ตุลสีทาส : วาลมีกิแห่งกลียุค / ผี พราหมณ์ พุทธ : คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผี พราหมณ์ พุทธ

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

 

ตุลสีทาส

: วาลมีกิแห่งกลียุค

“ข้าพเจ้าปรารถนาจะพรรณนาเรื่องราวคุณความดีขององค์ราม ทว่า ปัญญาของข้าก็อ่อนแอเสียนี่กระไร พระกรณียกิจก็ยิ่งใหญ่เหลือประมาณ ข้าสำนึกตนว่าปราศจากทักษะ กล่าวโดยย่อ สติปัญญาของข้าดุจกระยาจก ทว่า ความปรารถนาโอ่อ่าอลังการดุจจักรพรรดิ พุทธิปัญญาข้าต้อยต่ำ ความมุ่งมาดกลับสูงส่ง ข้ากระหายอมฤตในขณะที่มีเพียงน้ำนมน้อยนิด สาธุชนโปรดให้อภัยความบ้าบิ่น สดับเสียงร้องอ้อแอ้ดุจทารกของข้าด้วยเถิด”

ตุลสีทาส (Tulsidas) หรือที่เรียกกันด้วยความคารพว่า โคสวามีตุลสีทาส (โคสวามีเป็นคำเรียกนักบวชที่เคยแต่งงานแล้ว) กล่าวถึงสติปัญญาของตนเองไว้ในตอนต้นของบทประพันธ์ “รามจริตมานัส” หรือรามายณะฉบับชาวบ้านที่ท่านประพันธ์ขึ้น

ความถ่อมตนที่ตุลสีทาสมีนั้น นอกจากบทกวีข้างต้น ท่านถึงกลับกล่าวว่าท่านแต่งรามจริตมานัส “เพื่อความพึงใจของตนเอง” และหากบทประพันธ์ที่ท่านแต่งจะมีความดีงามอยู่บ้าง ก็เพราะ

“ได้บรรจุเอาคุณประเสริฐต่างๆ ของพระรามเข้าไว้”

 

ตุลสีทาสกำเนิดที่ราชปุระ ใกล้ประยาค (ปัจจุบันคืออัลลาหบาด) ในปีสัมวัต 1554 ตรงกับคริสต์ศักราช 1497

ตำนานเล่าว่า เมื่อแรกเกิดเด็กน้อยไม่ยอมร้องไห้หรือส่งเสียง แต่อุทานออกมาว่า “ราม” จึงได้ชื่อว่า ตุลสีราม (ตุลสีแปลว่าต้นกะเพราอันเป็นไม้ศักดิ์สิทธิ์ตามคติไวษณพ) และด้วยเหตุเดียวกันนั้น กาลต่อมาเมื่อตุลสีรามได้พบกับคุรุนรหริ หรือนรหรยานันทะ คุรุจึงตั้งชื่อให้ว่า “รามโพลา” (Rambola) แปลว่า “ร้องว่าราม”

ท่านถูกเลี้ยงดูโดยสาวใช้ เนื่องจากบิดามารดาคงตกใจที่พบว่าบุตรของตนไม่ยอมร้องหรือส่งเสียง ทว่า แม่เลี้ยงก็ตายลงในอีกห้าปีถัดมา ชีวิตของท่านจึงได้รับการดูแลจากคุรุจนถึงวัยแต่งงาน

คุรุนรหรินี่เองที่พารามโพลาเดินทางไปยังสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ สอนรามมนตรา ภาษาสันสกฤต ศาสตร์ต่างๆ รวมทั้งเรื่องราวเกี่ยวกับพระรามให้จนแตกฉาน

รามโพลาเดินทางมาอยู่ในเมืองพาราณสีและแต่งงานกับสาวสวยนามรัตนาวลี ท่านหลงใหลความงามของภรรยาจนโงหัวไม่ขึ้น จิตใจหมกมุ่นครุ่นคิดอยู่แต่กับภรรยาจนไม่สนใจสิ่งใด

เหตุการณ์เล็กๆ แต่ทำให้ชีวิตของรามโพลาเปลี่ยนไปตลอดกาลได้เกิดขึ้น วันหนึ่งภรรยาของท่านกลับไปยังบ้านของบิดาตนโดยไม่บอกกล่าว รามโพลาทุรนทุรายด้วยความคิดถึงจนทนไม่ได้ จึงลุยน้ำข้ามคลองไปหาภรรยากลางดึก สาวเจ้าเยี่ยมหน้าออกมาทางหน้าต่างแล้วกล่าวว่า “เธอมัวยึดมั่นพันผูกกับเนื้อหนังและกระดูกเน่าเปื่อยนี้ หากเธอมีใจให้พระศรีหริได้เหมือนกันสักนิด เธอย่อมพิชิตอุปสรรคไปสู่ไวกูณฑ์โลก (สวรรค์ของพระวิษณุ) ได้แน่แท้”

รามโพลาได้ฟังก็นิ่งอึ้งไป หากท่านมีความรักต่อพระหริรามเช่นเดียวกับรักภรรยา ป่านนี้ท่านคงบรรลุหลุดพ้นไปแล้ว คิดได้ดังนั้น รามโพลาจึงตัดสินใจออกบวชสละโลก ทิ้งทุกสิ่งไว้เบื้องหลังมุ่งแสวงหาพระเจ้าเท่านั้น บัดนี้รามโพลาได้กลายเป็น “ตุลสีทาส” แล้ว

ท่านบันทึกไว้ว่า “การแนบสนิทกับพระรามด้วยความศรัทธามั่นคง เกิดจากประสบการณ์ความรักของพระองค์ ด้วยปัญญาแห่งภรรยาของข้า”

 

หลังจากที่ท่านออกบวชก็เดินทางเร่ร่อนไปยังบุญยสถานหลายแห่ง เช่น ทวารกา อโยธยา พัทรินาถ เรื่อยไปจนถึงทะเลสาบมานสโรวร์ที่เชิงเขาไกรลาส ที่แห่งนี้เองที่ท่านนำมาตั้งเป็นชื่อรามายณะฉบับประพันธ์ใหม่ ว่าเป็นดุจทะเลสาบ (มานัส) เรื่องราวของพระราม (รามจริต) ที่ใครๆ จะลงดื่มกินก็ได้

หลังการเดินทางอันยาวไกล ตุลสีทาสกลับมาตั้งหลักแหล่งในเมืองพาราณสี หัวใจของท่านยังประสงค์จะเขียนเรื่องราวของพระรามให้คงอยู่สืบไป ไม่เพียงแค่การเทศนาซึ่งท่านทำอยู่แล้ว ทว่าท่านยังมิอาจประพันธ์เรื่องราวของพระรามได้ เพราะพระเจ้าที่ท่านรักยังไม่ปรากฏให้เห็น

ตำนานเล่าว่าพรหมรากษส (อมนุษย์ที่เกิดจากดวงวิญญานของพราหมณ์) ตนหนึ่งซึ่งสิงสถิตต้นไทรใหญ่ ใกล้ที่พำนักของตุลสีทาส พึงพอใจที่ท่านมักนำน้ำจากพิธีกรรมมารดราดที่โคน จึงปรากฏกายและแนะนำให้ตุลสีทาสขอคำแนะนำจากหนุมาน

ตุลสีทาสสงสัยว่าจะพบหนุมานได้ที่ไหน พรหมรากษสจึงกล่าวว่าหนุมานมาฟังท่านเทศนาเรื่องพระรามอยู่ทุกวัน เพียงแต่ตุลสีทาสไม่รู้ ท้ายสุดท่านจึงได้พบหนุมานซึ่งแปลงมาเป็นพราหมณ์หนุ่มคนหนึ่ง

หนุมานแนะนำให้ตุลสีทาสเดินทางไปยังเขาจิตรกูฏ สุดท้ายตุลสีทาสจึงได้พบพระรามในรูปของเด็กชายคนหนึ่ง

และเมื่อระลึกได้ว่าเด็กชายคนนี้แท้จริงแล้วเป็นใคร ท่านถึงกับสิ้นสติสมประดี

 

หลังจากที่ได้พบกับพระรามแล้ว ตุลสีทาสก็มีกำลังใจที่จะประพันธ์รามายณะขึ้นมาใหม่ พระศิวะได้มาตรัสบอกในฝันให้ท่านเลือกใช้ภาษาชาวบ้านในการประพันธ์ เพื่อที่จะเกิดประโยชน์กว่าภาษาสันสกฤตอันเป็นภาษาของปราชญ์ ตุลสีทาสจึงเลือกที่จะแต่งรามายณะใหม่ในชื่อ “รามจริตมานัส” (ทะเลสาบเรื่องราวแห่งพระราม) โดยใช้ภาษาอวธี หรือภาษาฮินดีสาขาหนึ่ง

นอกจากจะใช้ภาษาท้องถิ่นแล้ว ลีลาของรามจริตมานัสยังสนุกสนานตามขนบวรรณกรรมชาวบ้าน มีลูกเล่นรวมทั้งภาษิตอุปมาอุปไมยมากมาย จึงเป็นที่นิยมชื่นชอบอย่างรวดเร็ว

แม้ปัจจุบัน หากท่านผู้อ่านไปยังเทพมณเฑียร ในกรุงเทพฯ ของเรานี่เอง ท่านก็ยังจะได้เห็นเขาสวดขับรามจริตมานัสอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

แม้โครงเรื่องรามจริตมานัสไม่ได้แตกต่างจากรามายณะของท่านฤษีวาลมีกิมากนัก แต่ตุลสีทาสได้ตัดบางช่วงที่ท่านเห็นว่าไม่เหมาะสมออกไป เช่น ตัดตอนที่พระรามเนรเทศสีดาไปอยู่ป่า หรือกล่าวว่าสีดาที่ถูกลักพาตัวและลุยไฟนั้น แท้จริงเป็น “มายาสีดา” หรือสีดาตัวปลอมที่เกิดจากพลังอำนาจของพระเจ้า เพื่อที่จะให้พระรามได้โอกาสสำแดง “ลีลา” ของพระองค์

นอกจากนี้ เนื้อหาในรามจริตมานัสยังมุ่งเน้นบุคลิกในด้านความเมตตากรุณาของพระราม สำแดงความรักที่พระเจ้ามีต่อมนุษย์และหนทางแห่งความภักดีที่มนุษย์ควรมีต่อพระองค์ พระรามแม้จะเป็นกษัตริย์ที่มี “ลีลา” สำแดงออกไปตามท้องเรื่อง แต่เนื้อแท้แล้วพระองค์คือพระเจ้าสูงสุดซึ่งปราศจากรูปลักษณาการ

ดังนั้น ตุลสีทาสได้พยายามรวมเอา “ราม” ในความหมายถึง นิรคุณพรหมัน (สัจธรรมสูงสุดที่ไร้คุณสมบัติ) เฉกเช่นที่บรรยายไว้ในอุปนิษัท หรือที่นักบุญท่านอื่นๆ เช่น กพีร์หรือระวิทาสเสนอ มารวมเข้ากับ “ราม” ในรามายณะอย่างสนิทแนบเนียน

“พระรามทรงรับรูปมนุษย์เพื่อประโยชน์แห่งสาวก” และ “สัจจิทานันทะ ชญานะ (สัจธรรมไร้รูปอันจริงแท้ เป็นจิต เป็นบรมสุขและปัญญา) เหนือกว่าความรู้คิด เหนือกว่าคำพูดและผัสสะ พระองค์ผู้สูงสุดอันเหนือกว่ามายา จิต และคุณสมบัติ ได้กระทำการต่างๆ ดุจมนุษย์ธรรมดา”

“จงรู้เถิดว่าสกลจักรวาลทั้งปวง ทั้งสิ่งที่เคลื่อนไหวและไม่เคลื่อนไหว ล้วนถูกแทรกซึมด้วยดวงจิตแห่งองค์ราม ข้าพเจ้าจึงขอกราบไหว้กมลบาทของทุกสิ่งนั้นด้วยกรรพุ่มมือ”

 

การปฏิบัติสำคัญที่สุดซึ่งตุลสีทาสเน้นคือการระลึกถึง “รามนาม” ท่านเชื่อว่าในกลียุคนี้ การปฏิบัติรามนามเป็นสิ่งที่เหมาะสมและง่ายที่สุด แม้คนไม่รู้หนังสือก็สามารถปฏิบัติได้ รามนามเป็นดุจ “กัลปพฤกษ์” หรือต้นไม้สารพัดนึกที่มอบสมบัติทั้งทางโลกและทางธรรมให้ เป็น “ตารกะมนต์” หรือมนต์พาข้ามโอฆสงสาร

การงานของนักบุญในยุคกลาง นอกเหนือจากการแต่งบทกวีหรือเพลงสำหรับสวดขับ หากมีความรู้สูงก็ยังต้องแปลคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ต่างๆ จากภาษาสันสกฤตมาสู่ภาษาถิ่น เราอาจกล่าวว่านี่คือการท้าทาย “ระบบชนชั้นวรรณะ” ผ่านงานแปล คือทำลายการผูกขาดคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์โดยพราหมณ์ เพราะชาวบ้านไม่รู้และถูกห้ามใช้สันสกฤต

นอกจากนี้ รามจริตมานัสยังขับเน้นบทบาทของตัวละครที่เป็นคนอวรรณะหรือชาวบ้าน เช่น คนป่า (นิษาท) ว่าสามารถได้รับความรักความเมตตาจากพระเจ้าได้อย่างเท่าเทียมกัน

ความสำคัญของท่าน ทำให้หลายคัมภีร์และนักบุญหลายคนระบุว่า ตุลสีทาสคือมหาฤษีวาลมีกิกลับชาติมาเกิดใหม่ในกลียุค ยุคแห่งความเสื่อมถอยความดี เพื่อจะนำพาผู้คนให้ได้ใกล้ชิดพระเจ้าอีกครั้ง

ผลงานสำคัญของตุลสีทาสนอกจากรามจริตมานัสแล้ว ยังมีหนังสือวินยปัตริกาซึ่งเน้นสอนเรื่องความภักดี โทหาวลี (รวมกวีนิพนธ์แบบโทหะ) ฯลฯ ในบรรดางานนิพนธ์ทั้งหลาย บทสวดชื่อหนุมานจาลีสาเพื่อสรรเสริญหนุมาน เป็นบทสวดที่นิยมมากที่สุดในกลุ่มผู้ใช้ภาษาฮินดีหรือภาษาทางตอนเหนือของอินเดีย

ชื่อเสียงของตุลสีทาสที่มีมากขึ้นทำให้ท่านขัดแย้งกับพราหมณ์ในพาราณสี บ้างก็ว่าชื่อเสียงของท่านทำให้ถูกจับกุมโดยจักรพรรดิ์มุฆัล (โมกุล) แต่เพราะมีฝูงลิงมาป่วนเมือง มีผู้รู้ภาษาสัตว์ไปแจ้งต่อจักรพรรดิว่าพวกลิงไม่พอใจที่จับตุลสีทาสไป ท่านจึงถูกปล่อยตัว

ตุลสีทาสพำนักในพาราณสีจนสิ้นชีวิตในปี ค.ศ.1623 เชื่อกันว่าท่านมีอายุยืนยาวถึง 126 ปี

 

ผมขอจบด้วยกวีของท่าน ดังนี้

“พระกรุณาขององค์รามดึงข้าออกจากความหลับใหล

ตื่นเดี๋ยวนี้! ข้าจักไม่เป็นทาสแห่งมายาอีกต่อไป

ข้าได้รับพระคุณการุณย์แห่งรามนาม ซึ่งจะทรงไว้ในอกไม่เว้นสักนาที

รูปโฉมของพระองค์นี้ก็จะเก็บไว้ในจิต นานเหลือจะคิดที่โลกเย้ยเยาะ เพราะข้าเป็นทาสผัสสะ

ข้าจะไม่เป็นเช่นนั้นอีกแล้ว บัดนี้ข้ากลายเป็นผึ้งภมรตอมไต่อยู่ที่พระบัวบาท

ซึ่งไม่ปล่อยให้ข้าไปจากความรื่นรมณ์แห่งน้ำหวานเกสร แม้ชั่วครู่” •