ระเบิดเวลา… ขาดแรงงาน พ่วง ขึ้นค่าจ้าง สะกิดรัฐบาล ‘ต้องสมดุล-ไม่ใช่เกมการเมือง’/บทความเศรษฐกิจ

บทความเศรษฐกิจ

 

ระเบิดเวลา…

ขาดแรงงาน พ่วง ขึ้นค่าจ้าง

สะกิดรัฐบาล ‘ต้องสมดุล-ไม่ใช่เกมการเมือง’

 

ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ต้องยอมรับว่าการระบาดโควิด-19 ถือเป็นระเบิดลูกใหญ่ ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทย และทั่วโลกอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และเมื่อเวลาผ่านไป หลักจากใช้เวลาในการรับมือสักพักใหญ่ ภาพโควิดก็ดูคลายตัวลง แม้ยังไม่ได้หายไป แต่ถือว่าไม่ได้เป็นปัจจัยหลักที่ผลต่อการดำเนินชีวิตของคนทั่วไปเหมือนเดิมอีกแล้ว

ความหวังในการเดินไปข้างหน้า จึงถูกจุดประกายขึ้นอีกครั้ง ทั้งการกลับมาใช้ชีวิตแบบปกติ การฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งก็หมายถึงการลืมตาอ้าปากได้ของคนทุกชนชั้น โดยเฉพาะชนชั้นกลางลงล่าง ที่ถูกผลกระทบจากโควิด จนต้องตกงาน ไม่มีเงิน ไม่มีบ้าน และบางรายก็ไร้หนทางจนต้องยอมทิ้งชีวิตที่มีเพียงชีวิตเดียวไปอย่างน่าเสียดาย

เมื่อโควิดที่เป็นระเบิดลูกใหญ่ได้ผ่านพ้นช่วงวิกฤตหนักไปแล้ว ภาพความหวังที่เริ่มชัดเจนขึ้น ก็มาพร้อมระเบิดลูกใหม่ ที่เปรียบเสมือนระเบิดเวลา พร้อมปะทุขึ้นมาแทบทุกเมื่อ คือ ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

เนื่องจากไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย ทำให้วัยทำงานเริ่มมีสัดส่วนน้อยลง รวมถึงทรัพยากรหลักที่สำคัญ อย่างแรงงานที่มีศักยภาพ หรือมีทักษะสูง ที่ผ่านมา เราก็เห็นการก้าวออกไปทำงานในต่างประเทศมากขึ้น เพื่อหาประสบการณ์ใหม่ ความมั่นคง และเม็ดเงินที่มากกว่า เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ในสายงานเดียวกันของต่างประเทศ เมื่อเทียบกับไทยแล้ว อัตราผลตอบแทนที่ได้กลับคืนมามากกว่าหลายเท่า

ตัวอย่าง อาชีพช่างตัดผม สหรัฐอเมริกา มีรายได้เฉลี่ยขั้นต่ำ 111,000 บาทต่อเดือน ออสเตรเลีย 213,800 บาทต่อเดือน ญี่ปุ่น 61,802 บาทต่อเดือน แคนาดา 150,911 บาทต่อเดือน ส่วนในไทย ลูกมือในร้านตัดผม หรือคนที่จบใหม่ จะได้ค่าตอบแทนประมาณ 9,000-12,000 บาทต่อเดือน

งานกราฟิกดีไซน์ (Graphic Designer) สหรัฐอเมริกา ได้เงินเดือนเฉลี่ย 141,740 บาทต่อเดือน ออสเตรเลีย 169,600 บาทต่อเดือน ญี่ปุ่น 96,920 บาทต่อเดือน แคนาดา 139,820 บาท ส่วนในไทย ได้เงินเดือนเริ่มต้นที่ 15,000-18,000 บาทต่อเดือน

แม้จะมีเสียงสวนกลับมาว่า เงินเดือนที่ได้มาก ก็ต้องแลกกับค่าครองชีพที่สูงเช่นกัน แต่ในภาวะที่ของแพงทั้งแผ่นดินในไทย คงพูดไม่ได้เต็มปากเต็มคำมากนัก ว่าประเทศไทยมีความคุ้มค่าในการทำงานมากที่สุด

 

เมื่อแรงงานทักษะสูง ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดหายไปอย่างต่อเนื่องยังไม่ทันแก้ไขได้ พบว่าแรงงานที่เป็นชนชั้นใช้แรงแลกค่าเหนื่อยจริงๆ ก็หายไปด้วย โดยข้อมูลจากกระทรวงแรงงาน ในเดือนพฤษภาคม 2565 พบว่า จำนวนแรงงานต่างด้าวในระบบมีประมาณ 2,161,578 คน แบ่งเป็นแรงงานมีฝีมือและอื่นๆ จำนวน 226,523 คน และแรงงานทั่วไปจำนวน 1,935,055 คน

จากข้อจำกัดข้างบน ทำให้แรงงานต่างด้าวกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของตลาดแรงงานในไทย ทุกวันนี้แรงงานต่างด้าวแทรกเข้าไปรับจ้างในทุกสาขา โดยเฉพาะภาคการผลิต และภาคบริการ อาทิ โรงงาน ร้านอาหาร ตลาดสด เป็นต้น

ทำให้ตอนนี้กังวลว่า หากเศรษฐกิจไทยที่อยู่ในภาวะกำลังฟื้นตัว หลังโควิดคลี่คลาย การเปิดประเทศ และเมื่อกิจกรรมต่างๆ กลับมาปกติแบบเร่งตัว และเร็วกว่าการกลับมาของแรงงานในระบบ จนเข้าภาวะเสี่ยงเกิดวิกฤตแรงงานที่ขาดแคลน และอาจทำให้ระบบธุรกิจและเศรษฐกิจที่จะเดินไปข้างหน้าอาจมีปัญหา จึงเกิดความกังวลเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ!!!

ภาพชัดเจนขึ้นต่อปัญหาการขาดแคลนแรงงาน เมื่อภาคการบริการที่ต้องพึ่งพาแรงงานจำนวนมาก อย่างธุรกิจโรงแรม ที่อาศัยพนักงานในการบริการลูกค้าแบบตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งส่วนใหญ่ต้องเป็นผู้มีทักษะสูง เพราะเป็นงานบริการต้องตอบรับความต้องการของลูกค้าได้ทันสถานการณ์

 

เรื่องนี้ “ละเอียด บุ้งศรีทอง” ที่ปรึกษาสมาคมโรงแรมไทย (ภาคเหนือตอนบน) ยืนยันว่า ปัญหาในภาคการท่องเที่ยวที่พบตอนนี้คือ การจ้างงาน หรือการขาดแคลนแรงงานฝีมือ แรงงานทักษะที่มีประสบการณ์ และมีคุณภาพในการให้บริการ โดยมีบางโรงแรมที่จำนวนห้องพักกับจำนวนพนักงานไม่ได้สอดคล้องกัน เนื่องจากช่วงเกิดโควิด-19 ที่ผ่านมา รักษาการจ้างงานไว้ไม่ไหว จึงต้องเลิกจ้างไปบางส่วน

ทำให้เมื่อกลับมาเปิดให้บริการแบบเต็มรูปแบบใหม่อีกครั้ง การจ้างงานกลับคืนมาก็ไม่สามารถทำได้ทันที เพราะแรงงานบางส่วนก็ปรับเปลี่ยนอาชีพไปแล้ว เดินทางกลับภูมิลำเนา หรือคาดหวังค่าจ้างที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้ประกอบการต้องยอมชะลอการจ้างงานคืนก่อน เพราะการจ้างงานจะต้องใช้เงินทุนมากพอสมควร รวมถึงการวางแผนในอนาคตอีก 3-6 เดือนข้างหน้า จะมีอะไรเกิดขึ้นและสร้างผลกระทบอีกหรือไม่ ทำให้ผู้ประกอบการต้องสร้างความปลอดภัยให้ธุรกิจของตัวเองมากที่สุดก่อน

การแก้ปัญหาตอนนี้คือ ต้องจ้างลูกจ้างแบบไม่ประจำก่อน เพื่อรอให้ความต้องการ (ดีมานด์) กลับมาเต็มที่ หรือรอความชัดเจนในหลายๆ ปัจจัยก่อน อาทิ ค่าจ้างแรงงานที่อาจมีการปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งหากมีการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอีก ก็ต้องยอมรับว่าส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการที่ต้องแบกรับต้นทุนเพิ่มขึ้นแบบสาหัสมากกว่าเดิมแน่นอน

พูดง่ายๆ ก็คือ ตายกับตาย เพราะคงไม่สามารถสู้ได้ เนื่องจากธุรกิจเพิ่งเริ่มกลับมาฟื้นตัว และยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ดีเท่าที่ควร รวมถึงต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในส่วนของสินค้าและวัตถุดิบที่ไม่สามารถควบคุม หรือต่อรองได้ ซึ่งจะเป็นผลกระทบต่อเนื่องถึงการจ้างงานอยู่แล้ว จึงเป็นสิ่งที่เราต้องบริหารจัดการให้ดี

 

แก้ปัญหาขาดแรงงานยังไม่จาง ก็มีกระแสว่าเดือนสิงหาคม อัตราจ้างแรงงานขั้นต่ำ จะประกาศอัตราปรับขึ้นอีกครั้ง จึงเกิดเสียงแตก บ้างก็เห็นใจ เพราะทุกวันนี้อะไรก็แพง ค่าครองชีพสูง รายได้ไม่เพียงพอกับเงินเฟ้อที่พุ่ง 7-8% หลายผู้ประกอบการโอดครวญ ปรับค่าจ้างพนักงานในช่วงเพิ่งกลับมาทำธุรกิจปกติได้ไม่ถึงปี เป็นการซ้ำเติมให้แย่ลงอีก ขณะที่บางส่วนก็เห็นใจผู้ใช้แรงงาน ที่เผชิญกับการหาเงินโปะภาวะค่าครองชีพรายวันที่ถีบตัวสูงขึ้นๆ

ทางนักวิชาการ “นณริฏ พิศลยบุตร” นักวิชาการอาวุโส สถาบันการวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้มุมมองว่า “ผลของการปรับขึ้นค่าแรงมี 2 ทาง คือ ธุรกิจจะมีต้นทุนเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากผู้ประกอบการต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มมากขึ้น โดยในธุรกิจที่สินค้ามีความจำเป็นในการใช้เพื่อดำรงชีวิต หรือมีความต้องการ (ดีมานด์) มากเพียงพอ ผู้ประกอบการก็สามารถส่งต่อต้นทุนเหล่านี้ให้กับผู้บริโภค ผ่านการปรับขึ้นราคาขายได้ จึงไม่ได้มีปัญหามากนัก แต่ในส่วนของธุรกิจที่สินค้าไม่ได้มีความสามารถในการผลักดันต้นทุนต่อไปได้ กลุ่มนี้จะได้รับผลกระทบ อาทิ กำไรน้อยลง บางส่วนอาจพลิกจากกำไรมาเป็นขาดทุน จนไม่สามารถเดินหน้าธุรกิจต่อได้ ทำให้มีผลกระทบต่อภาคธุรกิจอย่างแท้จริง”

“ในแง่ของลูกจ้าง เนื่องจากค่าแรงก็เป็นส่วนสำคัญในการใช้ชีวิต ทำให้ค่าแรงขั้นต่ำต้องสะท้อนความสามารถในการใช้จ่าย ที่อยู่ได้ท่ามกลางค่าครองชีพที่ปรับขึ้นต่อเนื่อง โดยในทางวิชาการอยากให้มีการปรับขึ้นอย่างต่อเนื่องแบบเป็นขั้นเป็นตอน ไม่ใช่เป็นเกมทางการเมือง เพื่อให้เกิดความดุลยภาพทั้งในแง่ของธุรกิจ และแรงงานด้วย โดยการปรับขึ้นค่าแรงจะต้องไม่ส่งผลให้ธุรกิจถูกกระทบจนล้มหายตายจากไป ขณะเดียวกันลูกจ้างก็ต้องได้ค่าตอบแทนที่สามารถมีชีวิตได้แบบคุณภาพดี มีศักยภาพในการใช้จ่ายเงิน ทำให้ความเหมาะสมของการปรับขึ้นค่าแรงจึงเป็นหัวใจสำคัญ” นักวิชาการท่านนี้ทิ้งท้ายไว้

เมื่ออนาคตมีแต่ความไม่แน่นอนรออยู่ เต็มไปด้วยความเสี่ยง ทั้งกำลังใช้จ่ายของประชาชนและเสถียรภาพทางการเมืองหลัง 11 รัฐมนตรีถูกอภิปราย หลายคนระบุสุดทางจริง เลือกทางออกคือดับเครื่องชน