ต้อนทุกวิธีให้ ‘จำนน’/เมนูข้อมูล นายดาต้า

เมนูข้อมูล

นายดาต้า

 

ต้อนทุกวิธีให้ ‘จำนน’

 

แม้ว่าที่สุดแล้ว “ฝ่ายค้าน” คงทำให้ “นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีที่ถูกอภิปรายไม่ไว้วางใจ” ต้องกระอักเลือดจากความรู้สึกผิดด้วยเรื่องราวที่ถูกเปิดโปงไม่ได้ เพราะ “ทุกคน” มีเกราะปกป้องไม่ให้ต้อง “สำนึกต่อความเลวร้ายเหล่านั้น” อยู่แล้วด้วยข้ออ้างที่พร้อมจะบอกตัวเองว่า “เป็นเรื่องการเมือง-ไม่จำเป็นต้องสำนึกผิด-จบที่สภาโหวตผ่านให้อยู่แล้ว”

รวมความคือ “ไม่มีผลอะไร”

แต่ถึงอย่างไรละครฉากที่ว่าด้วย “อภิปรายไม่ไว้วางใจ” ย่อมส่งผลต่อการเลือกตั้งครั้งหน้าที่จะเกิดขึ้นหลังจากนี้ไม่นานนัก เพราะแม้ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” จะมีความสุขกับการอยู่ให้ยาวที่สุด แต่วาระที่ประชาชนกลุ่มเบื่อหน่ายเสียเหลือแล้วจะต้องทนทุกข์นั้นมีอยู่ถึงต้นปีหน้า ซึ่งเป็นวันที่สภาผู้แทนราษฎรชุดนี้หมดวาระเท่านั้น

หมดวาระก็ต้องเลือกตั้งใหม่ และ “อภิปรายไม่ไว้วางใจ” จะส่งผลว่าคนที่เอือมระอาเต็มทนเหล่านั้น จะจัดการให้ตัวเองพ้นจากความสลด เศร้า ระทมกับการที่ประเทศต้องมีรัฐบาลที่ขัดอกขัดใจเช่นนี้ต่อไปหรือไม่

ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนส่วนใหญ่ต้องตัดสินใจว่าจะเลือกอย่างไรเพื่อหาทางให้ได้รัฐบาลตามที่แต่ละคนปรารถนา

 

แน่นอนการจัดการให้เกิดผลอย่างที่ต้องการไม่ใช่เรื่องง่ายเลย เพราะรู้กันอยู่ว่า “กระบวนการสืบทอดอำนาจ” นั้นถูกออกแบบไว้อย่างรัดกุม เปิดโอกาสความสำเร็จให้ “ผู้มีอำนาจเหล่านี้” อย่างหวังผลได้ในประสิทธิภาพ

อย่างที่รู้กันว่า ทั้งสรรพวุธ กองกำลัง เครือข่ายองค์กรต่างๆ พร้อมทั้งกติกาโครงสร้างอำนาจในทุกระดับ คณะบุคคลที่มีอำนาจตามกติกาล้วนแล้วแต่ถูกออกแบบ แต่งตั้งไว้เพื่อรองรับอย่างยากที่จะมีใครเบี่ยงเบน

หนทางเดียวที่คู่ต่อสู้จะสร้างความชอบธรรมได้บ้าง คือผลการเลือกตั้งที่ต้องได้รับชัยชนะอย่างท่วมท้น จนยาก “ผู้สืบทอด” จะหาเหตุผลมาอ้างความชอบธรรมจากกรอบของอำนาจประชาชนได้

ทว่า ที่ผ่านมาย่อมรับรู้ว่าเป็นเรื่องไม่เพียงไม่ง่าย แต่ยิ่งนับวันยิ่งถูกทำให้ยากเย็นยิ่ง

ปัญหาสำคัญที่สร้างความยุ่งยากคือ “ประชาชน” ซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจ

ประชาชนถูกกระทำให้สับสน เกิดความแตกแยกทางความคิดว่าควรเห็นดีเห็นงามกับการให้ “คนและคณะบุคคล” แบบไหนมาบริหารประเทศ

ขบวนการดังกล่าวทำให้ “นักการเมืองจากการเลือกตั้งของประชาชน” เป็นพวกเลวร้าย ปฏิบัติการ “จิตวิทยามวลชน” ให้ฝากความหวังไว้กับกลุ่มคนที่ถูกสร้างภาพให้มีคุณงามความดีมากกว่าแต่โดยไม่จำเป็นต้องยึดโยงประชาชน ด้วยวิธีจัดการประชาสัมพันธ์บริหารโฆษณาชวนเชื่อให้เกิดกระแสเช่นนั้น

งบประมาณประเทศมากมายถูกใช้ไปในการนี้

หากมีประชาชนบางส่วนที่เริ่มรู้เท่า จะมีการสร้างให้เกิดความสับสนจนเกิดความผิดเพี้ยน ทำให้ยุ่งยากเข้าไป

ไม่ว่าเป็นบัตร 2 ใบ คนละเบอร์ใบต่างกันในแต่ละเขต ล่าสุดปาร์ตี้ลิสต์เลือกแล้วหาร 100 หรือหาร 500 ซึ่งส่งผลให้บัตรใบที่กามีโอกาสสูญเปล่า เพราะพรรคถูกตัดโควต้า ส.ส.

วุ่นวาย สับสนว่าจะต้องตัดสินใจอย่างไร อย่างที่ “นิด้าโพล” สำรวจล่าสุดเรื่อง “ประชาชนเข้าใจประเด็นหาร 100 หรือหาร 500 หรือไม่”

 

ร้อยละ 62.35 ไม่เข้าใจเลย, ร้อยละ 21.11 ไม่ค่อยเข้าใจ, ร้อยละ 11.74 ค่อนข้างเข้าใจ และร้อยละ 4.80 เข้าใจมาก

แปลว่าประชาชนกว่าร้อยละ 80 ต้องกาบัตรด้วยความไม่เข้าใจ

ปกติ “ประชาธิปไตย” อันหมายถึงอำนาจเป็นของประชาชน ทุกอย่างที่เกี่ยวข้องควรจะเอื้อให้ประชาชนจัดการได้ง่ายที่สุด

แต่ “ประชาธิปไตยเพื่อการสืบทอดอำนาจ โดยประชาชนเป็นแค่ข้ออ้าง” มองประชาชนเป็นอุปสรรคของฝ่ายยึดครอง ต้องเพิ่มภาระให้ยุ่งยาก สับสน เอื้อต่อการทำพลาดให้มากเข้าไว้

ประเทศที่เข้าสู่ยุค “ส.ส.เดินงงๆ ในสวนกล้วย”

จึงแทบจะหวังประชาธิปไตยในแบบที่ควรจะเป็นไม่ได้เลย ทั้งในผลอภิปรายไม่ไว้วางใจ และผลเลือกตั้ง