E-DUANG : ศึกษา”รัฐธรรมนูญ”กับ”การเลือกตั้ง”

หากมองอย่างเปรียบเทียบกับ “ฤดูกาล” ระหว่างการเลือกตั้งกับการ “เลื่อน” การเลือกตั้ง

การเลือกตั้งก็เป็นเหมือน “ฤดูใบไม้ผลิ”

การเลื่อนการเลือกตั้งออกไปเรื่อยๆหรือกระทั่งไม่ยอมให้มีการเลือกตั้งเกิดขึ้นได้เลย

ก็เป็นเหมือน “ฤดูหนาว” อันยะเยือก

ยิ่งเมื่อมี “รัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560” ประกาศและบังคับใช้ตั้งแต่เมื่อเดือนเมษายน

ยิ่งจุดประกายแห่ง “ความหวัง”

ลองย้อนกลับไปศึกษากระบวนการของ “รัฐธรรมนูญ” จะเห็นได้ว่าสัมพันธ์กับ “การเลือกตั้ง” อย่างแนบแน่น

แนบแน่นจนยากจะแยกขาดจากกันได้

 

เมื่อสภาร่างรัฐธรรมนูญผ่าน “รัฐธรรมนูญ” ออกมาในเดือนมิถุนายน 2511

อีก 1 ปีต่อมาก็มีการเลือกตั้ง

เมื่อรัฐบาล นายธานินทร์ กรัยวิเชียร คิดจะครองอำนาจยาวนานถึง 12 ปีจากเดือนตุลาคม 2519

เดือนตุลาคม 2520 ก็เกิด “รัฐประหาร”

ต่อมารัฐธรรมนูญก็ประกาศและบังคับใช้ในปี 2521 จากนั้นในเดือนเมษายน 2522 ก็มีเลือกตั้ง

เช่นเดียวกับหลังรัฐประหารเดือนกุมภาพันธ์ 2534

หลัง นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ยกร่างรัฐธรรมนูญออกมาในเดือนมีนาคม 2535 ก็มีการเลือกตั้ง

เช่นเดียวกับหลังรัฐประหารเดือนกันยายน 2549

หลัง น.ต.ประสงค์ สุ่นศิริ ยกร่างรัฐธรรมนูญออกมาในเดือนสิงหาคม จากนั้นก็มีการเลือกตั้งในเดือนธันวาคม 2550

เส้นทาง “ประวัติศาสตร์” บอกเช่นนั้น

 

หลังรัฐประหารเดือนพฤษภาคม 2557 กว่าจะได้รัฐธรรมนูญก็อีกเกือบ 3 ปี

แต่นี่ก็คือ “สัญญาณ” ในทาง “การเมือง”

เป็นสัญญาณทางการเมืองอันเคยเลื่อนแล้วเลื่อนอีกจากปฏิญญาณโตเกียว มายังปฏิญญานิวยอร์คและล่าสุดคือปฏิญญาทำเนียบขาว

แต่ “การเลือกตั้ง” ต้องปรากฏขึ้นแน่นอน ไม่มีทางเลี่ยง