ท่าดินแดง / เอกภาพ : พิชัย แก้ววิชิต

พิชัย แก้ววิชิต

เอกภาพ

พิชัย แก้ววิชิต

 

ท่าดินแดง

 

“ความรู้ที่อยู่ในสิ่งเก่า ไม่ใช่สิ่งที่จะผุพังไปตามกาลเวลา จะยังคงสดใหม่เสมอ จากอดีตที่เรายังไม่เข้าใจ”

เรื่องราวของความเก่าก่อน หาใช่เศษซากของกาลเวลา ผู้เฒ่าผู้แก่หลายคนเป็นนักเล่าเรื่องราวของความหลังเมื่อครั้งอดีต

ความทรงจำของนักเล่าคือก้อนมวลความรู้ทางประวัติศาสตร์ ตั้งแต่วิถีชาวบ้านทั่วๆ ไป จนถึงรูปแบบวิถีการเมืองการปกครองในยุคนั้นๆ

ผู้เล่าที่รอคอยให้คนรุ่นหลังเข้าไปพูดคุย รับรู้รับฟัง เพื่อเป็นของฝากจากความทรงจำ ที่บางครั้งอาจจะกลายเป็นบทเรียนที่อยู่นอกตำราที่เราอาจมองข้ามไป

การได้รับรู้และพบเห็นสิ่งที่ต่างยุคต่างสมัย จากคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ หรือโบราณสถานที่เต็มไปด้วยร่องรอยชีวิตของผู้คนในอดีต ผมไม่เคยรู้สึกเบื่อ

ผมสนใจและสนุกที่ได้ฟังเรื่องราวของผู้คนในยุคสมัยที่ผมเกิดไม่ทัน

รู้สึกตื่นเต้นทุกครั้งที่ได้อยู่ในสถานที่ที่มีอายุหลายร้อยปี เพราะการได้สัมผัส ได้เห็นร่องรอยและรับรู้เรื่องราวของสิ่งที่ผ่านมาช้านาน ทำให้เราได้รู้ถึงที่มาของปัจจุบัน ที่จะนำพาให้เราได้เห็นทิศทางที่เราควรไปในอนาคต

ย้อนเวลากลับไป เพื่อที่ผมจะได้เป็นผู้เล่าอดีตของตัวเองบ้าง

 

เมื่อสองเดือนก่อนหน้านี้ ช่วงราวปลายเดือนพฤษภาคม ผมมีนัดหมาย เมื่อถูกชวนให้ไปเที่ยวกับศูนย์ข้อมูลมติชน หรือ MIC (Matichon Information Center)

Walking Trip ที่มีชื่อว่า “ก่อร่างเป็นบางกอก ย่านการค้านานาชน”

เป็นการเที่ยวที่เดินย่ำ ย้อนยุครำลึกถึงวิถีชีวิตผู้คน ที่มีมากกว่าหนึ่งชาติพันธุ์ ที่ส่วนมากเป็นชาวจีนและแขกอินเดีย ได้ร่วมกันขับเคลื่อนย่านการค้าเก่าแก่ที่มีความสำคัญ บริเวณที่เราเรียกกันว่า ท่าดินแดง คลองสาน

ผมนั่งเรือข้ามฟากจากท่าเรือราชวงศ์ จุดหมายปลายทางคือท่าเรือฝั่งตรงข้าม ที่มีนามว่า ท่าดินแดง ถิ่นสถานที่มีความสำคัญกับรากประวัติศาสตร์ทางสังคมเมืองที่ผมอาศัยอยู่

เรือที่คิดค่าบริการสามบาทห้าสิบสตางค์ค่อยๆ เคลื่อนตัวออกจากท่า ฝ่ากระแสแม่น้ำเจ้าพระยา พาผมและผู้โดยสารคนอื่นๆ จอดเทียบถึงท่าดินแดงโดยปลอดภัย

ผู้เล่าที่รอคอยให้คนรุ่นหลังเข้าไปพูดคุย รับรู้รับฟัง เพื่อเป็นของฝากจากความทรงจำ ที่บางครั้งอาจจะกลายเป็นบทเรียนที่อยู่นอกตำราที่เราอาจมองข้ามไป

ผมไปถึงตามเวลาที่นัดหมาย แปดโมงเช้าโดยประมาณ

เมื่อถึงกำหนด ผมและคนอื่นๆ ที่มาร่วมทริปออกเดินทางมุ่งหน้าไปหาอดีต โดยเริ่มจาก S.K. BUILDING หรือที่เรียกกันว่า โกดังเซ่งกี่ โรงหนังวัวและหนังควายของชาวจีนที่ค้าหนัง ใกล้กันนั้นยังมีมัสยิดเซฟี หรือที่เรียกกันว่า มัสยิดตึกขาว

จากนั้นผมออกเดินตามจุดต่างๆ พร้อมกับคณะ ไม่นานนักก็พบกับอาคารไม้หลังใหญ่โต ซึ่งก็คือโกดังเกลือแหลมทอง ที่มีอายุประกันความเก่าประมาณแปดสิบปี

ห่างกันไม่มากนักจะพบกับคฤหาสถ์ฮวกหลีสวยคลาสสิค ที่ผสมศิลปะตะวันออกและตะวันตกเข้าไว้ด้วยกัน

ช่วงท้ายๆ ของการเดินย้อนรอยประวัตศาสตร์ กับการได้เยี่ยมชมและสัมผัสกับมัสยิดกูวติลอิสลาม (ตึกแดง) โรงน้ำปลาทั่งง่วนฮะ และเก๋งจีนที่มีอายุกว่าสองร้อยปี

 

ผมเดินหน้าและถอยหลัง วกไปเวียนมา ไปตามกลุ่มคณะที่เดินมาด้วยกัน การฟังบรรยายโดย คุณธีรนันท์ ช่วงพิชิต และเจ้าของสถานที่ได้เล่าประวัติความเป็นมา

ผมเองอาจฟังทันบ้างไม่ทันบ้าง แต่ก็มากพอที่จะทำให้เข้าใจจนเห็นความสำคัญย่านการค้าที่สำคัญของบางกอก และที่มาที่ไปของกรุงเทพฯ จากโบราณสถานที่ยังหลงเหลือ และความทรงจำของผู้คนที่ยังไม่ลืมเลือน แต่ก็ค่อยๆ เลือนรางและเจือจางไปกับกระแสของความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย ไม่ต่างอะไรไปกับกระแสน้ำของแม่น้ำเจ้าพระยากับสองฟากฝั่งที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย

ขอบพระคุณเจ้าของสถานที่และผู้มีส่วนเกี่ยวในการอนุรักษ์โบราณสถาน ผู้บรรยาย ทีมงาน MIC ทุกๆ ท่าน มติชน และเรือข้ามฟากท่าน้ำราชวงศ์และท่าดินแดงทั้งสองฟากฝั่ง

ขอบคุณมากมายครับ •