ฟินแลนด์เล็กพริกขี้หนู กับเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่รัสเซีย/กาแฟดำ สุทธิชัย หยุ่น

สุทธิชัย หยุ่น

กาแฟดำ

สุทธิชัย หยุ่น

 

ฟินแลนด์เล็กพริกขี้หนู

กับเพื่อนบ้านยักษ์ใหญ่รัสเซีย

 

เมื่อฟินแลนด์ (ประชากร 5.5 ล้าน) ประกาศจะจับคู่กับสวีเดนขอเข้าเป็นสมาชิก NATO แน่นอนว่าพี่เบิ้มข้างบ้านอย่างรัสเซีย (ประชากร 146 ล้าน) ต้องคำรามด้วยเสียงอันดังว่า “แน่ใจแล้วหรือ?”

คำตอบคือ “แน่ใจแล้ว…เพราะพี่ท่านไม่เคยน่ากลัวขนาดนี้”

ฟินแลนด์รักษานโยบาย “เป็นกลาง” กับรัสเซียมาตลอดเพราะไม่ต้องการเป็นปรปักษ์กับมอสโก

ประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียเคยแสดงความชื่นชมที่ฟินแลนด์ไม่เคยแสดงตนโอนเอียงไปทางตะวันตก

แต่เมื่อเกิดสงครามยูเครน อะไรๆ ก็เปลี่ยนไป

ทหารฟินแลนด์ยกธงแห่งชัยชนะในปี 2488

ย้อนกลับไปดูอดีตเมื่อไม่นานมานี้ ตอนสงครามโลกครั้งที่สอง จะเห็นว่าฟินแลนด์ซึ่งมีชายแดนติดกับรัสเซียยาวกว่า 1,400 กิโลเมตร ก็เคยยืนหยัดต่อสู้มาอย่างหนักหน่วงแล้วเช่นกัน

นักประวัติศาสตร์บางคนเคยประกาศเอาไว้ด้วยซ้ำว่าฟินแลนด์คือประเทศเล็กๆ ที่เคยเอาชนะทั้งโซเวียตและนาซีในสงครามโลกครั้งที่สองมาแล้วด้วยซ้ำ

บางบทของประวัติศาสตร์บันทึกไว้ว่าวันที่ 30 พฤศจิกายน พ.ศ.2482 คือวันที่ฟินแลนด์ถูกสหภาพโซเวียตบุกโดยมีเป้าหมายเพื่อยึดครอง

ในช่วงนั้น ฟินแลนด์เผชิญชะตากรรมเช่นเดียวกับประเทศอื่นๆ อีกหลายประเทศที่ไม่มีทางเลือก ถูกดูดเข้าสู่กระแสน้ำวนของสงครามโลกครั้งที่สองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ผู้รุกรานใช้กองกำลังติดอาวุธและอำนาจการยิงที่เหนือกว่าอย่างท่วมท้น

กองกำลังคอมมิวนิสต์ได้พุ่งทะยานข้ามพรมแดนโดยหวังว่าจะเผด็จศึกอย่างรวดเร็วและง่ายดาย

ปฏิบัติการครั้งนั้น โซเวียตหวังที่จะดันเส้นแบ่งพรมแดนฟินแลนด์ให้ได้บางส่วนกลับคืนมา

โดยเฉพาะบริเวณเลนินกราด

เป็นที่รู้กันว่าเลนินกราดเป็นหนึ่งในเมืองที่สำคัญที่สุดในสหภาพโซเวียตที่อยู่ใกล้กับชายแดนฟินแลนด์

โซเวียตเกรงว่าพรมแดนระหว่างประเทศที่ใกล้ชิดเช่นนี้จะถูกนำมาใช้โจมตีมหานครทางยุทธศาสตร์ในกรณีที่เกิดสงคราม

ในจินตนาการของผู้นำโซเวียตบางคนขณะนั้น เปรียบเหมือนกับการทำ “สงครามสมมุติ” กับนาซีเยอรมัน

ปฏิบัติการของโซเวียตในฟินแลนด์ครั้งนั้นคือจุดเริ่มต้นของเส้นทางการสู้รบยาวนานถึงห้าปีครึ่งที่โหดร้ายทารุณสำหรับผู้ถูกรุกราน

แต่ผลที่ออกมาคือประเทศเล็กๆ อย่างฟินแลนด์ต้องต่อกรกับประเทศที่ยิ่งใหญ่ที่สุดบนโลกในขณะนั้น

และไม่เพียงแต่เอาชีวิตรอดเท่านั้น

ยังสามารถประกาศชัยชนะได้อีกด้วย

สงครามฟินแลนด์กับสหภาพโซเวียตลากยาวจากปี 2482 ถึง 2487

ว่าตามหลักฐานทางการแล้ว “สงครามฤดูหนาว” นั้นสั้นมากแต่โหดเหี้ยมไม่เบา

สงครามเริ่มต้นเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2482 และสิ้นสุดลงในเดือนมีนาคม 2483

กองทัพแดงซึ่งมีความภาคภูมิในประวัติการสู้รบที่ไม่เป็นสองรองใครต้องเจอกับบทเรียนราคาแพงยิ่ง

เพราะแทนที่จะกดดันบังคับให้ประเทศเล็กกว่ามากมายต้องยอมจำนนอย่างง่ายดาย แต่กลับถูกตีโต้ออกจากฟินแลนด์ด้วยแรงฮึดและความช่ำชองภูมิประเทศมากกว่า

มีผู้บาดเจ็บล้มตายมากกว่า 300,000 คน เฉพาะที่เสียชีวิตในสนามรบมีไม่น้อยกว่า 150,000 คน

ความจริง สหภาพโซเวียตสามารถรักษาดินแดนทางเหนือของเลนินกราดได้สำเร็จ

แต่ก็ต้องแลกด้วยค่าใช้จ่ายมหาศาล

แม้จะมีการบรรลุข้อตกลงสงบศึกที่ลงนามในปี 2483 แต่ฟินแลนด์จะไม่นั่งเฉยและปล่อยให้โซเวียตปกปักรักษาผลประโยชน์ของตนแต่เพียงฝ่ายเดียว

แต่การหยุดยิงเป็นเรื่องชั่วคราวเท่านั้น

เพราะผ่านไปเพียงหนึ่งปี ฟินแลนด์และสหภาพโซเวียตก็เปิดศึกสงครามอีกครั้ง

คราวนี้สถานการณ์พลิกผัน

ฟินแลนด์กลายเป็นยืนอยู่ระนาบเดียวกับนาซีเยอรมันโดยปริยาย

เพราะฟินแลนด์ยอมให้การสนับสนุนในระดับ “พอประมาณ” แก่นาซีระหว่างปฏิบัติการบาร์บารอสซาที่เยอรมนีบุกสหภาพโซเวียต

พอนาซีบุกสหภาพโซเวียตก็เปิดช่องทางให้ฟินแลนด์ดำเนินกิจกรรมที่จำเป็นเพื่อกลับมาควบคุมดินแดนที่สูญเสียไประหว่างสงครามฤดูหนาว

พอการต่อสู้ครั้งใหม่ปะทุขึ้น ฟินแลนด์ก็กลายเป็นฝ่ายรุกโจมตี ผลักดันกองทัพแดงที่เหลือซึ่งแตกกระสานซ่านเซ็นอย่างไร้ระเบียบไปไปทิศทางของเมืองเลนินกราด

 

การสู้รบรอบนั้นได้ชื่อว่า Continuation War หรือ “สงครามต่อเนื่อง”

เป็นภาพของทหารฟินแลนด์จับมือนาซีเยอรมันสู้รบกับสหภาพโซเวียต

ทำให้พันธมิตรตะวันตกมองฟินแลนด์เป็นฝ่ายตรงกันข้ามทันที

การที่ฟินแลนด์สนับสนุนให้นาซีรุกรานสหภาพโซเวียตและปฏิเสธที่จะทำข้อตกลงสันติภาพกับโซเวียตทำให้ฝ่ายพันธมิตรไม่พอใจ

อังกฤษประกาศสงครามกับฟินแลนด์เพราะอังกฤษต้องการแสดงการสนับสนุนสหภาพโซเวียตที่เป็นพันธมิตรสำคัญในขณะนั้น

 

แต่ต่อมาอีกฉากหนึ่งของสงครามก็คือระหว่างฟินแลนด์กับนาซีเยอรมันในช่วงปี 2487-2488

ในปี 2487 ฟินแลนด์ลงนามสงบศึกกับสหภาพโซเวียต

เป็นจุดเริ่มต้นของการยุติการสู้รบระหว่างสองประเทศเพื่อนบ้านที่ปะทุขึ้นเป็นช่วงๆ มาตลอด

นำไปสู่ความสงบระหว่างฟินแลนด์กับสหภาพโซเวียตที่ยาวนาน

ไม่ช้าไม่นาน นาซีเยอรมันเจอสัจธรรมว่าการทำสงครามกับสหภาพโซเวียตไม่ใช่เรื่องล้อเล่น

แต่ฟินแลนด์ก็สร้างความประหลาดใจด้วยการสามารถดิ้นรนเอาชนะศัตรูที่เหนือกว่าเกือบทุกประตู

ส่วนหนึ่งของข้อตกลงสงบศึกใหม่ที่ลงนามในปี 2487 ระบุว่าฟินแลนด์ตกลงที่จะปลดอาวุธและขับไล่กองกำลังเยอรมันที่เหลืออยู่ทั้งหมดในประเทศ

เงื่อนไขนี้มีผลบังคับใช้ในวันที่ 15 กันยายน ค.ศ.2487 และนั่นมีผลทำให้ฟินแลนด์ต้องเปิดศึกกับนาซีเยอรมันที่เคยรบข้างเดียวกันมาก่อน

กระนั้นก็ตาม เยอรมนีขณะนั้นก็ยังคงมีกำลังพลและยุทโธปกรณ์อยู่ในฟินแลนด์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภูมิภาคแลปแลนด์ (Lapland) ซึ่งอยู่ทางเหนือสุด

เพราะเป็นภูมิภาคที่เยอรมนีสามารถเข้าถึงเหมืองโลหะที่สำคัญได้อย่างปลอดภัย

สิ่งที่ตามมาก็คือกองทัพฟินแลนด์ได้เคลื่อนพลเข้าปะทะกับกองทัพเยอรมันทั้งในและนอกประเทศฟินแลนด์

ความขัดแย้งนี้เรียกว่า Lapland War หรือ “สงครามแลปแลนด์”

 

สงครามนี้ทำให้ฮิตเลอร์ให้ความสนใจต่อจุดเล็กๆ ในฟินแลนด์มากเกินกว่าที่ควร

เยอรมนีจะไม่ยอมให้ฟินแลนด์ขัดขวางแผนการที่จะทำสงครามรุกคืบส่วนอื่นๆ ในยุโรป

หรือใช้ฟินแลนด์เป็นจุดตอบโต้หากนาซีเยอรมันถูกโจมตี

และแล้วทหารเยอรมันเจอกับสิ่งที่สหภาพโซเวียตเคยเผชิญ นั่นคือการยึดครองจุดยุทธศาสตร์ในฟินแลนด์เป็นเรื่องไม่ง่ายเลย

ทหารเยอรมันอาจจะไม่ได้ต้องเสียเลือดเนื้อในการทำสงครามในฟินแลนด์มากนัก แต่ก็ต้องเปลืองเวลาและความสนใจที่สูญเปล่าเพราะแรงต้านในฟินแลนด์

แม้เยอรมนีจะส่งทหารเกือบ 250,000 คนเข้าสู้รบในฟินแลนด์ แต่ก็ไม่อาจจะประกาศชัยชนะที่เป็นเรื่องเป็นราว

ที่ก่อความเสียหายมากที่สุดสำหรับฟินแลนด์ดูเหมือนจะเป็นการที่ทหารเยอรมันโกรธแค้นว่าทำอะไรมากไม่ได้ จึงจุดไฟเผาบ้านเรือนผู้คนก่อนที่จะล่าถอยออกไป

 

ต้องยอมรับว่าฟินแลนด์สร้างประวัติการสู้รบที่น่าประทับใจเพราะไม่มีประเทศอื่นใดที่ต้องต่อสู้กับทั้งนาซีเยอรมันและสหภาพโซเวียตซึ่งเป็นยักษ์ใหญ่ทั้งคู่

ฟินแลนด์ต่อสู้กับสหภาพโซเวียตที่จบลงแบบ “เสมอกัน” ถึง 2 ครั้ง

โซเวียตมีทั้งปืนและคนที่มากกว่าฟินแลนด์มากมาย

และแล้วท้ายที่สุดฟินแลนด์ก็เข้าร่วมกับพันธมิตรตะวันตกขับไล่ทหารเยอรมันออกจากประเทศของตน

และถือว่าเป็นประเทศที่อยู่ข้าง “ผู้ชนะ” เมื่อสงครามโลกครั้งที่สองจบลงในปี 2488

ต่อมาในปี 2490 ฟินแลนด์ก็ลงนามสนสนธิสัญญาสันติภาพกับสหภาพโซเวียต

วันนี้เรากำลังเห็นประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเมื่อรัสเซียขู่ฟินแลนด์ว่าถ้าหากเข้าร่วม NATO ความตึงเครียดก็จะกลับมาหลอกหลอนเพื่อนบ้านสองประเทศนี้อีกครั้ง