Rotel Diamond Series 60th Anniversary System / เครื่องเสียง : พิพัฒน์ คคะนาท

เครื่องเสียง

พิพัฒน์ คคะนาท

[email protected]

 

Rotel Diamond Series

60th Anniversary System

 

อย่างที่เพิ่งจะพูดไปครับ ว่าช่วงนี้หลายๆ แบรนด์มีผลิตภัณฑ์ที่เป็นสินค้าพิเศษออกมาเนื่องในวาระสำคัญต่างๆ ให้เห็นออกจะถี่สักหน่อย ซึ่งมีทั้งแบบซิสเต็ม และแบบเป็นชิ้นเดี่ยว

ช่วงกลางเดือนก่อนก็มีเครื่องเสียงชุดใหม่ออกมาเรียกความน่าสนใจให้แก่ผู้คนในวงการอยู่ไม่น้อย ด้วยเป็นชุดผลิตภัณฑ์ที่ออกมาในช่วงของแบรนด์ครบรอบ 60 ปี ซึ่งย่อมแน่นอนว่าจะต้องมีอะไรที่ไม่ธรรมดาเป็นแน่

ซึ่งทั้งแบรนด์และกับซิสเต็มที่ว่า ก็คือที่จ่าหัวเอาไว้นั่นแหละครับ

 

กับชื่อ Rotel นั้น เป็นหนึ่งในแบรนด์อันเป็นที่ชื่นชอบของนักเล่นกลุ่ม Mid-Fi ที่เครื่องเสียงหลายๆ รุ่น โดยเฉพาะอินติเกรตเต็ด แอมป์ กับเครื่องเล่นแผ่นซีดี มักจะได้รับความนิยมระดับติดอันดับ Best Buy อยู่เนืองๆ โดยได้รับความชื่นชมเป็นอย่างมากในแง่ Value for Money ที่ให้ความคุ้มค่าสูง ซึ่งหากจะเทียบกับอีกแบรนด์ที่นักเล่นบ้านเรามักคุ้นกันอยู่ก็คือ ระนาบเดียวกับแบรนด์อย่าง NAD นั่นเอง

และที่มีความคล้ายกันอีกประการระหว่างสองค่ายก็คือ ต่างมีเครื่องที่อยู่ในอนุกรมที่สูงกว่าปกติ คือจัดอยู่ในกลุ่มสินค้า Hi-End นั่นแหละครับ ซึ่งสินค้ากลุ่มนี้ของ NAD จะเป็นที่รู้จักกันในชื่อของ Master Series ขณะที่ของ Rotel ชื่อเรียกผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้จะมี Sub-Brand แยกต่างหาก โดยใช้ชื่อว่า Michi จึงทำให้ข่าวประชาสัมพันธ์เครื่องเสียงชุดพิเศษ Rotel Diamond Series นี้ ได้เน้นบอกว่าเป็นซิสเต็มที่ถึงพร้อมด้วยเทคโนโลยีที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก Michi อย่างเป็นสำคัญ

โดยเครื่องเสียงภายใต้ชื่อ Michi ได้ปรากฏสู่วงการครั้งแรกในปี ค.ศ.1993 จากนั้นก็จางหายไปไม่มีรุ่นใหม่ๆ ของแบรนด์นี้ออกมาอีกเลย

กระทั่งเมื่อสองสามปีที่ผ่านมา จึงค่อยมีเครื่องในกลุ่มแอมปลิไฟเออร์ออกมาเรียกเสียงฮือฮาให้กับผู้คนในวงการอีกครั้ง

ตรงนี้ต่างจาก NAD Master Series ที่มีเครื่องออกมาให้ได้สัมผัสต้องลองเล่นกันอย่างต่อเนื่องนับแต่ออกตลาดมาในยุคแรกๆ ไล่ๆ กันกับ Michi

Rotel เป็นแบรนด์สัญชาติญี่ปุ่น ที่บริหารจัดการแบบอุตสาหกรรมในครอบครัว ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของรุ่นหลาน ซึ่งน่าจะเป็นเจเนอเรชันที่สามแล้ว ก่อตั้งขึ้นมาโดย Mr.Tomoki Tachikawa ที่ผู้คนในวงการเรียกกันว่า มร.แทค ซึ่งถือกำเนิดในไต้หวันแต่มาโตได้รับการศึกษาและตั้งรกรากในญี่ปุ่น

โดยก่อนหน้าจะก่อตั้ง Rotel นั้นเขาได้เริ่มธุรกิจและการค้าอื่นๆ มาก่อน จุดเปลี่ยนที่ทำให้เขาก้าวเข้ามาในวงการนี้ก็คือช่วงต้นทศวรรษที่ 50s เมื่อได้รับสัญญาให้เป็นตัวแทนจำหน่ายโทรทัศน์ Sylvania ของสหรัฐอเมริกา ทั่วญี่ปุ่นแต่เพียงผู้เดียว

การเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าเครื่องใช้ไฟฟ้าของอเมริกาในญี่ปุ่นนั้น เป็นเรื่องค่อนข้างละเอียดอ่อน เพราะแรงดันไฟฟ้ากระแสสลับที่ใช้ในบ้านผู้คนของสองประเทศนั้นแตกต่างกัน เมื่อสินค้าส่งมาถึงต้องปรับเปลี่ยนเพื่อให้เป็นไปตามข้อกำหนดของท้องถิ่น

และนี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นให้ ‘แทค’ หันมาสนใจในเรื่องของงานวิศวกรรม

หลังจากสั่งสมประสบการณ์งานวิศวกรรมมาร่วมทศวรรษ ช่วงต้นทศวรรษที่ 60s เขาก็ได้ออกจากธุรกิจโทรทัศน์และเริ่มเข้าสู่อุตสาหกรรมเครื่องเสียง ด้วยการเป็นผู้รับจ้างผลิตในรูปแบบ OEM : Original Equipment Manufacturer ให้กับแบรนด์ต่างๆ รวมทั้งได้สร้างแบรนด์ของตัวเองขึ้นมาด้วย โดยเริ่มต้นด้วยชื่อ Roland ก่อนที่จะเปลี่ยนเป็น Rotel ในเวลาต่อมา

กระทั่งปี ค.ศ.1973 แบรนด์เริ่มเป็นที่รู้จักและได้รับความนิยมเพิ่มมากขึ้น เมื่อวารสาร Consumer Reports ที่เปรียบได้กับคัมภีร์ของผู้บริโภคในสหรัฐอเมริกา ได้มอบรางวัลชนะเลิศ Best Buy ให้กับรีซีฟเวอร์ Model RX-402

โดยที่ในเวลานั้นไม่มีใครทราบเลย ว่าอีกสองแบรนด์ที่ได้คะแนนเข้ารอบรองชนะเลิศมานั้น ต่างก็เดินออกมาจากโรงงานของ Rotel นี่ละ

ในช่วงทศวรรษ 70s-80s ที่วงการเครื่องเสียงบ้านระบบสเตอรีโอเริ่มเติบโต และเป็นที่นิยมเล่นกันกว้างขวางทั่วโลกนั้น การจ้างผลิตแบบ OEM ของแบรนด์ต่างๆ กับโรงงาน (ในญี่ปุ่น) นั้นออกจะเป็นความลับที่ต้องปกปิดกัน

กระทั่งโรงงานในไต้หวันเริ่มเป็นที่นิยมได้รับว่าจ้างผลิตจากเครื่องเสียงยี่ห้อต่างๆ เพิ่มมากขึ้นในช่วงทศวรรษที่ 90s นั่นละ เรื่องนี้จึงเป็นที่เปิดเผยกันมากขึ้น

แต่ยังคงเป็นเฉพาะคนวงในเท่านั้นที่จะทราบ ว่าใครไปจ้างให้ใครผลิต เพราะบางยี่ห้อ บางแบรนด์นั้น ไม่ได้ใช้โรงงานเดียวผลิตให้ เป็นต้นว่า แอมปลิไฟเออร์ใช้โรงงานนี้ผลิตให้ เครื่องเล่นเทปคาสเส็ตไปใช้อีกโรงงานผลิตให้ ส่วนเครื่องเล่นซีดีก็ไปผลิตอีกที่, อะไรทำนองนี้ ก็เลยเป็นเรื่องที่ปิดกันไม่ได้ง่ายๆ อีกต่อไปแล้ว

และเปิดกว้างเป็นที่รู้ๆ กันจนทุกวันนี้ที่ฐานการ (รับจ้าง) ผลิตส่วนใหญ่ได้ย้ายไปอยู่ที่จีนแผ่นดินใหญ่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

แม้ว่างานวิศวกรรมพื้นฐานจะดำเนินการอยู่ในญี่ปุ่น แต่ Rotel ก็มีห้องปฏิบัติการสำคัญหลายๆ ส่วนอยู่ในอังกฤษ ทั้งในขั้นต้นที่เป็นงานออกแบบ คัดสรรตรวจสอบชิ้นส่วนอุปกรณ์ ไปจนถึงขั้นตอนสุดท้ายคือการปรับแต่คุณภาพเสียง ซึ่งจากการทำงานแบบบูรณาการของห้องแล็บจากสองพื้นที่ ทำให้เครื่องเสียง Rotel ประสบความสำเร็จเป็นที่รู้จักและนิยมใช้กันมากขึ้น

โดยในช่วงปลายปี ค.ศ.1982 เมื่อได้เปิดตัวอินติเกรตเต็ด แอมป์ Model RA-820B แล้วได้รับรางวัล Product of the Year จากนิตยสารอันทรงอิทธิพลต่อผู้บริโภคใรยุโรป คือ What Hi-Fi? ของสหราชอาณาจักร

และนับแต่นั้นมา นานาผลิตภัณฑ์ของ Rotel ในทุกสาขาประเภท ต่างได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์ด้วยความชื่นชม และได้รับรางวัลจากสื่อเครื่องเสียงต่างๆ ทั่วโลก อีกมากกว่ามากตราบจนทุกวันนี้

ปัจจุบัน Rotel เป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์กับ Bowers & Wilkins (B&W Group) ซึ่งได้จับมือร่วมกันมาตั้งแต่ช่วงต้นทศวรรษที่ 80s ทั้งการทำตลาดร่วมกันในยุโรปและอเมริกาเหนือ รวมทั้งยังได้มีการร่วมทุนที่รวมไปถึงการผลิต และโลจิสติกส์ระบบเครือข่ายกระจายสินค้าไปทั่วโลก โดยมีฐานที่มั่นทั้งสองด้านนี้อยู่ที่เมืองจูไห่ในจีนแผ่นดินใหญ่

มีเครื่องของ Rotel ที่ควรบันทึกไว้ชุดหนึ่ง นั่นคือในช่วงปลายชีวิตของ Mr.Ken Ishiwata ผู้ที่เคยได้ชื่อว่าเป็น Brand Ambassador ของ Marantz และกล่าวได้ว่าเป็นตำนานหน้าหนึ่งของวงการเครื่องเสียงโลก หลังจากแยกทางกับมารานท์ซก็ได้มาพัฒนาเครื่องเสียงยอดนิยมให้ Rotel สองรุ่น คือ แอมป์ Model A11 กับเครื่องเล่นซีดี Model CD11 ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการปรับปรุงและอัพเกรดตัวเก็บประจุกับตัวต้านทาน และเสริมวัสดุพวกรองรับแรงสะเทือนเพิ่มเข้ามา ทว่า หลังจากเสร็จเครื่องต้นแบบไม่นาน คุณเคนก็จากไปเสียก่อน จากนั้นก็ได้นักออกแบบเพื่อนสนิทของคุณเขามาสานต่อ คือ Mr.Karl-Heinz Fink และได้ผลิตออกมาสู่ตลาดเมื่อสองปีก่อน

โดยใช้ชื่อรุ่นว่า A11 Tribute กับ CD11 Tribute ซึ่งก็คือที่เห็นรูปนั่นแหละครับ โดยที่หน้าปัดทางด้านขวาของเครื่องมีแถบป้ายคำว่า Tribute ตามด้วยตัวอักษรภาษาญี่ปุ่นซึ่งแปลว่า ‘ด้วยความเคารพ’ กำกับเอาไว้

ส่วนที่จ่าหัวนั่น ขอยกไปว่าต่อเที่ยวหน้า – ไม่ว่ากัน, นะครับ •