‘เทพ’ / หลังเลนส์ในดงลึก : ปริญญากร วรวรรณ

ม.ล.ปริญญากร วรวรรณ

หลังเลนส์ในดงลึก

ปริญญากร วรวรรณ

 

‘เทพ’

 

ผมเริ่มต้นทำงานด้วยความไม่รู้ “ไม่รู้” ว่าตัวเองไม่รู้ด้วยซ้ำ ไม่ต้องพูดถึงเรื่องงาน ที่คิดว่ามีกล้องมีเลนส์ เดินทาง เข้าป่าขึ้นดอย ก็เรียกตัวเองว่าช่างภาพสัตว์ป่าแล้ว เรื่องใกล้ๆ ตัว กับคนที่ร่วมงานด้วย ผมก็ไม่รู้ ไม่เข้าใจในวิถีที่พวกเขายึดถือ

ผมโกรธที่เพื่อนชาวดอยต่อว่าผมคือสาเหตุทำให้เจ้าโกรธ จึงให้เราตกอยู่ในพายุฝนลมแรง อยู่บนดอยไม่ได้เพราะผมนั่งทับฟืนซึ่งนำมาก่อไฟ

ผมขำๆ กับเพื่อนที่แบ่งข้าวและกับข้าวใส่บนใบไม้ และนำไปวางโคนต้นไม้ เพื่อให้เจ้าที่เจ้าทางกิน

เวลา และการใช้ชีวิตในป่า ซึ่งเป็นคล้ายอีกโรงเรียน ทำให้ไม่ขำกับการกระทำของเพื่อนร่วมทาง เริ่มจากมองดูเฉยๆ จากนั้นช่วยหาใบไม้เหมาะๆ ตักกับข้าวใส่ และจนถึงทำแบบนั้นเอง

มันเป็นความเชื่อของเพื่อนร่วมงาน แม้จะไม่เชื่อนักหรอกว่า จะมีใครมารับอาหารที่เราแบ่งให้

แต่อยู่ในป่า การยอมรับในความเชื่อผู้อื่นนั้นจำเป็น เชื่อว่าชีวิตต่างมีวิถีของตนนั้นสำคัญ

ข้อสำคัญ เมื่อเปิดใจรับเช่นนี้ มันทำให้ผมเข้าใจวิถีของชีวิตต่างๆ ที่มองผ่านเลนส์ และ “เห็น” พวกมัน เมื่อละสายตาจากช่องมองภาพ

 

โลกเดินทางมาถึงวันที่เทคโนโลยีในสายงานที่ผมทำงานอยู่ พัฒนาไปไกล มีกล้องมีเลนส์ที่ดี สภาพแสงน้อยๆ หรือในช่วงเวลากลางคืน แทบจะไม่ใช่ปัญหา เราทำงานได้แบบที่เคยเป็นแค่ความฝันในสมัยทำงานแรกๆ

มีกล้องดักถ่ายภาพอันทำให้ได้ภาพสัตว์ป่าอย่างที่ไม่เคยเห็น

เทคโนโลยียิ่งทำให้รู้ว่า ในป่ามีการออกแบบร่างกายของสัตว์ชนิดต่างๆ รวมทั้งให้พวกมันมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันอย่างเป็นระบบอย่างไร

ในอีกทางหนึ่ง ขณะยอมรับความเป็นไปของชีวิตซึ่งมองเห็นมากขึ้น

ผมก็ยอมรับในเรื่องที่ “มองไม่เห็น” มากขึ้นเช่นกัน

เรามีเรื่องที่มักปฏิบัติขณะทำงานในป่า และพูดกันขำๆ ว่า เป็นการทำงานขั้น “เทพ” นั่นคือ จุดธูปบนเจ้าป่าเจ้าเขา ขอให้ทำงานได้ดีๆ พบสัตว์ที่อยากพบ

และหากได้งานตามเป้าหมาย เราจะเคร่งครัดกับการแก้บน

 

อย่างที่เคยบอกเสมอว่า การทำงานในป่าของผม นับเป็นโอกาสดี อันทำให้ได้พบเจอเป็นเพื่อนกับคน ไม่เฉพาะคนทำงานในป่า แต่หลายคนมาจากแดนไกล บ้างเป็นนักวิจัย หลายคนเป็นช่างภาพอาชีพ ทำงานให้นิตยสารที่ทั่วโลกยอมรับ

อย่างสตีฟช่างภาพ วัยเดียวกับผม ที่มากับโจผู้ช่วย

สตีฟเสียงดังฟังชัด วันๆ พูดแต่เรื่องงาน ส่วนโจสุภาพ เงียบขรึม

ครั้งนั้น เป้าหมายงานของสตีฟคือเสือโคร่ง โดยเน้นไปที่การนำเทคโนโลยีมาใช้ในงานศึกษาสัตว์ป่า นั่นคืองานที่สถานีวิจัยสัตว์ป่าเขานางรำทำอยู่

“ทำไมถึงมาทำที่เมืองไทยล่ะครับ” ผมถามสตีฟ

“เหตุผลเดียวครับ ผมอยากให้คนรู้ว่าทุกวันนี้ ประเทศไทยเอาจริงกับการปกป้องเสือโคร่ง และที่อาศัยของพวกมัน รวมทั้งงานวิจัยเกี่ยวกับเสือโคร่ง ก้าวหน้าไปมากแค่ไหนแล้ว” ดวงตาสีฟ้า ส่งประกายจริงจังขณะตอบ

สตีฟเชี่ยวชาญการใช้กล้องดักถ่ายภาพ ภาพเปิดในคอมพ์เขา เป็นภาพเสือดาวหิมะเดินบนสันเขา ถ่ายที่ชายแดนปากีสถาน ซึ่งได้รับรางวัลระดับโลก

สำหรับผมนี่คือโอกาสที่ดีจะได้เรียนรู้ประสบการณ์จากช่างภาพ ที่เดินทางทำงานมาทั่วโลก

ตามกำหนดการของเขา เราจะทำงานร่วมกันหนึ่งเดือน

สมเสร็จ – ส่วนใหญ่พวกมันใช้เวลาช่วงกลางคืนเดินทางและเข้ามาใช้เวลาในโป่ง แต่บางวันที่อากาศร้อนอบอ้าว บ่ายๆ สมเสร็จก็มาใช้เวลาในโป่งน้ำซับบ้าง

บ่ายวันหนึ่งผมพบกับวัวแดงตัวผู้ ชราภาพ ผมถ่ายรูปมันไว้บ้าง วันรุ่งขึ้น ผมพบมันกลายเป็นซาก จากร่องรอยเราพบว่าเป็นการลงมือของเสือโคร่งตัวเมีย

วัวแดงชรา นอนตะแคงอยู่กลางโป่งน้ำซับ รอยเขี้ยวกัดบริเวณลำคอ ช่วงก้นถูกกินไปไม่มาก เหตุการณ์เกิดขึ้นก่อนหน้าผมมาที่นี่ไม่เกินชั่วโมง

สตีฟเข้ามาดู เขาวางแผนตั้งกล้อง เร่งรีบทำงาน

เราถอยออกมาเมื่อทุกอย่างเสร็จสิ้น

“นี่จะเป็นรูปเสือโคร่งที่สวยมากๆ เลยล่ะ” สตีฟพูดเบาๆ ตอนเราเดินมาถึงรถ และเดินทางกลับแคมป์

“ถ้าเธอกลับมากินเหยื่อนะครับ” สตีฟพยักหน้าเห็นด้วย เรารู้ดีว่า เสือโคร่งระวังตัวมากแค่ไหน กลิ่นกายเราที่ติดอยู่ในบริเวณนี้มันจะสัมผัสได้

ก่อนถอยออกจากซาก ผมเห็นสตีฟยกมือไหว้ พึมพำเบาๆ

 

ฝนที่ตกหนักตั้งแต่ช่วงบ่ายกระทั่งเย็นเบาบางลง กองไฟไหววูบวาบ ลูกไฟแตกกระจาย อากาศเย็นชื้น นี่คล้ายเป็นช่วงเวลาเรียนของผม สตีฟถ่ายทอดทักษะและประสบการณ์ เขาตั้งใจสอนแบบจริงจัง การเดินทางและมีโอกาสร่วมงานกับชนเผ่าต่างๆ ในโลก ทำให้เขาปรับตัวได้เร็ว

รอบกองไฟ เป็นบรรยากาศเหมาะสมกับการเรียนรู้

“ตอนบ่ายก่อนถอยจากซากวัวแดง ผมเห็นคุณยกมือไหว้ พูดอะไรพึมพำ” ผมถาม

“ผม ไหว้เจ้าป่าเจ้าเขา ขอให้งานสำเร็จ” เขาพูดเบาๆ

ผมยิ้ม ดูเหมือนเขาปรับตัวในการอยู่ร่วมกับเราได้เร็ว

ผมมองผ่านกองไฟไปที่หน้าสตีฟ ซึ่งวับแวมด้วยแสงกองไฟ

เราเติบโตมาไม่เหมือนกันหรอก

แต่คล้ายโลกจะไม่กว้างเลย เมื่อคนรู้สึก และสัมผัสได้กับความเชื่อในสิ่งเดียวกัน ป่าไม่ว่าจะอยู่มุมใดของโลก ดูเหมือนบทเรียนที่สอน จะเป็นบทเรียนเดียวกัน

จึงไม่แปลกที่เราจะใช้เทคโนโลยีอันทันสมัยเป็นเครื่องมือ

ร่วมกับการทำงานแบบขั้น “เทพ”… •