่ายก้าวไกล จึงไม่รู้ว่า 30 ขุนพลที่วางตัวไว้กินโต๊ะ “บิ๊กตู่” จะมีใครพลิกเกมกลับมากอบกู้ชื่อชั้นได้บ้าง

ผลที่สืบเนื่องมาจากสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ณ ปัจจุบัน มีเสียงเท่าที่มีอยู่ทั้งหมดเพียง 477 เสียง จาก 500 เต็ม กึ่งหนึ่งคือ 239 ที่นั่ง

หัสเดิมขั้วรัฐบาลเหนียวแน่นอยู่ที่ 269 เสียง ขณะที่ฝ่ายค้านมี 208 ที่นั่งโดยประมาณ

เกิดกลุ่ม “ผู้กองธรรมนัส พรหมเผ่า” แตกแถวออกจากพลังประชารัฐไป 16 ที่นั่ง กลุ่ม “พรรคเล็ก” ที่ลอยตัวเหนือปัญหาอยู่อีก 16 เสียง เมื่อรวมกันแล้วได้ 32 เสียง เป็นตัวแปรสำคัญ

เพราะเมื่อเอา 32 เสียงที่ตีกรรเชียงอยู่ขอบเวที ไปหักลบฐานกำลังเดิมของรัฐบาล 269 เสียง เกินครึ่งหนึ่งเท่าที่มีอยู่ 239 เสียง เท่ากับมีโอกาสจมน้ำตาย

จึงเกิดมหกรรม “เตะหมูเข้าปากหมา” มีข่าวปล่อยลือสะพัด มีพรรคขนาดเล็กบางส่วนเดินสายต่อรองกับรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ มีการตบค่าหัวคิว เพื่อยกมือสนับสนุนกันเป็นรายหัว หัวละ 1-2 ล้านบาท ใครกระสุนด้าน เสียงสนับสนุนไม่ถึง 239 มีโอกาสผีถึงป่าช้าสูง

แต่ที่พรรคพลังประชารัฐ เด็ดขาดและทรงพลังกว่า เมื่อวันที่ “พี่ใหญ่-บิ๊กป้อม” เรียก ส.ส.ไปประชุมที่บ้านป่ารอยต่อฯ หมายกำชับกำชาเพิ่มเอกภาพ ห้ามทุกคนโหวตสวน

หลังเสร็จการให้โอวาท ไม่รู้ใครส่งซิกให้ลูกหาบลุกขึ้นเปิดประเด็น เมื่อเสร็จศึกสงคราม อภิปรายไม่ไว้วางใจ ต้องกดดันให้ “บิ๊กตู่” ปรับ ครม. เพื่อรับมือศึกเลือกตั้งใหญ่หลังสภาครบเทอม

โดยให้ “ลุงป้อม” ซึ่งใกล้ชิดกับ ส.ส. ไปนั่งเก้าอี้ “มท.1” สลับฟันปลา หรืออย่างอื่นใดก็ได้ แทนที่ “พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา”

ลูกพรรค พปชร.ที่อยู่ในห้องประชุม ส่งเสียงขานรับต่อยอดกันเป็นลูกระนาด หาก “บิ๊กตู่” อยากไปต่อ ต้องส่ง “บิ๊กป้อม” ไปนั่ง มท.1 เนื่องจากเข้ากันเป็นปี่เป็นขลุ่ยกับ ส.ส.ได้ดีกว่า

หลังจบศึกซักฟอก “ฝ่ายค้าน” ช่วยอนุเคราะห์เตะหมูเข้าปากหมา 2 คอก

“พรรคขนาดเล็ก” บางคน “รวยกล้วย”

“บิ๊กตู่” ปรับ ครม. คนใน พปชร.ถูกหวยตีนปวมหลายคน