Banana Wars สมรภูมิ ‘ไร่กล้วย’/บทความในประเทศ

บทความในประเทศ

 

Banana Wars

สมรภูมิ ‘ไร่กล้วย’

 

แม้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ 10 รัฐมนตรีที่ถูกยื่นอภิปรายไม่ไว้วางใจ ระหว่างวันที่ 19-23 กรกฎาคม จะมั่นใจว่า จะผ่านการลงมติ “ได้ไปต่อ” ก็ตาม

แต่กระนั้น ก็คงต้องลุ้น และออกแรงอย่างหนัก เพื่อให้ผ่านและต้องพยายามทำให้คะแนนไว้วางใจออกมาดีๆ

เพื่อมิให้เป็นประเด็นถูกเขย่าเก้าอี้ต่อหลังจากศึกซักฟอกครั้งนี้ผ่านไป

ถึงแม้ว่านายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี จะพยายามชี้นำไว้ว่า คะแนนเสียงไว้วางใจในทางกฎหมายไม่เป็นสาระสำคัญ

ที่เป็นสาระสำคัญ คือคะแนนเสียงไม่ไว้วางใจ ที่จะต้องไม่เกินกึ่งหนึ่งของสภาที่มีอยู่ปัจจุบัน คือ 477 เสียง กึ่งหนึ่งคือคะแนน 238 ครึ่ง

ดังนั้น ถ้ารัฐมนตรีได้คะแนนไม่ไว้วางใจตั้งแต่ 239 ขึ้นไป ก็จะถือว่ารัฐมนตรีคนนั้นสอบตก ตามที่รัฐธรรมนูญ มาตรา 151 กำหนดไว้ว่า “รัฐมนตรีจะพ้นจากตำแหน่งเมื่อถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจและได้รับคะแนนไม่ไว้วางใจเกินกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสภาที่มีอยู่”

“ตัวเลข 239 ถือเป็นตัวเลขหลัก ที่อยากให้ทำความเข้าใจกับประชาชน คือจะต้องดูที่ 239 เสียง” นายวิษณุระบุ

แม้กูรูด้านกฎหมายของรัฐบาลจะชี้นำเช่นนั้น

แต่ดูเหมือนนายกฯ และรัฐมนตรีทั้ง 11 คนจะนอนใจไม่ได้

เพราะมีความแปรปรวนสูง

แปรปรวนสูงทั้งเนื้อหาที่ฝ่ายค้านนำมาแสดงในการซักฟอก ที่รัฐมนตรีบางคนส่ออาการหนัก

แปรปรวนสูงทั้งจากการต่อรองหาผลประโยชน์ทางการเมือง รวมถึง “กล้วย” จากพรรคเล็กและงูเห่า

ดังนั้น เพื่อความชัวร์ คงจะต้องกุมเสียงที่มีสิทธิแปรปรวนให้ดี

ซึ่งในตอนนี้ คงจะเพ่งมองไปยังเสียงใน 4 กลุ่ม

 

กลุ่มแรก คือกลุ่มของ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า ในนามพรรคเศรษฐกิจไทย ที่ค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า จะไปร่วมกับพรรคฝ่ายค้าน หลังพ่ายแพ้การเลือกตั้งซ่อมที่ลำปาง จากจุดยืนไม่ชัดเจนว่าจะเป็นฝ่ายรัฐบาลหรือฝ่ายค้าน

และที่สุด ร.อ.ธรรมนัสเลือกที่จะเป็นฟากฝ่ายค้านโดยเห็นว่าอยู่ฟากรัฐบาลแล้วไม่ได้รับการสนับสนุนจากประชาชนโดยเฉพาะในภาคเหนือ

โดยเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคมที่ผ่านมา ได้เข้าไปลา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่สำนักงานมูลนิธิอนุรักษ์ป่ารอยต่อ 5 จังหวัด

แม้ พล.อ.ประวิตรได้ขอร้องให้พรรคเศรษฐกิจไทยยกมือสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ รวมไปถึงรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายทั้งหมด

แต่ ร.อ.ธรรมนัสได้ปฏิเสธโดยยืนยันว่าวันนี้สถานะของพรรคเศรษฐกิจไทยคือพรรคฝ่ายค้าน ไม่ใช่พรรคร่วมรัฐบาลอีกต่อไปแล้ว

ดังนั้น เสียงจากพรรคเศรษฐกิจที่มีประมาณ 15-18 เสียง จึงจะไม่โหวตให้ฝ่ายรัฐบาล ยกเว้น พล.อ.ประวิตร ที่ ร.อ.ธรรมนัสบอกว่า ยังสนับสนุนเนื่องจากอ้างว่ายังไม่เห็นข้อบกพร่องและการทุจริตใดๆ เกิดขึ้น

ฝ่ายรัฐบาลจึงไม่อาจฝากผีฝากไข้กับกลุ่ม ร.อ.ธรรมนัสได้

ดังที่ พล.อ.ประวิตรได้แจ้งกับพรรคพลังประชารัฐว่า

“ร.อ.ธรรมนัสไม่ได้อยู่แล้ว เขาก็ไปเป็นตัวของตัวเอง ควบคุมอะไรเขาไม่ได้แล้ว”

 

กลุ่มที่สอง ที่ฝ่ายรัฐบาลอาจจะพอฝากความหวังไว้ได้ นั่นก็คือ กลุ่มงูเห่า ในพรรคฝ่ายค้าน ที่พร้อมจะเทเสียงมาช่วยฝ่ายรัฐบาล

ทั้งนี้ หากย้อนทวนพฤติกรรมคนในพรรคฝ่ายค้าน

พบว่า มี ส.ส.ที่มักโหวตสวนมติฝ่ายค้าน อย่างน้อย 13 คน

ประกอบด้วย พรรคเพื่อไทย 7 คน พรรคก้าวไกล 5 คน และพรรคประชาชาติ 1 คน

งูเห่าในพรรคฝ่ายค้านเหล่านี้ แม้จะมีแนวโน้มช่วยรัฐบาล แต่ก็อาจจะช่วยเฉพาะบางพรรค ที่ชัดเจนมากคือพรรคภูมิใจไทย ที่เป็นคาดหมายว่า งูเห่าเหล่านี้จะเข้าไปสังกัด

พร้อมๆ กับกระแสข่าวมีการดูแลเป็นอย่างดีในทุกเรื่อง

ทำให้รัฐมนตรีในพรรคอื่น ทั้งพลังประชารัฐ ประชาธิปัตย์ รวมถึง 3 ป.ก็ไม่อาจวางใจว่าจะได้เสียงงูเห่าเหล่านี้มาสนับสนุนด้วย

แม้ว่านายอนุทิน ชาญวีรกูล หัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จะการันตีเสียงของพรรคว่า

“ตอนแรกเราเข้ามา 51 เสียง แต่ตอนนี้มี ส.ส.จากพรรคที่ถูกยุบมาเพิ่มรวมแล้วประมาณ 60 เสียง หยุดทำหน้าที่ไป 2-3 คน ชัวร์ๆ ก็ 50 กว่าเสียง ผมคิดว่าพรรคภูมิใจไทยรับผิดชอบในส่วนนี้ได้”

แต่กระนั้น พรรคร่วมรัฐบาลอื่นก็คงวางใจในเสียงสนับสนุนที่ว่านี้ไม่เต็มที่นักแม้จะมีการต่อสายขอให้ช่วยก็ตาม

 

ดังนั้น ที่พรรคร่วมรัฐบาลหวังจะได้เสียงสนับสนุนเป็นกอบเป็นกำคือ กลุ่มที่สาม นั่นคือเสียงจากพรรครัฐบาลด้วยกันเอง

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร และ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้หารือนอกรอบที่ห้องสีเหลือง ทำเนียบรัฐบาล โดยมีหัวหน้าพรรค เลขาธิการพรรค และแกนนำพรรคร่วมรัฐบาล เข้าหารืออย่างพร้อมเพรียง

ทั้งนี้ พล.อ.ประยุทธ์ได้ถามหัวหน้าพรรครายคนว่า แต่ละพรรคจะโหวตอย่างไร

ซึ่งนายอนุทินยืนยันว่า “ภูมิใจไทยมาครบ ไม่มีปัญหา”

ขณะที่นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า “มีปัญหาอยู่แค่ 2-3 คน นอกนั้นเต็มที่”

ส่วนนายวราวุธ ศิลปอาชา ประธานคณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์พรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวเช่นกันว่า “ชาติไทยพัฒนาไม่มีปัญหา”

ขณะที่ พล.อ.ประวิตรย้ำกับแกนนำพรรคร่วมรัฐบาลว่า ให้ช่วยกันเช็กเสียง ดูแลเสียงแต่ละพรรคให้เรียบร้อย และอยากให้คะแนนแต่ละคนออกมาเท่าๆ กัน

และในวันเดียวกัน พล.อ.ประวิตรได้เรียกประชุม ส.ส. ที่มูลนิธิป่ารอยต่อฯ เพื่อซักซ้อมทำความเข้าใจก่อนการอภิปรายไม่ไว้วางใจ กำชับ ส.ส.ให้ลงมติรัฐมนตรีไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด 11 คน

“ใครอย่าโหวตอย่างอื่น ถ้าทำอย่างอื่น ต่อไปหมดสิทธิ์ จะไม่ดูแลอีกแล้ว”

คำพูดที่ว่า “จะไม่ดูแลอีกแล้ว” คงตีความเป็นอื่นใดไม่ได้ นอกจากตอกย้ำถึงกระแสข่าวการ “ดูแล” ส.ส.ในพรรคอย่างดี

โดยเมื่ออิ่มหมีพีมันแล้ว ก็ไม่ควรจะมีการแตกแถว โดยเฉพาะการโหวตในศึกซักฟอกครั้งนี้

 

ส่วนกลุ่มที่สี่ เป็นอีกกลุ่มที่นายกฯ และรัฐมนตรีทั้ง 11 คน หวังจะได้รับการสนับสนุนอย่างไม่แตกแถว นั่นคือกลุ่มพรรคเล็ก และกลุ่ม 16 ที่มีเสียงสนับสนุน 18 เสียง บวก-ลบ

ด้วยเพราะฟากรัฐบาลเอาใจใส่ดูแลมาตลอด ทั้งให้โควต้ากรรมาธิการงบประมาณ ทั้งการที่ พล.อ.ประยุทธ์ส่งสัญญาณไปยังรัฐสภาให้กลับไปใช้สูตรหาร 500 เพื่อต่อชีวิตพรรคเล็ก และอื่นๆ อีกมาก

แน่นอนรวมถึงการร่ำลือถึงการให้ “กล้วย” ที่ไม่ใช่แค่หวี หากแต่เป็นเครือแก่พรรคเล็กๆ เหล่านี้อย่างเต็มที่

และน่าสังเกตว่า ถึงแม้จะ “อิ่ม” แล้วก็ตาม แต่ก็ดูเหมือนพรรคเล็กๆ เหล่านี้ จะรู้ถึงความสำคัญของตน โดยเฉพาะในศึกซักฟอกครั้งสุดท้ายนี้

จึงมีการต่อรองทางการเมืองเพิ่มอยู่ตลอดและดำเนินไปจนถึงนาทีสุดท้าย

เช่น ประกาศว่าถึงจะเป็นพรรคร่วมรัฐบาล ไม่แตกแถว

แต่จะให้การสนับสนุนเพียง พล.อ.ประยุทธ์ พล.อ.ประวิตร และนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เท่านั้น ส่วนรัฐมนตรีคนอื่นจะดูการชี้แจงและการซักฟอกของฝ่ายค้านก่อน

โดยได้เพ่งเล็งเป็นพิเศษไปยัง พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม นายสันติ พร้อมพัฒน์ รมช.คลัง นายนิพนธ์ บุญญามณี รมช.มหาดไทย นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.การพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.พาณิชย์

ซึ่งการที่พรรคเล็ก “ขานชื่อ” รัฐมนตรีเหล่านี้ขึ้นมา ทำให้มีการจับตามองว่ามีความมุ่งหวังจะต่อรองอะไรหรือไม่

และเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม ส.ส.พรรคเล็ก และกลุ่ม 16 ก็ได้เข้าพบ พล.อ.ประวิตร ย้ำถึงจุดยืนนี้

ซึ่งแม้ พล.อ.ประวิตรได้ขอความร่วมมือกลุ่ม 16 ช่วยลงมติสนับสนุนนายกฯ และรัฐมนตรี รวม 11 คน ให้เสียงโหวตเป็นไปในทิศทางเดียวกัน แต่ดูเหมือนกลุ่มพรรคเล็กก็ยังสงวนท่าทีจนถึงที่สุด

แน่นอน ย่อมสร้างน้ำหนักในการเคลื่อนไหวของกลุ่ม ส.ส.เหล่านี้อย่างมาก

โดยในตอนท้ายกดดันหนักไปที่ พล.อ.อนุพงษ์และนายสันติ

พร้อมๆ กับมีกระแสข่าวลือว่ามีบางฝ่ายพูดคุยต่อรองเจรจากับรัฐมนตรีที่มีรายชื่อถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยมีการเรียกรับเงินจำนวน 1-2 ล้านบาท เพื่อแลกกับการยกมือโหวตสนับสนุน

 

อย่างไรก็ตาม นายพิเชษฐ สถิรชวาล ในฐานะประธานกลุ่ม 16 ชี้แจงว่า ที่มีข่าวว่าพรรคเล็กและกลุ่ม 16 รวมตัวกันเพื่อเรียกร้องผลประโยชน์นั้น ขอยืนยันอย่างชัดเจนว่าพวกตนไม่ต้องการผลประโยชน์ แต่อยากจะชี้ให้เห็นว่าคนเป็นรัฐมนตรีจะต้องมือสะอาด สามารถตรวจสอบได้

กระนั้น น.ส.ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ โฆษกพรรคเพื่อไทย ได้มาตั้งข้อสังเกตสวนทางว่า “การอภิปรายไม่ไว้วางใจ พวกเราทำงานอย่างหนักเพื่อจะได้ข้อมูล แต่พวกเขาทำงานอย่างหนักเพื่อจะได้ต่อรองกัน ได้วิ่งเต้น ได้ซื้อตัวขายตัวกัน พวกเขาก็เหมือนปรสิต คอยกัดกินอยู่เฉยๆ ไม่ได้สร้างประโยชน์ มีแต่ทำลายระบอบประชาธิปไตย และต่อรองเพื่อประโยชน์ส่วนตนเท่านั้น”

ซึ่งถือว่าเป็นการกล่าวหาที่แรง และดูเหมือนจะสร้างความไม่พอใจให้กับกลุ่มพรรคเล็กอย่างมาก

แต่กระนั้น ภาพที่เกิดขึ้นในการซักฟอกครั้งนี้ ก็ดูจะมีเค้าลางอย่างโฆษกพรรคเพื่อไทยกล่าวหา

คือนอกเหนือจากการที่ พล.อ.ประยุทธ์และฝ่ายรัฐบาลจะสาดกระสุนทำสงครามกับฝ่ายค้านแล้ว

อีกด้านยังมีสงครามกล้วย–Banana Wars ที่สาดใส่เข้ามาหาพวกเดียวกันให้อิ่มหมีพีมัน

เพื่อที่จะให้ได้ไปต่อ แม้จะต้องมีค่าใช้จ่ายสุดแพงก็ตาม

จะโทษใครอื่นก็ลำบาก ด้วยเป็นอย่างที่ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว หัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวตอนหนึ่งในการซักฟอกว่า

“ความพินาศด้านการเมือง ระบบรัฐสภาถูกทำลายย่อยยับ สถาปนาสภากล้วยขึ้นมา มีการใช้เงินแลกเสียงโหวตทุกครั้งที่มีการลงมติ ที่สำคัญๆ ตัวเลขอยู่ที่หลักล้าน…”