ชาวกูย จาก ‘โขง-ชี-มูล’ รับราชการ ‘งานช้าง’ ในอยุธยา | สุจิตต์ วงษ์เทศ

รัฐอยุธยาจัดหน่วยราชการหลายหน่วยเกี่ยวข้องกับช้าง พบในบทพระไอยการตำแหน่งนาพลเรือน ได้แก่

กรมพระคชบาล (ในกำกับของพระเพทราชา ศักดินา 500), กรมเชือก, กรมหมอช้าง, กรมหมอพัตโนด, กรมโขลง, กรมเพนียด (เจ้ากรมถือศักดินา 500), กรมพฤทธิบาท (พฤฒิบาศ) พระอีศวรธิบดีศรีสิทธิพฤทธิบาท (จางวาง ศักดินา 1000) หลวงสิทธิไชยบดี (เจ้ากรม ศักดินา 800)

เพนียดคล้องช้างที่อยุธยา สังกัดกรมเพนียด เพื่อจับช้างป่ามาฝึกใช้งานในกองทัพช้างของราชสำนักอยุธยา และอีกจำนวนหนึ่งส่งขายเป็นช้างงานถึงอินเดีย, ลังกา

บรรดาข้าราชการและบ่าวไพร่ที่ทำงานในกรมต่างๆ เกี่ยวกับช้าง น่าเชื่อว่าส่วนมากเป็นชาวกูยจาก “โขง-ชี-มูล” และมีชาติพันธุ์อื่นด้วย

ชาวกูย พูดภาษาเขมร (ในตระกูลภาษามอญ-เขมร) “กูย” เป็นชื่อเรียกตนเองแปลว่าคน (ไม่ใช่ผี) แต่อาจกลายเสียงเป็น “กวย” ก็ได้ ครั้นถึงสมัยหลังถูกอำนาจจากกรุงเทพฯ เรียกชาวกูยหรือกวยว่า “ส่วย” (แปลว่าขี้ข้า) เพราะต้องส่งส่วยทองคำให้กรุงเทพฯ

“โขง-ชี-มูล” หมายถึงพื้นที่ต่อเนื่องแถบลุ่มน้ำโขง, ลุ่มน้ำชี, ลุ่มน้ำมูล ซึ่งมีประชากรหลายชาติพันธุ์อยู่ปะปนกันหนาแน่นทั้งกลุ่มพูดมอญ-เขมร และกลุ่มพูดมลายู (คือจาม)

เหตุผลที่เชื่อกันว่าชาวกูยรับราชการอยู่ในกรมเกี่ยวกับช้าง เพราะเพนียดคล้องช้างอยุธยาพบร่องรอยพิธีกรรมโพนช้างของชาวกูยคือหอประกำ ขณะเดียวกันก็พบคำเรียกเป็นภาษากูย คือ เสาตะลุง [เรื่อง “เพนียดคล้องช้าง” ในหนังสือโบราณสถานในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา (เล่ม 1) กรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2551 หน้า 286-289]

 

หอประกำ

เพนียดคล้องช้างที่อยุธยาบริเวณกึ่งกลางมีหอยกสูงเรียก “หอประกำ” เมื่อมีการคล้องช้างให้เป็นที่ประดิษฐานเทวรูปพระอีศวร, พระนารายณ์ เป็นต้น เสร็จพิธีคล้องช้างก็เชิญเทวรูปไปประดิษฐานเทวสถานในพระนคร

“หอประกำ” กลางเพนียดคล้องช้างที่อยุธยา มีต้นตอจากหอผีประกำตามประเพณีโพนช้างของชาวกูย ลุ่มน้ำ “โขง-ชี-มูล” ที่สืบเนื่องไม่น้อยกว่า 3,000 ปีมาแล้ว

“หอประกำ” หมายถึงหอผีประกำ หรือหออันเป็นที่สิงสถิตของผีประกำ

[“ประกำ” หรือ “ปะกำ” เป็นคำยืมจากภาษาเขมรว่า ปรฺกำ (อ่านว่า ปรฺอ-กำ) แปลว่าสายสูตรสำหรับผูกช้างป่า (มักฟั่นเป็น 3 เกลียว) (จากหนังสือพจนานุกรมเขมร-ไทย เล่ม 2 พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2521 หน้า 343)]

“ผีประกำ” หมายถึงอำนาจเหนือธรรมชาติซึ่งสิงอยู่ในเชือกบาศสำหรับผูกช้างป่า ส่วนชาวกูยยกย่องนับถือเป็นผีซึ่งเฮี้ยนมากสิงในเชือกประกำ จึงต้องมีพิธีเลี้ยงผีประกำทุกครั้งก่อนออกไปจับช้างป่า ต่อไปข้างหน้าถูกยกเป็นเทวดาว่า “พระเทพกรรม”

“เชือกประกำ” คือเชือกบาศ หมายถึงเชือกฟั่นใช้ผูกช้างป่า เป็นเชือกหนังทำจากหนังควาย (บางทีเป็นแส้หวาย เรียกแส้ประกำที่ทำจากต้นหวายฟั่นเป็นเกลียว) เชื่อว่ามีผีประกำสิงอยู่ด้วย

“หมอประกำ” หมายถึงหมอช้างผู้ทำพิธีเลี้ยงผีประกำก่อนไปจับช้างป่า โดยปริยายเป็น “ครูบา” ผู้อาวุโสมีประสบการณ์สูงในการขี่ช้างต่อจับช้างป่า และเชื่อกันว่ารู้ภาษาช้างป่า (ซึ่งจัดอยู่ในตระกูลภาษามอญ-เขมร) สามารถพูดจาโอ้โลมเกลี้ยกล่อมต่อรองช้างป่าแล้วจับช้างป่าสำเร็จทุกครั้ง ต่อไปข้างหน้าได้รับยกย่องเป็นพราหมณ์ท้องถิ่นเกี่ยวกับช้างเรียก “พราหมณ์พฤฒิบาศ”

อาคารสูงขาวโพลนตรงกลางเพนียดคล้องช้าง (อยุธยา) เอกสารของกรมศิลปากร (พิมพ์ พ.ศ.2551) ระบุว่าสร้างเป็นหอยกสูงเรียก “หอประกำ” เป็นที่ประดิษฐานเทวรูปพระอีศวร, พระนารายณ์ ฯลฯ อาคารนี้เมื่อดูพยานหลักฐานแล้วน่าเชื่อว่ามีต้นตอจากหอผีประกำในพิธีโพนช้างของชาวกูย (แต่ถูกเรียกว่าส่วย) ลุ่มน้ำมูลเมื่อหลายพันปีมาแล้ว และยังทำสืบเนื่องจนปัจจุบัน   (ซ้ายของภาพ) รอบหอประกำมี “เสาตะลุง” ปักล้อมเป็นคอกสี่เหลี่ยม คำว่า “ตะลุง” เป็นภาษาเขมรแปลว่าเสา และยังมีใช้ในคำเรียกหนังตะลุง หมายถึงหนังที่ใช้เชิดมีก้านไม้ใผ่ขนาบตัวหนังสำหรับจับเชิดและปักต้นกล้วยในโรงแสดง (ตำราของทางการเคยบอกผิดพลาดว่า “ตะลุง” มาจากชื่อเมืองพัทลุง) (ขวาของภาพ) พลับพลาที่ประทับของพระเจ้าแผ่นดินเมื่อเสด็จฯ ทอดพระเนตรการคล้องช้าง (ภาพจากหนังสือของกรมศิลปากร พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ.2551 หน้า 286)

 

เสาตะลุง

หอประกำโดยรอบปักล้อมเป็นคอกสี่เหลี่ยมด้วย “เสาตะลุง” (“ตะลุง” เป็นภาษาเขมร แปลว่าเสาสำหรับผูกช้าง เมื่อไทยยืมมาใช้เลยยกเป็นคำซ้อนว่า “เสาตะลุง”)

หนังตะลุง ในภาคกลาง หมายถึงหนังขนาดเล็กของชาวบ้านทั่วไป (ตรงข้ามกับหนังใหญ่ของชนชั้นนำ) มีก้านไม้ (ทำจากไม้ไผ่) เหมือนเสาขนาบตัวหนังให้ก้านยาวลงเป็นด้ามใช้มือจับเชิด และมีปลายแหลมใช้ปักต้นกล้วยริมจอเมื่อเล่นเงา

(ที่ว่าตะลุงมาจากเมืองพัทลุงจึงคลาดเคลื่อนจากความจริง)

 

ชาวกูย สมัยอยุธยา มีฐานะทางสังคมไม่ธรรมดา

ฐานะทางสังคมอยู่ในระดับสูงของชาวกูย, กวย สมัยอยุธยา มีกว้างๆ ดังนี้

1. ชาวกูยหรือกวยเป็นชาติพันธุ์อิสระอยู่นอกระบบไพร่ของรัฐอยุธยา พบหลักฐานในกฎหมายลักษณะอาญาหลวง พ.ศ.1974 (หรือ 1976) ระบุชื่อกลุ่มคนต่างชาติในรัฐอยุธยา ซึ่งมี “กวย” อยู่ด้วย มีฐานะทางสังคมเสมอฝรั่งตะวันตก และจีน, จาม ที่เข้าไปค้าขายมีทั้งชาวตะวันตกและชาวตะวันออก รวม 10 กลุ่ม ได้แก่ ฝรั่ง, อังกฤษ, กปิตัน, วิลันดา, คุลา, ชวา, มลายู, แขก, กวย, แกว

ในกฎหมายฉบับเดียวกันยังมีบอกต่อไปอีกว่าชาวต่างประเทศทั้งหลายที่มาค้าขายทางบกทางเรือ จะเห็นว่ามี “กวย” รวมไว้อีก ได้แก่ แขกพราหมณ์, ญวน, ฝรั่ง, อังกฤษ, จีน, จาม, วิลันดา, ชวา, มลายู, กวย, ขอม, พม่า, รามัญ

2. ชาวกูยมีบ้านเมืองของตนเองอยู่ลุ่มน้ำโขง พบหลักฐานในกฎมณเฑียรบาลระบุรายชื่อ 20 เมืองที่ต้องถวายดอกไม้ทองเงิน มีชื่อเมืองอยู่บริเวณลุ่มน้ำโขง 2 เมือง ได้แก่ เมืองโคตรบอง กับเมืองเรวแกว

เมืองโคตรบอง อยู่สองฝั่งโขงบริเวณตั้งแต่เวียงจันท์ (ฝั่งลาว) ถึงนครพนม (ฝั่งไทย) มีประชากรหลายชาติพันธุ์ทั้งตระกูลมอญ-เขมร, มลายู ฯลฯ

เมืองเรวแกว อยู่บริเวณเมืองจำปาสัก (ฝั่งลาว) มีปราสาทวัดพู เป็นศูนย์กลางศักดิ์สิทธิ์ ส่วนชื่อ “เรวแกว” ตรงกับเรอแดว หรือ ระแด เป็นชาติพันธุ์ในวัฒนธรรมจามพูดตระกูลภาษามลายู และมีตระกูลมอญ-เขมรปะปนอยู่ด้วย

3. ชาวกูยค้าช้าง และ “ของป่า” พบหลักฐานหลายอย่างรวมทั้งประเพณีสืบเนื่องถึงปัจจุบัน

การค้าช้างของบ้านเมืองสุวรรณภูมิมีแล้วก่อนสมัยอยุธยา แต่ไม่พบหลักฐานทางการ หลักฐานค้าช้างเพิ่งพบจริงจังสมัยอยุธยา [มีในบทความเรื่อง “ค้าช้างสมัยอยุธยา” ของ ดร.จุฬิศพงศ์ จุฬารัตน์ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พิมพ์ใน ศิลปวัฒนธรรม ปีที่ 25 ฉบับที่ 3 (มกราคม 2547) หน้า 114-122]

ช้างถูกส่งขายทางเรือข้ามทะเลอันดามัน อ่าวเบงกอล จากท่าเรือเมืองทวาย, เมืองมะริด, เมืองตะนาวศรี, เมืองตรัง ฯลฯ ไปทมิฬอินเดียใต้ และลังกา

ไมเคิล ไรท์ (นักปราชญ์ “ฝรั่งคลั่งสยาม” ชาวอังกฤษ) เคยเขียนเล่าว่าอินเดียใต้และลังกาซื้อช้างจากสยามไปทำสงคราม (อยู่ในบทความเรื่อง “พระเจ้าช้างเผือกและการค้าช้าง” พิมพ์ใน มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 12 ตุลาคม พ.ศ.2529 หน้า 32-33) แต่อาจนำช้างจากสยามและที่อื่นๆ ในสุวรรณภูมิไปใช้กิจกรรมอื่นๆ ด้วย

 

คืนพื้นที่ทางประวัติศาสตร์

ชนชั้นนำสมัยต้นรัตนโกสินทร์ทำความผิดพลาดให้ประวัติศาสตร์แห่งชาติของไทยด้วยการกีดกันคนหลากหลายชาติพันธุ์ เมื่อโลกไม่เหมือนเดิมจึงต้องร่วมกันแก้ไขความผิดพลาดที่เราไม่ได้ทำ ด้วยการคืนพื้นที่ในประวัติศาสตร์ให้ชาติพันธุ์ต่างๆ ตามหลักฐานที่พบเพิ่มเติม

ดังกรณีชาวกูยที่ยกมาทั้งหมด •