มุกดา สุวรรณชาติ : หลังรัฐประหาร สู้แบบไหน? เปรียบเทียบ กรณี 6 ตุลา 19 และ 19 กันยา 49

มุกดา สุวรรณชาติ

ประวัติศาสตร์ย้อนรอย

กงล้อประวัติศาสตร์หมุนไปข้างหน้า แต่มีบางช่วงเวลาที่สะดุดและถอยหลังเพื่อปรับทิศมุ่งหน้าต่อไป แต่จะย้อนไปแค่ 40 ปี หรือ 80 ปี หรือนานกว่า…

ปีนี้ครบรอบ 41 ปีของการรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 และก็ครบรอบ 11 ปีของการรัฐประหาร 19 กันยายน 2549

ทั้งสองกรณีมีความเหมือน มีความแตกต่าง ที่เปรียบเทียบเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วในอดีตและสามารถคาดการณ์อนาคตได้

1. หลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516 เมื่ออำนาจเผด็จการสลายลงจากยุค จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ถึงยุค จอมพลถนอม กิตติขจร-ประภาส จารุเสถียร ซึ่งนานถึง 16 ปี จึงมีความตื่นตัวของประชาชนสูงมากขึ้น กระแสประชาธิปไตยพุ่งสูงขึ้น กระแสสังคมนิยมก็ติดตามมา การตื่นตัวของกลุ่มปัญญาชน ชาวนา กรรมกรก็มีมากขึ้น มีรัฐธรรมนูญใหม่ 2517 มีการเลือกตั้ง แต่ภายในระยะเวลาไม่ถึง 3 ปี ก็ถูกปราบ

เป้าหมายที่ถูกปราบในเชิงบุคคล คือฝ่ายก้าวหน้า ทั้งนักการเมือง ประชาชน นักศึกษา สื่อ

แต่เป้าหมายที่เป็นโครงสร้างคือประชาธิปไตยแบบสากลที่มีการเลือกตั้งและรัฐบาลจากการเลือกตั้ง

ฝ่ายที่ทำการรัฐประหารตั้งเป้าหมายว่าจะมีการแช่แข็งเพื่อสืบทอดอำนาจ โดยอ้างการปฏิรูปนานถึง 12 ปี

มีเหตุผลในการรัฐประหาร ดังนี้…

บัดนี้คณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน ได้ประจักษ์ถึงภัยพิบัติที่เกิดขึ้นในขณะนี้ กล่าวคือ มีกลุ่มบุคคลซึ่งประกอบด้วยนิสิตนักศึกษาบางกลุ่มได้กระทำการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ อันเป็นการเหยียบย่ำจิตใจของคนไทยทั้งชาติ มีเจตนาทำลายสถาบันพระมหากษัตริย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของแผนการของคอมมิวนิสต์ ซึ่งจะเข้ายึดครองประเทศไทย เมื่อเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมก็ได้ต่อสู้ด้วยอาวุธร้ายแรง โดยร่วมมือกับผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ชาวเวียดนาม…หากปล่อยไว้ประเทศชาติและประชาชนจะประสบความวิบัติ คณะปฏิรูปฯ จึงมีความจำเป็นต้องเข้ายึดอำนาจการปกครอง เพื่อแก้ไขสถานการณ์ให้ได้โดยเฉียบขาดและฉับพลัน เพื่อความอยู่รอดของชาติมิให้ตกไปเป็นเหยื่อของจักรวรรดินิยมคอมมิวนิสต์…

2. หลังจากพฤษภาทมิฬ 2535 มีการเลือกตั้งใหม่ได้รัฐบาล ชวน หลีกภัย ต่อด้วย บรรหาร ศิลปอาชา ตามมาด้วย พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ และวนกลับมา ชวน หลีกภัย อีกครั้ง 9 ปี มี 4 รัฐบาล แต่ก็มาตามระบอบประชาธิปไตย

ส่วนใหญ่เป็นรัฐบาลผสม มีการต่อรองแบ่งอำนาจกันในหมู่ชนชั้นปกครอง

มีกระแสเรียกร้องว่าอยากเห็นรัฐบาลที่มีเพียง 2 พรรคใหญ่ ที่เป็นรัฐบาลและฝ่ายค้านเพื่อไม่ให้เกิดการต่อรอง และมีเสถียรภาพทางการเมือง

ภายใต้รัฐธรรมนูญ 2540 การเลือกตั้งในปี 2544 ชาวบ้านเลือกพรรคไทยรักไทยได้ ส.ส. จำนวนมากเกือบครึ่งสภาแม้เป็นรัฐบาลผสมก็มีอำนาจมาก มีนโยบายที่เข้าถึงประชาชนตั้งแต่ 30 บาทรักษาทุกโรค และเรื่องอื่นๆ ทำให้นิยมของรัฐบาลนายกฯ ทักษิณ ชินวัตร พุ่งสูงขึ้นชนะเลือกตั้งอย่างท่วมท้นอีกครั้งในปี 2548 ได้เสียงเกินครึ่งสภา ปชป. เป็นฝ่ายค้านได้สองพรรคใหญ่

แต่ปี 2549 ก็เกิดการรัฐประหารโค่นรัฐบาลนายกฯ ทักษิณลง

มีข้ออ้างตามแถลงการณ์ของ คปค. ดังนี้…

แถลงการณ์คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ด้วยเป็นที่ปรากฏโดยแน่ชัดว่า การบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลรักษาการปัจจุบัน ได้ก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้ง แบ่งฝ่าย สลายความรู้รักสามัคคีของคนในชาติ อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อนในประวัติศาสตร์ชาติไทย ต่างฝ่ายต่างมุ่งหวังเอาชนะด้วยวิธีการหลากหลายรูปแบบ และมีแนวโน้มนับวันจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น โดยประชาชนส่วนใหญ่เคลือบแคลงสงสัยการบริหารราชการแผ่นดิน อันส่อไปในทางทุจริตประพฤติมิชอบอย่างกว้างขวาง หน่วยงาน องค์กรอิสระ ถูกครอบงำทางการเมือง…ตลอดจนหมิ่นเหม่ต่อการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพแห่งองค์พระมหากษัตริย์… ดังนั้น คณะปฏิรูปฯ จึงมีความจำเป็นต้องยึดอำนาจการปกครองแผ่นดิน ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป

ของจริงคือ ไม่มีปฏิรูป ตามชื่อ มีรัฐประหารซ้ำ
และตามด้วยเลือกตั้งแบบประชาธิปไตยครึ่งใบ

การรัฐประหารปี 2519 และปี 2549 มีสิ่งที่เหมือนกันก็คือไม่สามารถแก้ปัญหาตามที่ตั้งใจไว้ได้ ไม่สามารถคุมอำนาจได้เด็ดขาด จึงมีการรัฐประหารซ้ำอีกครั้งในปี 2520 ส่วนการรัฐประหารปี 2549 มีการต่อสู้ทางการเมืองต่อเนื่องมา มีตุลาการภิวัฒน์ปี 2551 เป็นเทคนิคใหม่ แต่ก็ไปไม่รอด ต้องมารัฐประหารซ้ำในปี 2557

เป้าหมายของการปราบ หลัง 2549 คือนายกฯ ทักษิณ และนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงคือโครงสร้างการเมือง ไม่ให้เป็นแบบประชาธิปไตยสากล จึงต้องร่างรัฐธรรมนูญใหม่ แบบ 2560

การรัฐประหารที่ทำแล้วไม่ต้องได้รับโทษ แถมผู้ที่ทำรัฐประหารในอดีตทุกคนก็เป็นใหญ่เป็นโต ร่ำรวย ทำให้ใครๆ ก็อยากทำ ไม่มีใครสนใจความมั่นคงของระบอบประชาธิปไตย หรือความรู้สึกของประชาชน ดังนั้น มันจึงเกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่า นี่คือบทเรียนที่ทุกฝ่ายเรียนรู้มาหลายสิบปี

หลังรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 และตุลาคม 2520 การคลี่คลายไปสู่ระบอบประชาธิปไตย ต้องผ่านขั้นตอนประชาธิปไตยครึ่งใบ นานเกือบ 10 ปี

หลังรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 และพฤษภาคม 2557 เมื่อดูจากรัฐธรรมนูญ 2560 คงต้องผ่านประชาธิปไตยครึ่งใบแน่นอน แต่ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยตรงนี้จะนานเท่าไร

 

การต่อสู้และการหนีภัยหลังการรัฐประหาร

การรัฐประหาร 6 ตุลาคม 2519 มีการวางแผนฆ่านักศึกษาตอนเช้าวันที่ 6 คณะรัฐประหารและ CIA จัดตั้งกำลังกลุ่มขวาจัด ทั้งกระทิงแดง นวพล ลูกเสือชาวบ้านบางกลุ่ม ตชด. จากค่ายนเรศวร ตำรวจหน่วยปฏิบัติการพิเศษ หน่วย SWATT เข้าปิดล้อมและโจมตีผู้ชุมนุมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตั้งแต่เช้ามืด

มีการยิงเข้าใส่ด้วยปืนกล ระเบิด ปืนยิงรถถัง ถูกจับแขวนคอ ถูกเผา ถูกทารุณกรรมต่างๆ

มีผู้เสียชีวิตในที่เกิดเหตุ 42 คน ที่โรงพยาบาล 3 คน บาดเจ็บจำนวนมาก มีผู้ถูกจับไปขัง 3,000 กว่าคน

ตอนเย็นก็ทำการยึดอำนาจ ออกแถลงการณ์ของคณะรัฐประหารที่เรียกว่า ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองแผ่นดิน โดยให้เหตุผลต่างๆ นานา ถึงความจำเป็นที่จะต้องทำรัฐประหาร

จากนั้นก็ออกประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ ยุบสภาและคณะรัฐมนตรี ให้อำนาจบริหารตกเป็นของคณะปฏิรูปฯ

ให้ยุบพรรคการเมืองทั้งหมด และห้ามตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาใหม่ ห้ามชุมนุมเกินห้าคน

ให้หนังสือพิมพ์รายวันหยุดการพิมพ์ จำหน่าย ให้สถานีวิทยุทุกแห่งถ่ายทอดรายการประชาสัมพันธ์แห่งเดียว

 

หนีสิครับ…จะอยู่ให้จับไปติดคุกทำไม

หลังจากการสังหารหมู่ และจับผู้ชุมนุมไปขัง ต่อมาก็มีการไล่จับแบบกวาดล้างตามมหาวิทยาลัยทุกแห่ง มีการเข้าตรวจค้นทุกจุดไม่เว้นแม้แต่โรงเรียน ได้ผู้ต้องหาเพิ่มอีกเล็กน้อย รวมทั้งหมด 3,154 คน ส่วนที่รอดไปได้ ก็หนีเข้าป่า

ในชั้นสอบสวนมีผู้ได้รับการประกันตัว 2,579 คน ส่วนใหญ่หลังจากออกมาก็หนีเข้าป่า จนถึงเดือนสิงหาคม 2520 อัยการสรุปว่าผู้ต้องหาทั้งหมด 3,154 คนหลักฐานไม่พอฟ้อง 3,080 คน ซึ่งประกันและปล่อยตัวไปแล้ว และพิจารณาสั่งฟ้องเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2520 จำนวน 74 คน

ถูกตั้งข้อหาว่า…เป็นกบฏ…เป็นคอมมิวนิสต์

ใช้กำลังล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

สุดท้ายพวกที่ถูกจับขังคุกหนีไม่ได้ ถูกสั่งฟ้อง มี 18 คน เช่น…

1.นายสุธรรม แสงประทุม 2.นายอภินันท์ บัวหภักดี 3.นายสุรชาติ บำรุงสุข 4.นายประพนธ์ วังศิริพิทักษ์ 5. นายวิโรจน์ ตั้งวาณิชย์ 6.นายมหินทร์ ตันบุญเพิ่ม 7.นายอารมณ์ พงศ์พงัน 8.นายประยูร อัครบวร 9.นางสาวสุชีลา ตันชัยนันท์ 10.นายธงชัย วินิจจะกูล 11.นายสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ฯลฯ

พวกที่หนีไปได้ เป็นผู้นำนักศึกษา และแกนนำพรรคการเมือง จำนวน 32 คน เช่น 1.นายเสกสรรค์ ประเสริฐกุล 2.นายเกรียงกมล เลาหไพโรจน์ 3.นายสงวน นิตยารัมพงศ์ 4.นายธีรยุทธ บุญมี 5.นายพีรพล ตริยะเกษม 6.นายพินิจ จารุสมบัติ 7.นายเหวง โตจิราการ 8.นายสมาน เลือดวงศ์หัด 9.นายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ 10.นายตา เพียรอภิธรรม ฯลฯ

คำบรรยายฟ้องโดยสรุปคือตั้งแต่วันที่ 6 ธันคม 2516 – 6 ตุลาคม 2519 จำเลยทั้ง 18 คนกับพวกที่หลบหนียังจับไม่ได้ บังอาจตั้งกลุ่มโดยมีจุดมุ่งหมายที่จะทำการเป็นคอมมิวนิสต์ ล้มล้างระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจให้เป็นระบบคอมมิวนิสต์ มีการกระทำอันเป็นกบฏ ใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อล้มล้างและยึดอำนาจการปกครองของรัฐ (แสดงว่าชนชั้นปกครองใหม่ หลัง 14 ตุลา 16 ยอมรับให้นักศึกษาเป็นวีรชนอยู่ไม่ถึง 3 เดือน หลังจากนั้นก็หมายหัวเตรียมกำจัด เพราะเสร็จศึกกับขุนทหารแล้ว ไม่จำเป็นต้องเอามาใช้อีก) หลังจากนายกฯ คึกฤทธิ์ ปราโมช ไปเยือนจีนมีการจัดนิทรรศการเกี่ยวกับจีนที่ ม.ธรรมศาสตร์ ก็นับเป็นความผิดมีอยู่ในคำฟ้องด้วย คำบรรยายฟ้องยังกล่าวถึงเรื่องอื่นๆ และเหตุการณ์ 6 ตุลา อีกหลายข้อ

สรุปว่าทั้งหมดมีโทษถึงประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต

 

ยุคเด็กเกเร…ไม่มีใครมอบตัวสู้คดี
ไม่เคารพกฎหมาย แถมยังต่อสู้กับรัฐ

ทั้งคนที่มีหมายจับ และพวกที่ไม่มีหมายจับ อีกหลายพันหนีเข้าป่า หรือจะเรียกว่าถอยไปสู้อีกแนว เพื่อไม่ให้เสียเปรียบ ไม่มีใครยอมรับกระบวนการยุติธรรมมามอบตัวสู้คดี เป็นแนวทางการต่อสู้ที่ใช้อาวุธ ใช้ตาต่อตา ฟันต่อฟัน ปืนต่อปืน

นักศึกษาประชาชนที่ถูกไล่ฆ่าไม่ต้องคิดอะไรมากเพราะขืนอยู่ในเมืองก็คงถูกฆ่าเพิ่มขึ้น

พอหนีได้ก็เข้าป่าคว้าปืน ออกทำสงครามกองโจรสู้กับรัฐบาลเผด็จการ

สู้กันนานถึง 5 ปี มีคนตายเพิ่มอีกไม่น้อยกว่า 5,000 คน บาดเจ็บเป็นหมื่น และสงบศึกลงประมาณปี 2525 โดยกฎหมายนิรโทษกรรมและคำสั่ง 66/23

สิ่งที่ได้เรียนรู้คือ ไม่มีฝ่ายไหนชอบความรุนแรง แต่ถ้าจะใช้ความรุนแรง ใช้ปืน ฝึกไม่กี่วันก็ยิงกันได้แล้ว แต่การมีปืนมิได้หมายความว่าจะได้รับชัยชนะเสมอไป

แต่ก็สามารถทำให้คู่ต่อสู้รู้ว่ามีคนที่พร้อมจะสู้ทุกรูปแบบ และทุกคนมีโอกาสตายในการต่อสู้เหมือนกัน

 

ยุคเด็กเรียบร้อย…
หลบให้พ้นเขตอำนาจ
สู้ผ่านการเลือกตั้ง

ส่วน 19 กันยายน 2549 การรัฐประหารของ คปค. ตามซ้ำด้วยนวัตกรรมยึดอำนาจแบบใหม่ คือตุลาการภิวัฒน์ ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระมีอำนาจเหนืออำนาจอธิปไตยของประชาชน ประเทศคล้ายจะเปลี่ยนเป็นระบอบตุลาการธิปไตย

ประชาชนไม่พอใจแต่เริ่มต้นจากคนกล้าสู้จำนวนน้อย ลุงนวมทอง ไพรวัลย์ ขับแท็กซี่พุ่งชนรถถังได้รับบาดเจ็บ ต่อมาได้ไปแขวนคอตายประท้วงที่สะพานลอยหน้าสำนักงานหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

จากนั้นก็มีการชุมนุมกันที่สนามหลวงของประชาชนกลุ่มต่างๆ และการต่อสู้ก็ขยายตัวมาเรื่อยๆ ตลอด 4 ปี จนถึงเหตุการณ์เมษายน-พฤษภาคม 2553 ซึ่งมีการประท้วงให้ยุบสภา

นี่คือการทวงอำนาจอธิปไตยของประชาชนอย่างเปิดเผย เพราะประชาชนต้องการเลือกตัวแทนของตนเอง แต่ก็ถูกปราบด้วยอาวุธ จนมีผู้เสียชีวิตเกือบ 100 คน บาดเจ็บ 2000 แต่การยืนหยัดต่อสู้ด้วยการประท้วงอย่างสันติยังมีต่อมาอีกหลายครั้งก็เป็นการบีบบังคับให้เกิดการเลือกตั้งขึ้นในปี 2554 ซึ่งฝ่ายที่เรียกร้องประชาธิปไตย ได้ผู้แทนถึง 265 คนมีเสียงสนับสนุนเกือบ 16 ล้าน บางคนคิดว่านี่คือชัยชนะ

แต่ที่จริงไม่ใช่ชัยชนะ เพราะสุดท้ายก็มีรัฐประหาร 2557 นายกฯ ยิ่งลักษณ์ โดนคดี จนต้องหลบไปต่างประเทศ เช่นเดียวกับอีกหลายร้อยคนที่หลบไปตั้งแต่ปี 2553 เพราะนับตั้งแต่หลัง 2549 มีคนที่ถูกดำเนินคดีจากความขัดแย้งการเมืองมากกว่า 1,900 คน

แต่แนวทางการต่อสู้ คือจะใช้การเลือกตั้งเป็นแนวทางหลัก ใครจะจะหนีก็หนี ใครจะสู้คดีแล้วติดคุกก็ตามใจ

(ต่อฉบับหน้า)